xs
xsm
sm
md
lg

อย.เพิ่งรู้ผลตรวจข้าวโค-โค่ รับเกินมาตรฐานจริง (ชมคลิป)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


อย.เผยเพิ่งได้ผลตรวจข้าวยี่ห้อโค-โค่ วันเดียวกับที่มูลนิธิผู้บริโภคแถลง รับเกินมาตรฐานเช่นกัน แจ้นพิสูจน์ถึงโรงงานบรรจุพร้อมเก็บตัวอย่างตรวจเพิ่ม คาดรู้ผลอีก 2-3 วัน ด้านกรมวิชาการเกษตร ชี้บริษัทรมข้าวหลังบรรจุเสร็จแล้ว ย้ำผิดวิธีการ เหตุสารระเหยออกจากถุงยาก ขณะที่ บจก.สยามเกรนส์ ขอยอมรับผิดทั้งหมด เรียกสินค้าคืนจากชั้นวางหมดแล้ว

วันนี้ (17 ก.ค.) เมื่อเวลา 12.00 น. นพ.บุญชัย สมบูรณ์สุข เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวภายหลังตรวจโรงงานบรรจุข้าวถุง บริษัท สยามเกรนส์ จำกัด ภายหลังมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคแถลง “ผลทดสอบข้าวสารถุงยี่ห้อไหนไม่มีสารเคมี?” แล้วพบข้าวขาวพิมพา ยี่ห้อ “โค-โค่” ซึ่งผลิตโดยบริษัทดังกล่าว และมีบริษัท เสถียรรุ่งเรืองมาร์เก็ตติ้ง จำกัด เป็นผู้ว่าจ้างผลิตและจัดจำหน่าย มีสารเมทิลโบรไมด์ที่ใช้ในการรมข้าวเพื่อป้องกันมอดและแมลงเกินมาตรฐานอาหารระหว่างประเทศ (CODEX) ที่องค์การอนามัยโลกกำหนดไว้ที่ 50 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม (ppm) ว่า เมื่อวันที่ 12 ก.ค.ที่ผ่านมา อย.ได้มีการเก็บตัวอย่างข้าวยี่ห้อโค-โค่ ส่งตรวจเช่นกัน โดยเพิ่งทราบผลการตรวจเมื่อวันที่ 16 ก.ค.ซึ่งเป็นวันเดียวกับที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคแถลงผลการตรวจสารเคมีข้าวบรรจุถุง ซึ่งการตรวจของ อย.พบว่าเกินมาตรฐานเช่นกัน จึงต้องมีการมาเก็บตัวอย่างที่แหล่งผลิตเพื่อทำการตรวจซ้ำ ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานงานที่ อย.ดำเนินการ เมื่อพบว่าข้าวถุงที่จำหน่ายมีปัญหา จึงต้องมีการตรวจข้าวถุงจากแหล่งผลิตโดยตรงด้วย อย่างไรก็ตาม ได้มีการเก็บตัวอย่างข้าวอื่นๆ ที่บริษัทดังกล่าวรับบรรจุด้วยประมาณ 3 ยี่ห้อ ซึ่งจะทราบผลภายใน 2-3 วัน

ผู้สื่อข่าวถามว่า การซาวข้าวและการหุงข้าวสามารถช่วยลดปริมาณสารเมทิลโบรไมด์ได้มากน้อยแค่ไหน นพ.บุญชัย กล่าวว่า สารเมทิลโบรไมด์ระเหยได้เร็ว เพราะมีจุดเดือดต่ำอยู่ที่ 3-4 องศาเซลเซียสเท่านั้น เมื่อเปิดถุงแล้วเจอกับอากาศของเมืองไทย ทำให้สารระเหยได้เร็ว ส่วนการซาวข้าว ความจริงแล้วสารตัวนี้ละลายในน้ำได้ไม่ดีเท่าไรนัก การซาวข้าวจึงอาจไม่ได้ช่วยอะไรมาก สำหรับการหุง อย.เคยทำการทดลองเล็กๆ ประมาณ 1-2 เคส พบว่า เมื่อหุงแล้วสารเมทิลโบรไมด์จะเหลืออยู่เพียง 20% จากปริมาณสารที่ตกค้างอยู่ เช่น สารตกค้างอยู่ที่ 20 ppm เมื่อหุงแล้วจะเหลือสารตกค้างอยู่ที่ 4 ppm เป็นต้น แต่ตรงนี้ยังไม่สามารถเอาไปอ้างอิงทางวิชาการได้

สารนี้น่าจะอันตรายสำหรับคนรมมากกว่า เพราะอาจจะได้รับการสูดดมเข้าไป แต่สำหรับผู้บริโภคไม่อันตรายแน่นอน เพราะที่ผ่านมาไม่เคยมีปัญหาจากสุขภาพตรงนี้ แต่ถามว่ามีอันตรายหรือไม่ ย่อมมีแน่นอน มิเช่นนั้นคงไม่มีการกำหนดค่ามาตรฐาน แต่กรณีอย่างนี้ไม่เคยเกิดขึ้น เพราะการรับประทานข้าวสุกก็ช่วยลดสารลดลงไปเยอะแล้ว” เลขาธิการ อย.กล่าว

นพ.บุญชัย กล่าวด้วยว่า เดิมทีข้าวสารจัดเป็นอาหารทั่วไป มีความเสี่ยงต่ำ ทำให้ไม่ต้องผ่านกระบวนการตรวจสอบจาก อย.แต่เมื่อปลายปี 2555 มีความคิดที่จะยกระดับคุณภาพอาหารทั่วไปให้ได้มาตรฐานการผลิตอาหารที่ดีขั้นพื้นฐาน (Primary GMP) โดยให้เวลาผู้ประกอบการกลุ่มอาหารทั่วไปดำเนินการภายใน 3 ปี หรือภายในปี 2558 รวมไปถึงข้าวบรรจุถุงต่อไปจะต้องมีเลขสารบบ อย.ด้วย เบื้องต้นมี 1 รายมาขอขึ้นทะเบียนแล้ว คือข้าวตราฉัตร ซึ่งการมาขอขึ้นทะเบียนก็จะต้องมีการตรวจโรงงานเช่นกัน อย่างไรก็ตาม เพราะการรมข้าวเป็นสิ่งสำคัญ จะต้องมีการเข้มงวดมากขึ้น แต่หากข้าวที่ขายในประเทศหันมาใช้สารฟอสฟีนทั้งหมดจะตัดปัญหาไปได้ แต่ผู้ประกอบการบางรายอาจต้องใช้สารเมทิลโบรไมด์ เพราะประเทศคู่ค้ากำหนดให้ใช้ แต่สารตัวนี้มีข้อตกลงว่าจะเลิกใช้ในเร็วๆ นี้ เนื่องจากทำลายโอโซน แต่ไม่ใช่เพราะมีผลต่อสุขภาพ

นพ.บุญชัย กล่าวต่อไปว่า อย.จะมีการเก็บตัวอย่างข้าวถุงเพื่อสุ่มตรวจเรื่อยๆ ซึ่งอาจจะมีการเจอสารตกค้างเกินมาตรฐานอีก ซึ่งในเชิงระบบหากต้องการให้ อย.รับรองก็ต้องทำมาตรฐาน GMP ซึ่งจะต้องมีการรมให้ดี และเป็นไปตามมาตรฐานทั้งหมด สำหรับการดำเนินคดีนั้นต้องดูผลการตรวจซ้ำคราวนี้ก่อน จะใช้ของมูลนิธิฯมาดำเนินคดีถือว่าลำบาก

นายชูศักดิ์ ว่องวิชชกร หัวหน้าด่านตรวจพืชท่าเรือกรุงเทพ กรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า จากการตรวจสอบพบว่าการที่ข้าวถุงยี่ห้อโค-โค่ มีสารเมทิลโบรไมด์เกินมาตรฐานนั้น เกิดจากความผิดพลาดทางเทคนิคในการรมข้าวถุงล็อตนี้ เนื่องจากบริษัทผลิตออเดอร์ได้เร็วและต้องรอการส่งไปยังศูนย์จำหน่ายประมาณ 3 วัน จึงทำการรมข้าวซึ่งบรรจุถุงเสร็จแล้ว เพราะมีความเข้าใจว่าจะสามารถช่วยป้องกันมอดและแมลงต่างๆ ได้ ตรงนี้ถือว่าผิดหลักการในการรมข้าว เพราะโดยปกติจะต้องรมข้าวที่เป็นวัตถุดิบก่อนบรรจุเท่านั้น

นายชูศักดิ์ กล่าวอีกว่า การที่บริษัทรมควันหลังบรรจุข้าวถุงแล้ว จะทำให้สารเมทิลโบรไมด์ซึมเข้าไปในถุงข้าวผ่านรูที่เจาะไว้ เพื่อไล่อากาศจำนวน 8 รู ซึ่งรมไว้นาน 24 ชั่วโมง เมื่อระบายสารออกแล้ว สารที่อยู่นอกถุงข้าวก็จะเหยหายไปหมด แต่สารที่ซึมเข้าไปในถุงข้าวจะระเหยออกจากถุงได้ยาก เพราะไม่สามารถซึมผ่านพลาสติกได้ จึงเป็นสาเหตุทำให้ตรวจพบสารเกินมาตรฐานได้ง่าย เนื่องจากเปิดถุงแล้วทำการตรวจสอบเลย ทำให้สารระเหยไม่ทัน ซึ่งความจริงแล้วหากเปิดถุงทิ้งไว้ สารก็จะค่อยๆ ระเหยลดน้อยลงไปเอง อย่างไรก็ตาม บริษัทดังกล่าวได้รับทราบและรับปากจะแก้ไขแล้ว

นายจรูญ ศรีวสันต์ศักดิ์ ผู้จัดการบริษัท สยามเกรนส์ จำกัด กล่าวว่า ขณะนี้ทางบริษัทได้เรียกคืนสินค้าข้าวบรรจุถุงยี่ห้อโค-โค่ทั้งหมดแล้ว จำนวน 3,000 ถุง หากผู้บริโภคมีการซื้อไปแล้วก็สามารถนำมาส่งคืนได้เช่นกัน

ต้องขอโทษผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายด้วยที่มีการดำเนินการรมควันผิดพลาด และต้องขอขอบคุณเจ้าหน้าที่กรมวิชาการเกษตร อย.รวมถึงมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคด้วย ที่สะท้อนการทำงานทำให้ทราบว่าการทำงานของเรามีปัญหา ซึ่งเราพร้อมที่จะรับฟังแล้วนำมาแก้ไข ไม่เพียงแต่องค์กรเท่านั้น แม้ผู้บริโภคเพียงรายเดียวมาร้องเราก็พร้อมรับฟัง ซึ่งความผิดพลาดในครั้งนี้เกิดจากเทคนิคในการรมควัน ซึ่งเราไม่ทราบมาก่อนว่าการรมข้าวหลังบรรจุถุงแล้วถือว่าผิดวิธีการ ซึ่งบริษัทก็ขอยอมรับผิดในจุดนี้” นายจรูญ กล่าว






















กำลังโหลดความคิดเห็น