xs
xsm
sm
md
lg

สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 14-20 ก.ค.2556

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คลิกที่นี่ เพื่อฟังสรุปข่าวฯ

1. “วสันต์” ไขก๊อกประธาน-ตุลาการศาล รธน. มีผล 1ส.ค. ยัน ทำตามสัญญา-ไม่เกี่ยวการเมือง เตรียมสรรหาตุลาการฯ ใหม่ใน 30 วัน!
นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ประธานและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
เมื่อวันที่ 16 ก.ค. มีข่าวสะพัดว่า นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ได้ยื่นหนังสือลาออกจากตำแหน่งแล้ว ซึ่งต่อมา นายวสันต์ ออกมายอมรับว่า ได้ยื่นหนังสือลาออกจริง และแจ้งสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญแล้ว โดยจะมีผลอย่างเป็นทางการในวันที่ 1 ส.ค.นี้ ส่วนเหตุผลที่ลาออก เนื่องจากได้ให้คำมั่นสัญญากับคณะตุลาการฯ ว่า จะดำรงตำแหน่งประธานศาลรัฐธรรมนูญไม่เกิน 2 ปี หรือจนกว่าจะเสร็จภารกิจงานคดีต่างๆ และว่า จริงๆ แล้วจะลาออกตั้งแต่วันที่ 2 พ.ค.ที่ผ่านมา แต่ขณะนั้นมีกลุ่มสื่อวิทยุประชาชนเพื่อประชาธิปไตย(กวป.) มาชุมนุมที่หน้าสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ และโจมตีการทำงานของคณะตุลาการฯ จึงเลื่อนการลาออกมาเป็นวันที่ 1 ส.ค. เพราะไม่อยากให้เป็นประเด็นทางการเมือง อีกทั้งได้เสร็จสิ้นภารกิจที่ตั้งใจไว้ พร้อมย้ำว่า การลาออกครั้งนี้ไม่ใช่การลาออกจากประธานศาลรัฐธรรมนูญอย่างเดียว แต่ลาออกจากตุลาการศาลรัฐธรรมนูญด้วย

ทั้งนี้ วันต่อมา(17 ก.ค.) นายพิมล ธรรมพิทักษ์พงษ์ หัวหน้าคณะโฆษกศาลรัฐธรรมนูญ ได้แถลงยืนยันการลาออกของนายวสันต์ พร้อมเผยเหตุผลที่ลาออกเนื่องจากนายวสันต์ได้ปฏิบัติภารกิจที่ตั้งใจไว้ลุล่วงแล้ว คือ 1.เร่งรัดพิจารณาคดีที่ค้างในสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จใน 1 ปี ซึ่งเมื่อต้นปี 2555 สำนักงานฯ มีคดีที่ค้างอยู่ถึง 123 คดี แต่ขณะนี้พิจารณาเสร็จสิ้นไปแล้วถึง 109 คดี ยังมีที่ค้างอยู่แค่ 30 คดีเท่านั้น 2.ปรับเปลี่ยนโครงสร้างของสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญให้รองรับภารกิจ 3.เผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อพัฒนาภาพลักษณ์ขององค์กร และให้ประชาชนมีความเข้าใจ โดยงานบางส่วนเสร็จสิ้นแล้วตามที่นายวสันต์ได้สัญญาไว้เมื่อครั้งเข้ารับตำแหน่งประธานศาลรัฐธรรมนูญวันที่ 24 ส.ค.2554 ว่าจะอยู่ปฏิบัติภารกิจดังกล่าวให้แล้วเสร็จไม่เกิน 2 ปี และว่า สำนักงานฯ ได้มีหนังสือแจ้งประธานวุฒิสภาถึงการลาออกของนายวสันต์แล้วเมื่อวันที่ 16 ก.ค.

นายพิมล ยืนยันด้วยว่า การลาออกของนายวสันต์ไม่เกี่ยวกับแรงกดดันทางการเมือง และว่า หลังจากนี้นายวสันต์จะใช้เวลาในการเขียนพ็อกเกตบุ๊กเกี่ยวกับชีวิตการเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ คาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน 2-3 เดือน ส่วนคดีที่สำคัญในขณะนี้ เช่น คำร้องที่ขอให้วินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 และการพิจารณาสมาชิกภาพความเป็น ส.ส.ของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์นั้น นายพิมล ยืนยันว่า คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่เหลือทั้ง 8 คนจะพิจารณาต่อไป

ทั้งนี้ คาดว่าหลังนายวสันต์ลาออก คณะตุลาการฯ จะเห็นชอบให้นายจรูญ อินทจาร ตุลาการฯ ที่อาวุโสสูงสุด ปฏิบัติหน้าที่ประธานในที่ประชุมไปจนกว่าจะมีประธานศาลรัฐธรรมนูญคนใหม่ สำหรับกระบวนการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญคนใหม่แทนนายวสันต์นั้น เนื่องจากนายวสันต์มาจากผู้ทรงคุณวุฒิสายนิติศาสตร์ ดังนั้นตุลาการฯ คนใหม่จึงต้องเป็นผู้ทรงคุณวุฒิสายนิติศาสตร์เช่นกัน โดยขั้นตอนการสรรหานั้น รัฐธรรมนูญ มาตรา 206 ระบุว่า ให้มีคณะกรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญคณะหนึ่ง ประกอบด้วย ประธานศาลฎีกา ,ประธานศาลปกครองสูงสุด ,ประธานสภาผู้แทนราษฎร ,ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร และประธานองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญซึ่งเลือกกันเองให้เหลือ 1 คน เป็นกรรมการ ทำหน้าที่สรรหาและคัดเลือกผู้ทรงคุณวุฒิให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน นับแต่วันที่มีเหตุให้ต้องเลือกบุคคลมาดำรงตำแหน่งดังกล่าว จากนั้นให้ประธานวุฒิสภาเรียกประชุมวุฒิสภาเพื่อมีมติให้ความเห็นชอบบุคคลผู้ได้รับการคัดเลือกภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับรายชื่อ เมื่อวุฒิสภามีมติเลือกตุลาการศาลรัฐธรรมนูญคนใหม่แล้ว ตุลาการฯ คนใหม่ก็จะมาประชุมร่วมกับ 8 ตุลาการฯ เพื่อเลือกประธานศาลรัฐธรรมนูญคนใหม่ ก่อนจะนำรายชื่อตุลาการฯ คนใหม่และประธานศาลรัฐธรรมนูญคนใหม่ขึ้นทูลเกล้าฯ ในคราวเดียวกัน

2. ผู้ตรวจการแผ่นดิน ส่ง ผบ.ตร. ฟัน “คำรณวิทย์” กรณีบินพบ “ทักษิณ” ขณะที่เจ้าตัว อ้าง ถามแม่แล้วไม่ผิด ด้านเสื้อแดง ขู่จัดหนักผู้ตรวจการฯ !
ภาพหลักฐาน พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง ผบช.น.เดินทางไปให้ นช.ทักษิณ ติดยศให้ ซึ่งเจ้าตัวภาคภูมิใจ ถึงกับติดไว้ที่ห้องทำงาน
เมื่อวันที่ 14 ก.ค. มีรายงานข่าวจากสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินว่า ผู้ตรวจการแผ่นดินได้ส่งหนังสือแจ้งนายจตุรันต์ บุญเบญจรัตน์ ผู้ช่วยผู้ประสานงานกลุ่มกรีน เมื่อวันที่ 2 ก.ค. ในฐานะผู้ร้อง ที่ยื่นคำร้องขอให้ผู้ตรวจการฯ สอบกรณีที่ พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล เดินทางไปพบ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นักโทษหนีคดี ที่เกาะฮ่องกง เพื่อให้ประดับยศ พล.ต.ท.ให้ เมื่อเดือน มิ.ย.2555 ว่าผิดจริยธรรมหรือไม่ โดยผู้ตรวจการฯ ได้มีมติส่งหนังสือไปยัง พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(ผบ.ตร.) และ พล.ต.อ.อมรินทร์ อัครวงษ์ จเรตำรวจแห่งชาติ เพื่อพิจารณาและดำเนินการตามอำนาจหน้าที่และประมวลจริยธรรมของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ(ตร.) เนื่องจากผู้ตรวจการฯ ได้ตรวจสอบเอกสารหลักฐานจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว เช่น สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง พบว่า พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ได้เดินทางออกนอกประเทศเมื่อวันที่ 28 มิ.ย.2555 และเดินทางกลับในวันที่ 30 มิ.ย.2555

ทั้งนี้ ผู้ตรวจการฯ เห็นว่า ตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจนครบาลเป็นตำแหน่งที่สำคัญ การเดินทางไปพบ พ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งหนีคดีตามการตัดสินของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จะทำให้เกิดความเสื่อมเสียต่อเกียรติยศของตำรวจ และอาจทำให้เกิดข้อครหาในกระบวนการยุติธรรม ผู้ตรวจการฯ จึงอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยจริยธรรมของผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ.2552 มาตรา 38 ส่งเรื่องไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในฐานะผู้บังคับบัญชา ให้ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ภายใน 30 วัน ก่อนชี้แจงให้ผู้ตรวจการแผ่นดินทราบต่อไป

ด้าน พล.ต.ท.คำรณวิทย์ พูดถึงเรื่องนี้ว่า แล้วแต่ผู้บังคับบัญชาจะพิจารณา แต่ส่วนตัวยืนยันว่า การให้ พ.ต.ท.ทักษิณติดยศให้เพราะมีความเคารพ และเป็นประเพณีอยู่แล้ว อย่างนายตำรวจจบใหม่ติดยศ ร.ต.ต. ก็ให้คนที่เคารพประดับยศให้ทั้งนั้น เพราะถือเป็นการให้เกียรติ และมองว่าไม่ผิดจริยธรรมแต่อย่างใด “ผมคุยกับแม่ผม และแม่ผมสอนเสมอเกี่ยวกับจริยธรรม ดังนั้นการให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ติดยศให้ก็ไม่ได้ผิดอะไร และผมก็ถามแม่ผม ไม่ได้ไปถามแม่ใคร” พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ยังบอกด้วยว่า “คนที่ร้องเรียนเรื่องนี้ ผมบอกได้เลยว่าไม่มีการโกรธเกลียดอะไรกัน แต่ขอให้ร้องเรียนและดำเนินการเร็วๆ หน่อย เพราะผมเหลือเวลารับราชการอีกเพียง 14 เดือนเท่านั้น”

ขณะที่คนเสื้อแดงบางส่วนไม่พอใจการกระทำของผู้ตรวจการแผ่นดิน เช่น นายวุฒิพงศ์ กชธรรมคุณ หรือโกตี๋ แกนนำคนเสื้อแดงปทุมธานี จึงได้นำคนเสื้อแดงประมาณ 50 คน ไปยื่นหนังสือขอให้ผู้ตรวจการฯ หยุดดำเนินการเอาผิด พล.ต.ท.คำรณวิทย์ หาไม่แล้ว คนเสื้อแดงจะเดินทางมาจัดการกับผู้ตรวจการฯ ให้หนักกว่านี้ จะให้ออกจากตำแหน่งกันไปเลย นายวุฒิพงศ์ ยังนำภาพพระฉายาลักษณ์สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ขณะทรงประดับยศ พล.ต.ท.ให้ พล.ต.ท.คำรณวิทย์ มาโจมตีผู้ตรวจการแผ่นดินด้วย พร้อมยืนยันว่า พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ไม่ได้ทำอะไรผิด แค่ให้ พ.ต.ท.ทักษิณ แตะบ่าเพื่อเป็นเกียรติเท่านั้น

ทั้งนี้ นายวุฒิพงศ์ บอกด้วยว่า ภาพพระฉายาลักษณ์สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ขณะทรงประดับยศให้ พล.ต.ท.คำรณวิทย์นั้น มีขึ้นเมื่อวันที่ 8 ส.ค.2555 ในโอกาสที่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร โปรดเกล้าฯ ให้ผู้บัญชาการตำรวจนครบาลเข้าเฝ้าฯ เพื่อพระราชทานพระราโชบายแนวทางการปฏิบัติงานถวายความปลอดภัยและจราจรกรณีมีขบวนเสด็จ ในการนี้ พระองค์จึงทรงมีพระกรุณาประดับยศ พล.ต.ท.ให้ พล.ต.ท.คำรณวิทย์ เป็นการส่วนพระองค์ หลังพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ พระราชทานยศ พล.ต.ท.แก่ พล.ต.ต.คำรณวิทย์ เมื่อวันที่ 29 มิ.ย.2555

ด้านผู้สื่อข่าวตรวจสอบพบว่า ภาพที่ พ.ต.ท.ทักษิณประดับยศให้ พล.ต.ท.คำรณวิทย์ นั้น มีขึ้นเมื่อวันที่ 29 มิ.ย.2555 เช่นกัน แต่ไม่สามารถตรวจสอบได้ว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ติดยศให้ พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ก่อนจะมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ พระราชทานยศหรือไม่ ทราบจากข่าวเพียงว่า พล.ต.ท.คำรณวิทย์ เดินทางออกจากประเทศไทยเพื่อไป พบ พ.ต.ท.ทักษิณ ตั้งแต่วันที่ 28 มิ.ย.2555 และเดินทางกลับประเทศในวันที่ 30 มิ.ย.2555

3. ป.ป.ช. มีมติ 6 ต่อ 2 ฟัน “หมอเลี้ยบ” พ่วงอดีตปลัดไอซีที-ผอ.สำนักอวกาศ ฐานแก้สัญญาสัมปทานดาวเทียมมิชอบเอื้อ “ชินคอร์ป”!
นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร(ไอซีที)
เมื่อวันที่ 16 ก.ค. ที่ประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ได้ประชุมลงมติกรณีที่คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ(คตส.) ได้ส่งเรื่องต่อ ป.ป.ช.เมื่อวันที่ 30 มิ.ย.2551 กล่าวหา นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร(ไอซีที) เป็นผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ,นายไกรสร พรสุธี เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงไอซีที เป็นผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 และนายไชยยันต์ พึ่งเกียรติไพโรจน์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักกิจการอวกาศแห่งชาติ ปัจจุบันเป็นปลัดกระทรวงไอซีที เป็นผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 ว่า อนุมัติแก้ไขสัญญาสัมปทานโครงการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ(ฉบับที่ 5) เพื่อลดสัดส่วนการถือหุ้นของบริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด(มหาชน) หรือชินคอร์ป ที่ต้องถือในบริษัท ชินแซทเทลไลท์ จำกัด(มหาชน) หรือบริษัท ไทยคม จำกัด(มหาชน) ในปัจจุบัน จากไม่น้อยกว่าร้อยละ 51 เหลือไม่น้อยกว่าร้อยละ 40 ของจำนวนหุ้นทั้งหมด โดยมิชอบ

ทั้งนี้ คณะกรรมการ ป.ป.ช.มีมติ 6 ต่อ 2 เสียงว่า การกระทำของนายไชยยันต์และนายไกรสรที่เสนอความเห็นให้มีการอนุมัติแก้ไขสัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ ด้วยการลดสัดส่วนการถือหุ้นของชินคอร์ปดังกล่าวตามความต้องการของทางบริษัทฯ เป็นการกระทำที่เอื้อต่อชินคอร์ป เพราะทราบดีอยู่แล้วว่า เหตุที่บริษัทดังกล่าวขอลดสัดส่วนการถือหุ้น เพื่อหาพันธมิตรมาช่วยขยายศักยภาพในการแข่งขันให้มีความเข้มแข็งและมีเงินทุนเพียงพอในการดำเนินโครงการดาวเทียมไอพีสตาร์ ซึ่งการลดสัดส่วนดังกล่าว ทำให้ชินคอร์ป ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัท ไทยคมไม่ต้องระดมทุนหรือกู้ยืมเงินมาซื้อหุ้นเพื่อรักษาสัดส่วนร้อยละ 51 ของตนเอง แต่กลับกระจายความเสี่ยงไปให้นักลงทุนรายย่อยในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย นอกจากนี้การลดสัดส่วนการถือหุ้นลงร้อยละ 11 ดังกล่าว ย่อมส่งผลให้ชินคอร์ปได้รับทุนคืนจากการขายหุ้นจำนวนดังกล่าวออกไปด้วย อีกทั้งการลดสัดส่วนการถือหุ้นยังส่งผลเป็นการลดทอนความมั่นคงและความมั่นใจในการดำเนินโครงการดาวเทียมของชินคอร์ป ในฐานะผู้ได้รับสัมปทานโดยตรงที่ต้องมีอำนาจควบคุมบริหารจัดการอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดได้ คณะกรรมการ ป.ป.ช.จึงมีมติด้วยเสียงข้างมากว่า การอนุมัติลดสัดส่วนการถือหุ้นของชินคอร์ปในบริษัท ไทยคม เป็นการกระทำที่เอื้อประโยชน์ต่อชินคอร์ปและไทยคม ผู้รับสัมปทานจากรัฐโดยไม่สมควร

คณะกรรมการ ป.ป.ช. ยังชี้ด้วยว่า การกระทำของ นพ.สุรพงษ์ในการอนุมัติแก้ไขสัญญาด้วยการลดสัดส่วนการถือหุ้นของชินคอร์ปดังกล่าว โดยไม่มีการเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) เห็นชอบก่อน เป็นการกระทำที่มีมูลความผิดทางอาญา ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ขณะที่การกระทำของนายไกรสรและนายไชยยันต์ ถือว่ามีมูลความผิดทางวินัยร้ายแรง ตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2535 ด้วย

ที่ประชุม ป.ป.ช.จึงมีมติให้ส่งรายงาน เอกสาร และความเห็นไปยังผู้บังคับบัญชาเพื่อพิจารณาโทษทางวินัยกับนายไกรสรและนายไชยยันต์ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 และ 3 ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 92 และส่งให้อัยการสูงสุดดำเนินการฟ้องผู้ถูกกล่าวหาทั้งสามต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตาม พ.ร.บ. ป.ป.ช. มาตรา 70 ประกอบ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2542 มาตรา 10

ทั้งนี้ มีกรรมการ ป.ป.ช. 1 คนขอถอนตัวไม่ร่วมพิจารณาคดีนี้ คือ นายกล้านรงค์ จันทิก เนื่องจากเคยพิจารณาเรื่องนี้เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งกรรมการ คตส.

4. มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ตรวจพบข้าวถุงยี่ห้อ “โค-โค่” มีสารตกค้างเกินมาตรฐาน ด้าน อย.ชี้ เอาผิดไม่ได้ เหตุเป็นอาหารความเสี่ยงต่ำ!
ผลการตรวจสารเคมีในข้าวถุง 46 ตัวอย่าง โดยมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ร่วมกับมูลนิธิชีววิถี และศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ
เมื่อวันที่ 16 ก.ค. น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้แถลงข่าวเรื่อง “ผลทดสอบข้าวสารถุงยี่ห้อไหนไม่มีสารเคมี” ว่า มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้ร่วมกับมูลนิธิชีววิถี และศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ ตรวจสารเคมีในข้าวสารบรรจุถุง 46 ตัวอย่าง จากยาฆ่าแมลงกลุ่มออร์กาโนฟอสเฟต ,คาร์บาเมต ,ยากันรา และสารรมควันข้าวเมทิลโบรไมด์ พบว่า ข้าวสาร 12 ยี่ห้อ ไม่พบสารตกค้าง ได้แก่ ลายกนก-ข้าวหอมมะลิ ,ข้าวพันดี-ข้าวขาว ,ธรรมคัลเจอร์-ข้าวหอม ,รุ้งทิพย์-ข้าวเสาไห้ ,บัวทิพย์-ข้าวหอม ,ตราฉัตร-ข้าวขาว ,ข้าวมหานคร-ข้าวขาว ,สุพรรณหงส์-ข้าวหอมสุรินทร์ ,เอโร่-ข้าวขาว ,ข้าวแสนดี-ข้าวหอมทิพย์ ,โฮมเฟรชมาร์ท-จัสมิน และชามทอง-ข้าวหอมมะลิ

ส่วนอีก 34 ตัวอย่าง พบสารเมทิลโบรไมด์ ตั้งแต่ 0.9-67 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม(พีพีเอ็ม) โดยแบ่งเป็นระดับต่างๆ ดังนี้ 1.ตกค้างน้อยมาก 0.9 พีพีเอ็ม มี 7 ตัวอย่าง ได้แก่ ช้างเผือก-ข้าวเสาไห้ ,cooking for fun-ข้าวหอมมะลิ ,ข้าวเบญจรงค์-ข้าวหอมมะลิ ,แฮปปี้บาท-ข้าวขาว ,เทสโก ตราคุ้มค่า-ข้าวหอม และ อคส.-ข้าวหอมมะลิ 2.ตกค้างน้อย 0.9-5 พีพีเอ็ม จำนวน 14 ตัวอย่าง ได้แก่ ข้าวอิ่มทิพย์-ข้าวขาว ,ชาวนาไทย-ข้าวเสาไห้ ,ข้าวแสนดี-ข้าวขาว ,ท็อปส์-ข้าวหอมมะลิ ,ตราเกษตร-ข้าวขาวหอม ,ฉัตรทอง-ข้าวหอมมะลิ ,ติ๊กชีโร่-ข้าวหอมมะลิ ,หงส์ทอง-ข้าวหอมมะลิ ,บิ๊กซี-ข้าวหอมปทุม ,ตราฉัตร-ข้าวหอมผสม ,โรงเรียน-ข้าวหอมมะลิ ,ฉัตรอรุณ-ข้าวหอมผสม ,ปทุมทอง-ข้าวหอมมะลิ และไก่แจ้เขียว-ข้าวหอมมะลิ

3.ตกค้างสูง คือระหว่าง 5-25 พีพีเอ็ม จำนวน 7 ตัวอย่าง ได้แก่ พนมรุ้ง-ข้าวขาว ,ท็อปส์-ข้าวหอมปทุม ,คุ้มค่า-ข้าวเสาไห้ ,เอโณ่-ข้าวหอม ,มาบุญครอง-ข้าวขาว ,ดอกบัว-ข้าวหอมมะลิ และปิ่นเงิน-ข้าวหอม 4.ตกค้างสูง คือระหว่าง 25-50 พีพีเอ็ม จำนวน 5 ตัวอย่าง ได้แก่ ถูกใจ-ข้าวขาว ,สุรินทิพย์-ข้าวหอมมะลิ ,ดอกบัว-ข้าวขาวตาแห้ง ,ตราดอกบัว-ข้าวเสาไห้ และข้าวแสนดี-ข้าวหอม และ 5.ตกค้างเกินมาตรฐานอาหารระหว่างประเทศ(CODEX) ที่องค์การอนามัยโลกกำหนด 50 พีพีเอ็ม จำนวน 1 ตัวอย่าง คือ ข้าวยี่ห้อ “โค-โค่-ข้าวขาวพิมพา” โดยมีสารตกค้าง 67.4 พีพีเอ็ม

สำหรับการตรวจสารพิษจากเชื้อราและคุณภาพข้าวถุงนั้น ยังไม่เสร็จ ทั้งนี้ น.ส.สารี ยืนยันด้วยว่า “การเปิดเผยข้อมูลครั้งนี้ ไม่ได้ต้องการดิสเครดิตธุรกิจหรือโจมตีรัฐบาล แต่ต้องการคุ้มครองผู้บริโภค โดยจะส่งผลการตรวจนี้ให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) และเรียกร้องให้ อย. กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยรายละเอียดชื่อยี่ห้อข้าวที่พบการปนเปื้อนด้วย”

เป็นที่น่าสังเกตว่า หลังมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคแถลงผลการตรวจสอบสารเคมีในข้าวและพบข้าวยี่ห้อโค-โค่-ข้าวขาวพิมพา มีสารตกค้างเกินมาตรฐานฯ ปรากฏว่า นพ.บุญชัย สมบูรณ์สุข เลขาธิการ อย. ได้นำคณะสื่อมวลชนไปตรวจโรงงานบริษัท สยามเกรนส์ จำกัด อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ ซึ่งรับจ้างบรรจุข้าวถุงยี่ห้อโค-โค่-ข้าวขาวพิมพา ของบริษัท เสถียรรุ่งเรืองมาร์เก็ตติ้ง จำกัด ทั้งนี้ นพ.บุญชัย เผยว่า อย.เคยเก็บตัวอย่างข้าวยี่ห้อนี้ไปตรวจสารตกค้างแล้วเมื่อวันที่ 12 ก.ค. ซึ่งผลออกมาเมื่อวันที่ 16 ก.ค.ว่า เกินมาตรฐาน 50 พีพีเอ็มเช่นกัน อย.จึงเข้าเก็บตัวอย่างข้าวยี่ห้อนี้เพื่อส่งตรวจซ้ำอีกครั้ง เนื่องจากหลักการตรวจสอบใดๆ ก็ตาม ต้องมีการตรวจซ้ำเพื่อยืนยัน

ด้านนายชูศักดิ์ ว่องวิชชกร หัวหน้าด่านตรวจพืชท่าเรือกรุงเทพ กรมวิชาการเกษตร เผยว่า จากการตรวจสอบข้าวยี่ห้อโค-โค่-ข้าวขาวพิมพา พบว่า เหตุที่ทำให้สารเคมีตกค้างเกินมาตรฐาน เกิดจากความผิดพลาดทางเทคนิคในการรมข้าวถุง ซึ่งปกติจะต้องรมข้าวก่อนบรรจุถุงเท่านั้น แต่ทางบริษัทฯ บรรจุข้าวถุงตามออเดอร์เสร็จเร็ว ทำให้ต้องเก็บไว้ในโกดังนานกว่าปกติก่อนกระจายขายตามท้องตลาด ทำให้บริษัทฯ เข้าใจว่าหากรมควันซ้ำหลังบรรจุจะช่วยให้ปลอดมอดแมลงต่างๆ ได้ ซึ่งถุงบรรจุจะมีรูเล็กๆ สำหรับไล่อากาศภายในถุงออก สารรมควันจึงซึมผ่านรูเข้าไปในถุงและเข้าไปยังเมล็ดข้าว “การทำผิดวิธีเช่นนี้ ทำให้สารรมควันซึมเข้าไปในถุง ทำให้การระเหยออกจากถุงยาก โดยปกติ เพียง 24 ชั่วโมงก็จะระเหยไปอยู่แล้ว แต่พออยู่ในถุง ไม่มีการเปิด ก็ทำให้การระเหยออกใช้เวลานานขึ้น จึงอาจเป็นสาเหตุทำให้ตรวจพบสารดังกล่าวเกินมาตรฐานได้ เบื้องต้นบริษัทได้รับทราบและรับปากจะแก้ไขแล้ว ซึ่ง อย.จะเข้ามาตรวจซ้ำอย่างต่อเนื่อง”

เป็นที่น่าสังเกตว่า แม้ข้าวยี่ห้อโค-โค่-ข้าวขาวพิมพา จะมีสารตกค้างเกินมาตรฐานฯ แต่ก็ไม่สามารถเอาผิดได้ โดย ภญ.ศรีนวล กรกชกร รองเลขาธิการ อย. ชี้แจงว่า เป็นเพราะขั้นตอนการเอาผิดยังไม่มี เนื่องจากที่ผ่านมายังไม่เคยมีการกำหนดค่ามาตรฐานในข้าวสารมาก่อน เพราะถือว่าเป็นอาหารที่มีความเสี่ยงต่ำ และเมื่อแปรผลเป็นค่าอันตรายต่อหน่วยที่ร่างกายไม่ควรได้รับ ก็ถือว่ายังไม่เกินค่ามาตรฐาน

5. ศาล อนุมัติหมายจับ “สมีคำ” แล้ว 3 ข้อหา ขณะที่ “ป.ป.ง.” มีมติอายัดทรัพย์อีก 60 ล้าน พบโยกเงินออกนอกประเทศนับพันล้าน เหลือในบัญชีเแค่ 3 แสน!
บ้านพักตากอากาศหรูของอดีตเณรคำ ในรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา - ภาพจาก www.alittlebuddha.com
ความคืบหน้าหลังคณะสงฆ์ จ.ศรีสะเกษ มีมติให้ “เณรคำ” ขาดจากความเป็นพระ เนื่องจากอาบัติปาราชิกจากการเสพเมถุน ปรากฏว่า ในด้านคดี เมื่อวันที่ 17 ก.ค. นายทวีวัฒน์ สุรสิทธิ์ ผู้อำนวยการส่วนคดีความมั่นคง 1 กรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) ได้ยื่นคำร้องพร้อมเอกสารหลักฐานเพื่อขอศาลอนุมัติหมายจับนายวิรพล สุขผล หรืออดีตเณรคำ ฉัตติโก ประธานสำนักสงฆ์วัดป่าขันติธรรม ต.ยาง อ.กันทรารมย์ จ.ศรีสะเกษ ในความผิด 3 ข้อหา คือ ความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 ,ข้อหาฉ้อโกงประชาชน และข้อหากระทำชำเราเด็กอายุไม่เกิน 15 ปี

ทั้งนี้ หลังศาลพิจารณาสำนวนพยานหลักฐานของดีเอสไอแล้ว เห็นว่า มีหลักฐานพอสมควรให้เชื่อได้ว่าผู้ต้องหาได้กระทำการที่จะเป็นความผิดทั้ง 3 ข้อหา ประกอบกับผู้ต้องหาไม่ได้อยู่ในประเทศ เชื่อว่าน่าจะมีพฤติการณ์หลบหนี จึงมีคำสั่งให้ออกหมายจับ

หลังศาลอนุมัติหมายจับอดีตเณรคำ นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีเอสไอ แถลงถึงแนวทางการส่งหมายจับนายวิรพล ให้ประเทศสหรัฐอเมริกาและกลุ่มประเทศยุโรปพิจารณาเพิกถอนวีซ่า เพื่อนำตัวนายวิรพลกลับมาดำเนินคดีในประเทศไทยว่า ตนได้ลงนามหนังสือเพื่อส่งให้กรมการกลสุลพิจารณาเพิกถอนหนังสือเดินทางนายวิรพลแล้ว ส่วนการเพิกถอนวีซ่า การผลักดันกลับประเทศไทย และการส่งเจ้าหน้าที่ไปรับนายวิรพลนั้น ได้มอบให้สำนักงานกิจการต่างประเทศและคดีอาชญากรรมระหว่างประเทศ ดีเอสไอ เร่งดำเนินการแล้ว

ด้านคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน(ป.ป.ง.) ก็ได้เดินหน้าอายัดทรัพย์บางส่วนของนายวิรพลแล้ว โดยเมื่อวันที่ 19 ก.ค. พ.ต.อ.สีหนาท ประยูรรัตน์ เลขาธิการ ป.ป.ง. แถลงผลประชุมคณะกรรมการธุรกรรมการเงินว่า ได้มีมติให้อายัดทรัพย์สินนายวิรพลจำนวน 60 รายการ มูลค่ากว่า 60 ล้านบาท เป็นรถยนต์ 23 คัน ที่ดิน 10 แปลง และบัญชีเงินฝาก 27 บัญชี จาก 150 บัญชี โดยพบว่า มีเงินเหลือในบัญชีเพียง 320,000 บาทเท่านั้น เนื่องจากได้มีการยักย้ายถ่ายเทเงินออกไปก่อนหน้านี้แล้ว อย่างไรก็ตาม พ.ต.อ.สีหนาท ยืนยันว่า จากการตรวจสอบพบว่า เงินที่ถูกยักย้ายถ่ายเทออกไปต่างประเทศมีไม่ถึง 1,000 ล้านบาท แต่ไม่ขอเปิดเผยรายละเอียด ส่วนกรณีที่จะให้มีการตรวจสอบทองคำน้ำหนักกว่า 8 ตันนั้น พ.ต.อ.สีหนาท บอกว่า ขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจน อยู่ระหว่างประสานนายสงกรานต์ อัจฉริยทรัพย์ ประธานเครือข่ายต่อต้านการบ่อนทำลายชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ เข้าให้ข้อมูลเพิ่มเติม
กำลังโหลดความคิดเห็น