xs
xsm
sm
md
lg

“เปิบโชว์” เน้นสร้างภาพ ไม่เน้นแก้ปัญหา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการ – ช่วงเวลาหลายเดือนที่ผ่านมา จากกรณีความวิตกกังวลของประชาชนต่อปัญหาสารเคมีปนเปื้อนในข้าว ซึ่งเป็นอาหารหลักของคนไทย อันเป็นผลมาจากนโยบายการจำนำข้าวอันล้มเหลวของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ซึ่งนำมาสู่ความวิตกกังวลของประชาชนทั่วประเทศเกี่ยวกับการปนเปื้อนของสารเคมี และสารพิษในข้าวสารที่วางตำหน่ายทั่วไป โดยช่วงที่ผ่านมา หน่วยงานต่างๆ ในสังกัดของรัฐบาลรวมถึงภาคเอกชนกลับไม่ได้แก้ปัญหาดังกล่าวอย่างถูกวิธี เพียงแต่ออกมาให้สัมภาษณ์โดยตะแบงว่าข้าวไทย ข้าวสารไทยปลอดจากสารพิษทั้งปวง ทว่า กลับไม่มีกระบวนการพิสูจน์ที่น่าเชื่อถือหรือหลักประกันใดๆ ให้กับผู้บริโภคเลย

ขณะที่สื่อมวลชนบางส่วนที่อออกมาแสดงความกังวลต่อเรื่องดังกล่าว อย่างเช่น นายสุทธิพงษ์ ธรรมวุฒิ ผู้ดำเนินรายการและผู้บริหารบริษัททีวีบูรพา ที่โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กกลับถูกภาครัฐและเอกชนโจมตีจนไม่มีชิ้นดี ทั้งยังเกือบโดนฟ้องร้องจนเป็นคดีความขึ้นโรงขึ้นศาล

กระทั่งในสัปดาห์นี้ วันที่ 16 ก.ค. ที่ผ่านมา มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค มูลนิธิชีววิถี และศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ โดย น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้เปิดแถลงข่าวเรื่อง ผลทดสอบข้าวสารถุงยี่ห้อไหนไม่มีสารเคมี? โดยการแถลงข่าวเรื่องสารเคมีในข้าวสารถุง เปิดเผยว่าจากการตรวจสารเคมีโดยห้องปฏิบัติการที่น่าเชื่อถือทั้งภาครัฐและเอกชนด้วยงบประมาณ 7 แสนบาท ในข้าวสารบรรจุถุงจำนวน 46 ตัวอย่าง จากยาฆ่าแมลงกลุ่มออร์กาโนฟอสเฟต และคาร์บาเมต ยากันรา และสารรมควันข้าวเมทิลโบรไมด์ พบว่า ข้าวสารจำนวน 12 ตัวอย่าง หรือร้อยละ 26.1 ไม่พบสารตกค้างทุกกลุ่ม ได้แก่ ลายกนก-ข้าวหอมมะลิ ข้าวพันดี-ข้าวขาว ธรรมคัลเจอร์-ข้าวหอม รุ้งทิพย์-ข้าวเสาไห้ บัวทิพย์-ข้าวหอม ตราฉัตร-ข้าวขาว ข้าวมหานคร-ข้าวขาว สุพรรณหงส์-ข้าวหอมสุรินทร์ เอโร่-ข้าวขาว ข้าวแสนดี-ข้าวหอมทิพย์ โฮมเฟรชมาร์ท-จัสมิน และชามทอง-ข้าวหอมมะลิ

ส่วนอีก 34 ตัวอย่าง หรือร้อยละ 73.9 พบสารเมทิลโบรไมด์ ตั้งแต่ 0.9-67 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม (ppm) โดยแบ่งออกเป็นระดับต่างๆ ดังนี้ 1.ตกค้างน้อยมาก คือน้อยกว่า 0.9 ppm มี 7 ตัวอย่าง ได้แก่ ช้างเผือก-ข้าวเสาไห้ cooking for fun-ข้าวหอมมะลิ ข้าวเบญจรงค์-ข้าวหอมมะลิ แฮปปี้บาท-ข้าวขาว เทสโก ตราคุ้มค่า-ข้าวหอม และ อคส.-ข้าวหอมมะลิ 2.ตกค้างน้อย คือ ระหว่าง 0.9-5 ppm จำนวน 14 ตัวอย่าง ได้แก่ ข่าวอิ่มทิพย์-ข้าวขาว ชาวนาไทย-เสาไห้ ข้าวแสนดี-ข้าวขาว ท็อปส์-หอมมะลิ ตราเกษตร-ข้าวขาวหอม ฉัตรทอง-หอมมะลิ ติ๊กชีโร่-หอมมะลิ หงษ์ทอง-หอมมะลิ บิ๊กซี-หอมปทุม ตราฉัตร-หอมผสม โรงเรียน-หอมมะลิ ฉัตรอรุณ-หอมผสม ปทุมทอง-หอมมะลิ และไก่แจ้เขียว-หอมมะลิ

3.ตกค้างสูง ระหว่าง 5-25 ppm จำนวน 7 ตัวอย่าง ได้แก่ พนมรุ้ง-ข้าวขาว ท็อปส์-หอมปทุม คุ้มค่า-เสาไห้ เอโณ่-ข้าวหอม มาบุญครอง-ข้าวขาว ดอกบัว-ข้าวหอมมะลิ และปิ่นเงิน-ข้าวหอม 4.ตกค้างสูง ระหว่าง 25-50 ppm จำนวน 5 ตัวอย่าง ได้แก่ ถูกใจ-ข้าวขาว สุรินทิพย์-หอมมะลิ ดอกบัว-ขาวตาแห้ง ตราดอกบัว-เสาไห้ และข้าวแสนดี-ข้าวหอม และ 5.ตกค้างเกินมาตรฐานอาหารระหว่างประเทศ (CODEX) ที่องค์การอนามัยโลกกำหนดไว้ที่ 50 ppm จำนวน 1 ตัวอย่าง คือข้าวยี่ห้อ “โค-โค่-ข้าวขาวพิมพา” โดยตกค้างอยู่ที่ 67.4 ppm ส่วนการตรวจสารพิษจากเชื้อรา และคุณภาพข้าวถุงนั้นยังไม่แล้วเสร็จ
ภาพจากเว็บไซต์ฉลาดซื้อ http://www.chaladsue.com/index.php/component/content/article/96-PR/1577-rice.html
ผลการทดสอบดังกล่าวจากมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และองค์กรแนวร่วม ซึ่งถือเป็นองค์กรฝ่ายประชาชน ในมุมหนึ่งมีคุณูปการในสร้างความกระจ่างให้กับประชาชนและผู้บริโภคข้าวสารจำนวนมาก แต่ในอีกมุมหนึ่งก็เท่ากับเป็นการตบหน้าหน่วยงานภาครัฐ และรัฐบาล จน นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ออกมาให้สัมภาษณ์ว่ามูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและองค์กรแนวร่วมถือไม่ให้เกียรติหน่วยงานภาครัฐในการตรวจสอบและรับรอง

ล่าสุด วันนี้ (18 ก.ค.) น.ส.ยิ่งลักษณ์ พร้อมด้วย นพ.ประดิษฐ รมว.สาธารณสุข และนายยรรยง พวงราช รมว.พาณิชย์ แทนที่จะย้อนกลับไปแก้ปัญหาที่ต้นตอของความกังวลของประชาชน คือ กระบวนการจำนำข้าว การเก็บรักษาข้าว และการสร้างความเชื่อมั่นในกระบวนการทดสอบและแจ้งเตือนข้าวสารที่มีสารพิษโดยหน่วยงานในสังกัดภาครัฐ รัฐบาลกลับใช้วิธีสร้างภาพด้วยการเดินทางไปร่วมทดสอบคุณภาพข้าวที่หุงสุกแล้ว ตราฉัตร ของเครือเจริญโภคภัณฑ์ พร้อมกับรับประทานข้าวหอมมะลิ โชว์สื่อมวลชน พร้อมกล่าวว่า ข้าวมีกลิ่นหอมและรสชาติอร่อยดี โดยอ้างว่าเพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้บริโภคและประชาชนด้วย จากนั้น ได้ยืนยันว่า กระบวนการตรวจสอบของกระทรวงสาธารณสุขมีมาตรฐานดีอยู่แล้ว ขอให้มีความมั่นใจ ซึ่งปัญหาจากกระแสข่าวที่ออกมาพบเป็นแค่บางจุดไม่ใช่ทั้งกระบวนการ

ขณะที่ในวันเดียวกัน มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและมูลนิธิชีววิถีก็ออกแถลงการณ์ เกี่ยวกับกรณีผลการตรวจข้าวสารถุงของมูลนิธิฯ เมื่อวันที่ 16 ก.ค.ที่ผ่านมา โดยระบุว่าหลังจากที่มูลนิธิได้เปิดเผยผลการตรวจสอบข้าวถุง ปรากฎว่า รัฐมนตรี รัฐมนตรีช่วย อธิบดี ผู้บริหารระดับสูง และผู้เกี่ยวข้องมากมาย ออกมาตั้งคำถาม กล่าวหา และเบี่ยงเบนสาระสำคัญของปัญหาข้าว ทั้งๆ ที่ผู้บริหารประเทศเหล่านี้ควรมาช่วยกันแก้ไขปัญหาให้ตรงจุด ช่วยกันคุ้มครองผู้บริโภคและพัฒนาคุณภาพข้าวในประเทศไทย

วิธีการสร้างภาพด้วย “การเปิบโชว์” ของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ดังกล่าว แท้จริงแล้วเป็นลูกไม้เก่าๆ ที่พี่ชายของเธอ คือ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีและนักโทษหนีคำพิพากษาจำคุก 2 ปีจากศาลฎีกาเคยใช้มาก่อนแล้ว

ในช่วงต้นปี 2547 จากปัญหาสถานการณ์การแพร่ระบาดของไข้หวัดนก ทำให้รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ออกมารณรงค์ให้ประชาชนหันมาบริโภคไก่ โดยจัดให้ในวันเสาร์ที่ 7 ก.พ. 2547 เป็นวันรณรงค์บริโภคไก่ทั่วประเทศ โดยในครั้งนั้น พ.ต.ท.ทักษิณ ก็บริโภคไก่โชว์สื่อมวลชน ทว่า กลับเป็นการบริโภคไก่ราคาแพง อย่างไก่ทอดเคเอฟซี (KFC) และสร้างความกังขาให้กับประชาชนและสื่อมวลชนอย่างมากกว่า “การกินไก่โชว์ของ พ.ต.ท.ทักษิณ” แทบจะไม่ได้สร้างความเชื่อมั่นอะไรให้กับประชาชนเลย เพราะ ไก่ทอดเคเอฟซีนั้นถูกทอดด้วยอุณหภูมิสูงและเวลานานด้วยเครื่องทอดพิเศษ ทั้งยังเป็นอาหารประเภทไก่ราคาแพงที่ประชาชนส่วนใหญ่ไม่มีกำลังทรัพย์ที่จะบริโภคได้เป็นประจำ

หรือแม้แต่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรีในสมัยรัฐบาลประชาธิปัตย์ เมื่อวันที่ 3 พ.ย. 2552 ก่อนเข้าเป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ทำเนียบรัฐบาล ก็เคยรับประทานกุ้ง มาบตาพุดโชว์ต่อหน้าสื่อมวลชน โดยกุ้งต้มดังกล่าวเป็นกุ้งที่ตัวแทนจากกลุ่มระยองสมานฉันท์นำมาให้เพื่อสร้างภาพว่า สัตว์ทะเลในแถบมาบตาพุดยังไม่ได้รับผลกระทบจากมลพิษของโรงงานอุตสาหกรรม

“การเปิบโชว์” เพื่อสร้างภาพของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ในวันนี้หรือเหล่าผู้นำประเทศอดีต โดยผิวเผินแล้วคล้ายกับเป็นความพยายามเพื่อแสดงให้เห็นว่า แม้แต่ผู้นำประเทศ คนระดับนายกรัฐมนตรี ก็มีความเชื่อมั่นกับอาหารที่กำลังประสบปัญหาอยู่ ดังนั้นประชาชนและผู้บริโภคทั่วไปจึงควรไว้วางใจได้ว่าเมื่อตนบริโภคอาหารประเภทนั้นๆ แล้วจะไม่ก่อปัญหาสุขภาพขึ้น ทว่า ในความเป็นจริงและข้อเท็จจริงแล้ว “การเปิบโชว์” ดังกล่าวแทบจะไม่ได้มีนัยยะสำคัญใดๆ เลยกับการแก้ปัญหา ณ จุดต้นเหตุของปัญหา เพียงแต่เป็นการนำผักชีมาโรยหน้า และเป็นการสร้างภาพลวงเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับภาคธุรกิจ ภาคเอกชน โดยปล่อยให้ประชาชนผู้บริโภคต้องเผชิญชะตากรรม ท่ามกลางความเสี่ยงนานัปการด้วยตัวเองเท่านั้น


กำลังโหลดความคิดเห็น