xs
xsm
sm
md
lg

ผลทดสอบข้าวถุง ยี่ห้อใดมีสารตกค้างมากสุด!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผลออกมาแล้ว! สำหรับผลการทดสอบเฉพาะการเก็บตัวอย่างข้าวสารถุงที่มีการจำหน่ายในเขตกทม.-ปริมณฑบ ระหว่างวันที่ 19-27 มิถุนายน 2556 โดยงานนี้มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ กทม. มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) ร่วมกับมูลนิธิชีววิถี (biothai) และศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ รายงานผลการตรวจข้าวสารถุงจำนวน 46 ตัวอย่าง พบข้าวสารถุงร้อยละ 26.1 หรือจำนวน 12 ยี่ห้อไม่พบสารตกค้างทุกกลุ่ม แต่มีมากถึง 34 ยี่ห้อหรือร้อยละ 73.9 ที่พบสารรมควันข้าวเมทิลโบรไมด์ ตั้งแต่ 0.9-67 มิลลิกรัม/กิโลกรัม

ที่นี้มาดูกันว่า ข้าวยี่ห้อใด ชนิดใดมีผลการทดสอบออกมา้เป็นอย่างไรกันบ้าง

ผลทดสอบข้าวสารบรรจุถุงจำนวนทั้งสิ้น 46 ตัวอย่าง พบว่าทั้ง 46 ตัวอย่างไม่พบการตกค้างของยาฆ่าแมลงกลุ่มออร์กาโนฟอสเฟตและคาร์บาเมต รวมทั้งไม่พบการตกค้างของยากันรา (fungicide)

มีข้าวถุงจำนวน 12 ตัวอย่างหรือคิดเป็นร้อยละ 26.1 ที่ไม่พบการตกค้างของสารเคมีทางการเกษตรชนิดใดๆ ได้แก่ 1.ลายกนก ข้าวหอมมะลิแท้ 100%, 2.ข้าวพันดี ข้าวขาว 100% ชั้นดีพิเศษ, 3.ธรรมคัลเจอร์ ข้าวหอมคุณภาพคัดพิเศษ, 4.รุ้งทิพย์ ข้าวขาวเสาไห้, 5.บัวทิพย์ ข้าวหอม, 6.ตราฉัตร ข้าวขาว 15%, 7.ข้าวมหานคร ข้าวขาวคัดพิเศษ, 8.สุพรรณหงส์ ข้าวหอมสุรินทร์, 9.เอโร่ ข้าวขาว 100%, 10.ข้าวแสนดี ข้าวหอมทิพย์, 11.โฮมเฟรชมาร์ท จัสมิน ข้าวหอมมะลิ 100% และ 12.ชามทอง ข้าวขาวหอมมะลิ 100%

ขณะที่ผลการทดสอบสารรมควันข้าวเมทิลโบรไมด์ พบการปนเปื้อนถึง 34 ตัวอย่าง หรือคิดเป็นร้อยละ 73.9 ของจำนวนตัวอย่างที่นำมาทดสอบปริมาณของสารเมธิลโบรไมด์ที่พบการตกค้างในตัวอย่างที่นำมาทดสอบอยู่ที่ระดับ 0.9-67 มิลลิกรัม/กิโลกรัม โดย ตัวอย่างข้าวสารบรรจุถุงที่พบการปนเปื้อนสูงที่สุด คือตัวอย่าง ยี่ห้อ โค-โค่ ข้าวขาวพิมพา พบการปนเปื้อนสูงถึง 67.4 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ซึ่งเกินกว่าเกณฑ์มาตรฐานอาหารระหว่างประเทศ (codex) ที่กำหนดไว้ให้มีการตกค้างได้ไม่เกิน 50 มิลลิกรัม/กิโลกรัม

รองลงมา 5 ตัวอย่าง ที่มีสารตกค้างไม่เกินมาตรฐานอาหารระหว่างประเทศ แต่พบการตกค้างสูงกว่า 25 มิลลิกรัม/กิโลกรัม แต่ไม่เกิน 50 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ได้แก่ ข้าวแสนดี ข้าวหอม พบการปนเปื้อน 41 มิลลิกรัม/กิโลกรัม, ข้าวตราดอกบัว ข้าวเสาไห้ พบการปนเปื้อน 29.5 มิลลิกรัม/กิโลกรัม, ข้าวตราดอกบัว ข้าวตาแห้ง พบการปนเปื้อน 28.9 มิลลิกรัม/กิโลกรัม, สุรินทิพย์ ข้าวหอมมะลิ พบการปนเปื้อน 27.6 มิลลิกรัม/กิโลกรัม และข้าวถูกใจ ข้าวขาว พบการปนเปื้อน 27.5 มิลลิกรัม/กิโลกรัม

อย่างไรก็ดี แม้ว่าการตกค้างส่วนใหญ่ที่พบจะไม่เกินเกณฑ์มาตรฐานของ codex แต่ก็พบว่าในหลายประเทศมีการกำหนดเกณฑ์มาตรฐานที่สูงกว่า codex เช่น อินเดียกำหนดไว้ไม่ให้เกิน 25 มิลลิกรัม/กิโลกรัม หรือ ประเทศจีน ที่ได้ชื่อว่าเป็นประเทศคู่ค้าข้าวรายสำคัญของประเทศไทย กำหนดปริมาณการตกค้างของเมทิลโบรไมด์ในข้าวไว้ที่ไม่เกิน 5 มิลลิกรัม/กิโลกรัม แต่เมื่อดูจากผลทดสอบครั้งนี้กลับพบตัวอย่างข้าวสารบรรจุถุงที่มีการตกค้างของเมธิลโบรไมด์เกิน 5 มิลลิกรัม/กิโลกรัมมีจำนวนถึง 13 ตัวอย่างที่ไม่สามารถส่งออกไปประเทศจีนได้

แต่เมื่อมาดูในประเทศไทย วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี ให้ข้อมูลว่า ไม่เคยมีประกาศเรื่องเกณฑ์ เมทิลโบรไมด์ ซึ่งเป็นสารที่นิยมใช้รมข้าวก่อนบรรจุถุงเพื่อป้องกันมอดและแมลง ทั้งๆ ที่เราเป็นประเทศผู้ผลิตข้าวส่งออกลำดับต้นๆของโลก ทำให้การตรวจสอบต้องยึดมาตรฐานระหว่างประเทศ ส่งผลเสียต่อตลาดส่งออกข้าวและมาตรฐานข้าวในประเทศ และน่าสังเกตว่า หากพบว่ามีการตกค้างของสารรมข้าวเกินค่ามาตรฐาน codex จะสามารถดำเนินการทางกฎหมายต่อผู้ประกอบการได้หรือไม่ ทั้งนี้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรเร่งตรวจสอบโรงสีและผู้ประกอบการที่มีปัญหาการปนเปื้อน แม้ไม่สูงเกิน CODEX แต่ก็สูงเกินที่จะส่งออกไปจีนเพื่อรักษาชื่อเสียงของข้าวไทยและสุขภาพของประชาชนไทย

สำหรับ สารรมควันข้าวเมทิลโบรไมด์ นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) ก็ได้ออกมายืนยันว่า สารรมควันข้าวไม่มีพิษตกค้างแน่ ซึ่งประเทศไทยได้ใช้สารดังกล่าวมานานมากกว่า 40 ปีแล้ว และสามารถระบายสารออกจากกองสินค้าได้เร็วเมื่อสิ้นสุดการรม ใช้ระยะเวลาในการรมสั้น และเป็นสารที่ไม่ติดไฟ ซึ่งจะทำให้การปฏิบัติงานง่ายขึ้น สามารถสลายตัวภายใน 3 ชั่วโมง ถึง 5 วัน และไม่มีพิษตกค้าง

อ่าน และดูภาพประกอบเพิ่มเติมได้ที่ ผู้บริโภคตรวจข้าวถุงพบ "โค-โค่" มีสารตกค้างเกินมาตรฐาน


กำลังโหลดความคิดเห็น