xs
xsm
sm
md
lg

ผู้บริโภคตรวจข้าวถุงพบ “โค-โค่” มีสารตกค้างเกินมาตรฐาน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แถลงผลการตรวจข้าวถุง เมื่อวันที่ 16 ก.ค.
มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคตรวจข้าวถุงไม่พบสารเคมีใดๆ ตกค้างเลย 12 ตัวอย่าง ตกค้างไม่เกินค่ามาตรฐาน 50 ppm จำนวน 33 ตัวอย่าง และเกินค่ามาตรฐาน 1 ตัวอย่างคือ “ข้าวโค-โค่” แนะรัฐเปิดเผยยี่ห้อข้าวที่พบการปนเปื้อนและปลอดภัย ย้ำเป็นสิทธิที่ผู้บริโภคต้องรู้ ชี้ใช้กำหนดทิศทางการส่งออกข้าวได้ เหตุบางยี่ห้อสารเคมีเกือบเกินมาตรฐานต้องเร่งแก้ไข เพราะไม่ผ่านมาตรฐานประเทศคู่ค้าสำคัญ

วันนี้ (16 ก.ค.) เมื่อเวลา 13.00 น.ที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวแถลง “ผลทดสอบข้าวสารถุงยี่ห้อไหนไม่มีสารเคมี?” ว่า การเปิดเผยข้อมูลการทดลองในครั้งนี้เพื่อประโยชน์ของสาธารณะ และคุ้มครองผู้บริโภคในการรับข้อมูลข่าวสารที่เพียงพอต่อการบริโภค สิทธิในการเลือกซื้อสินค้า และสิทธิที่จะได้รับความปลอดภัยจากการบริโภค ทั้งนี้ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้ร่วมกับมูลนิธิชีววิถี และศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ ตรวจสารเคมีในข้าวสารบรรจุถุงจำนวน 46 ตัวอย่าง จากยาฆ่าแมลงกลุ่มออร์กาโนฟอสเฟต และคาร์บาเมต ยากันรา และสารรมควันข้าวเมทิลโบรไมด์ พบว่า ข้าวสารจำนวน 12 ตัวอย่าง หรือร้อยละ 26.1 ไม่พบสารตกค้างทุกกลุ่ม ได้แก่ ลายกนก-ข้าวหอมมะลิ ข้าวพันดี-ข้าวขาว ธรรมคัลเจอร์-ข้าวหอม รุ้งทิพย์-ข้าวเสาไห้ บัวทิพย์-ข้าวหอม ตราฉัตร-ข้าวขาว ข้าวมหานคร-ข้าวขาว สุพรรณหงส์-ข้าวหอมสุรินทร์ เอโร่-ข้าวขาว ข้าวแสนดี-ข้าวหอมทิพย์ โฮมเฟรชมาร์ท-จัสมิน และชามทอง-ข้าวหอมมะลิ

น.ส.สารี กล่าวอีกว่า ส่วนอีก 34 ตัวอย่าง หรือร้อยละ 73.9 พบสารเมทิลโบรไมด์ ตั้งแต่ 0.9-67 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม (ppm) โดยแบ่งออกเป็นระดับต่างๆ ดังนี้ 1.ตกค้างน้อยมาก คือน้อยกว่า 0.9 ppm มี 7 ตัวอย่าง ได้แก่ ช้างเผือก-ข้าวเสาไห้ cooking for fun-ข้าวหอมมะลิ ข้าวเบญจรงค์-ข้าวหอมมะลิ แฮปปี้บาท-ข้าวขาว เทสโก ตราคุ้มค่า-ข้าวหอม และ อคส.-ข้าวหอมมะลิ 2.ตกค้างน้อย คือ ระหว่าง 0.9-5 ppm จำนวน 14 ตัวอย่าง ได้แก่ ข่าวอิ่มทิพย์-ข้าวขาว ชาวนาไทย-เสาไห้ ข้าวแสนดี-ข้าวขาว ท็อปส์-หอมมะลิ ตราเกษตร-ข้าวขาวหอม ฉัตรทอง-หอมมะลิ ติ๊กชีโร่-หอมมะลิ หงษ์ทอง-หอมมะลิ บิ๊กซี-หอมปทุม ตราฉัตร-หอมผสม โรงเรียน-หอมมะลิ ฉัตรอรุณ-หอมผสม ปทุมทอง-หอมมะลิ และไก่แจ้เขียว-หอมมะลิ

น.ส.สารี กล่าวด้วยว่า 3.ตกค้างสูง คือระหว่าง 5-25 ppm จำนวน 7 ตัวอย่าง ได้แก่ พนมรุ้ง-ข้าวขาว ท็อปส์-หอมปทุม คุ้มค่า-เสาไห้ เอโณ่-ข้าวหอม มาบุญครอง-ข้าวขาว ดอกบัว-ข้าวหอมมะลิ และปิ่นเงิน-ข้าวหอม 4.ตกค้างสูง คือระหว่าง 25-50 ppm จำนวน 5 ตัวอย่าง ได้แก่ ถูกใจ-ข้าวขาว สุรินทิพย์-หอมมะลิ ดอกบัว-ขาวตาแห้ง ตราดอกบัว-เสาไห้ และข้าวแสนดี-ข้าวหอม และ 5.ตกค้างเกินมาตรฐานอาหารระหว่างประเทศ (CODEX) ที่องค์การอนามัยโลกกำหนดไว้ที่ 50 ppm จำนวน 1 ตัวอย่าง คือข้าวยี่ห้อ “โค-โค่-ข้าวขาวพิมพา” โดยตกค้างอยู่ที่ 67.4 ppm ส่วนการตรวจสารพิษจากเชื้อรา และคุณภาพข้าวถุงนั้นยังไม่แล้วเสร็จ

“การเปิดเผยข้อมูลในครั้งนี้ไม่ได้ต้องการดิสเครดิตธุรกิจใด หรือต้องการโจมตีรัฐบาล แต่ต้องการคุ้มครองผู้บริโภค โดยมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจะส่งผลการตรวจนี้ให้แก่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) พร้อมกับขอเรียกร้องให้หน่วยงานรัฐ ทั้ง อย. กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยรายละเอียดชื่อยี่ห้อข้าวที่พบการปนเปื้อน หรือตัวอย่างยี่ห้อที่ตรวจแล้วปลอดภัยไม่พบการปนเปื้อน เพราะผู้บริโภคมีสิทธิที่จะได้รับทราบข้อมูลตามกฎหมาย นอกจากนี้ ยังส่งผลต่อการกำหนดทิศทางการผลิตสินค้าและการบริโภคของประเทศในอนาคต และการตรวจสอบของหน่วยงานรัฐครั้งต่อๆ ไป ควรมีองค์กรผู้บริโภคร่วมด้วย” เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวและว่า การส่งตรวจในครั้งนี้ ได้ส่งตรวจในห้องปฏิบัติการที่น่าเชื่อถือทั้งภาครัฐและเอกชนด้วยงบประมาณ 7 แสนบาท

นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี กล่าวว่า การตรวจข้าวบรรจุถุงครั้งนี้ พบผลที่แตกต่างจากของรัฐบาล คือเราพบข้าวถุงที่มีสารตกค้างเกินค่ามาตรฐาน 50 ppm ที่สำคัญการตรวจของรัฐบาลไม่มีการจำแนกระดับของสารตกค้างให้ผู้บริโภคทราบ สำหรับเกณฑ์การกำหนดระดับสารตกค้างเมทิลโบรไมด์นั้น ได้ใช้ค่ามาตรฐานของประเทศคู่ค้าข้าวรายสำคัญของไทย ซึ่งมีค่ามาตรฐานที่ต่ำกว่า 50 ppm เป็นเกณฑ์คือ อินเดียที่กำหนดไว้ไม่เกิน 25 ppm และประเทศจีนที่กำหนดไว้ไม่เกิน 5 ppm ซึ่งการแบ่งเกณฑ์ดังนี้จะสะท้อนข้อมูลไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ทราบว่ามีข้าวยี่ห้อใด บริษัทใด มาจากโรงสีใด ที่อาจมีผลกระทบต่อการส่งออก เพราะมีสารตกค้างอยู่ในระดับที่เกินกว่าประเทศคู่ค้ากำหนด ซึ่งต้องรีบแก้ไขเพราะอาจทำให้ไทยสูญเสียตลาดค้าข้าวที่สำคัญ อย่างจีนเมื่อก่อนนำเข้าข้าวจากไทยประมาณ 5 แสนตันต่อปี ปัจจุบันเหลือเพียง 1 แสนตันต่อปีเท่านั้น โดยหันไปนำเข้าข้าวจากประเทศอื่นมากขึ้น

น.ส.ทัศนีย์ แน่นอุดร หัวหน้าศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ กล่าวว่า ที่ผ่านมามีผู้บริโภคร้องเรียนมายังมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคให้หาข้อเท็จจริง จากกระแสข่าวเรื่องความไม่ปลอดภัยของข้าวสารบรรจุถุงทางสื่อต่างๆ เพราะมีผู้บริโภคบางส่วนยังไม่เชื่อข้อมูลจากภาครัฐ จึงอยากให้มีข้อมูลการตรวจสอบจากภาคประชาชนด้วย ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อจึงร่วมกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (ไทยแพน) และมูลนิธิชีววิถี เก็บตัวอย่างข้าวถุงที่มีการจำหน่าย ระหว่างวันที่ 19-27 มิ.ย.2556 ทุกยี่ห้อจากซูเปอร์มาร์เก็ตและห้างโมเดิร์นเทรด ทั้งค้าปลีกและค้าส่ง 6 แห่ง ได้แก่ เทสโก้โลตัส บิ๊กซี แม็คโคร ท็อปส์ ซูเปอร์มาร์เก็ต ฟู้ดแลนด์ ซูเปอร์มาร์เก็ต โฮมเฟรชมาร์ท และร้านสะดวกซื้อ 1 แห่งคือ เซเวนอีเลฟเวน ได้ข้าวถุงรวม 36 ยี่ห้อ จำนวน 46 ตัวอย่าง แบ่งเป็นข้าวหอมมะลิ 100% จำนวน 15 ตัวอย่าง และข้าวขาวกับข้าวหอมอื่นๆ อีก 31 ตัวอย่าง โดยส่งตรวจคุณภาพข้าวสารถุงที่จำหน่ายในท้องตลาดใน 5 ด้านคือ 1.การตรวจคุณภาพข้าวสารถุง ตามมาตรฐานข้าวสาร กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ 2.สารเคมีทางการเกษตร ยาฆ่าแมลง 2 กลุ่ม ได้แก่ ออร์กาโนฟอสเฟตและคาร์บาเมต 3.ยากันรา 4.สารรมควันข้าวเมทิลโบรไมด์ และ 5.สารพิษจากเชื้อรา อะฟลาทอกซิน

ภาพจากเว็บไซต์ฉลาดซื้อ http://www.chaladsue.com/index.php/component/content/article/96-PR/1577-rice.html
ภาพจากเว็บไซต์ฉลาดซื้อ http://www.chaladsue.com/index.php/component/content/article/96-PR/1577-rice.html
ภาพจากเว็บไซต์ฉลาดซื้อ http://www.chaladsue.com/index.php/component/content/article/96-PR/1577-rice.html







กำลังโหลดความคิดเห็น