xs
xsm
sm
md
lg

ผู้บริโภคจวก พณ.ดูถูกการทำงาน ยันผลตรวจมาจากแล็บได้มาตรฐาน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จวก ก.พาณิชย์ ดูถูกการทำงาน ยันการตรวจข้าวถุงทำโดยแล็บที่ได้มาตรฐาน และ อย.ก็รับว่ามีสารตกค้างเกินค่ามาตรฐานจริง ชี้ ดันข้าวถุงให้มีเลข อย.ไม่ใช่แนวทางแก้ปัญหา แต่ทุกฝ่ายต้องมีส่วนร่วมในการสุ่มตรวจข้าวอย่างเป็นระบบ เตรียมคุยสมาคมผู้ค้าข้าวถุง 19 ก.ค.พร้อมตอบรับคำเชิญนายกฯ เตรียมประสานขอเข้าพบแล้ว

น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวถึงกรณีรัฐมนตรี รัฐมนตรีช่วย อธิบดี ผู้บริหารระดับสูง และผู้เกี่ยวข้องจำนวนมากตั้งคำถามกล่าวหาและเบี่ยงเบนสาระสำคัญของปัญหาข้าว หลังมูลนิธิแถลงผลตรวจข้าวสารบรรจุถุง เมื่อวันที่ 16 ก.ค.ที่ผ่านมา ว่า เราทำงานด้านคุ้มครองผู้บริโภคมาเกือบ 30 ปี เพื่อรักษาผลประโยชน์ของประชาชน ทำงานด้วยหลักวิชาการ เปิดเผย โปร่งใส ตรวจสอบได้ คำกล่าวหาของ นายยรรยง พวงราช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์และนายนิวัติ สุธีมีชัยกุล รองปลัดกระทรวงฯ ที่ว่า “ตรวจหลังบ้าน” เป็นเรื่องที่ดูถูกองค์กรผู้บริโภค ซึ่งถือว่ายอมรับไม่ได้ เพราะทุกครั้งของการเปิดเผยข้อมูลต้องผ่านห้องปฏิบัติการที่มีมาตรฐานเท่านั้น และมีนักวิชาการมืออาชีพด้านต่างๆ ที่ได้สนับสนุนการทำงานมาโดยตลอด และร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) มาอย่างต่อเนื่อง

น.ส.สารี กล่าวอีกว่า การตรวจข้าวสารบรรจุถุงครั้งนี้ ข้าวสารถุงทั้งหมดถูกส่งตรวจไปตั้งแต่วันที่ 21 มิ.ย.ใกล้เคียงกับที่หน่วยงานภาครัฐส่งตรวจ แต่ต่างก็ออกมาแจ้งกับประชาชนว่า ไม่มีสารเคมีตกค้างเกินมาตรฐาน จนกระทั่งการแถลงข่าวผลการตรวจสอบของมูลนิธิฯ และมูลนิธิชีววิถี เมื่อวันที่ 16 ก.ค.ที่ผ่านมา ก็ได้รับการยืนยันจาก อย.ว่า มีบางยี่ห้อ ตกค้างเกินมาตรฐานจริง

ถึงเวลาที่สิทธิของผู้บริโภคไม่ว่าจะเป็นสิทธิในการได้รับข้อมูลข้อเท็จจริง สิทธิในการเลือกซื้อ สิทธิในการได้รับความปลอดภัย ประชาชนไทยที่ถูกละเลยและไม่เคยให้ความสำคัญมาเป็นเวลานาน ต้องได้รับการคุ้มครอง” เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวและว่า ขณะนี้มีการผลักดันให้ข้าวสารถุงมีตรารับรองของ อย.แต่ไม่ใช่ทางออก เพราะข้าวสารเป็นสินค้าทั่วไป การมีตรา อย.ไม่ได้รับประกันว่าข้าวสารไม่มีสารเคมีตกค้าง และอาจจะทำให้บริษัทขนาดเล็ก ผู้ผลิตรายย่อย ที่ดำเนินการได้มาตรฐานประสบปัญหา แต่การสุ่มตรวจอย่างมีระบบ เปิดเผย โปร่งใส มีส่วนร่วมจากทุกฝ่าย จึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่จะสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค และสนับสนุนผู้ผลิตที่มีมาตรฐานที่แท้จริง

น.ส.สารี กล่าวด้วยว่า สำหรับข้อแนะนำให้ประชาชนดูแลชีวิตของตนเอง ด้วยการ “ล้างข้าว” สารเหล่านี้ก็จะหายไป เป็นข้อเสนอที่ไม่เพียงพอ แต่ทุกภาคส่วนต้องมุ่งมั่นดูแลประชาชนด้วยการทำให้ข้าวที่บริโภคในประเทศดีเท่าระดับการส่งออก ลดการใช้สารเคมีอย่างเป็นระบบ การใช้สารเคมีต้องไม่ตกค้างเกินมาตรฐาน และควรเป็นโอกาสเพิกถอนยกเลิกการขึ้นทะเบียนสารเคมีที่เป็นอันตราย หรือปรับปรุงสารเคมีตกค้าง เพื่อมาตรฐานปลอดภัยของการปนเปื้อนสารเคมีของไทย อย่างน้อยให้มีความใกล้เคียงกับประเทศคู่ค้า เช่น จีน

วันที่ 19 ก.ค.มูลนิธิฯ จะร่วมประชุมกับผู้ประกอบการและสมาคมผู้ค้าข้าวถุง เพื่อพัฒนาคุณภาพข้าวสารเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ทั้งนี้ มูลนิธิทั้งสองยินดีที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เอ่ยปากชวนให้ไปพบ เราจึงขอรับเกียรตินี้ ขอเข้าพบ ท่านนายกฯ เพื่อเสนอกลไกสำคัญในการคุ้มครองผู้บริโภคของประเทศ ขณะนี้กำลังติดต่อประสานงานกับ นายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี” เลขาธิการมูลนิธิฯ กล่าว

น.ส.สารี กล่าวต่อไปว่า ในเรื่องกลไกที่จะเสนอ มูลนิธิฯเห็นควรว่า อย.ควรตั้งคณะทำงานตรวจสอบข้าวและกลุ่มอาหารทั่วไปขึ้นมาเฉพาะ สำหรับกรณีข้อกังวลเรื่องห้องทดสอบข้าวของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค อยากบอกว่า เป็นห้องทดสอบที่มีมาตรฐาน มีเครื่องไม้เครื่องมือทันสมัย ไม่เช่นนั้นมูลนิธิฯไม่เสียงบประมาณ 7 แสนบาทเพื่อทดลองกรณีดังกล่าว จึงอยากให้เข้าใจเรื่องนี้ด้วย สิ่งสำคัญควรไปมุ่งว่าจะทำอย่างไรให้สารที่ตกค้างไม่เกิดขึ้นอีก และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ควรหันไปอบรมผู้รมควันข้าว รวมทั้งอาหารกลุ่มอื่นๆ อย่าให้เกิดกรณีทำผิดทางเทคนิคอีกเลย


กำลังโหลดความคิดเห็น