xs
xsm
sm
md
lg

“Thai-PAN” ชี้ข้าวไทยในตลาดมีสารเคมีเจือปนทุกขั้นตอนผลิต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


นครสวรรค์ - คณะทำงานเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืชนครสวรรค์ เผยข้าวสารตามท้องตลาดอาจมีสารเคมีตกค้างจริง พร้อมชี้พิรุธ สภาอุตฯ เชิญร่วมประชุมรับฟังความคิดความเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ.2535 ทำรวบรัดเกินไป แถมไม่มีตัวแทนผู้บริโภคร่วม

นายนพดล มั่นศักดิ์ คณะทำงานเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thailand Pesticide Alert Network: Thai-PAN) ซึ่งเป็นกลุ่มนักวิชาการจากหลากหลายสาขาองค์กรสาธารณประโยชน์ด้านการเกษตร และการคุ้มครองผู้บริโภค เปิดเผยว่า หลังมีกระแสข่าวเกี่ยวกับคุณภาพข้าวไทยว่าปนเปื้อนสารเคมี บ้างก็พบข้าวเน่านั้น

ส่วนตัวเชื่อว่าข้าวถุงที่มีจำหน่ายอยู่ทั่วไป หากสุ่มตรวจตามหลักวิทยาศาสตร์ กว่า 80% ก็จะพบสารเคมีเจือปนอยู่ไม่มากก็น้อย ตามแต่แหล่งที่มา เนื่องจากขั้นตอนการผลิตล้วนแล้วแต่ผ่านการใช้สารเคมี ตั้งแต่ขั้นตอนการปลูก ก็ต้องใช้ยาฆ่าหญ้า ยาฆ่าแมลง เมื่อเข้าโรงสีปัจจุบันมีการสีข้าวให้เป็นข้าวสารเร็วกว่าสมัยก่อน จึงต้องมีการรมยาเมทิลโบรไมด์และฟอสฟิน เพื่อรมมอดในข้าว และต้องทำการรมยาชนิดนี้ 15 วันครั้ง ไม่เช่นนั้นมอดจะไปกัดกินทำลายข้าวสาร

“จะเห็นว่าเกือบทุกขั้นตอนการผลิตข้าวจะมีสารเคมีเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยตลอด สารเคมีจึงอาจตกค้างอยู่ในข้าวสารทุกกระสอบก็เป็นได้”

อย่างไรก็ตาม ข้อสังเกตดังกล่าว สวนกับข้อมูลของกรมวิชาการเกษตร ที่ยืนยันว่า สารเมทิลโบรไมด์ และฟอสฟินที่ใช้รมมอดในข้าวไม่มีพิษตกค้าง และในการส่งออกตลอด 40 ปีที่ผ่านมา ก็ไม่เคยถูกเตือน ทั้งยังมีนำเข้าสารชนิดนี้ลดลงเรื่อยๆ ตามข้อกำหนดพิธีสารมอนทรีออล เพื่อไม่ให้กระทบโลกร้อน

แต่ก็มีรายงานการวิจัยระบุเช่นกันว่า ไทยไม่มีการกำหนดมาตรฐานการตกค้างในข้าวสาร ของกระทรวงสาธารณสุข หรือหน่วยงานด้านอาหาร และสินค้าการเกษตรใด ทั้งที่ในต่างประเทศมีการควบคุมชัดเจน

เมื่อมูลนิธิชีววิถี นำข้อมูลตัวเลขการนำเข้าสารเมทิลโบรไมด์ มาเปรียบเทียบก็พบว่า แม้จะมีเป้าหมายในการลด ละ เลิกใช้สารเมทิลโบรไมด์ แต่กลับปรากฏตัวเลขการนำเข้าเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในปี 2555 เป็นต้นมา โดยเป็นการนำเข้าในรูปแบบของเมทิลโบไมด์ และการผสมกับคลอโรพิคริน สารอีกชนิดหนึ่งที่ประกาศห้ามใช้แล้วตั้งแต่ปี 2554 ทำให้กลายเป็นประเด็นจนนำมาสู่การตอบโต้ทางการเมืองเรื่องความปลอดภัยในข้าวไทยอยู่ในขณะนี้

นายนพดล ยังเปิดเผยต่อว่า นอกจากนี้ ยังพบความไม่ชอบมาพากลของหนังสือจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เลขที่ 13/3726/2556 ลงวันที่ 17 มิถุนายน 2556 เรื่องเชิญประชุมรับฟังความคิดความเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ.2535 เรียนเชิญผู้ประกอบการเกี่ยวกับการค้าข้าว ผู้แทนหน่วยงานภาคเอกชน ผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ ระบุข้อความว่า

“ด้วยสถาบันสิ่งแวดล้อมอุตสาหกรรม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้รับมอบหมายจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ให้เป็นที่ปรึกษาดำเนินโครงการปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ.2553 เพื่อให้การควบคุม กำกับดูแลตามกฎหมายว่าด้วยวัตถุอันตราย ครอบคลุมสารเคมีได้ทั้งระบบเป็นไปอย่างเหมาะสม และสามารถแก้ไขอุปสรรคต่อการบังคับใช้กฎหมายในปัจจุบันได้ จึงได้ดำเนินการยกร่างพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย

โดยมีการกำหนดจุดรับฟังไว้ 4 พื้นที่ คือ วันอังคารที่ 16 กรกฎาคม 2556 ณ โรงแรมดิแอมเมอรัลด์ กทม., วันศุกร์ที่ 19 กรกฎาคม 2556 ณ โรงแรมโกลเด้นซิตี้ จังหวัดระยอง, วันศุกร์ที่ 26 กรกฎาคม 2556 ณ โรงแรมทวาราวดี รีสอร์ท จังหวัดปราจีนบุรี, วันจันทร์ที่ 29 กรกฎาคม 2556 ณ โรงแรมวรบุรีอโยธยาคอนเวนชั่นรีสอร์ท จังหวัดพระนครศรีอยุธยา”

ตามกำหนดการนั้น จะมีการศึกษารายระเอียดพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ.2535 ศึกษาข้อมูล กฎข้อบังคับ พร้อมรวบรวมประเด็นปัญหา อุปสรรค ข้อจำกัด ของการบังคับใช้พระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ.2535 รวมถึงเสนอแนวทางปรับปรุง จากนั้นได้จัดให้มีการจัดทำร่าง พระราชบัญญัติวัตถุอันตราย และปรับปรุงร่างตามข้อเสนอแนะจากการประชุม

“ดูแล้วขั้นตอนทั้งหมดจะเสร็จสิ้นภายในวันที่ 22 สิงหาคม 2556 ถือได้ว่าเร็วเกินไปกับการแก้ไขร่างพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย ประกอบกับการรับฟังความคิดความเห็นครั้งนี้ไม่ได้เชิญผู้ใช้สารเคมี และผู้บริโภคเข้าร่วม มีแต่ผู้ประกอบการ ซึ่งกลุ่มผู้ประกอบการอาจจะเห็นประโยชน์ส่วนตนมากกว่ากลัวผู้บริโภคก็เป็นได้”

ดังนั้น เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช อาจจะไม่เข้าร่วมประชุมโครงการดังกล่าว ต่อจากนั้นก็จะเสนอเรื่องเพื่อฟ้องศาลปกครองต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น