xs
xsm
sm
md
lg

ผู้บริโภคฉุน “ข้าวโค-โค่” บิดพลิ้ว ยกเลิกนัด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กองทัพสื่อรอข้าวโค-โค่ พบมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคขอข้อมูลผลตรวจสารตกค้างในข้าว สุดท้ายพลิ้วไม่มาตามนัด “สารี” ตั้งคำถามจะเอาอย่างไรแน่กับการพัฒนาคุณภาพข้าว ยันพร้อมให้ความร่วมมือกับทุกฝ่าย รวมถึง ส.ผู้ประกอบการข้าวถุงไทย หลังส่งจดหมายเชิญร่วมโครงการตรวจสอบข้าว ยันแล็บตรวจข้าวได้มาตรฐาน จี้ อย.ใช้ข้อมูลร่วมกัน คุ้มครองผู้บริโภคอย่างต่างประเทศ

จากกรณีมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคแถลงผลตรวจข้าวสารบรรจุถุง เมื่อวันที่ 16 ก.ค.ที่ผ่านมา พบว่า มีสารเมทิลโบรไมด์ ซึ่งใช้ในการรมข้าวเพื่อป้องกันมอดและแมลงนั้น ตกค้างเกินค่ามาตรฐานอาหารระหว่างประเทศ (CODEX) ที่องค์การอนามัยโลกกำหนดไว้ที่ 50 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม (ppm) ในข้าวขาวพิมพา ยี่ห้อ “โค-โค่” ผลิตโดย บจก.สยามเกรนส์ โดยมี บจก.เสถียรรุ่งเรืองมาร์เก็ตติ้ง เป็นผู้ว่าจ้างและจัดจำหน่ายนั้น มีรายงานว่า บจก.เสถียรรุ่งเรืองมาร์เก็ตติ้ง บจก.ข้าวแสนดี และสมาคมผู้ประกอบการข้าวถุงไทย ได้ประสานมายังมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและมูลนิธิชีววิถี เพื่อขอข้อมูลดังกล่าวและขอทราบชื่อห้องปฏิบัติการในการตรวจข้าวถุง ในวันนี้ (19 ก.ค.) เวลา 09.00 น.ที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค

ล่าสุด น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า เมื่อวันที่ 17 ก.ค.ที่ผ่านมา บจก.เสถียรรุ่งเรือง และ บจก.ข้าวแสนดี ได้มีการประสานมายังมูลนิธิฯ เพื่อขอเข้าพบและขอข้อมูล ซึ่งจะเดินทางมาพร้อมกับสมาคมผู้ประกอบการข้าวฯ จึงมีการนัดหมายให้มาพบในวันและเวลาเดียวกัน ทั้งนี้ ในส่วนของ บจก.เสถียรรุ่งเรือง ได้ทำจดหมายชี้แจงมาด้วยว่า ได้เก็บสินค้าข้าวยี่ห้อโค-โค่ ออกจากตลาดทั้งหมดแล้ว ไม่เฉพาะแต่ข้าวขาวพิมพาเท่านั้น แต่เป็นสินค้าข้าวทั้งหมดที่ใช้แบรนด์โค-โค่ อย่างไรก็ตาม วานนี้ (18 ก.ค.) บจก.ข้าวแสนดี และสมาคมผู้ประกอบการข้าวฯ ได้แจ้งมาว่า ไม่สามารถเดินทางมาพบได้แล้ว เนื่องจากติดภารกิจ ส่วน บจก.เสถียรรุ่งเรือง ยังได้รับการยืนยันว่าจะยังเดินทางมาเช่นเดิม จนเมื่อก่อนเวลา 09.00 น.มีการประสานกลับมาว่าขอยกเลิกการนัดพบในครั้งนี้แล้ว

“เราไม่ทราบว่าทำไมฝ่ายผู้ประกอบการจึงได้ยกเลิกนัด ทั้งที่เป็นฝ่ายนัดมาขอพบเอง ซึ่งทางมูลนิธิฯก็พร้อมให้ความร่วมมือทุกอย่าง จึงไม่ทราบว่าฝ่ายผู้ประกอบการจะเอาอย่างไรกันแน่กับการแก้ไขและพัฒนาเรื่องคุณภาพข้าว” เลขาธิการมูลนิธิ กล่าวและว่า ทั้งนี้ สมาคมผู้ประกอบการค้าข้าวฯ ได้ส่งจดหมายเชิญมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และมูลนิธิชีววิถี ให้ร่วมโครงการตรวจสอบและยกระดับความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภคข้าวสารบรรจุถุงไทย ซึ่งทั้ง 2 มูลนิธิเคยประกาศแล้วว่ายินดีที่จะให้ความร่วมมือ แต่ความร่วมมือนั้นจำเป็นที่จะต้องมีการหารือร่วมกันกับเจ้าของโครงการด้วยว่าจะเดินหน้าอย่างไร ไม่ใช่แค่ส่งจดหมายมาเชิญเพียงอย่างเดียว

น.ส.สารี กล่าวอีกว่า การที่มูลนิธิตรวจสอบคุณภาพข้าวแล้วออกมารายงานผลเป็นการบ่งบอกถึงสถานการณ์ของข้าวไทยในปัจจุบัน ไม่ได้ต้องการสร้างความเสียหายใดๆ ให้แก่ภาคธุรกิจ ซึ่งที่จริงแล้วน่าจะถือเป็นโอกาสดีเสียด้วยซ้ำ หากรัฐบาลจะนำข้อมูลนี้มาพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสในการชี้แจงกับต่างชาติว่า ประเทศไทยมีการตรวจสอบคุณภาพข้าวตลอดเวลา และมีผลการตรวจจากองค์กรคุ้มครองผู้บริโภคด้วย ที่สำคัญคือส่วนใหญ่สารตกค้างในข้าวก็ไม่เกินค่ามาตรฐาน ส่วนที่เกินก็มีการพัฒนาปรับปรุงให้ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ทางมูลนิธิจะส่งหนังสือรายงานผลการตรวจข้าวนี้ให้แก่ทุกบริษัทข้าวที่มูลนิธิได้ทำการตรวจ

น.ส.สารี กล่าวด้วยว่า สำหรับข้อสงสัยเรื่องห้องปฏิบัติการ (แล็บ) ตรวจคุณภาพข้าวถุง ขอยืนยันว่าเป็นแล็บที่ได้รับการรับรองจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แต่ที่ไม่สามารถเปิดเผยชื่อได้นั้น เนื่องจากเกรงว่าจะมีการไปกดดันแล็บ ทำให้สุดท้ายไม่มีแล็บใดกล้ารับตรวจตัวอย่างจากมูลนิธิอีก ซึ่งถือเป็นความเสี่ยงในเรื่องความปลอดภัยของผู้บริโภค เพราะมูลนิธิมีการส่งตัวอย่างตรวจทุกเดือน ที่สำคัญผลการตรวจนี้ก็ต้องกับผลตรวจของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) แต่หากไม่เชื่อถือก็ยินดีให้ทำการทดสอบซ้ำ

“มูลนิธิเป็นสมาชิกขององค์กรทดสอบระหว่างประเทศ ซึ่งในเอเชีย มีเพียงไทย ฮ่องกง เกาหลี และสิงคโปร์ เท่านั้น ที่ได้เข้าร่วมเป็นฐานข้อมูลในการทดสอบให้กับองค์กรผู้บริโภคทั่วโลก ซึ่งการไม่เปิดเผยแล็บขององค์กรคุ้มครองผู้บริโภคเป็นเรื่องที่ทั่วโลกปฏิบัติกัน แต่หากอยากทราบวิธีการขั้นตอนในการตรวจนั้นสามารถเปิดเผยได้ ซึ่งในต่างประเทศ หากผลการตรวจขององค์กรผู้บริโภคออกมาแล้ว และมีการโยนข้อมูลไปยังส่วนกลาง อย.จะไม่มีการมาตรวจสอบข้อมูลซ้ำเหมือนไทย แต่จะรีบเก็บสินค้าออกจากชั้นวางทันที ขณะเดียวกันหากผลตรวจของทางหน่วยงานรัฐออกมา เมื่อองค์กรผู้บริโภคหรือสื่อเห็นก็จะรีบนำมาเตือนประชาชนด้วยเช่นกัน” เลขาธิการมูลนิธิ กล่าว

น.ส.สารี กล่าวต่อไปว่า ในอนาคตจะต้องมีการพัฒนาการใช้ข้อมูลร่วมกันเช่นนี้แบบต่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันยังติดขัดในเรื่องของกฎหมาย เพราะการเอาผิดกับผู้ประกอบการจะต้องเป็นผลการตรวจสอบจาก อย.เท่านั้น จึงต้องมีการปฏิรูปความร่วมมือ ลดขั้นตอน และใช้ข้อมูลร่วมกัน ที่สำคัญเราอยากเห็นมาตรฐานในประเทศเทียบเท่ากับการส่งออก เพราะคงไม่มีใครในประเทศอยากเป็นคนชั้นสอง ที่ต้องรอกินข้าวที่ไม่ผ่านมาตรฐานการส่งออกของต่างประเทศ ส่วนการเข้าพบนายกฯนั้น ขณะนี้กำลังอยู่ในระหว่างการประสาน โดยจะเสนอให้มีกลไกคุ้มครองผู้บริโภคที่ดีในรูปแบบขององค์กรอิสระ ซึ่งจะช่วยให้การเปิดเผยข้อมูลต่างๆ นั้นง่ายขึ้น

ผู้สื่อข่าวถามถึงผลตรวจสารอื่นๆ ของข้าวถุงที่ยังไม่แล้วเสร็จ น.ส.สารี กล่าวว่า ในส่วนของอฟลาท็อกซินยังไม่ทราบผลการตรวจ แต่หากผลตรวจเสร็จสิ้นจะมีการจัดแถลงอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งข้อมูลออกมาเป็นเช่นไรก็จะแถลงไปตามข้อเท็จจริง นอกจากนี้ จะมีการตรวจข้าวทางกายภาพด้วย เช่น ข้ามหอมมะลิ 100% ซึ่งอนุญาตให้มีการผสมข้าวอื่นได้ไม่เกิน 8% ก็จะมีการตรวจสอบด้วยเช่นกันว่าเกินกว่าที่กำหนดหรือไม่
 




แฟ้มภาพ
กำลังโหลดความคิดเห็น