นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีขอร้องสื่อมวลชนให้หยุดถามเรื่องข้าวสารที่มีสารรมควันตกค้างเกินมาตรฐานจากการเปิดเผยของมูลนิธิคุ้มครองผู้บริโภคและมูลนิธิชีววิถีเพราะทำให้เดินไปข้างหน้าไม่ได้ ต้องกลับมาคุยกันแต่ประเด็นนี้
น่าสงสารและน่าสมเพชนายกรัฐมนตรีที่ต้องขอให้สื่อช่วยเอามืออุดจมูกประชาชนเพื่อไม่ให้ได้กลิ่นเหม็นเน่าของช้างตายทั้งตัวที่รัฐบาลเอาใบบัวปิดเอาไว้ เพราะเธอถูกออกแบบมาให้ยิ้มกับท่องตามบทที่มีผู้เขียนให้เท่านั้น นอกเหนือจากนี้เธอไม่รู้จริงๆ ว่า เกิดอะไรขึ้น และคนเป็นผู้นำต้องทำอย่างไร
ไปถามเธอว่า เดินไปข้างหน้านั้นจะเดินไปที่ไหน เธอก็คงตอบไม่ได้
จะมีสื่อมวลชนสักกี่คนที่ใจเสาะ เชื่องและแยบยลอย่าง “พี่เช็ค” สุทธิพงษ์ ธรรมวุฒิ ยอมขอขมาลาโทษซีพี และปวารณาตัวรับจ็อบพีอาร์ข้าวถุง
ข่าวข้าวเน่า ข้าวรมควัน จะไม่เกิดขึ้นเลย หากว่า ไม่มีการทุจริต ไม่มีการปิดบังข้อมูล ในโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล
ไปดูสถิติจากทางการก็จะพบว่าช่วงที่ผ่านมาประเทศไทยนำเข้าสารเมทิลโบรไมด์ ซึงเป็นสารเคมีที่ใช้รมข้าวเพื่อกันมอดแมลงเพิ่มขึ้นมากตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555 ซึ่งเป็นปีที่ 2 ของโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล
มูลนิธิชีววิถี ไบโอไทย นำเสนอข้อมูลที่อ้างอิงจากสำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ว่า ปี 2554 ประเทศไทยไม่มีการนำเข้าสารเมทิลโบรไมด์เลย จากที่เคยนำเข้าในปี 2551 จำนวน 143,136 กิโลกรัม ลดลงเหลือ 115,891 และ 92,840 กิโลกรัมในปี 2552 และ 25531 ตามลำดับ จนเหลือศูนย์ในปี 2554 แต่ปี 2555 กลับมีการขำเข้าอีก 45,128 กิโลกรัม ที่เป็นสารเมทิลโบรไมด์เดี่ยวๆ และ สารเมทิลโบรไมด์ ผสมกับคลอโรพิคริน 276,5000 กิโลกรัม ( ในปี 2554 ไม่มีการนำเข้าสารตัวนี้เช่นกัน)
มูลนิธิชีววิถี ไบโอไทย ตั้งข้อสังเกตว่า การนำเข้าสารรมควันพิษเพิ่มขึ้นอาจเป็นเพราะโครงการรับจำนำข้าว
“ สถิติการนำเข้าสารรมควันพิษลดลงเป็นลำดับ ตั้งแต่ปี 2551 จนถึงปี 2554 การลดลงของสารรมควันพิษ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากพันธกรณีของประเทศไทยภายใต้พิธีสารมอนทรีออล ที่ต้องลดเมทิลโบรไมด์ ซึ่งเป็นสารเรือนกระจก โดยต้องทยอยลดให้หมดเป็นลำดับ จนเหลือศูนย์ ในปี 2556
ปริมาณสารรมควันพิษที่เพิ่มขึ้นจากปี 2554 อาจเป็นไปได้ว่า เพิ่มขึ้นเพราะนำไปใช้ในโกดังกลางเก็บข้าวสารของโครงการรับจำนำข้าว
การนำเข้าเมทิลโบรไมด์ อีกครั้งหลังจากไม่มีการนำเข้าเมื่อปี 2554 และการนำเข้าของสารดังกล่าวที่อยู่ในรูปของการผสมกับคลอโรพิคริน เป็นเรื่องที่น่ากังวล เนื่องจากคลอโรพิครินเป็นสารที่อียู ประกาศห้ามใช้แล้วตั้งแต่ปี 2555”
การรมควันข้าวสารด้วยสารเมทิลโบรไมด์ เป็นเรื่องปกติที่ทำกันอยู่แล้ว แต่เป็นการรมควันครั้งเดียว หรือสองครั้ง รัฐบาลนี้รับจำนำข้าวทุกเมล็ดมา 2 ฤดูกาลเพาะปลูกแล้ว โดยกำหนดให้โรงสีทำการสีเป็นข้าวสารเลย แทนที่จะเก็บเป็นข้าวเปลือกไว้ก่อน ทำให้มีข้าวสารในสต๊อกถึง 18 ล้านตันที่ส่งออกไม่ได้ เพราะราคาสูงกว่าราคาตลาดโลก จึงต้องเก็บข้ามปี ทำให้ต้องพ่นสารเคมีรมควันหลายครั้ง
รัฐบาล โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ตั้งแต่นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง และนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ตั้งแต่นายยรรยง พวงราช และ นางวัชรี วิมุกตายน โกหกประชาชนมาโดยตลอดว่า รัฐบาลสามาถส่งอออกข้าวแบบจีทูจีได้หลายล้านตัน ไม่มีปัญหาเรื่องการระบายข้าว
ตัวลขการส่งออกข้าวที่ผ่านมา การที่รัฐบาลไม่กล้าเปิดเผยชื่อประเทศที่ซื้อข้าวจากไทย และล่าสุด การตรวจพบข้าวปนเปื้อนสารรมควันคือใบเสร็จจับโหกคนเหล่านี้
ข่าวคราวเรื่องข้าวเน่า ข้าวรมควัน จะไม่บานปลายขยายใหญ่อย่างที่เป็นอยู่ ถ้าหากว่ารัฐบาลดำเนินโครงการรับจำนำข้าวด้วยความโปร่งใส พร้อมจะให้มีการตรวจสอบอย่างตรงไปตรงมา รัฐบาลสามารถสยบข่าวข้าวรมควันได้ทันที หากนำผู้ตรวจสอบคุณภาพข้าว หรือ เซอร์เวย์เยอร์ มาเปิดเผยข้อเท็จจริงกับสาธารณชน
แต่รัฐบาลก็ไม่กล้า เพราะเซอร์เวย์เยอร์ทั้ง 17 รายที่กระทรวงพาณิชย์จ้างให้ตรวจสอบคุณภาพข้าว ด้วยค่าจ้างเป็นเงินหลายๆ พันล้านบาทนั้นเป็นบริษัท “กำมะลฮ” ในท้องถิ่นที่เป็นพรรคพวกเส้นสายของคนในรัฐบาลทั้งนั้น เป็นช่องทางการผ่องถ่ายภาษีของประชาชนไปสู่ผู้เกี่ยวข้องอีกช่องทางหนึ่ง
หากเป็นเซอร์เวย์เยอร์ที่มีคุณภาพตรงไปตรงมา คงไม่มีข่าวเรื่องข้าวหาย 2 ล้านตัน และข้าวปนเปื้อนสารรมควันออกมาหรอก แต่เซอร์เวย์เยอร์ที่มีคุณสมบัติเช่นนี้ก็ไม่ประสงค์ที่จะเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการโกงการโกหกร่วมกับรัฐบาล
ถึงวันนี้ นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายนิวัติธำรง บุญทรงไพศาล และรัฐมนตรีช่วย นายยรรยง พวงราช เจ้าของคำพูด “รอให้ประเทศอื่นขายข้าวให้หมดก่อน แล้วเราค่อยขาย ถึงตอนนั้นเราจะตั้งราคาเท่าไรก็ได้” ได้แต่คิดหาเรื่องโกหกใหม่มากลบเรื่องที่เคยโกหกแล้วไปวันๆ เพราะความล้มเหลวของโครงการรับจำนำข้าวเนื่องจากการทุจริตทุกขั้นตอน เป็นเรื่องที่ประชาชนรับรู้กันหมดแล้วจะโกหกอย่างไรก็ไม่มีใครเชื่อ