หน.ปชป.ชี้ป่วนรอมฎอนเล่นงาน จนท.ไม่ใช่เรื่องส่วนตัว ย้ำประเมินข้อเท็จจริงอย่ารีบจ้อ นำบทสรุปมาตัดสินถกโจรใต้ หนุนชุดเล็กกำหนดแนวทางตามแผน “อ๊อด” แต่ นายกฯ ลอยตัวจนไร้เอกภาพ จี้ประกาศชัด อ.สะเดาไม่ใช่พื้นที่เสี่ยง หวั่นเข้าทางบีอาร์เอ็น อ้างรับประโยชน์ บี้ รบ.ดูแลข้าวถุงที่มีสารตกค้างให้โปร่งใส อย่ายึดแต่เรื่องการเมือง ชมมูลนิธิสอบช่วย ปชช. ติง รบ.ไม่หนุน กม.ให้องค์กรอิสระสอบ
วันนี้ (17 ก.ค.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่ยังมีเหตุระเบิดที่ยะลาในช่วงรอมฎอน ที่มีข้อตกลงว่าจะลดความรุนแรงในพื้นที่ว่า ทุกเหตุการณ์ต้องมีการตรวจสอบ แต่ถ้าดูจากข่าวรูปแบบเหตุการณ์ก็เป็นการกระทำต่อชุดคุ้มครอง ซึ่งต้องวิเคราะห์ต่อว่าน่าจะเป็นเหตุการณ์ไม่สงบ ไม่ใช่เรื่องส่วนตัว จึงต้องดูว่าเหตุการณ์ลักษณะนี้เกิดขึ้นมากน้อยแค่ไหน ลดลงมากน้อยแค่ไหน และต้องประเมินอย่างตรงไปตรงมาจะดีที่สุด เพราะช่วงนี้มีข้อตกลงที่จะลดความรุนแรง โดยตนเสนอไปตั้งแต่ต้นว่าต้องมีวิธีการทำงานร่วมกันในการประเมินผลการลดความรุนแรงด้วย ซึ่งจะต้องว่าตามข้อเท็จจริง เช่น อาจมีคำอธิบายตรงไปตรงมาว่าไม่สามารถที่จะควบคุมบางกลุ่มได้ ก็ต้องว่าตามข้อเท็จจริง เราจะได้สามารถเดินนโยบายเรื่องการพูดคุยให้เหมาะสมได้ ตนจึงติงว่าการรีบพูดว่าเหตุน้อยนั้นอย่าไปพูดเร็วเกินไป และทุกเหตุการณ์ต้องประเมินตรงไปตรงมา อย่ารีบปัดว่าเป็นเรื่องส่วนตัวหรือไม่เกี่ยวกับเหตุความไม่สงบเพราะจะทำให้ไม่ได้ข้อเท็จจริง ทั้งนี้การจะตัดสินใจว่าควรจะเจรจาต่อไปหรือไม่ คงต้องรอให้ครบเดือนตามกำหนดก่อน จากนั้นนำตัวเลขการเกิดเหตุมาประเมิน ซึ่งความจริงก่อนหน้าที่จะมาสู่จุดนี้ควรจะมีการตกลงกันคร่าวๆ แล้วว่าเราจะยอมรับกันได้ในระดับไหนว่าเป็นการลดความรุนแรงแล้ว จึงต้องรีบวางเกณฑ์และระบบการประเมินให้ชัดเจนก่อนที่จะครบเดือนรอมฎอน
ผู้นำฝ่ายค้านฯ กล่าวว่า ในขณะนี้เป็นการประกาศมาตรการของแต่ละฝ่าย ซึ่งความจริงฝ่ายบีอาร์เอ็นก็ยังไม่ได้ออกแถลงการณ์ในนามของเขา โดยตนอยากให้ดำเนินการเหมือนที่ พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รมช.กลาโหม เคยพูดไว้ก่อนที่จะเข้ามารับตำแหน่งรอบสองว่า น่าจะทำเป็นชุดเล็ก กำหนดแนวทางปฎิบัติ การประเมินร่วมกันว่าจะทำอย่างไร แต่ในขณะนี้ปัญหาคือผู้รับผิดชอบสูงสุด คือ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม พยายามที่จะลอยตัวออกจากปัญหา ทำให้ได้คำตอบที่กระจัดกระจายไม่เป็นเอกภาพ เช่น เมื่อวานนี้ (16 ก.ค.) คำอธิบายของนายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รมว.มหาดไทย ออกมาระบุว่ามีการท้วงติงคำแถลงการณ์ที่รวมอำเภอสะเดาเข้าไปแล้ว แต่ก็ต้องถามว่าถ้าท้วงติงแล้วเหตุใดจึงไม่มีการแก้ไขคำแถลงการณ์
“ที่แปลกก็คือเป็นการแถลงในนามของฝ่ายไทยกับมาเลเซีย ไม่ใช่ฝ่ายบีอาร์เอ็น เหตุใดจึงไปเขียนเรื่องนี้ไว้ ผมจึงบอกว่านายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดต้องแสดงจุดยืนออกมา เพราะทหารก็บอกแล้วว่าไม่เห็นด้วยที่จะรวมสะเดาเข้าไป ซึ่งตนเดินทางไปที่จังหวัดสงขลาประชาชนก็ไม่สบายใจที่มีการระบุอำเภอสะเดาเข้าไปในพื้นที่ไม่สงบ รัฐบาลต้องเอาใจใส่กับเรื่องที่มีความละเอียดอ่อนมากกว่านี้ อย่าไปกังวลในเรื่องภาพ ต้องเอาความจริงจึงจะแก้ปัญหาได้ การท้วงติงต้องทำเป็นลายลักษณ์อักษรและแถลงแก้อย่างเป็นทางการว่าพื้นที่สะเดาไม่ใช่ส่วนหนึ่งของพื้นที่ที่มีความไม่สงบ แต่ถ้ารัฐบาลไม่ทำผมเกรงว่าบีอาร์เอ็นจะอ้างโดยปริยายว่าเรายอมรับว่าสะเดาเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่มีปัญหาซึ่งอยู่ในกรอบที่จะต้องเจรจากันในอนาคต ซึ่งไม่ควรจะเป็นอย่างนั้น” นายอภิสิทธิ์กล่าว
นายอภิสิทธิ์กล่าวถึงปัญหาคุณภาพข้าวถุงที่พบสารปนเปื้อนว่า รัฐบาลต้องดูตามความจริงว่าสารที่เป็นปัญหามีการตกค้างและสะสมได้ โดยต้องมีมาตรการดูแลในส่วนที่เกินมาตรฐานสากล และในส่วนที่เกินมาตรฐานของประเทศคู่ค้าของไทยก็ต้องเอาใจใส่ด้วย เพราะข้าวที่จะส่งออกไปนั้นรัฐบาลมีความหวังจากประเทศจีนเป็นหลัก ถ้าข้าวไทยมีสารตกค้างเกินมาตรฐานที่จีนกำหนดก็จะเป็นปัญหา ทั้งนี้ ตนขอชื่นชมมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และมูลนิธิชีววิถี ที่ตรวจสอบเรื่องนี้ และตนเคยเรียกร้องมานานแล้วว่ารัฐบาลควรดำเนินการเรื่องนี้อย่างตรงไปตรงมาเพื่อให้เกิดความโปร่งใสในการตรวจสอบ มีกระบวนการทางวิทยาศาสตร์รองรับเพื่อแก้ปัญหา เพราะในขณะนี้หน่วยงานรัฐก็มีการตรวจสอบแต่อ้างว่ายี่ห้อที่พบปัญหาในขณะนี้ยังไม่ได้ตรวจ จึงเป็นปัญหาว่าทำไมไม่ทำทุกอย่างให้โปร่งใสว่าตรวจใคร ตรวจอย่างไร และผลคืออะไร แต่การพยายามพูดรวม ๆ เพราะกลัวแรงกดดันทางการเมืองจากรัฐบาลเพื่อไปรับรองให้แต่ต่อมาเมื่อมีปัญหาก็จะได้รับผลกระทบด้านความน่าเชื่อถือ
“ดังนั้นต้องตั้งหลักในเรื่องความโปร่งใสว่ากันตามความเป็นจริง ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเร่งทำความจริงให้กระจ่าง เพราะมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและมูลนิธิชีววิถีพบข้อเท็จจริงเช่นนี้ ก็ต้องมีการอธิบายถึงมาตรฐานการดูแลคุ้มครองผู้บริโภคและจัดการกับผู้ที่เกี่ยวข้องว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร เพราะในรัฐธรรมนูญก็มีการกำหนดให้มีองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค แต่ก็เป็นหนึ่งในกฎหมายที่รัฐบาลชุดนี้ไม่ยอมยืนยันทำให้ตกไป ทั้งที่รัฐบาลควรจะเร่งรัดให้มีองค์กรดังล่าวตามรัฐธรรมนูญออกมาเพื่อคุ้มครองประชาชน ซึ่งในสมัยเราเป็นรัฐบาลก็ดำเนินการอยู่จนเข้าสู่การพิจารณาของสภา แต่เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลก็ไม่มีการยืนยันจนทำให้กฎหมายตกไป” หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์กล่าว