xs
xsm
sm
md
lg

ปชป.ปัดหนุนล้างผิด 112 ชี้ “ปู” นั่งผู้นำกลับนิ่งปัญหาข้าว จี้ รบ.ร่วมมือก่อนตั้งทีมสอบโกง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์(แฟ้มภาพ)
“ชวนนท์” ย้ำ ปชป.หนุนหลัก พ.ร.บ.นิรโทษฯ ฉบับ “แม่เกด” แต่ไม่รวมแกนนำคดีร้ายแรง และผิด ม.112 ขออย่าบิดเบือน ชี้รมยาข้าวผิดวิธี ทำสารตกค้าง ข้องใจ ข้าวค้างสต๊อคเพียบถึงรมยาซ้ำ งงนายกฯ ตรวจโรงงานข้าวที่ปลอดภัย แทนที่จะดูที่ที่มีสารตกค้าง ซัดเป็นผู้นำชิ่งสื่อ ปชช.จะถามใคร ย้ำปัญหาคือโกง แฉนำเข้าข้าวพม่า-เขมรอื้อทั้งที่ไม่จำเป็น ตอกตั้งทีมปราบโกงไม่รู้กี่คณะ แถม รบ.เองที่ไม่ยอมโชว์ความโปร่งใส



วันนี้ (18 ก.ค.) นายชวนนท์ อินทรโกมาลสุตย์ โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการเสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับประชาชนของนางพะเยา อัคฮาด มารดาของ น.ส.กมนเกด พยาบาลอาสาที่เสียชีวิตในช่วงการชุมนุมปี 53 ว่า ในหลักการถือว่าใช้ได้เพราะมีการแยกแยะความผิด แต่ตนไม่สบายใจที่มีความพยายามเบี่ยงเบนประเด็นให้เกิดความเข้าใจผิดต่อพรรคประชาธิปัตย์ จึงขอย้ำหลักการที่พรรคเห็นด้วยกับ พ.ร.บ.นี้ว่า เพราะมีการแยกแยะการกระทำผิดตามลักษณะการกระทำ โทษและคดีความ โดยมีการระบุว่าจะนิรโทษกรรมให้แก่ประชาชนที่ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เป็นเรื่องที่ยอมรับได้ และความผิดลหุโทษก็สามารถนิรโทษกรรมได้เพื่อสร้างความปรองดองให้สังคมไทย แต่จุดยืนของพรรคไม่สนับสนุนหรือไม่ยินยอมให้มีการนิรโทษกรรมกับแกนนำผู้สั่งการไม่ว่าจะเป็นฝ่ายรัฐบาลขณะนั้นหรือแกนนำผู้ชุมนุม ทั้งนี้ พรรคไม่สนับสนุนการนิรโทษกรรมกลุ่มที่มีพฤติกรรมเผาสถานที่ทั้งของราชการและเอกชน ทำลายทรัพย์สินผู้อื่นจนเกิดความเสียหายเป็นวงกว้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีความผิดมาตรา 112 ต้องไม่รวมในการนิรโทษกรรม ดังนั้นจึงไม่อยากให้มีการบิดเบือนว่าพรรคสนับสนุนให้มีการนิรโทษกรรมผู้ทำความผิดมาตรา 112

นายชวนนท์กล่าวถึงกรณีที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคร่วมกับมูลนิธิชีววิถี สุ่มตรวจข้าวถุงและพบว่ามีสารปนเปื้อนอยู่ในข้าวถุงบางยี่ห้อสูงเกินกว่ามาตรฐานสากลที่กำหนดให้ไม่เกิน 50 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม โดยนายแพทย์บุญชัย สมบูรณ์สุข เลขาธิการคณะกรรมการองค์การอาหารและยา (อย.) ก็ยอมรับว่าข้าวยี่ห้อดังกล่าวมีปริมาณสารตกค้างเกินค่ามาตรฐานมากกว่าที่มูุลนิธิเพื่อผู้บริโภคระบุด้วยซ้ำ ซึ่งสาเหตุที่ทำให้มีค่าสารตกค้างมากเพราะมีการรมยาผิดวิธี จากที่จะต้องรมยาก่อนบรรจุถุงกลับมีการรมยาซ้ำในถุงพลาสติกอีกรอบ ทำให้มีการดูดสารดังกล่าวเข้าไปในถุง ซึ่งตนไม่กล่าวโทษว่ามีความจงใจที่จะให้เกิดสารตกค้างหรือไม่ แต่ขอตั้งข้อสังเกตว่าที่ต้องรมยาซ้ำซ้อนมีเหตุผลอะไร หรือว่าเพราะข้าวในสต๊อกมีมากจนจำหน่ายไม่ทัน และเป็นผลจากโครงการจำนำที่มีข้าวในสต๊อกกว่า 20 ล้านตัน จนระบายไม่ทันด้วยหรือไม่จึงทำให้มีการรมยาซ้ำแล้วซ้ำอีก

นายชวนนท์ยังกล่าวถึงกรณีที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหมเดินทางไปตรวจโรงงานข้าวตราฉัตรว่า ตนเสียดายเพราะโรงงานที่นายกฯ ไปไม่ใช่โรงงานที่มีค่าสารตกค้างเกินมาตรฐาน ทำไมไม่ไปโรงงานที่มีปัญหาค่าสารตกค้างเกินมาตรฐานซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการแก้ปัญหามากกว่า เพราะเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องการเมือง แต่นายกฯ ต้องทำความจริงให้กระจ่าง ไม่ใช่การสร้างภาพ ทั้งนี้ พรรคไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์เหมือนประเทศอินเดียที่มีสารพิษตกค้างในอาหารจนเด็กเสียชีวิตถึง 20 คน จึงเห็นว่านายกฯ ต้องสังคายนาข้าวทั้งระบบ ไม่ใช่ขอให้สื่อมวลชนเลิกถามเรื่องข้าว เพราะถ้านายกฯ ไม่ตอบแล้วจะให้ประชาชนไปถามใคร ในเมื่อนายกฯ เป็นผู้นำสูงสุด จึงขอให้ยืนหยัดในการให้ความจริงกับประชาชนด้วย และอยากให้นายกฯ พึงคิดว่าปัญหาของข้าวที่เกิดตั้งแต่การโกง การขาดทุน จนถึงข้าวเน่านั้น ความจริงมีความสอดคล้องต่อเนื่องกัน เริ่มจากการโกงจนขาดทุน มีการสะสมของข้าว กระทั่งข้าวเน่า ทุกอย่างเป็นเรื่องเดียวกัน นายกฯ ต้องแก้ปัญหาที่ต้นน้ำด้วยจึงจะแก้ปัญหาข้าวเน่าได้ แต่ถ้ามัวแต่ขู่คนพูดเรื่องข้าวเน่า คนแพร่ข่าวในเฟซบุ๊กไม่มีทางแก้ไขได้ เพราะปัญหาเกิดจากนโยบายของรัฐบาล และจนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีการแสดงความคิดว่าจะแก้ปัญหาความย่อยยับที่เกิดกับโครงการจำนำข้าวอย่างไร

นายชวนนท์ยังนำตัวเลขการนำเข้าข้าวจากพม่า และกัมพูชา ที่ปรากฏอย่างเป็นทางการ มาแสดงต่อสื่อมวลชน โดยตั้งข้อสังเกตว่าเพิ่งเกิดขึ้นหลังจากมีโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลโดยในปี 2555-2556 มีการนำเข้าข้าวจากพม่ามูลค่าประมาณ 50 ล้านบาทในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2555 และ 2556 ส่วนกัมพูชามูลค่าประมาณ 25 ล้านบาท ดูตัวเลขทางการเหมือนน้อยเพราะเป็นตัวเลขทางการ ยังไม่ทราบว่ามีการลักลอบนำเข้ามาอีกเท่าไหร่ และต้องถามว่าทำไมต้องมีการนำเข้าข้าวจากพม่าและเขมรเพราะไม่มีความจำเป็น จึงอยากให้นายกฯแก้ปัญหาที่ต้นทางอย่าสร้างความรู้สึกว่าปัญหาไม่มี เพราะต้องยอมรับว่ามีปัญหาจากโครงการประชานิยมจึงเป็นความรับผิดชอบของรัฐบาลที่ต้องแก้ปัญหา เนื่องจากประเทศมีนายกฯ ไว้แก้ปัญหา

โฆษกพรรคประชาธิปัตย์กล่าวถึงกรณีที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ เดินทางไปเมืองทองธานี มอบนโยบายเปิดการสัมมนาแก่คณะธรรมาภิบาลจังหวัด ซึ่งตนคิดว่าประเทศมีความสับสนมากว่ามีคณะกรรมการเกี่ยวกับการคอร์รัปชันกี่คณะ เพราะนายกฯ ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาจนตัวเองก็อาจจะจำไม่ได้ และยังมีการกำหนดอำนาจให้ไปสอดส่องดูแลเรื่องการทุจริตคอร์รัปชันระดับจังหวัด โดยเพิ่มความเข้มข้นในการตรวจสอบเปิดเผยข้อมูลทุกขั้นตอน จึงอยากถามว่านายกฯ จำไม่ได้หรือว่ารัฐบาลคือผู้ที่ไม่เปิดเผยราคากลาง เช่น กรณีเงินกู้ 3.5 แสนล้าน ซึ่ง ป.ป.ช.เคยทำหนังสือให้เปิดเผยราคากลางแต่รัฐบาลก็ไม่ปฏิบัติตาม นอกจากนี้ยังมีการตั้งคณะกรรมกรรธรรมาภิบาลขึ้นมาซ้ำซ้อนกับการทำงานของ ป.ป.ช.ด้วย ส่วนที่บอกว่าจะให้ประชาชนมีส่วนร่วมนั้นก็ตรงข้ามกับพฤติกรรมเพราะองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันเคยขอเข้าไปสังเกตการณ์การประมูลโครงการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท แต่ก็ไม่ได้รับความร่วมมือจากรัฐบาล ทั้งนี้เชื่อว่านายกฯ ไม่ได้เขียนเองแต่อ่านตามที่มีคนเขียนให้ จึงขอเรียกร้องว่าให้นายกฯ บอกว่าพร้อมให้ความร่วมมือกับ ป.ป.ช. สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ในทุกขั้นตอน ไม่จำเป็นต้องสร้างกลไกใหม่


กำลังโหลดความคิดเห็น