xs
xsm
sm
md
lg

แนะ ปชช.แจ้งสายด่วนผักสด 1135 ปราบสารพิษในผัก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สายด่วนผักสด 1135 บก.ปคบ.ร่วมกับ สสส.หาแนวทางแก้ไขปัญหาสารพิษในผัก แนะประชาชนช่วยสอดส่อง รักษาสิทธิผู้บริโภคของตนแจ้งผ่านสายด่วนเพื่อเข้าควบคุมมาตรฐาน ด้านมูลนิธิชีววิถีแจงการควบคุมสารเคมีต้องใช้ความร่วมมือหลายส่วน ซึ่งประเทศไทยไม่มีระบบการขึ้นทะเบียนสารเคมี โดยเฉพาะการขึ้นทะเบียนควบคุม 4 สารหลักๆ
วันนี้ (18 ก.ค.) พล.ต.ต.นิพนธ์ เจริญผล ผู้บังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค กล่าวในการเสวนาเรื่อง “แนวทางการแก้ไขปัญหาผักสดไม่ปลอดภัยและการพัฒนาสถานที่จำหน่ายผักสดให้ได้มาตรฐาน” ภายใต้โครงการ “ผักสดปลอดภัย ส่งเสริมคนไทยสุขภาพดี ภายใต้ทฤษฎีตำรวจผู้รับใช้ชุมชน (สายสืบผักสดรีเทิร์น)” จัดโดยกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ว่า การคุ้มครองผู้บริโภคเป็นหน้าที่ของ บก.ปคบ.ซึ่งจำเป็นต้องประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเข้าใจสิทธิของตนเองควบคู่กันไป โดยที่ประชาชนสามารถเข้ามาช่วยสอดส่องและดูแลสิทธิของตนเองควบคู่กันไปด้วย การคุ้มครองผู้บริโภคมีภาระงานหลายด้านทั้งการให้บริการ สินค้า อาหาร และยา อุตสาหกรรม โดยประชาชนสามารถช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ได้ด้วยการเป็นหูเป็นตาและแจ้งผ่านสายด่วน 1135 ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่ที่ประกอบด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกไปตรวจสอบเพื่อควบคุมให้เป็นไปตามมาตรฐาน และบังคับใช้กฎหมายต่อไป
   ด้านนายวิฑูร เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี กล่าวว่า การควบคุมสารเคมีของไทยจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือหลายภาคส่วน โดยเฉพาะระบบการขึ้นทะเบียนสารเคมี ซึ่งในยุโรป และสหรัฐอเมริกา จะมีกระบวนการจัดการสารเคมีอยู่ตลอดเวลาและปัจจุบันสามารถนำสารเคมีที่ไม่เหมาะสม และทำให้เกิดการปนเปื้อนเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค ออกจากระบบได้ประมาณร้อยละ 40 ในขณะที่ประเทศไทยมีการผลักดันให้ควบคุมสารเคมี 4 ตัว ได้แก่ สารไดโครโดฟอส สารเมโทบิล หรือ แลนเนท สารคาร์โบฟูราน หรือฟูราคาน สารอีพีเอ็น หรือคูมิฟอส ซึ่งหากควบคุมได้จะทำให้ปัญหาสารเคมีตกค้างในพืชผักส่งออกลดลงได้ 1 ใน 3 แต่ปัจจุบันกระบวนการขึ้นทะเบียนก็ยังไม่สามารถเกิดขึ้นได้ในประเทศไทย
   นายวิฑูร กล่าวต่อว่า นอกจากกระบวนการจัดการสารเคมีด้วยการยกเลิกสารเคมีที่เป็นอันตราย และทำให้เกิดการตกค้างยังต้องจัดการการใช้สารเคมีอย่างถูกประเภท จัดการการขายและการผลิตที่ไม่มีจริยธรรม จำเป็นต้องมีการจัดการกระบวนการผลิตต้นน้ำให้เข้มข้นมากขึ้น ทำให้เกิดการลดการใช้สารเคมีลง นอกจากนี้ ระบบการตลาดสมัยใหม่ หรือโมเดิร์นเทรด ที่มีการขายส่งให้กับห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ จะมีการเน้นคุณภาพสินค้ามากขึ้น ทำให้เป็นแรงจูงใจให้เกษตรกรในระบบหันมาใส่ใจการผลิตสินค้าที่ปลอดภัยมากขึ้น ทั้งนี้ กลไกเฝ้าระวังในประเทศไทยถือว่ายังไม่เพียงพอและจำเป็นต้องด้วยการให้ผู้ประกอบการ ผู้บริโภค เข้ามาร่วมวางกติการ่วมกันก่อนจะไปถึงขั้นตอนการบังคับใช้กฎหมายสร้างความเข้มแข็ง
กำลังโหลดความคิดเห็น