ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-อุณหภูมิการเมืองเดือนสิงหาฯร้อนฉ่าขึ้นมาทันที หลังจากที่ประชุมคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) เมื่อวันที่ 24 ก.ค. 56 มีมติให้นำร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ของนายวรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย แกนนำกลุ่มคนเสื้อแดง มาพิจารณาในวาระแรกในขั้นรับหลักการในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร วันที่ 7 ส.ค.นี้ ส่วนวันที่ 8 ส.ค.จะเป็นกระทู้ตามปกติ
หลังจากนั้น ถึงจะนำร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2557 บรรจุเข้าสู่การพิจารณาในวันที่ 14-15 ส.ค. ซึ่งจะเป็นการพิจารณาในวาระ 2 และวาระ 3 อีกสัปดาห์ถัดไป จึงจะบรรจุร่าง พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ... วงเงิน 2 ล้านล้านบาท เข้าสู่การพิจารณา แต่สำหรับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 3 ฉบับยังไม่มีบรรจุในระเบียบวาระ เนื่องจากคณะกรรมาธิการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 3 ฉบับ ยังพิจารณารายละเอียดไม่แล้วเสร็จ
จัดหนักไล่เรียงลำดับกันแน่นเอียดโดยไม่สนเสียงคัดค้านที่กระหึ่มรอบทิศทาง ทั้งเรื่องนิรโทษกรรมและการกู้เงิน 2.2 ล้านล้านบาท เรียกว่า ท้าชนทุกสถาบัน ทั้งในและนอกสภา อย่างไม่หวั่นเกรงหน้าอินทร์หน้าพรหมก็ว่าได้ แต่ว่าการตีปี๊บพร้อมลุย กม.นิรโทษกรรม รอบนี้ สุดท้ายจะเป็นแค่กลเกมหลอกต้มคนกันเอง หรือจะเรียกแขกลงถนนรุมถล่มรัฐบาลยิ่งลักษณ์จนซวนเซ อีกครั้งหรือไม่ ยังต้องติดตาม
ว่ากันถึงเรื่องนิรโทษกรรมที่คนเสื้อแดงและพรรคเพื่อไทย เคลื่อนไหวผลักดันจนเป็นมหากาพย์ทางการเมืองที่ยังไม่มีตอนจบ เพราะตลอดเวลาที่ผ่านมาไม่ใช่แค่คนวงนอกและพรรคฝ่ายค้านเท่านั้นที่ง้างเท้ารอยำ แต่ “คนวงใน” ด้วยกันเอง ก็ขัดแข้งขัดขาด้วยเหตุว่าแต่ละกลุ่มแต่ละก๊กภายใต้เสื้อคลุม นปช.และเพื่อไทยต่างก็มีวาระ มีผลประโยชน์ของตนเอง และเอาเข้าจริงจะมีแกนนำ นปช.และ ส..ส.เพื่อไทย สักกี่คนที่อยากจะให้มีการนิรโทษกรรมนายใหญ่แห่งดูไบอย่างแท้จริง มีแต่เล่นละครสร้างราคาแล้ว “หลอกแดก” เสียมากกว่า เพราะว่ากันถึงตอนนี้มีร่างกฎหมายนิรโทษกรรมและปรองดองไปนอนรอในสภาอยู่เกือบสิบฉบับแล้ว
คราวนี้ก็เช่นเดียวกัน ก่อนเปิดประชุมสภาฯ สรรพเสียงของพรรคเพื่อไทยและแก๊งแดงก็แตกเป็นเสี่ยง ส.ส.เพื่อไทยบางกลุ่ม เห็นว่าลุยเอาร่าง กม.นิรโทษกรรม บรรจุเป็นวาระแรกเลย เพื่อซื้อใจพี่น้องแดง โดยนิรโทษแบบเหมารวมยกเข่ง ซึ่งไม่ใช่แค่แดงเท่านั้นที่จะได้ประโยชน์ เหลือง เขียว หรือสีกากีก็อยู่ในข่ายล้างให้หมด โดยยกเว้นแกนนำหรือผู้สั่งการไว้ก่อน จากนั้นค่อยวางหมากเดินก้าวต่อไปคือ เอานายใหญ่แห่งดูไบกลับบ้านเกิดเมืองนอน แต่บางกลุ่มกับเห็นว่า เอาเรื่องงบประมาณและเงินกู้ให้ผ่านไปก่อนดีไหม เผื่อจับพลัดจับพลูตอนเสนอร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม แล้วเกิดอุบัติเหตุทางการเมือง ก็ยังมีเงินตุงอยู่ในกระเป๋า ยื้อกันไปมาจนสุดท้ายที่ประชุมวิปรัฐบาลจะมีมติให้เอาร่าง กม.นิรโทษกรรม ขึ้นมาพิจารณาก่อนเป็นวาระแรก แล้วร่าง กม.ฉบับอื่นๆ ค่อยตามมา
ไม่ใช่แค่ถกเถียงว่าจะเอาเงินก่อนหรือเอามวลชนเสื้อแดงก่อนหรือมันเอาทั้งหมดเท่านั้น เพราะว่าในแดงด้วยกันเอง ยังมีความไม่ลงรอยกันระหว่างการเสนอร่าง กม.นิรโทษกรรม ที่เสนอโดยนายวรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย แกนนำกลุ่มคนเสื้อแดง กับร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับประชาชน ของกลุ่มญาติผู้เสียชีวิตที่มีนางพะเยาว์ อัคฮาด มารดาของนางสาว กมนเกด อัคฮาด พยาบาลอาสาที่ถูกยิงเสียชีวิตในวัดปทุมวนาราม เป็นแกนนำผลักดัน ด้วยเหตุว่า นางพะเยาว์ รับไม่ได้กับร่าง กม.นิรโทษกรรม ที่เสนอโดยนายวรชัย เนื่องจากเท่ากับล้างผิดให้ “กลุ่มสีเขียว” ที่นางเชื่อว่าเป็นผู้ลั่นกระสุนสังหารผู้ชุมนุมที่อยู่ภายในวัดปทุมวรารามที่ลูกสาวของเธอพลอยโดนยิงตายไปด้วย
แต่ก็อย่างว่า กลุ่มแดงของนางพะเยาว์ มีแค่หยิบมือเดียว อำนาจในการต่อรองก็น้อย ยิ่งจังหวะที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ กำลังปรับจูนคลื่นกับคณะนายทหารใหญ่หลัง “คลิปฉาวถั่งเช่า” หลุดออกมาเปลือยตัวตนของนายใหญ่ทักษิณที่หวังคุมทหารด้วยการส่งน้องสาว นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มาถ่างขาควบรมว.กลาโหมในเวลานี้ ดังนั้น อย่าหวังว่าร่าง กม.นิรโทษกรรมฉบับประชาชน จะถูกนำเข้าสู่การพิจารณาในสภา หรืออย่างมากที่สุด ก็คงถูกนำไปยำรวมกับร่างอื่นๆ ที่เสนอกันไปก่อนหน้านี้
เอาแค่ “คลิปฉาวถั่งเช่า” ยังทำให้เกมดันกม.นิรโทษกรรมที่พี่แม้ววางแผนให้น้องสาว อาศัยอำนาจ รมว.กลาโหม ผลักดันผ่านทางสภากลาโหมสะดุดเพราะแผนแตกจนรัฐบาลกับทหารมองหน้ากันไม่สนิท ขืนออกมาแสดงท่าทีสนับสนุนร่างกม.นิรโทษกรรมฉบับประชาชน ที่ต้องการเอาทหารมารับผิดชอบในเหตุการณ์สลายการชุมนุมจนกลุ่มคนเสื้อแดงบาดเจ็บล้มตายอย่างที่คุณแม่น้องเกดมาดหมาย มีหวัง “ไอ้ตู่” ที่คนเสียงคล้าย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เรียกแทนชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. เกิดมีฤทธิ์เดชขึ้นมาเพื่อข่มขวัญรัฐบาลจะยุ่งกันไปใหญ่
ถึงนาทีนี้ การผลักดัน กม.นิรโทษกรรมผ่านทางสภากลาโหมนั้น “บิ๊กตู่” ย้ำอีกครั้งให้ปิด ประตูตายไปได้เลย “ก่อนหน้านี้ พล.อ.ทนงศักดิ์ อภิรักษ์โยธิน ปลัดกระทรวงกลาโหม เคยชี้แจงไปแล้วว่า ขั้นตอนการนำกฎหมายเข้าสู่ที่ประชุมสภากลาโหมนั้นมีอยู่ 6 ข้อ โดยข้อที่ 6 คือ ผบ.เหล่าทัพและ รมว.กลาโหมต้องเสนอเรื่องเข้าพิจารณา แต่ไม่ได้หมายความถึง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ทั้งนี้ในความรู้สึกของตน คือ จะไม่เสนอเรื่องที่ไม่ใช่เรื่องทางทหารเข้าสู่สภากลาโหม และจะไม่เสนอเรื่องใดที่กระทำให้ขัดแย้งกับกฎหมายอื่นๆ เราคงทำไม่ได้” พล.อ.ประยุทธ์ ให้สัมภาษณ์กับสื่อที่กองการบิน กรมการขนส่งทหารบก (ขส.ทบ.) เมื่อวันที่ 23 ก.ค. ถึงกระแสข่าวว่าอาจมีการนำ พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเข้าสู่ที่ประชุมสภากลาโหมในวันที่ 26 ก.ค.ที่ผ่านมา
ที่สำคัญ การสนับสนุนร่าง กม.นิรโทษกรรมของนายวรชัย นอกจากพรรคเพื่อไทยจะได้ใจมวลชนเสื้อแดงมากกว่าแล้ว ยังได้มิตรสีเขียว สีกากีพ่วงเข้ามาด้วย อีกทั้งร่างของนายวรชัย ยังสามารถตีความให้การกระทำของผู้ชุมนุมทางการเมืองที่เข้าข่ายกระทำผิดในคดีอาญา และการกระทำที่เข้าข่ายทำผิดตามมาตรา 112 หลุดรอด ซึ่งนั่นเท่ากับว่า คดีใหญ่ๆ เช่น คดีหมิ่นเบื้องสูง ที่ศาลตัดสินแล้ว 3 คดี คือ คดี“ดา ตอร์ปิโด”, คดีนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข และ คดีนายสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ และคดีอาญา กรณีเผาศาลากลางจังหวัดอุดรธานี อุบลราชธานี ขอนแก่น มุกดาหาร ก็พ้นมลทินกันหมด สร้างความหวังให้บรรดาแดงที่นอนคุกหรือถูกเชือกมัดคอรอกระตุกอยู่ตอนนี้ได้รับการปลดปล่อยเพื่อสวามิภักดิ์รักทักษิณกันต่อไป หลังจากที่คร่ำครวญว่าถูกรัฐบาลยิ่งลักษณ์และบรรดาแกนนำไพร่แดงที่แปลงร่างเป็นอำมาตย์ปล่อยทิ้งไม่มาดูดำดูดีมานมนาน
ขณะที่ฟากแดงแบ่งก๊กแบ่งเหล่าเล่นละครหลอกสังคม หลอกกันเอง และล่อกันเองจนงงงวย อย่างที่นางพะเยาว์ บอกว่า แปลกใจอย่างยิ่งที่พบว่าพวกที่ดิ้นพล่านจากการแถลงเปิดร่าง กม.นิรโทษกรรมฉบับประชาชนของกลุ่มญาติผู้เสียชีวิต กลับกลายเป็นคนกันเอง ทั้งแกนนำ นปช. อย่าง นางธิดา ถาวรเศรษฐ์, นพ.เหวง โตจิราการ รวมทั้ง ส.ส.พรรคเพื่อไทย ทั้งที่กลุ่มที่ดิ้นรนเดือดร้อนน่าจะเป็นพวกนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ หรือกองทัพ มากกว่า นั้น
ทางฟากประชาธิปัตย์ ไม่รอช้ารีบออกมาแสดงละครการเมืองอย่างไม่เข้าท่า โดยประกาศหนุนร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับประชาชนที่กลุ่มแม่น้องเกดเสนอทันที ถึงขั้นบอกว่า นี่คือทางออกของประเทศ โดยนายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ แถลงว่า “พรรคประชาธิปัตย์ เริ่มเห็นคำตอบให้กับประเทศ เพราะว่าร่างดังกล่าวมีความสอดคล้องกับแนวคิดของพรรค” เนื่องจากไม่นิรโทษกรรมให้กับผู้สั่งการและคนทำผิดกฎหมายอาญา มีการแบ่งแยกผู้กระทำผิดอย่างชัดเจน กระทั่งนายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา ออกมาตั้งข้อสังเกตว่า ร่างฉบับนี้มีการนิรโทษกรรมคนทำผิดตามมาตรา 112 ด้วยดังปรากฏในมาตรา 3 (3) แม้จะไม่ได้เขียนไว้ตรงๆ ก็ตาม และยังซ่อนกลเอาไว้ในมาตรา 3 (4) วรรค 2 ที่อาจตีความได้ว่า ผู้ที่วางเพลิงศาลากลางที่เป็นของราชการอยู่ในข่ายได้รับนิรโทษกรรมด้วย
เมื่อเกมที่ประชาธิปัตย์โดดลงไปเล่น กำลังจะเจอบูมเมอแรงกลับมาฟาดหัวตัวเอง นายชวนนท์ จึงรีบออกมาย้ำว่า ประชาธิปัตย์ ไม่ได้สนับสนุนให้นิรโทรษกรรมคนกระทำผิดมาตรา 112 และคนที่มีความผิดในคดีอาญาอย่างเผาศาลากลาง ขณะที่นายอภิสิทธิ์ แสดงท่าทีหนุนร่างนี้เพราะตอบโจทย์ปรองดองได้หมด ก็กระมิดกระเมี้ยนว่าจะต้องระวังปมมาตรา 112 คดีเผาศาลากลาง ฯลฯ
งานนี้ นายอลงกรณ์ พลบุตร จึงอาสาออกมายืนแถวหน้าเสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เข้าสู่ที่ประชุม ส.ส.พรรค เพื่อพิจารณาโดยจะยึดสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับประชาชนเป็นหลัก แต่จะปรับปรุง 2 - 3 ประเด็นที่นายอภิสิทธิ์ ให้ความเห็น เช่น กรอบเวลา ความผิดประเภทอื่นที่จะต้องไม่เข้ามาอยู่ในกรอบกฎหมายนี้ ไม่ว่าจะเป็นการทุจริตคอร์รัปชั่นหรือหมิ่นสถาบันเบื้องสูง ซึ่งถือเป็นการริเริ่มให้มี พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับของพรรคประชาธิปัตย์
เรียกได้ว่า เป็นการอาศัยจังหวะตีกินตามสไตล์พรรคแมลงสาบ ที่ออกมาโกยคะแนนว่า พรรคประชาธิปัตย์ต้องการหาทางออกให้กับประเทศ โดยมีการดำเนินการที่เป็นรูปธรรม ไม่ใช่แค่วิพากษ์วิจารณ์ให้ความเห็น ถือเป็นหน้าที่และความรับผิดชอบของพรรคในฐานะที่เป็นพรรคการเมืองหลักของประเทศ พร้อมกับเกทับบลัฟแหลกพรรคเพื่อไทยว่า ควรจะแสดงจุดยืนและแสดงความเป็นพรรคการเมืองด้วยการมีท่าทีที่ชัดเจนในการเสนอร่าง กม.นิรโทษกรรมเข้าสู่สภาในนามของพรรคเพื่อไทย ซึ่งเวลานี้ไม่มี มีแต่ร่างของ ส.ส.เพื่อไทยเท่านั้น
ดราม่าสุดๆ ก่อนที่จะเผยให้เห็น “สันดานแมลงสาบ” ของจริงว่าเชื่อถืออะไรไม่ได้ เพราะในเวลาต่อมาเพียงชั่วข้ามวัน ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ เมื่อวันที่ 25 ก.ค. ก็ตีตกไป และตัวนายอลงกรณ์ ซึ่งตอนแรกว่าจะพิจารณาอีกครั้งว่าจะใช้เอกสิทธิ์เสนอสภาในนาม ส.ส.หรือไม่ ก็ตัดสินใจไม่เอาแล้ว
อย่างไรก็ตาม การกลับลำของนายอลงกรณ์ อาจเป็นเพราะการเคลื่อนไหวแบบข้ามาคนเดียวของเขา ก่อให้เกิดความขัดแย้งภายในพรรคประชาธิปัตย์อีกครั้ง เพราะถ้าจะว่าไปแล้ว ต้องไม่ลืมว่า นี่ไม่ใช่เหตุการณ์ครั้งแรกสำหรับปฏิกิริยาของนายอลงกรณ์ที่เป็นไปคนละทิศละทางกับนายอภิสิทธิ์ เนื่องจากก่อนหน้านี้ไม่นานนักก็เคยมีความขัดแย้งอย่างหนักเกิดขึ้นมาแล้วเมื่อคราวที่นายอลงกรณ์ทะลุกลางปล้องเสนอพิมพ์เขียวปฏิรูปพรรคประชาธิปัตย์จนต้องเล่นละครจัดฉากว่ารักกันมาแล้วครั้งหนึ่ง
ในครั้งนี้นายอลงกรณ์ประกาศชัดเจนว่า กรณีที่นายอภิสิทธิ์ยืนยันชัดเจนแล้วว่าจะไม่มีการเสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมประกบนั้น ถือเป็นความเห็นส่วนตัวของนายอภิสิทธิ์ เพราะพรรคยังไม่เคยมีมติว่าจะไม่เสนอร่างกฎหมายนิรโทษกรรมเข้าสภา ซึ่งความเห็นของนายอภิสิทธิ์ไม่ใช่จุดยืนของพรรคประชาธิปัตย์ ต้องหาทางออกให้กับประเทศ โดยต้องดำเนินการที่เป็นรูปธรรม ไม่ใช่แค่วิพากษ์วิจารณ์ให้ความเห็น จึงถึงเวลาที่บทบาทหน้าที่ของพรรคต้องเปลี่ยนแปลง
“หากร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมของผมไม่ผ่านในการพิจารณาของพรรค ก็จะพิจารณาอีกครั้งว่าจะใช้เอกสิทธิ์ ส.ส.เสนอร่างกฎหมายดังกล่าวต่อสภาหรือไม่”นายอลงกรณ์กล่าวอย่างไม่ยี่หระ
ขณะที่นายอภิสิทธิ์และสมาชิกแก๊งไอติมอย่างนายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ นายสาธิต ปิตุเตชะ ในฐานะคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ก็มีความเห็นไปในทางเดียวกันว่า พรรคประชาธิปัตย์จะไม่เสนอร่างประกบในนามพรรคแน่นอน ซึ่งถือเป็นการสวนกลับนายอลงกรณ์อย่างตรงไปตรงมาเช่นกัน
ดังนั้น คำถามที่เกิดขึ้นก็คือ เป็นความขัดแย้งและแตกแยกที่ดำรงอยู่จริง หรือเป็นแค่เพียงการเล่นละครทางการเมืองตามความถนัดของคนในพรรคนี้
อย่างไรก็ตาม ถึงขณะนี้มีร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง และร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่ปรากฏผ่านสื่อมวลชน จำนวน 8 ฉบับ ส่วนใหญ่ได้เสนอต่อรัฐสภา ได้แก่ ร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง ของ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคมาตุภูมิ, ร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง ของนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รมช.พาณิชย์, ร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง ของนายนิยม วรปัญญา ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย, ร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง ของนายสามารถ แก้วมีชัย ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย, ร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง ฉบับ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รมว.แรงงาน, ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ของนายวรชัย เหมะ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับนางกมลเกด อัคฮาด มารดาผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมือง ปี 2553 นอกจากนี้ กลุ่มนิติราษฎร์ ของนายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้เสนอร่างรัฐธรรมนูญฉบับนิติราษฎร์ ที่มีเนื้อหาคล้ายกับร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง และร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม อีกด้วย
นี่แค่ยกที่หนึ่งซึ่งกรรมการยังไม่เคาะระฆังหมดเวลา ยังได้เห็นธาตุแท้ที่อยู่ในกมลสันดานของแก๊งแดง แมลงสาบ และเพื่อไทย รวมทั้งนายใหญ่และนายกฯ หญิงปู เมื่อเป็นกันเช่นนี้แล้ว เชื่อขนมกินล่วงหน้าได้เลยว่า งานนี้ยังต้องลากกันอีกยาว ใครที่คิดจะเอาแบบม้วนเดียวจบผ่าน 3 วาระรวดนั้น ฝันเฟื่อง!