xs
xsm
sm
md
lg

รุมจวกรัฐผิดสัญญาประชาคม-จี้"ปู"ยุบสภารับผิดบีบจำนำหมื่นสอง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-สุภา ปิดจ๊อบตรวจข้าวก.ค.นี้ ชาวนาเสียงแตกข้าวหมื่นสองรุมจวก ชี้รัฐบาลไม่มีสิทธิ์ต่อรองกับชาวนาลดราคาจำนำข้าว เหลือตันละ 12,000 บาท “หมอวรงค์” ขู่ ขนชาวนา ไล่รัฐบาลผิดสัญญาประชาคม จี้ “ปู”รับผิดชอบ ยุบสภา “มาร์ค” แนะถกในสภา หวั่นชาวนาสูญผลประโยชน์ “พาณิชย์”ดีใจ อิหร่านซื้อข้าวจีทูจี 5 แสนตัน หลังไม่ซื้อมานานถึง 5 ปี “นิวัฒน์ธำรง”โอด ข่าวข้าวเน่า เจรจาลำบาก “กรรมชาวนา”มติครม.ให้ตรวจใบประทวนเพิ่ม รับเงินช้า 5 วัน

วานนี้(25 ก.ค.56) นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ระหว่างวันที่ 23-24 ก.ค.ที่ผ่านมา ได้เดินทางไปเจรจาซื้อขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) กับรัฐบาลอิหร่าน โดยกรมการค้าต่างประเทศได้ลงนามในสัญญาซื้อขายข้าวจีทูจีทันที ปริมาณ 5 แสนตัน เป็นข้าวขาว 100% ชั้น 2 มีกำหนดส่งมอบภายใน 6 เดือน โดยจะส่งมอบข้าวในงวดแรกประมาณ 2.5 แสนตัน ตั้งแต่เดือนต.ค.2556 เป็นต้นไป และคาดว่าภายใน 2 ปี จะซื้อข้าวไทยรวมปริมาณ 1 ล้านตัน

“ตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นมา อิหร่านไม่ได้มีการสั่งซื้อข้าวจากรัฐบาลไทยเลย ส่วนใหญ่จะซื้อข้าวจากอินเดีย แต่การเจรจาซื้อขายข้าวแบบจีทูจีในครั้งนี้ จึงเป็นการส่งสัญญาณเชิงบวกที่รัฐบาลอิหร่านจะกลับมาซื้อข้าวจากไทยเพิ่มมากขึ้น ขณะเดียวกัน อิหร่านยังจะร่วมประชาสัมพันธ์และส่งเสริมให้ประชาชนภายในประเทศหันมาบริโภคข้าวไทยแทนข้าวบาสมาติด้วย”

ทั้งนี้ ในการเจรจาซื้อขายข้าวกับอิหร่านในครั้งนี้ ยอมรับว่า ข่าวเรื่องข้าวไทยเน่าเสีย และมีสารพิษตกค้าง ได้สร้างความเสียหายในการเจรจาเป็นอย่างมาก เพราะทางอิหร่านได้หยิบยกขึ้นมาและใช้เป็นข้อต่อรองในการเจรจาซื้อข้าวไทย ซึ่งก็ได้ยืนยันไปว่าข้าวไทยมีคุณภาพและมาตรฐานระดับโลก และพร้อมที่จะให้อิหร่านเขามาตรวจสอบในทุกขั้นตอนก่อนที่จะส่งออกข้าว จึงอยากขอความกรุณาอย่านำเรื่องนี้ไปทำลายผลประโยชน์ของประเทศชาติ เพราะมีผลกระทบเกิดขึ้นแล้วจริงๆ

อย่างไรก็ตาม กระทรวงฯ ยังมีแผนที่จะเดินทางไปเจรจาซื้อขายข้าวจีทูจีกับประเทศต่างๆ เพิ่มขึ้น โดยมีกำหนดที่จะเดินทางไปจีน อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย ส่วนกรณีที่มีข่าวว่า อินโดนีเซีย ปฏิเสธที่จะให้เจ้าหน้าที่ของกระทรวงฯ ที่เดินทางไปล่วงหน้าเพื่อเจรจาขายข้าวเข้าพบนั้น ไม่เป็นความจริง ทุกคนได้เข้าพบ และคาดว่าจะมีข่าวดีในการเจรจาซื้อขายข้าวเร็วๆ นี้

ทั้งนี้ กระทรวงมีความพร้อมให้เอกชนยื่นเข้าซองประมูลข้าวในสต๊อก 3.5 แสนตัน โดยแบ่งเป็น ข้าวขาว 1.5 แสนตัน และปลายข้าว 2 แสนตัน ทั้งนี้มีผู้สนใจเข้าร่วมการประมูลเป็นจำนวนมาก ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ ได้กำหนดราคากลางไว้แล้ว และในวันที่ 26 ก.ค.จะเปิดให้ยื่นซองตั้งแต่ช่วงเช้า อย่างไรก็ตาม จะมีการประมูลข้าวเป็นรายโกดัง เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม รวมทั้งจะมีการเปิดโกดังให้ดูคุณภาพ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นด้วย

นายทนุศักดิ์ เล็กอุทัย รมช.คลัง ในฐานะประธานกรรมการ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยถึงการจ่ายเงินในโครงการรับจำนำข้าวว่า ธ.ก.ส.จะต้องไปตรวจสอบความถูกต้องของใบประทวนที่เกษตรกรนำมายื่นที่ธ.ก.ส.เพิ่มเติมตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อดูปริมาณข้าวและชนิดของข้าวว่าถูกต้องหรือไม่ เพื่อป้องกันปัญหาการสวมสิทธิ์เกษตรกรและแบ่งเบาภาระให้กระทรวงพาณิชย์ในระหว่างการรอระบายข้าวในสตีอกรัฐบาล ซึ่งจะมีผลให้การจ่ายเงินให้เกษตรกรอาจจะล่าช้าออกไปอีก 2 วันจากเดิมที่จะต้องจ่ายเงินให้เกษตรกรภายใน 3 วันหลังยื่นใบประทวน ดังนั้นจึงต้องการให้เกษตรกรเข้าใจว่า การรับเงินในโครงการอาจจะล่าช้าออกไปเป็น 5 วันหลังยื่นใบประทวนแล้ว
"ขณะนี้ ธ.ก.ส.ได้จ่ายเงินในโครงการรับจำนำข้าวปีการผลิตปี 2556/57 ไปแล้ว 20.5 ล้านตัน รวมเป็นเงิน 2.38 แสนล้านบาท จากมติครม.ที่กำหนดปริมาณข้าวในโครงการทั้งสิ้น 22 ล้านตัน แต่คาดว่า เมื่อปิดโครงการรวมทั้งนาปีและนาปรังแล้ว จะมีขาวเข้าโครงการเพียง 21.5 ล้านตันเท่านั้น หลังจากครม.มีติให้กำหนดปริมาณข้าวเข้าโครงการได้ไม่เกิน 5 แสนบาทต่อครัวเรือน" นายทนุศักดิ์กล่าว

นายสุพัฒน์ เอี้ยวฉาย ผู้ช่วยผู้จัดการ ธ.ก.ส. กล่าวว่า ธ.ก.ส.จะไม่จ่ายเงินในโครงการรับจำนำข้าวปีการผลิต 2555/56 เกินกว่ามติ ครม.ที่กำหนดให้รับจำนำข้าวใน 2 รอบการผลิตรวม 22 ล้านตัน เป็นเงิน 3.45 แสนล้านบาท ซึ่งล่าสุดได้รับจำนำข้าวแล้ว 20.43 ล้านตันเป็นเงิน 3.1 แสนล้านบาท โดยแบ่งเป็นนาปี 15.03 ล้านตันเป็นเงิน 2.33 แสนล้านบาทและนาปรัง 5.4 ล้านตัน เป็นเงิน 8 หมื่นล้านบาท และเมื่อปิดโครงการ 15 พฤศจิกายน ก็คาดว่าจะเป็นไปตามมติ ครม.ได้

ส่วนการปรับลดปริมาณการรับจำนำข้าวเหลือไม่เกิน 5 แสนบาทต่อครัวเรือนในโครงการรับจำนำข้าวนาปรัง ทำให้รัฐบาลสามารถประหยัดเงินงบประมาณได้ประมาณ 3 หมื่นล้านบาท เพราะมติ ครม.ตั้งแต่วันที่ 2 กรกฎาคม กำหนดให้การออกใบประทวนจะต้องทำตามหนังสือรับรองการขึ้นทะเบียนปลูกข้าวของเกษตรกร และหากในปีการผลิตปี 2556-57 รับจำนำข้าวในราคาตันละ 1.2 หมื่นบาทและไม่เกินครัวเรือนละ 4 แสนบาทตามมติของ กขช.ก็จะช่วยประหยัดเงินงบประมาณไปได้อีกมาก เพราะราคาไม่สูงเกินไป สะท้อนราคาตลาดมากขึ้น และจะทำให้กลไกตลาดทำงาน เพราะจะมีข้าวเหลือจำนวนหนึ่งที่ไม่สามารถเข้าโครงการมาซื้อขายหมุนเวียนในตลาด

ด้านนางสาวสุภา ปิยะจิตติ รองปลัดกระทรวงการคลังในฐานะประธานคณะอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการรับจำนำสินค้าเกษตรเปิดเผยภายหลังประชุมคณะอนุกรรมการปิดบัญชีว่า คณะกรรมการยังไม่สามารถสรุปตัวเลขผลการดำเนินงานโครงการสิ้นสุดวันที่ 31 พฤษภาคม ตามมติคณะกรรมการข้าวแห่งชาติ (กขช.) ได้ เพราะยังไม่ได้รับรายงานตัวเลขสต๊อกข้าวรัฐบาลจากองค์การคลังสินค้า (อคส.) และองค์การตลาดสินค้าเกษตร (อตก.) รวมถึงแผนการระบายข้าวจากกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ที่จะมีการจัดทำแผนการระบายข้าวว่า จะมีการขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ(จีทูจี)และบริจาคเป็นปริมาณเท่าใด เพื่อมาประมารการรายได้ จึงได้ขยายเวลาให้ส่งตัวเลขเข้ามาภายในวันที่ 31 กรกฎาคมนี้แทน

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ภาคเอกชนพยายามสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภค แต่ความเชื่อมั่นที่ดีที่สุดก็คือการชี้แจงอย่างตรงไปตรงมาของรัฐบาล แต่การชี้แจงของรัฐบาลนั้นไม่ค่อยเป็นเหตุเป็นผล ทำห้เกิดความสับสนเกี่ยวกับตัว เมทธิลโบรไมด์ หรือโบรไมด์ไอออน ซึ่งเป็นสารที่ไปตรวจเจอกันก่อนหน้านี้

สิ่งที่รัฐบาลกำลังทำอยู่ขณะนี้เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ รัฐบาลยังไม่มีทางจะขยับอะไรเลยเกี่ยวกับนโยบายตรงนี้ ยกเว้นกลับมาพูดเรื่องราคาจำนำตันละ 12,000 บาท ความจริงเปิดสภามาครั้งนี้ ควรจะเอาเรื่องแบบนี้มาพูดกันก่อน เพราะว่ามันเป็นเรื่องใหญ่ กระทบกระเทือนคนจำนวนมาก ฟังตัวแทนประชาชนกันให้ชัดๆ กันยายน-ตุลาคมจะมีการลดราคาจำนำข้าวก็จะเป็นเรื่องเป็นราวกันอีก

“น่าสนใจนะครับ ตัวเลขที่เขาพูดบอกว่า การยอมลดราคาตรงนี้จะทำให้ขาดทุน 70,000 ล้านบาท ก็คือว่าถ้าลดเหลือ 12,000 บาท ก็เอาตัวเลขที่รัฐบาลเคยใช้นะว่า ถ้าไม่มีโครงการนั้น ชาวนาได้ 11,000 บาทก็แปลว่าตอนนี้จะให้ชาวนาตันละ 1,000 ทำประมาณ 30 ล้านตัน ก็สรุปก็คือ ช่วยชาวนาได้ 30,000 ล้านบาท มีตัวเลข 70,000 ล้านอีกแล้ว มันไม่แก้ปัญหาครับ ทำไมไม่ไปทบทวนตรงนี้ เพราะว่าสิ่งที่คนเขาเรียกร้องนั้น ไม่ใช่ไปลดผลประโยชน์ให้กับชาวนา แต่ทำโครงการซึ่งมันใช้เงินสิ้นเปลือง ไปไม่ถึงชาวนา ไปถึงแค่ครึ่งเดียว อันนี้คือประเด็นหลักที่ยังต้องเรียกร้องกันอยู่ แล้วก็รัฐบาลจะต้องหาคำตอบให้ได้ครับ”

นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ แถลงว่า ถือว่า บาปกรรมมีจริง และกำลังตามรัฐบาลนี้อยู่ ทำให้รัฐบาลไม่สามารถเดินหน้าโครงการรับจำนำข้าวในราคาเดิมได้ การเสนอลดราคาจำนำลง มาที่ 12,000 บาทต่อตัน จากเดิมที่ลดลงมาอยู่ที่ 13,500 บาทต่อตัน เหมือนกับรัฐบาลกำลังเล่นขายของ เพราะยังมีเงื่อนไขต่อรองกับชาวนาอีกด้วย ซึ่งรัฐบาลไม่มีสิทธิต่อรองกับชาวนา แต่มีหน้าที่ต้องทำตามสัญญาประชาคมที่หาเสียงเอาไว้อย่างตลอดรอดฝั่ง ในราคา 15,000 บาทต่อตัน แต่ถ้าทำไม่ได้รัฐบาลต้องมาชี้แจงว่า เป็นเพราะอะไร และมีการทุจริตอย่างไร จากนั้นต้องแสดงความรับผิดชอบด้วยการยุบสภา หรือลาออก แต่ถ้าไม่รับผิดชอบ พรรคประชาธิปัตย์ จะเอาชาวนาออกมาไล่เอง เพราะไม่เช่นนั้นในการเลือกตั้งครั้งหน้าอาจมีพรรคการเมืองคิดนโยบายแจกเงินชาวบ้านเดือนละ 10,000 บาท ซึ่งเป็นนโยบายที่ทำได้ แต่ไม่เป็นผลดีต่อประเทศ.

นายประสิทธิ์ บุญเฉย นายกสมาคมชาวนาข้าวไทย กล่าวว่าเป็นราคาที่ชาวนาอยู่ได้หากขายข้าวที่ความชื้น25 % ราคาจะเหลือที่ 10,000 บาทแต่หากความชิ้น 20 %ราคาที่ขายได้จะอยู่ที่ 11, 000 กว่าบาทซึ่งต้นทุนเฉลี่ยชาวนาอยู่ที่ประมาณ5,500 -6,000 บาทต่อตัน ซึ่งหากชาวนารู้จักลดต้นทุนก็จะอยู่ได้ เพราะที่ผ่านมาความผิดอยู่ที่รัฐบาลเพราะรัฐบาลไปเสนอราคาเองทั้ง15,000 บาท และจำนำทุกเมล็ดจะมาโทษชาวนาไม่ได้ ดังนั้นรัฐบาลเองจะต้องมาตรการให้ชัดเจนในการตั้งเป้าหมายให้ชาวนารู้จักลดต้นทุนเพื่อให้เห็นผลภายใน 1 -2ปีนี้

ด้านนายเสมียน หงส์โตประธานเครือข่ายชาวนาภาคกลาง กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยที่รัฐบาลจะลดราคารับจำนำเหลือ12000บาทต่อตันโดยกล่าวว่าก่อนที่ตัวแทนชาวนาจะเข้าหารือกับกรมการค้าภายในในฐานะฝ่ายเลขา กขช.ชาวนาได้หารือกันในเบื้องต้นและเห็นร่วมกันว่าชาวนายอมรับราคารับจำนำข้าวที่13,500บาทต่อตันได้หากมีการปรับความชื้นให้ที่20%ขึ้นไปจากเดิมที่กำหนดไว้15%เพราะส่วนใหญ่ข้าวที่ชาวนาเก็บเกี่ยวจะเป็นข้าวสดที่มีความชื้นมากกว่า15%รวมทั้งต้องให้ความช่วยเหลือเกษตรกรในการลดต้นทุนการทำนาโดยเฉพาะค่าปุ๋ยค่ายาฆ่าแมลงซึ่งเป็นต้นทุนที่สูงเนื่องจากบริษัทปุ๋ยจะอ้างว่ามีต้นทุนการผลิตรวมทั้งค่าการตลาดที่สูงประมาณ8,000-10,000 บาทต่อตัน

ดังนั้น หน่วยงานรัฐควรจะหารือกับบริษัทเหล่านี้เพื่อลดค่าการตลาดลงและในส่วนที่ขายผ่านระบบสหกรณ์ควรมีการลดราคาพิเศษให้กับชาวนาเพื่อให้ต้นทุนการทำนาลดต่ำลงด้วยรวมทั้งการช่วยเหลือเรื่องพันธุ์ข้าวปลูกส่วนกรณีที่หากภาครัฐไม่มีการช่วยเหลือเรื่องการลดต้นทุนลงหรือปรับค่าความชื้นรวมทั้งปรับราคาลงต่ำกว่าที่ตกลงกันไว้ก็คงต้องมีการหารือกันอีกรอบเพราะตอนนี้ชาวนาแทบไม่เหลืออะไรจากการขายข้าวในโครงการรับจำนำข้าวแต่หากภาครัฐไม่ยอมก็คงต้องหารือกันอีกครั้งว่าจะดำเนินการอย่างต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น