xs
xsm
sm
md
lg

จับตาลักไก่!รวบนิรโทษ3ฉบับ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า พรรคเพื่อไทยจะเรียกประชุมส.ส.และสมาชิกในวันอังคารที่ 30 ก.ค. เพื่อทำความเข้าใจกับ ส.ส. ในกรณีที่มีกฎหมายสำคัญจะเข้าสู่การพิจารณาของสภา โดยวิปรัฐบาลจะประชุมกันในวันที่ 24 ก.ค. เพื่อหาข้อสรุปเบื้องต้นในการกำหนดวาระกฎหมายที่จะพิจารณาก่อน หลัง ทั้งนี้ในวันที่ 1 ส.ค. ที่เป็นวันเปิดสภาสมัยสามัญทั่วไปวันแรก น่าจะยังไม่มีกฎหมายสำคัญเข้าสู่การพิจารณา แต่อาจจะเป็นกระทู้ทั่วไปและกระทู้สด ซึ่งกฎหมายสำคัญคงจะมีการพิจารณาในสัปดาห์ถัดไป แต่จะเป็น ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2557 หรือ ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับนายวรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ ก็คงจะมีข้อสรุปหลังจากวิปหารือแล้วนำเข้าสู่ที่ประชุมพรรค ยืนยันว่าเรื่องนี้จะไม่เกิดความขัดแย้งในพรรคเพื่อไทย เพราะทุกคนมีวินัย เมื่อมติออกมาอย่างไร ไม่ว่าส.ส.หรือรัฐมนตรี ก็ต้องปฏิบัติตาม
สำหรับวันที่ 7 ส.ค. ตามวาระ จะเป็นการพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม แต่จะพิจารณาได้หรือไม่ ก็ต้องรอที่ประชุมพรรคชี้ขาด ขณะที่ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2557 ก็มีความจำเป็นที่จะต้องรีบพิจารณา เพราะมีกรอบระยะเวลาอยู่ ขณะนี้ทราบว่าจะเสร็จราวปลายเดือนก.ค. และจะมีขั้นตอนตรวจสอบความถูกต้อง ก่อนส่งประธานสภาบรรจุระเบียบวาระ ซึ่งสมาชิกที่เป็นคณะกรรมาธิการ ก็มีความเป็นห่วงว่าจะไม่ทัน ดังนั้นน่าจะพิจารณาในไม่ช้า อาจจะเป็นสัปดาห์ที่ 2 หรือ สัปดาห์ที่ 3 ของเดือนส.ค. ก็ได้
นายพร้อมพงศ์ กล่าวด้วยว่า ในวันที่ 31ก.ค. เวลา 17.00 น. พรรคร่วมรัฐบาล จะเชิญสมาชิกร่วมงานเลี้ยงพบปะสังสรรค์ ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ ในโอกาสที่จะมีการเปิดประชุมสภาสมัยสามัญนิติบัญญัติ 1 ส.ค. เพื่อกระชับความสัมพันธ์ และแลกเปลี่ยนความเห็นทางการเมือง รวมทั้งปัญหาอุปสรรคของรัฐบาล ที่บริหารประเทศมาครึ่งทางหรือครบ 2 ปี ตลอดจนหารือถึงการขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลในปีที่ 3 ต่อไป

** ชี้งบรายจ่ายปี 57 เข้าสภาฯไม่ทัน 7 ส.ค.

นายไพจิต ศรีวรขาน ส.ส.นครพนม พรรคเพื่อไทย ในฐานะรองประธานวิปรัฐบาล กล่าวว่า เท่าที่วิปรัฐบาลหารือกันเบื้องต้นเห็นว่า ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 57 คงไม่สามารถพิจารณา ในวันที่ 7 ส.ค.ได้ทัน เพราะขณะนี้คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 57 ยังพิจารณาร่างกฎหมายฉบับนี้ไม่เสร็จ คาดว่าจะเสร็จปลายเดือนก.ค. และหลังจากนั้น ยังมีขั้นตอนตรวจสอบความถูกต้องของการแปรญัตติ การจัดพิมพ์เอกสาร ใช้เวลาอีก 1 สัปดาห์ จึงส่งเรื่องให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรบรรจุเข้าระเบียบวาระ ซึ่งต้องแจ้งให้ส.ส.ทราบล่วงหน้า 3 วัน ดังนั้น ในวันที่ 7 ส.ค. คงพิจารณาร่างงบรายจ่ายปี 57 ไม่ทันแน่นอน คงต้องมาพิจารณาในวันที่ 14-16 ส.ค. ตามกรอบเดิมที่วางไว้
ส่วนวันที่ 7ส.ค. ตามวาระการประชุมแล้วจะเป็นเรื่อง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่รอบรรจุเป็นวาระแรก แต่จะพิจารณาได้หรือไม่ ก็ต้องรอดูสถานการณ์การเมืองในช่วงนั้นประกอบด้วย รวมถึงพิจารณาว่า ยังมีกฎหมายอื่นที่มีความสำคัญกว่า พ.ร.บ.นิรโทษกรรม หรือไม่ ซึ่งผู้ใหญ่ในพรรคจะหารือกันอีกครั้ง ส่วนตัวเห็นว่ามีความเป็นไปได้ที่จะนำ พ.ร.บ.นิรโทษกรรม มาพิจารณาในวันที่ 7 ส.ค.นี้ เพราะเท่าที่ประเมินสถานการณ์การเมืองคงไม่มีปัญหาอะไร คาดว่าจะพิจารณาเสร็จภายในวันเดียว แม้จะมีผู้อภิปรายคัดค้านจำนวนมากก็ตาม เพราะเป็นเพียงแค่วาระรับหลักการเท่านั้น
ส่วนที่ผู้ใหญ่ในพรรคเพื่อไทย อยากให้นำ ร่าง พ.ร.บ.งบรายจ่ายปี 57 มาพิจารณาเป็นลำดับแรกนั้น ผู้ใหญ่อาจยังไม่ทราบรายละเอียดเรื่องขั้นตอนการเสนอ ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 57 ที่ต้องใช้เวลาหลายวัน หากมีการเร่งพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.งบรายจ่ายปี 57 ในช่วงท้ายๆ ก็อาจเกิดความไม่รอบคอบได้

** “วรชัย” ยันถกร่างพ.ร.บ.นิรโทษฯก่อน

นายวรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ทราบว่า ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2557 ไม่สามารถนำเข้าพิจารณาได้ทันในวันที่ 7 ส.ค. ดังนั้นในวันที่ 7 ส.ค.จะเหลืออยู่เพียง 2 เรื่อง คือ ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับที่ 42 ส.ส.นำเสนอ กับ ร่าง พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท เท่าที่ดู ร่าง พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท อาจมีปัญหาถูกส่งตีความ คงไม่กล้านำเข้าพิจารณา จึงน่าจะนำ ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เข้าพิจารณาในวันดังกล่าว แค่วันเดียวก็เสร็จแล้ว แม้ผู้ใหญ่ในพรรคหลายคนอยากให้พิจารณา ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายก่อน แต่อยากให้เข้าใจว่า ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม มีความสำคัญมาก เพราะต้องช่วยคนเสื้อแดงที่ติดคุกมา 2 ปีแล้ว ให้ออกจากคุกก่อน ในการประชุมพรรควันที่ 30 ก.ค. ตนจะยืนยันต่อที่ประชุมพรรคเพื่อไทยว่า จะต้องนำ ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม มาพิจารณาก่อน ร่าง พ.ร.บ.งบรายจ่ายประจำปี 57
ส่วนที่พรรคเพื่อไทยไม่รับร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับประชาชนนั้น เชื่อว่าคงไม่ทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างพรรคเพื่อไทย กับญาติผู้เสียชีวิตในเหตุสลายการชุมนุม ทราบดีว่า ญาติวีรชนเดือดร้อน ที่ต้องสูญเสียคนในครอบครัว แต่ผู้ติดคุกอยู่เวลานี้ เดือดร้อนกว่า ขณะนี้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กำลังสร้างเงื่อนไขให้ทุกฝ่ายมาร่วมลงชื่อ เพื่อสนับสนุนร่างกฎหมายดังกล่าว เพราะนายอภิสิทธิ์ ต้องการปัดความรับผิดชอบโดยโยนความผิดให้ทหาร ว่า แม้ตัวเองเป็นผู้สั่งสลายการชุมนุม แต่ทหารทำเกินกว่าเหตุในการสลายการชุมนุม ทำให้นายอภิสิทธิ์ หันมาสนับสนุน ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ไม่ทราบว่าใครเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการร่างกฎหมายฉบับนี้ เพราะเชื่อว่า นางพะเยาว์ อัคฮาด มารดาของ น.ส.กมลเกด อัคฮาด พยาบาลอาสาที่เสียชีวิตจากเหตุสลายการชุมนุม ไม่ได้เป็นผู้ร่างเองแน่นอน ต้องมีคนร่างให้

**ปชป.จี้รัฐบาลแถลงผลงานก่อน

นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า กำลังจะมีการเปิดสมัยประชุมสภา วันที่ 1 ส.ค.นี้ สิ่งที่ประชาชนกังวลคือ รัฐบาลยังไม่มีท่าทีชัดเจนว่า จะหยิบยกเรื่องอะไรมาหารือเป็นวาระแรก โดยนายเจริญ จรรย์โกมล รองประธานสภาฯ ระบุว่าให้ประชาชนไปลุ้นเอาเอง จึงขอเรียนว่า สภาไม่ใช่เกมการทายปัญหา บ้านเมืองวิกฤตมีความขัดแย้งมากขึ้นเรื่อย ๆ และสภามีหน้าที่ลดความขัดแย้ง ทั้งฝ่ายค้าน และรัฐบาล ต้องบรรเทาความขัดแย้งในสังคม แต่รัฐบาลกลับมีพฤติกรรมหมกเม็ด ปิดบัง ซ่อนเร้น ใช้สภาผ่านกฎหมายต่างๆ ถือเป็นพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ทั้งนี้หากเรียงลำดับตามความสำคัญ แน่นอนว่า ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2557 หากมีการนำมาพิจารณาเป็นวาระแรก อย่างเร็วที่สุดก็ต้องเป็นวันที่ 14 ส.ค. ดังนั้นจึงขอให้ประกาศให้ชัดว่า หากพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 57 ในวันที่ 14-15 ส.ค. แล้วก่อนหน้านั้น จะพิจารณาเรื่องอะไร จึงขอเสนอให้แถลงผลงานของรัฐบาล ในวันที่ 7-8 ส.ค. เพื่อให้ประชาชนทราบว่า การใช้งบประมาณเกือบ 2 ปีที่ผ่านมา มีผลงานอย่างไร
“ผมขอเตือนว่า อย่าหยิบยกกฎหมายนิรโทษกรรมไม่ว่าจะเป็นฉบับใดก็ตามมาพิจารณา เพราะจะทำให้เกิดความขัดแย้งเพิ่มขึ้น อย่าหมกเม็ด ซ่อนรูป และแปลกใจว่าทำไมไม่มีการนำกฎหมายนิรโทษกรรม ฉบับภาคประชาชนมาพิจารณา ในรายละเอียดไม่นิรโทษกรรมคนทำลายทรัพย์สิน ทำผิดต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ หากตกลงร่วมกันได้ ก็จะเป็นก้าวแรกในการสร้างความปรองดอง ด้วยการปล่อยประชาชนที่กระทำความผิดลหุโทษ ผิด พ.ร.ก.ฉุกเฉินได้ แต่รัฐบาลไม่ทำ เลือกที่จะเก็บคนเสื้อแดงไว้ในคุก รอการปลดปล่อยพร้อมแกนนำ จึงขอว่า อย่าโยนฟื้นเข้ากองไฟ ต้องจัดลำดับความสำคัญ โดยคำนึงถึงคนไทยไม่ใช่คำนึงถึงคนที่อยู่เบื้องหลังเท่านั้น”นายชวนนท์ กล่าว

**จับตาลักไก่ประชุมร่วม 2 สภาแก้รธน.

นายบุญยอด สุขถิ่นไทย ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ เปิดเผยว่า ตนได้รับแจ้งอย่างไม่เป็นทางการว่า จะมีการเปิดประชุมร่วม 2 สภา ในวันที่ 6-7 ส.ค.นี้ เพื่อพิจารณา ร่่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับที่มาของส.ว. ทั้งนี้เห็นว่านายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา ควรจะเปิดเผยให้ชัดเจนว่าได้บรรจุวาระใดเข้าสู่สภาแล้วบ้าง เพราะกลายเป็นว่าในขณะนี้ วาระการประชุมขึ้นอยู่กับความต้องการ และความพอใจของรัฐบาลเป็นหลัก ไม่ได้เป็นไปตามลำดับความสำคัญ และสภาถูกใช้เป็นเครื่องมือของฝ่ายบริหารมากกว่าจะทำหน้าที่ในฐานะฝ่ายนิติบัญญัติ อย่างสมภาคภูมิ
ทั้งนี้ อยากให้นายสมศักดิ์ บรรจุวาระการแถลงผลงานครบรอบ 1 ปี ของรัฐบาลก่อนเป็นอันดับแรก เพราะรัฐบาลได้ส่งเรื่องเข้ามาแล้ว โดยนายสมศักดิ์ ก็เคยระบุว่า จะมีการบรรจุเข้าวาระเพื่อให้มีการพิจารณาร่วมกันหลังการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. แต่ผ่านมานานแล้วก็ยังไม่ปรากฏว่า บรรจุเข้าสู่วาระการพิจารณาของสภาแต่อย่างใด นอกจากนี้ ก็ยังไม่มีความชัดเจนว่า วาระที่จะสร้างความขัดแย้งเพิ่มเติมคือ กฎหมายนิรโทษกรรมที่ค้างอยุ่ในวาระแรกของสภา จากการเลื่อนขึ้นมาพิจารณาเป็นวาระแรกตั้งแต่สมัยประชุมที่แล้ว จะดำเนินการต่อไปอย่างไร ทำให้สังคมเกิดความตึงเครียดโดยไม่จำเป็น ดังนั้นจึงอยากให้มีการกำหนดวาระการประชุมสภาที่ชัดเจน ไม่ใช่ปล่อยให้สังคมคาดเดาเอาเอง

** จับตาถกพ.ร.บ.นิรโทษ 3ร่าง พร้อมกัน

นายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานกลุ่มกรีน กล่าวว่ากระแสการนิรโทษกรรม ที่กำลังถกเถียงกันอยู่ในขณะนี้ เป็นเกมและการเมืองภายในพรรคเพื่อไทย และคนเสื้อแดง ที่ไม่ได้ข้อสรุปว่าขอบข่ายการนิรโทษจะครอบคลุมถึงความผิดระดับไหนกันแน่ เพราะร่างฯ ของ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รมว.แรงงาน เป็นการนิรโทษยกเข่งทั้งหมด และทุกคดี ส่วนร่างฯของ ส.ส.วรชัย เหมะ นิรโทษเฉพาะประชาชน และความผิดตามกฎหมายอาญา ม.112 ไม่รวมแกนนำ แต่ก็ยังเป็นปัญหาอยู่ว่าจะนิยามแกนนำกันอย่างไร และล่าสุด ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับที่บรรดาญาติผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ชุมนุมปี 2553 เสนอต่อรัฐบาลให้นิรโทษประชาชนเฉพาะคดีลหุโทษ ไม่รวมคดี ม.112 และแกนนำ ซึ่งก็ยังมีปัญหาความชัดเจนอยู่เช่นกัน ส่งผลให้ฝักฝ่ายเสื้อแดง และรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ยังไม่ได้ข้อสรุปว่าจะยึดหลักการฉบับใดเป็นหลัก
ที่ผ่านมาเหตุที่การนิรโทษกรรมไปไม่ถึงไหน เพราะพรรคเพื่อไทยและแกนนำเสื้อแดงก้าวไม่ข้ามพ.ต.ท.ทักษิณ เพราะบวกเอาการล้างความผิดของพ.ต.ท.ทักษิณ กับบรรดาแกนนำ นปช.เข้ามาพ่วงด้วย ทำให้กระแสสังคมออกมาชุมนุมต่อต้าน
ดังนั้นความพยายามในครั้งนี้ จึงอาจเป็นไปได้ที่ ร่าง พ.ร.บ. ทั้ง 3 หลักการ 3 ระดับ จะถูกนำมาพิจารณาพร้อมกัน และถือเอาร่าง พ.ร.บ.ฉบับ ร.ต.อ.เฉลิม เป็นหลัก และเชื่อว่าพรรคเพื่อไทย จะไม่กล้าระบุว่าจะเข้าสภาฯวาระไหน อาจจะพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ หรือ ร่าง พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านไปก่อน แต่หากประเมินสถานการณ์แล้วสบช่องก็จะอาศัยเสียงข้างมากเอาทั้ง 3 ร่าง มาพิจารณารวมกันแล้วรับหลักการไปเลย
แต่ถ้ามีการชุมนุมคัดค้านนอกสภาอย่างเข้มข้น รัฐบาลพรรคเพื่อไทย ก็จะใช้วิธีลักไก่ด้วยการ ออกเป็น พ.ร.ก.โดยอ้างความวุ่นวาย และความจำเป็นเร่งด่วนฉุกเฉิน เหมือนบทสนทนาในคลิปเสียงนั่นเอง
อย่างไรก็ตาม แผนการนี้แม้มีความเป็นไปได้ แต่ไม่ง่ายอย่างที่คิด เพราะเท่ากับไปสร้างเงื่อนไข และความเสี่ยงให้รัฐบาลพบจุดจบได้เช่นกัน เพราะประชาชนจำนวนมากเช่นกัน ก็คงไม่ยอม

** อัด"แม้ว"หวังใช้เสียงข้างมากฟอกผิด

นายแก้วสรร อติโพธิ อดีตกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อรัฐ (คตส.) กล่าวในไทยสปริงชุมนุมออนไลน์ ตอนที่ 5 “ลงแขกแล้วสู่ขอ”ว่า ในเดือนส.ค. มีกฎหมายปรองดอง นิรโทษกรรมค้างอยู่ในสภา ทั้งหมดเป็นกฎหมายล้างผิด ซึ่งรวมไปถึงการล้างผิดให้กับการทุจริตของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นักโทษหนีคดี ที่เกิดขึ้นในช่วงการบริหารประเทศ ก่อนการรัฐประหารในทุกกรณีด้วย ทั้งๆ ที่การรัฐประหารในปี 49 นั้นเกิดขึ้นเพราะต้องการหยุดความขัดแย้งไม่ให้เกิดการปะทะกัน ระหว่างมวลชน 2 กลุ่ม อีกทั้งยังเปิดโอกาสให้กระบวนการตรวจสอบเดินหน้าได้ หลังจากที่รัฐบาลในขณะนั้นควบคุมองค์กรตรวจสอบไว้ได้หมด ทำให้มี คตส.เกิดขึ้น เพื่อเอาอำนาจ ป.ป.ช. มาใช้เฉพาะเรื่องที่ไม่มีใครกล้าพิจารณาในขณะที่พ.ต.ท.ทักษิณ มีอำนาจ โดยดำเนินการทุกอย่างภายใต้กฎหมาย เพื่อเคลียร์ปัญหาที่เกิดขึ้น จึงเท่ากับการเป็นป.ป.ช.เฉพาะกิจ ไม่ได้มีอำนาจพิเศษใดๆ กระบวนการเป็นไปตามกฎหมายที่มีอยู่แล้ว จนนำไปสู่การฟ้องศาล ซึ่งก็มีการยกฟ้องในบางคดี หรือดำเนินคดีเฉพาะบางคน ปล่อยบางคน แต่ในคดียึดทรัพย์ มีการพบการคอร์รัปชันชัดเจน เป็นพยานเอกสารทั้งสิ้น ไม่มีการกลั่นแกล้ง เป็นหลักฐานการจัดการหุ้น การปันผล ไหลคืนกลับไปหาผัวเมียคู่นั้น ตลอดเวลา มี 5 คดี เอื้อประโยชน์ให้ชินคอร์ป และยังมีคดีค้างในศาลอีก 4 คดี กลุ่มแรก คือ คดีซุกหุ้น 13 กรณี ครั้งละ 3 ปี รวมติดคุก 39 ปี เป็นคดีที่รออยู่ และไม่มีทางรอด เพราะศาลฎีกาตัดสินไปแล้ว และยังมีคดีที่ปล่อยเงินให้พม่ากู้ 4,000 ล้านบาท มีโทษตามกฎหมายอาญา 157 สูงสุดคือ ประหารชีวิต
นอกจากนี้ ยังมีคดีบ้านเอื้ออาทรที่บริวารเขาสุมหัวกัน 30 กว่าคน จนรัฐเสียหายกว่า 1,400 ล้านบาท เป็นพวกสวามิภักดิ์แล้วติดบ่วงกรรมด้วย คดีกลุ่มนี้เป็นเป้าหมายที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ต้องการก่อนเพื่อน คดีนี้ไม่เกี่ยวกับแดงไม่เกี่ยวการเมืองทั้งสิ้น แต่โกงจนถูกจับได้คาศาลอยู่ ถ้าปล่อยให้ศาลตัดสินเมื่อไร มึงตาย
“ผมเชื่อว่าพ.ต.ท.ทักษิณ อยากกลับบ้าน แต่สิ่งที่เขาขอวันนี้ไม่ใช่แค่ขอกลับบ้าน แต่ขออยู่เหนือกฎหมาย และหลังรัฐประหาร มีเหตุยุบพรรคเกิดขึ้น ซึ่งไม่ใช่การกลั่นแกล้ง แต่เป็นเรื่องที่พ.ต.ท.ทักษิณ มีความมัวหมอง ขายหุ้นไม่เสียภาษี จนคนลุกฮือขึ้นมาต่อต้าน เป็นที่อื่นเขาลาออกแล้ว ถ้าพรรคไทยรักไทยเป็นประชาธิปไตยจริง ต้องลาออกแต่พรรคนี้ไม่ใช่พรรคการเมือง มันเป็นคอก พ.ต.ท.ทักษิณ จึงตัดสินใจยุบสภา เพื่อเลือกตั้งสร้างความชอบธรรมจากเสียงข้างมาก โดยเชื่อว่าถ้ากูชนะเลือกตั้งกลับมา หมายถึงว่า กูบริสุทธิ์ เอาเสียงข้างมากเป็นใบเบิกทาง แม้แต่การคอร์รัปชัน ถูกกล่าวหาเรื่องการเมือง เลวหรือไม่ เหี้ยหรือเปล่า ต้องสู้ที่ศาลไม่ใช่เอาเสียงข้างมากมาเหนือกฎหมาย ตอนที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ยุบสภาฝ่ายค้านไม่ลงสมัคร ส.ส. ทำให้มีปัญหาได้เสียงไม่ถึง20 % ในบางพื้นที่ จึงเป็นที่มาของการจ้างพรรคเล็กลงสมัครหนีเรื่องเสียงไม่ถึง 20 %" นายแก้วสรร กล่าว

** นิรโทษต้องไม่ใช่เพิ่มอยุติธรรม

ด้านนายกิตติศักดิ์ ปรกติ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า สิ่งที่มีการเสนอกฎหมายนิรโทษกรรม อ้างกันว่าเป็นแรงจูงใจทางการเมืองให้ได้รับการนิรโทษกรรมหมด แต่ไม่ได้นิยามความหมายของ “การเมือง”เอาไว้ โดยต้องการความหมายอย่างกว้าง คือ ความผิดใดก็ตามที่มีเหตุเกี่ยวข้องกับการต้องการความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง โดยไม่ได้กำหนดว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ชอบหรือไม่ชอบ ดังนั้นการใช้กำลัง การทำร้ายชีวิตร่างกาย หรือ การเผาทำลายทรัพย์ ถ้าหากว่าเกิดจากแรงจูงใจที่ให้เปลี่ยนแปลงทางการเมืองก็เข้าได้หมด แต่ไม่มีความชอบธรรม เพราะความหมายของเหตุทางการเมืองตามวิชาการ ต้องหมายถึงเหตุทางการเมืองที่มุ่งรักษาปกปักรักษาคุณค่าที่สูงกว่าสิ่งที่ตัวเองกระทำ การกระทำนั้นทำเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุอย่างหนึ่งอย่างใดขึ้น จนถึงขนาดต้องฝ่าฝืนกฎหมาย เช่น เขาห้ามชุมนุมเพื่อรัฐประหาร ยึดอำนาจ แต่มีการชุมนุมฝ่าฝืนกฎหมาย เพื่อขัดขวางการยึดอำนาจ ระหว่างการชุมนุมที่ผิดกฎหมายกับการขัดขวางการยึดอำนาจทางการเมืองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย การขัดขวางการยึดอำนาจการเมืองโดยมิชอบด้วยกฎหมาย มีคุณค่าที่ควรได้รับการคุ้มครองยิ่งกว่า เปรียบเสมือนการป้องกันสิ่งที่กฎหมายมุ่งคุ้มครองมากกว่า
“แต่ถ้าเราขยายความหมายของคำว่า เหตุจูงใจทางการเมืองโดยไม่มีกรอบว่าเป็นเหตุที่ควรได้รับความคุ้มครองยิ่งกว่า มันก็รวมไปถึงการใช้กำลัง เปลี่ยนแปลงการปกครองโดยใช้อาวุธ หรือโดยกระทำการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยด้วย เท่ากับคำว่า การเมืองหมายความถึงการล้มล้างสิ่งที่ถูกต้องได้ด้วย ในแง่นี้กว้างเกินไปและเป็นความหมายที่ผิด ในร่างกฎหมายนิรโทษกรรมไม่นิยามความหมายการเมือง ปัญหาคือ ถ้าศาลตีความให้ถูกต้องตีความว่าหมายถึงต้องเป็นไปเพื่อคุ้มครองสิ่งที่สำคัญยิ่งกว่า แต่ถ้าตีความอย่างกว้างเรื่องใดๆ เกี่ยวข้องการเมืองเข้ากฎหมายนิรโทษกรรมหมด ไม่ว่าจะล้มล้างรัฐบาล ใช้กำลังประทุษร้าย เพื่อให้เปลี่ยนแปลงทางการเมือง ยุบสภา โดยใช้กำลัง อันนี้ในทางวิชาการไม่ถือว่าเป็นแรงจูงใจทางการเมืองที่ควรได้รับการคุ้มครอง ในอนุสัญญาว่าด้วยความผิดทางการเมือง และฐานคอร์รัปชั่น ซึ่งเป็นอนุสัญญาของสหประชาชาติ จะบอกว่า เหตุจูงใจทางการเมืองในทางชั่วร้ายที่ทำร้ายต่อชีวิตหรือทำให้คุณค่าที่กฎหมายมุ่งคุ้มครองเสียไป ไม่ถือว่าเป็นเหตุทางการเมืองที่ควรได้รับความคุ้มครอง เช่นถ้าต้องการล้มล้างเผด็จการอาศัยชีวิตผู้คนเป็นเหยื่อ หรือไปก่อเหตุร้ายระเบิดตึกแล้วบอกว่าเป็นการกระทำของรัฐบาลเพื่อโค่นรัฐบาลเผด็จการรัฐบาลเลว แต่ผมก็เลวพอ ๆ กับรัฐบาลไม่มีสิทธิอ้างความเลวของรัฐบาลมาทำความเลว นิรโทษกรรมต้องเกิดความยุติธรรมไม่ใช่นิรโทษกรรมแล้วเกิดความอยุติธรรม" นายกิตติศักดิ์ กล่าว
นายกิตติศักดิ์ กล่าวด้วยว่า การประท้วงหลายเรื่องจะขัดต่อการรักษาความสงบเรียบร้อย จึงเป็นการกระทำความผิดต่อรัฐ ซึ่งรัฐอภัยให้ได้ แต่รัฐมีหน้าที่คุ้มครองชีวิตร่างกายคนอื่นด้วย ถ้ากระทำความผิดต่อรัฐแล้วยังกระทำความผิดต่อชีวิตร่างกายคนอื่นด้วย รัฐอภัยในส่วนของรัฐได้ แต่จะอภัยในส่วนชีวิตร่างกายที่ไม่ใช่ของรัฐไม่ได้ ชีวิตเป็นของเจ้าของชีวิตผู้นั้นถ้าไม่ให้อภัยก็อภัยไม่ได้ ขนาด นายพล ออกุสโต ปิโนเชต์ อดีตประธานาธิบดีประเทสชิลี นิรโทษกรรมตัวเอง กำหนดเอกสิทธิไม่ให้คนอื่นฟ้องตัวเองได้ ด้วยการออกกฎหมาย 3 ฉบับ 3 ชั้น ห้ามฟ้องตัวเองในฐานะประธานาธิบดี ออกอีกฉบับหนึ่งว่า แม้พ้นตำแหน่งแล้วก็ห้ามฟ้องตลอดชีวิต แก้ในรัฐธรรมนูญ ศาลชิลีตัดสินว่าคุ้มครองเฉพาะการกระทำความผิดที่เป็นไปเพื่อรักษาความสงบเท่านั้นในกรณีนี้ปิโนเชต์ ใช้ลูกน้องบีบบังคับให้ประชาชน และนักการเมืองฝ่ายค้านและผู้เป็นปฏิปักษ์ต่อตนต้องอ่อนน้อมกับตนด้วยการลักพาลูกเขาไปแล้วขู่ว่า ถ้าไม่ยอมลูกจะไม่ได้กลับมาและพิสูจน์ได้ด้วย ศาลบอกว่า กฎหมายนิรโทษกรรมไม่สามารถคุ้มครองการกระทำผิดเช่นนั้นได้ รวมทั้งเอกสิทธิห้ามฟ้องก็ไม่สามารถคุ้มครองด้วย เพราะรัฐมีขึ้นเพื่อคุ้มครองชีวิตและทรัพย์สิน การให้เอกสิทธิหรือคุ้มครองว่าบุคคลไม่ต้องรับผิดใดๆ ต้องไม่ใช่การกระทำผิดต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนโดยมิชอบ ถ้าเป็นข้อหาก่อการร้ายถ้าไม่เกิดการทำลายชีวิต ที่ไม่เชื่อมโยงกับการฆ่าคนตายนิรโทษกรรมได้ แต่ถ้าเชื่อมโยงกับการทำความผิดทำลายชีวิตนิรโทษกรรมไม่ได้ ยกโทษไม่ได้ ส่วนทรัพย์สินของชาวบ้านที่ถูกทำลายก็นิรโทษกรรมไม่ได้ ยกเว้นแต่ว่ารัฐจะต้องไปชดใช้แทนคนทำผิด แต่ชีวิตชดใช้ไม่ได้จึงห้ามเลย
“ที่สำคัญนิรโทษแล้วต้องเกิดความเป็นธรรมยิ่งกว่าไม่นิรโทษ แต่ถ้านิรโทษแล้วยิ่งก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมเข้าไปใหญ่ การนิรโทษนั้นก็ขัดต่อหลักกฎหมายเสียเอง เพราะนิรโทษกรรมแล้วต้องเกิดความยุติธรรมที่สูงขึ้นเผาบ้านเผาเมืองแล้วบอกลืมอย่าคิดถึงทำไม่ได้ อย่างมหาตมะคานธีทำผิดกฎหมายหลายกรณี ฝ่าฝืนความสงบไม่ให้ชุมนุมก็ชุมนุม ไม่ให้ทำเกลือก็ทำโดยไม่ได้รับอนุญาติกรณีนี้อังกฤษจะนิรโทษกรรมก็ได้เพราะทำแล้วจะเป็นธรรมยิ่งขึ้น เพราะเป็นคดีที่ศาลบอกว่าไม่ถูกต้องตามความเป็นธรรมแต่ถูกต้องตามกฎหมาย ศาลลุกขึ้นพูดก่อนตัดสินว่า รู้สึกเสียใจที่ต้องตัดสินตามกฎหมายแต่ผิดกับมโนธรรมของศาลเอง แม้ว่ามหาตมะคานธีจะติดคุก แต่ศาลที่ตัดสินลุกขึ้นขอโทษมหาตมะคานธี” นายกิตติศักดิ์กล่าว.
กำลังโหลดความคิดเห็น