กลุ่มไทยสปริงชุมนุมออนไลน์ครั้งที่ 5 เชิญอาจารย์นิติ มธ.ร่วมเสวนา “แก้วสรร” เผยเดือนหน้ามีกฎหมายล้างผิดทักษิณ เชื่ออยากขออยู่เหนือกฎหมาย เอาเสียงข้างมากอ้างบริสุทธิ์ “กิตติศักดิ์” ชี้เหตุผลแรงจูงใจทางการเมืองเป็นข้ออ้างทำผิด ไร้ความชอบธรรม ยกเคส “นายพลปิโนเชต์” ในชิลีออกกฎหมายล้างผิด 3 ฉบับแต่หนีความผิดไม่ได้ ชี้ปรองดองสูตรบางบอนขัดต่อรัฐธรรมนูญ
วันนี้ (21 ก.ค.) นายแก้วสรร อติโพธิ อดีตกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อรัฐ (คตส.) กล่าวในไทยสปริงชุมนุมออนไลน์ตอนที่ 5 “ลงแขกแล้วสู่ขอ” ว่า ในเดือนสิงหาคมมีกฎหมายปรองดอง นิรโทษกรรมค้างอยู่ในสภา ทั้งหมดเป็นกฎหมายล้างผิด ซึ่งรวมไปถึงการล้างผิดให้กับการทุจริตของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นักโทษหนีคดี ที่เกิดขึ้นในช่วงการบริหารประเทศก่อนการรัฐประหารในทุกกรณีด้วย ทั้งๆ ที่การรัฐประหารในปี 49 นั้นเกิดขึ้นเพราะต้องการหยุดความขัดแย้งไม่ให้เกิดการปะทะกันระหว่างมวลชนสองกลุ่ม อีกทั้งยังเปิดโอกาสให้กระบวนการตรวจสอบเดินหน้าได้ หลังจากที่รัฐบาลในขณะนั้นควบคุมองค์กรตรวจสอบไว้ได้หมด ทำให้มีคตส.เกิดขึ้นเพื่อเอาอำนาจ ป.ป.ช.มาใช้เฉพาะเรื่องที่ไม่มีใครกล้าพิจารณาในขณะที่ พ.ต.ท.ทักษิณ มีอำนาจ โดยดำเนินการทุกอย่างภายใต้กฎหมายเพื่อเคลียร์ปัญหาที่เกิดขึ้น จึงเท่ากับการเป็น ป.ป.ช.เฉพาะกิจไม่ได้มีอำนาจพิเศษใดๆ กระบวนการเป็นไปตามกฎหมายที่มีอยู่แล้ว จนนำไปสู่การฟ้องศาล ซึ่งก็มีการยกฟ้องในบางคดี หรือดำเนินคดีเฉพาะบางคนปล่อยบางคน แต่ในคดียึดทรัพย์ มีการพบการคอร์รัปชั่นชัดเจนเป็นพยานเอกสารทั้งสิ้นไม่มีการกลั่นแกล้ง เป็นหลักฐานการจัดการหุ้น การปันผล ไหลคืนกลับไปหาผัวเมียคู่นั้นตลอดเวลา มี 5 คดี เอื้อประโยชน์ให้ชินคอร์ป และยังมีคดีค้างในศาลอีก 4 คดี กลุ่มแรกคือ คดีซุกหุ้น 13 กรณี ครั้งละ 3 ปี รวมติดคุก 39 ปี เป็นคดีที่รออยู่และไม่มีทางรอดเพราะศาลฎีกาตัดสินไปแล้ว และยังมีคดีที่ปล่อยเงินให้พม่ากู้ 4,000 ล้านบาท มีโทษตามกฎหมายอาญา 157 สูงสุด คือ ประหารชีวิต นอกจากนี้ยังมีคดีบ้านเอื้ออาทรที่บริวารเขาสุมหัวกัน 30 กว่าคนจนรัฐเสียหายกว่า 1,400 ล้านบาท เป็นพวกสวามิภักดิ์แล้วติดบ่วงกรรมด้วย คดีกลุ่มนี้เป็นเป้าหมายที่ พ.ต.ท.ทักษิณต้องการก่อนเพื่อน คดีนี้ไม่เกี่ยวกับแดง ไม่เกี่ยวการเมืองทั้งสิ้น แต่โกงจนถูกจับได้คาศาลอยู่ ถ้าปล่อยให้ศาลตัดสินเมื่อไหร่มึงตาย
“ผมเชื่อว่า พ.ต.ท.ทักษิณอยากกลับบ้าน แต่สิ่งที่เขาขอวันนี้ไม่ใช่แค่ขอกลับบ้านแต่ขออยู่เหนือกฎหมาย และหลังรัฐประหารมีเหตุยุบพรรคเกิดขึ้น ซึ่งไม่ใช่การกลั่นแกล้งแต่เป็นเรื่องที่ พ.ต.ท.ทักษิณ มีความมัวหมองขายหุ้นไม่เสียภาษี จนคนลุกฮือขึ้นมาต่อต้านเป็นที่อื่นเขาลาออกแล้ว ถ้าพรรคไทยรักไทยเป็นประชาธิปไตยจริงต้องลาออกแต่พรรคนี้ไม่ใช่พรรคการเมืองมันเป็นคอก พ.ต.ท.ทักษิณ จึงตัดสินใจยุบสภาเพื่อเลือกตั้งสร้างความชอบธรรมจากเสียงข้างมาก โดยเชื่อว่าถ้ากูชนะเลือกตั้งกลับมาหมายถึงว่ากูบริสุทธิ์ เอาเสียงข้างมากเป็นใบเบิกทาง แม้แต่การคอร์รัปชั่น ถูกกล่าวหาเรื่องการเมือง เลวหรือไม่ เหี้ยหรือเปล่าต้องสู้ที่ศาลไม่ใช่เอาเสียงข้างมากมาเหนือกฎหมาย ตอนที่พ.ต.ท.ทักษิณยุบสภาฝ่ายค้านไม่ลงสมัคร ส.ส. ทำให้มีปัญหาได้เสียงไม่ถึง20 % ในบางพื้นที่ จึงเป็นที่มาของการจ้างพรรคเล็กลงสมัครหนีเรื่องเสียงไม่ถึง 20%”
ด้านนายกิตติศักดิ์ ปรกติ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า สิ่งที่มีการเสนอกฎหมายนิรโทษกรรมอ้างกันว่าเป็นแรงจูงใจทางการเมืองให้ได้รับการนิรโทษกรรมหมด แต่ไม่ได้นิยามความหมายของ “การเมือง” เอาไว้ โดยต้องการความหมายอย่างกว้างคือ ความผิดใดก็ตามที่มีเหตุเกี่ยวข้องกับการต้องการความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง โดยไม่ได้กำหนดว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ชอบหรือไม่ชอบ ดังนั้น การใช้กำลัง การทำร้ายชีวิตร่างกาย หรือ การเผาทำลายทรัพย์ ถ้าหากว่าเกิดจากแรงจูงใจที่ให้เปลี่ยนแปลงทางการเมืองก็เข้าได้หมด แต่ไม่มีความชอบธรรม เพราะความหมายของเหตุทางการเมืองตามวิชาการต้องหมายถึงเหตุทางการเมืองที่มุ่งรักษาปกปักรักษาคุณค่าที่สูงกว่าสิ่งที่ตัวเองกระทำ การกระทำนั้นทำเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุอย่างหนึ่งอย่างใดขึ้น จนถึงขนาดต้องฝ่าฝืนกฎหมาย เช่น เขาห้ามชุมนุมเพื่อรัฐประหาร ยึดอำนาจ แต่มีการชุมนุมฝ่าฝืนกฎหมายเพื่อขัดขวางการยึดอำนาจ ระหว่างการชุมนุมที่ผิดกฎหมายกับการขัดขวางการยึดอำนาจทางการเมืองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย การขัดขวางการยึดอำนาจการเมืองโดยมิชอบด้วยกฎหมาย มีคุณค่าที่ควรได้รับการคุ้มครองยิ่งกว่า เปรียบเสมือนการป้องกันสิ่งที่กฎหมายมุ่งคุ้มครองมากกว่า
“แต่ถ้าเราขยายความหมายของคำว่าเหตุจูงใจทางการเมืองโดยไม่มีกรอบว่าเป็นเหตุที่ควรได้รับความคุ้มครองยิ่งกว่า มันก็รวมไปถึงการใช้กำลัง เปลี่ยนแปลงการปกครองโดยใช้อาวุธ หรือโดยกระทำการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยด้วย เท่ากับคำว่าการเมืองหมายความถึงการล้มล้างสิ่งที่ถูกต้องได้ด้วย ในแง่นี้กว้างเกินไปและเป็นความหมายที่ผิด ในร่างกฎหมายนิรโทษกรรมไม่นิยามความหมายการเมือง ปัญหาคือถ้าศาลตีความให้ถูกต้องตีความว่าหมายถึงต้องเป็นไปเพื่อคุ้มครองสิ่งที่สำคัญยิ่งกว่า แต่ถ้าตีความอย่างกว้างเรื่องใดๆ เกี่ยวข้องการเมืองเข้ากฎหมายนิรโทษกรรมหมด ไม่ว่าจะล้มล้างรัฐบาล ใช้กำลังประทุษร้าย เพื่อให้เปลี่ยนแปลงทางการเมือง ยุบสภา โดยใช้กำลัง อันนี้ในทางวิชาการไม่ถือว่าเป็นแรงจูงใจทางการเมืองที่ควรได้รับการคุ้มครอง ในอนุสัญญาว่าด้วยความผิดทางการเมือง และฐานคอร์รัปชัน ซึ่งเป็นอนุสัญญาของสหประชาชาติ จะบอกว่า เหตุจูงใจทางการเมืองในทางชั่วร้ายที่ทำร้ายต่อชีวิต หรือทำให้คุณค่าที่กฎหมายมุ่งคุ้มครองเสียไป ไม่ถือว่าเป็นเหตุทางการเมืองที่ควรได้รับความคุ้มครอง เช่นถ้าต้องการล้มล้างเผด็จการอาศัยชีวิตผู้คนเป็นเหยื่อ หรือไปก่อเหตุร้ายระเบิดตึกแล้วบอกว่าเป็นการกระทำของรัฐบาลเพื่อโค่นรัฐบาลเผด็จการรัฐบาลเลว แต่ผมก็เลวพอ ๆ กับรัฐบาลไม่มีสิทธิอ้างความเลวของรัฐบาลมาทำความเลว นิรโทษกรรมต้องเกิดความยุติธรรมไม่ใช่นิรโทษกรรมแล้วเกิดความอยุติธรรม”
นายกิตติศักดิ์กล่าวด้วยว่า การประท้วงหลายเรื่องจะขัดต่อการรักษาความสงบเรียบร้อย จึงเป็นการกระทำความผิดต่อรัฐซึ่งรัฐอภัยให้ได้ แต่รัฐมีหน้าที่คุ้มครองชีวิตร่างกายคนอื่นด้วย ถ้ากระทำความผิดต่อรัฐแล้วยังกระทำความผิดต่อชีวิตร่างกายคนอื่นด้วย รัฐอภัยในส่วนของรัฐได้แต่จะอภัยในส่วนชีวิตร่างกายที่ไม่ใช่ของรัฐไม่ได้ ชีวิตเป็นของเจ้าของชีวิตผู้นั้นถ้าไม่ให้อภัยก็อภัยไม่ได้ ขนาด นายพล ออกุสโต ปิโนเชต์ อดีตประธานาธิบดีประเทศชิลี นิรโทษกรรมตัวเองกำหนดเอกสิทธิไม่ให้คนอื่นฟ้องตัวเองได้ ด้วยการออกกฎหมายสามฉบับ 3 ชั้นห้ามฟ้องตัวเองในฐานะประธานาธิบดี ออกอีกฉบับหนึ่งว่าแม้พ้นตำแหน่งแล้วก็ห้ามฟ้องตลอดชีวิต แก้ในรัฐธรรมนูญ ศาลชิลีตัดสินว่าคุ้มครองเฉพาะการกระทำความผิดที่เป็นไปเพื่อรักษาความสงบเท่านั้นในกรณีนี้ปิโนเชต์ใช้ลูกน้องบีบบังคับให้ประชาชนและนักการเมืองฝ่ายค้านและผู้เป็นปฏิปักษ์ต่อตนต้องอ่อนน้อมกับตนด้วยการลักพาลูกเขาไปแล้วขู่ว่าถ้าไม่ยอมลูกจะไม่ได้กลับมาและพิสูจน์ได้ด้วย ศาลบอกว่ากฎหมายนิรโทษกรรมไม่สามารถคุ้มครองการกระทำผิดเช่นนั้นได้ รวมทั้งเอกสิทธิห้ามฟ้องก็ไม่สามารถคุ้มครองด้วย เพราะรัฐมีขึ้นเพื่อคุ้มครองชีวิตและทรัพย์สิน การให้เอกสิทธิหรือคุ้มครองว่าบุคคลไม่ต้องรับผิดใดๆ ต้องไม่ใช่การกระทำผิดต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนโดยมิชอบ ถ้าเป็นข้อหาก่อการร้ายถ้าไม่เกิดการทำลายชีวิต ที่ไม่เชื่อมโยงกับการฆ่าคนตายนิรโทษกรรมได้ แต่ถ้าเชื่อมโยงกับการทำความผิดทำลายชีวิตนิรโทษกรรมไม่ได้ ยกโทษไม่ได้ ส่วนทรัพย์สินของชาวบ้านที่ถูกทำลายก็นิรโทษกรรมไม่ได้ ยกเว้นแต่ว่ารัฐจะต้องไปชดใช้แทนคนทำผิด แต่ชีวิตชดใช้ไม่ได้จึงห้ามเลย
“ที่สำคัญนิรโทษกรรมแล้วต้องเกิดความเป็นธรรมยิ่งกว่าไม่นิรโทษฯ แต่ถ้านิรโทษฯ แล้วยิ่งก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมเข้าไปใหญ่ การนิรโทษฯ นั้นก็ขัดต่อหลักกฎหมายเสียเอง เพราะนิรโทษกรรมแล้วต้องเกิดความยุติธรรมที่สูงขึ้นเผาบ้านเผาเมืองแล้วบอกลืมอย่าคิดถึงทำไม่ได้ อย่างมหาตมะคานธีทำผิดกฎหมายหลายกรณี ฝ่าฝืนความสงบไม่ให้ชุมนุมก็ชุมนุม ไม่ให้ทำเกลือก็ทำโดยไม่ได้รับอนุญาต กรณีนี้อังกฤษจะนิรโทษกรรมก็ได้เพราะทำแล้วจะเป็นธรรมยิ่งขึ้น เพราะเป็นคดีที่ศาลบอกว่าไม่ถูกต้องตามความเป็นธรรมแต่ถูกต้องตามกฎหมาย ศาลลุกขึ้นพูดก่อนตัดสินว่า รู้สึกเสียใจที่ต้องตัดสินตามกฎหมายแต่ผิดกับมโนธรรมของศาลเอง แม้ว่ามหาตมะคานธีจะติดคุก แต่ศาลที่ตัดสินลุกขึ้นขอโทษมหาตมะคานธี” นายกิตติศักดิ์กล่าว
ส่วนกรณีที่มีสถานการณ์ชุลมุนมีผู้ก่อการร้ายแฝงในผู้ชุมนุม อาจมีลูกหลงหรือเป็นการกระทำของผู้ก่อการร้าย แต่มีการฟ้องนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรีนั้น นายกิตติศักดิ์กล่าวว่า เป็นเรื่องที่มีความละเอียดอ่อน เพราะกระบวนการรักษาความสงบของทหารเมื่อส่งหน่วยออกไปต้องส่งไปภายใต้บังคับบัญชาของผู้มีดุลพินิจ หัวหน้าหน่วยต้องรู้ว่าใช้กระสุนเท่าไหร่ ใครยิงใคร เพราะเหตุใด ต้องบันทึกมีรายงานประจำวัน แต่การสอบสวนไม่ปรากฏหลักฐาน ซึ่งตนไม่เข้าใจว่าทำไม หรืออาจจะมีแต่ไม่ปรากฏ เรื่องนี้สำคัญเพราะปฏิบัติตามคำสั่งตามกฎหมายอาญามาตรา 70 ถ้าทำชอบด้วยกฎหมายก็ได้รับการยกเว้นไม่ต้องรับผิด หรือถ้าป้องกันตัวโดยชอบด้วยกฎหมายก็พ้นผิด ดังนั้น ก่อนจะนิรโทษกรรมอะไรก็ตามข้อเท็จจริงต้องชัดเจนก่อน การจะนิรโทษกรรมเลยจะทำให้ไม่มีการแยกแยะความไม่เป็นธรรมและความเป็นธรรมออกจากกัน ที่ว่าจะให้ลืมต้องรู้ก่อนว่าเขาผิดเราให้อภัยด้วยการลืม แต่กรณีนี้ยังไม่รู้อะไรเลย ถามว่าจะให้ลืมอะไร
นายกิตติศักดิ์ยังกล่าวถึงร่างกฎหมายของ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รมว.แรงงาน ว่าหลักของรัฐธรรมนูญคือบุคคลย่อมมีเสรีภาพในชีวิตร่างกาย และเสรีภาพในชีวิตร่างกาย ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ย่อมได้รับความคุ้มครอง ทันทีที่ออกกฎหมายว่าการกระทำที่เกี่ยวกับชีวิตร่างกายไม่เป็นความผิดอีกต่อไป เท่ากับว่าวินาทีนั้นเสรีภาพในชีวิตร่างกายไม่ได้รับความคุ้มครอง สำหรับผู้เสียหาย เท่ากับยกเว้นรัฐธรรมนูญ ซึ่งทำไม่ได้ กฎหมายนี้จึงขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรานี้ แต่ถ้ามีการกระทำผิดต่อรัฐรัฐไม่เอาผิดได้ เพราะไม่ได้ทำให้กระทบต่อเสรีภาพและสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนที่พึงจะได้รับความคุ้มครอง มีตัวอย่างที่ถกเถียงในต่างประเทศคือ รัฐบาลมีเสียงข้างมากจะตรากฎหมายยกเลิกประมวลกฎหมายอาญาความผิดวางเพลิงเผาทรัพย์ เป็นการกระทำขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ หรือแก้รัฐธรรมนูญให้ยกเลิกบทที่ว่าด้วยเสรีภาพในทรัพย์สินทำได้หรือไม่ ทำไม่ได้ขัดต่อหลักการสำคัญของรัฐธรรมนูญ เพราะเสรีภาพในทรัพย์สินไม่ได้รับการคุ้มครองย่อมทำให้เสรีภาพอื่นๆ สั่นคลอนไปทั้งหมด ทำให้ประชาชนไม่อาจเชื่อมั่นต่อรัฐได้อีกต่อไปว่ารัฐจะคุ้มครองชีวิตด้วย เพราะถ้าอย่างนั้นก็ยกเลิกเสรีภาพในชีวิตได้ด้วย ซึ่งเป็นการพิทักษ์รัฐธรรมนูญไม่ใช่กบฏ