xs
xsm
sm
md
lg

อารยะขัดขืน กับ รัฐบาลอยุติธรรมในสังคมอนารยะ / จรูญ หยูทอง-แสงอุทัย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพจากอินเทอร์เน็ต
 
คอลัมน์ : คนคาบสมุทรมลายู
โดย...จรูญ  หยูทอง-แสงอุทัย  เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสังคม ภาคใต้
 
การปิดถนนเพื่อกดดันให้รัฐบาลลงมาเจรจาเพื่อรับข้อเสนอ ตามที่มวลชนคนทุกข์ยากเดือดร้อนต้องการ เช่นพี่น้องชาวสวนยางและสวนปาล์มนำมาใช้ก่อนหน้านี้ และหลังจากนี้ถ้าหากว่ารัฐบาลไม่ทำตามข้อเสนอ  กลายเป็นประเด็นทางสังคมและการเมืองในภาคใต้และทั่วประเทศ ที่มีกลุ่มชาวสวนยางและสวนปาล์มและรู้สึกว่าตัวเองเดือดร้อนจากราคาผลิตผลตกต่ำ หรือไม่เป็นธรรม
 
ฝ่ายรัฐบาลก็กล่าวหาว่าการชุมนุมครั้งนี้มีการเมืองหนุนหลัง เนื่องจากพื้นที่ปลูกยางพาราและปาล์มน้ำมันส่วนใหญ่อยู่ในภาคใต้ และภาคใต้เป็นฐานเสียงสำคัญของพรรคประชาธิปัตย์ อันเป็นพรรคฝ่ายค้านคู่แข่งสำคัญของพรรคเพื่อไทย พรรคแกนนำรัฐบาลปัจจุบัน  รัฐบาลจึงใช้วิธีการดึงเกมไม่ยอมเจรจา หรือเจรจาโดยให้คนที่ตัดสินใจไม่ได้มาแค่รับเรื่องไปให้คนอีกกลุ่มหนึ่งตัดสินใจ ครั้งแล้วครั้งเล่า ผลที่ออกมาคือการเจรจาล้มเหลว และยิ่งสร้างความไม่พอให้กลับกลุ่มคนที่มาชุมนุม
 
ฝ่ายนักปกครองและตำรวจที่อยู่ในพื้นที่ นำโดยผู้ว่าราชการจังหวัด ก็ใช้ท่าทีที่แข็งกร้าวออกมาลุยกับชาวบ้านที่มาชุมนุม ไม่สมกับคำขวัญประจำหน่วยงานที่ว่า “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” กลายเป็น “บำบัดสุข บำรุงทุกข์” แทน  เพียงเพื่อประจบสอพลอเอาใจนายเพื่อความจำเริญก้าวหน้า   เพราะนายส่วนใหญ่เป็นประเภทที่เรียกว่า “เกลียดคนที่ชาวบ้านรัก รักคนที่ชาวบ้านเกลียด”
 
การใช้กำนันผู้ใหญ่บ้านที่ไปจากการเลือกตั้งของชาวบ้าน และยึดโยงกับชาวบ้านตามที่อ้างกันในสภาอันทรงเกียรติ กรณีให้มีสมาชิกวุฒิสภามาจากการเลือกตั้ง  เป็นการกระทำที่สุ่มเสี่ยงต่อการสร้างความแตกแยกในชุมชนท้องถิ่น อันอาจจะนำมาซึ่งความไม่สงบสุขในระยะยาว เช่นเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นกับการใช้กำนัน  ผู้ใหญ่บ้าน และโจรมาปราบโจรในพัทลุงสมัย รุ่ง  ดอนทราย  ดำหัวแพร อันเป็นที่มาของการล้างแค้นกันจนหวาดผวากันไปทุกหัวระแหง
 
ฝ่ายพี่น้องประชาชนคนใต้และคนทั่วไปที่สัญจรไปมาในภาคใต้ และไม่ได้รับความสะดวกในการเดินทาง ก็ก่นด่าประณามพี่น้องที่ใช้วิธีการ “อารยะขัดขืน” หรือ “ดื้อแพ่ง” ต่อรัฐบาลที่พวกเขาเห็นว่า “อยุติธรรม”  ทั้งๆ ที่คนใต้และคนไทยส่วนใหญ่มีความเกี่ยวพันเกี่ยวข้องกับยางพาราไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ไม่ในฐานะของชาวสวนยางขนาดเล็ก ก็สวนยางขนาดใหญ่  ไม่ในฐานะเจ้าของ ก็เป็นกุลีรับจ้างกรีดยาง  ไม่ในฐานะเถ้าแก่รายย่อยรับซื้อยางในหมู่บ้าน ก็เป็นเถ้าแก่รายใหญ่ในเมือง ที่สัมพันธ์กับการส่งยางพาราออกต่างประเทศ  เพราะผืนแผ่นดินสำหรับการเพาะปลูกในภาคใต้ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ของยางพารา แม้แต่พื้นที่ที่เคยเป็นนาข้าวก็กำลังถูกยกร่องเพื่อปลูกยางพาราแทน
 
และคนที่สนับสนุนให้ชาวบ้านปลูกยางขนาใหญ่ในยุคก่อนหน้านี้ก็คือ อดีตนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ  ชินวัตร พี่ชายของนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันนั่นเอง
 
ถ้าหากการเจรจาเป็นผลดีต่อราคายางพาราและปาล์มน้ำมัน คนที่มีสวนยาง สวนปาล์ม หรือมีส่วนเกี่ยวข้องก็ย่อมได้รับผลประโยชน์โดยทั่วหน้า  แต่ทำไมนอกจากพวกเขาจะ “กลายเป็นคนเกาะรั้ว” แล้วพวกเขาเหล่านี้จึงไม่ได้รู้สึกรู้สาต่อความไม่เป็นธรรมที่ชาวบ้านส่วนน้อยเขาเห็น  หรือเรากำลังเข้าสู่ “สังคมเดรัจฉานนิเวศ” เต็มรูปแบบแล้ว
 
“อารยะขัดขืน” หรือ “การดื้อแพ่ง” คือปรากฏการณ์ทางสังคมและการเมืองที่ประชาชนผู้รู้สึกว่า ตัวเองไม่ได้รับความเป็นธรรม กระทำโดยสุจริตใจ และปราศจากความรุนแรง โดยการประกาศต่อสาธารณะว่า จะฝ่าฝืนกฎหมายของบ้านเมือง และยินดีที่จะรับผิดชอบต่อโทษทัณฑ์ที่จะเกิดขึ้น  เพื่อกดดันให้รัฐบาลที่พอจะมีความยุติธรรมเป็นพื้นฐานอยู่บ้างแล้ว ได้ดำเนินการในเรื่องนั้นๆ ให้ยุติธรรม  สมบูรณ์ยิ่งขึ้น
 
วิธีการนี้เคยใช้ได้ผลมาแล้วในประเทศที่พัฒนาแล้ว ในกระบวนการต่อต้านการแบ่งแยกผิว หรือแม้แต่การต่อสู้เพื่ออิสรภาพของประเทศอินเดียจากการยึดครองกดขี่ของรัฐบาลประเทศสหราชอาณาจักรอังกฤษนักล่าอาณานิคม  ภายใต้การนำของ  มหาตมะ  คานธี  แต่เมื่อคนไทยนำวิธีเดียวกันนี้มาใช้กับรัฐบาลของเขาในทุกยุคทุกสมัย ไม่เฉพาะรัฐบาลนี้ กลับไม่ได้รับการดูแลเอาใจใส่ หรือประสบผลสำเร็จเช่นในประเทศเหล่านั้น  ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น
 
ประการแรก  วิธีการ “อารยะ” ขัดขืนมันใช้ได้กับรัฐบาลที่เป็น “อารยะ” รัฐบาลที่มีความชอบธรรม และมีความยุติธรรมอยู่บ้างแล้ว แต่ยังไม่สมบูรณ์   “อารยะขัดขืน” จะทำให้กระบวนการดำเนินการของรัฐบาลในเรื่องนั้นๆ มีความยุติธรรมสมบูรณ์ยิ่งขึ้น  เพราะ “อารยะขัดขืน” ไม่ใช่กระบวนการล้มล้างรัฐบาล หรือการปฏิวัติเพื่อเปลี่ยนแปลงอำนาจในการปกครอง อย่างที่คนไทยโดยเฉพาะพวกที่เป็นรัฐบาลในขณะนั้นชอบเข้าใจ
 
ประการที่สอง  สังคมไทยยังเป็นสังคม “อนารยะ” เต็มไปด้วยผู้คนที่เฉยเมยต่อความทุกข์ยากเดือดร้อนที่รายล้อมชุมชน  คับคั่งไปด้วย “พวกเกาะรั้ว” ยืนดูเพื่อนพ้องน้องพี่ที่ทนต่อความอยุติธรรม ไม่ได้ต่อสู้กับ “รัฐบาลอนารยะ” ถ้าแพ้พวกเขาก็จะรุมกระทืบด้วย คำสบประมาทที่คุ้นหูว่า “สมน้ำหน้า”  “กูว่าแล้ว”  แต่ถ้าชาวบ้านชนะ พวกเขาก็จะพลอยรับอานิสงส์แบบ “สีแก้วพลอยรุ่ง” อย่างดีที่สุดที่ประชากรของประเทศนี้จะมีส่วนในการร่วมจัดการกับปัญหาที่จ่อคอหอยของพวกเขาได้คือ “เห็นด้วย  แต่ไม่เอาด้วย” ด้วยเหตุผลต่างๆ นานา  โดยเฉพาะชนชั้นกลาง (พวกชาวนาไต่เต้าที่มักจะพูดให้ตัวเองดูดี แต่ไม่เคยลงมือทำอะไรตามที่ว่าแม้แต่สักอย่างเดียว แม้แต่เรื่องที่เกิดกับตัวเองโดยตรง)
 
รูปธรรมของปัญหาที่สะท้อนความเป็น “เดรัจฉานนิเวศ” ของสังคมไทย จากการเคลื่อนไหวเรื่องยางพาราและปาล์มน้ำมันที่ชัดเจนคือ  เรามีรัฐบาลที่อยุติธรรม  เรามีกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน (ส่วนหนึ่ง) ที่เป็นปฏิปักษ์กับลูกบ้านของตัวเอง เพื่อทำหน้าที่เอาใจนาย (ที่ไม่รู้ว่าเป็นใครมาจากไหน)  เรามีเพื่อนบ้านที่โกรธแค้นชิงชังคน ที่ออกมาเคลื่อนไหวเพื่อผลประโยชน์ของตนเอง เพียงเพราะพวกเขาได้รับผลกระทบกระเทือนในการเดินทางบ้างเท่านั้น  ฯลฯ
 
สังคมที่เป็น “มนุษยนิเวศ” เท่านั้นที่เหมาะสมสำหรับการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ดังเช่นที่ประเทศตะวันตกและเอเชียบางประเทศเขาเป็นกัน  “สังคมเดรัจฉานนิเวศ” มันเหมาะสำหรับการปกครองในระบอบเผด็จการ  ไม่ว่าจะเผด็จการทหาร หรือเผด็จการพลเรือน  จึงป่วยการที่จะพูดถึงการปฏิรูปทุก เรื่องตราบใดที่คนในสังคมส่วนใหญ่เป็นอยู่เช่นนี้  เพราะ “ความเจริญก้าวหน้าของประเทศหรือสังคม  จะมีเกินคุณภาพของคนไปไม่ได้”
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น