xs
xsm
sm
md
lg

“ยิ่งลักษณ์” เลือกยุทธวิธีผิดแก้ม็อบสวนยาง กลายเป็น “บูมเมอแรง” รากหญ้ารวมพลล้มรัฐบาล!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“ยิ่งลักษณ์” ใช้วิธีโปรยเงิน “เสี้ยม” คนใต้ชนกันเอง แก้ม็อบสวนยางพลาดรุนแรง แต่กลับเป็นพลังให้คนใต้ทุกจังหวัดเตรียมรวมตัวสู้ ปลุกอารมณ์แค้นที่รัฐบาลดูแลแต่ “ข้าว” จัดการผู้บงการทุกระดับ ขณะที่เกษตรกรกลุ่มอื่นๆ “ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์-มันสำปะหลัง-ปาล์ม” ต่อคิวบีบรัฐบาล หวั่นสถานการณ์บานปลาย ม็อบทุกภาคส่วนรวมกลุ่มต้านระบอบทักษิณ หลีกหนีการปะทะยาก!

ดูเหมือนแนวคิดการนำยางพารามาใช้ทำถนนเพื่อแก้ปัญหาราคายางพาราตกต่ำในเวลานี้จะเป็นแนวความคิดที่ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” นายกรัฐมนตรีออกจะดูภูมิใจ ว่าจะเป็นทางออกที่ดี ซึ่งรัฐบาลเชื่อว่าจะแก้ราคายางพาราได้ดีและการชุมนุมเรียกร้องของม็อบสวนยางในขณะนี้ยุติลงได้

แต่เรื่องจริงคือการแก้ปัญหาราคายางพาราคงไม่ง่ายขนาดนั้น รวมถึงม็อบราคาสินค้าเกษตรที่จะออกมาเดินขบวนบีบรัฐบาลที่มากขึ้นเรื่อยๆ

โดยเฉพาะความผิดพลาดในวิธีการแก้ปัญหาที่รัฐบาลกำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้ อาจนำไปสู่การแตกหักระหว่างเกษตรกรกับรัฐบาลในที่สุด

ยิ่งลักษณ์พลาด! ไม่มองบริบท

ความผิดพลาดนั้นคือ รัฐบาลใช้นโยบายประชานิยมซื้อใจเกษตรกรรากหญ้าด้วยนโยบายรับจำนำราคาข้าว และก็ทุ่มสุดๆ โดยใช้เงินไปกว่า 6 แสนล้านบาท แต่ลืมไปว่าเกษตรกรไม่ได้มีแต่กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกข้าว แต่ยังมีเกษตรกรกลุ่มอื่นๆ ที่ได้รับความเดือดร้อนจากราคาพืชผลเกษตรกรรมที่ตกต่ำถ้วนหน้า เหตุเพราะรัฐบาลไม่ได้ให้ความสนใจเสริมสร้างความเข้มแข็งให้เกษตรกรทุกกลุ่มอย่างเท่าเทียม และไม่ได้เตรียมให้เกษตรกรไทยมีความเข้มแข็งพอที่จะรับมือกับยุคของการค้าเสรีที่มากขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ม็อบยางพารา ที่แม้รัฐบาลกำลังทำให้เกิดการตั้งโต๊ะเจรจา และเหมือนว่าจะควบคุมสถานการณ์ได้บางส่วน แต่แท้จริงแล้ว ปัญหามันซุกอยู่ใต้พรมและพร้อมระเบิดขึ้นมาแน่

รองศาสตราจารย์ ดร.ณรงค์ เพชรประเสริฐ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า ขณะนี้เกิดภาวะการแย่งชิงทรัพยากรแล้ว แต่ทุกอย่างยังแก้ได้ด้วยวิธีการจัดการที่ดี เพราะที่ผ่านมา นายกฯ ยิ่งลักษณ์ทำพลาดกับการจัดการม็อบยางพารา เพราะฉะนั้นโอกาสที่จะมาถึงจุดแตกหักของรัฐบาลนี้จึงอาจเกิดขึ้นได้!

“รัฐบาลพลาดจากการบริหารโครงการรับจำนำข้าวที่ใช้เงินไปในโครงการนี้กว่า 6 แสนล้านบาท เพราะคิดว่าเงินจะหมุนกลับคืนมาเข้าสู่ระบบ แต่เงินมันไม่ได้หมุนกลับมา เมื่อพลาดแล้วต้องยอมรับความจริง ต้องยอมรับว่าไม่มีเงินเหลือแล้ว มีความเห็นใจเกษตรกรผู้ปลูกยาง แต่เบื้องต้นรัฐขอช่วยพยุงราคาให้ที่ 80 บาทไปก่อน ส่วน40 บาทที่เหลือขอให้เป็นพันธบัตรฯ อย่างนี้ก็ได้ แต่รัฐบาลไม่ได้เลือกการจัดการวิธีนี้”

สิ่งที่นายกฯ ยิ่งลักษณ์ดำเนินการไป ยังเป็นสิ่งที่โหมไฟให้ลุกขึ้นมากกว่าเดิมเสียอีก

กล่าวคือ นายกฯ ยิ่งลักษณ์มีการพูดออกมาว่า เกษตรกรชาวสวนยางได้มีการช่วยเหลือมามากแล้ว และทั้งหมดต้องขึ้นอยู่กับราคาตลาดโลก อีกทั้งยังมีข้อสงสัยว่าม็อบเกษตรกรชาวสวนยางเป็นม็อบการเมืองของพรรคประชาธิปัตย์

ความจริงคือนายกฯ ยิ่งลักษณ์ไม่เข้าใจว่าสังคมมีบริบท และมองปัญหาตื้นเกินไป

“ต้นทุนยางมีราคา 70 บาท รัฐพยายามบอกว่า จะช่วยในราคา 80 บาท แค่นี้ก็ได้ราคาสูงกว่าต้นทุนแล้ว แต่รัฐบาลลืมไปว่าไม่ใช่จะมีแต่เกษตรกรรายใหญ่เท่านั้น ยังมีเกษตรกรรายย่อย สมมติว่าเขาเก็บผลผลิตได้วันละ 10-20 กิโลกรัม เขาจะได้เงินมาเป็นค่าครองชีพ วันละ 100-200 บาทเท่านั้น ซึ่งมันไม่ใช่”

รองศาสตราจารย์ ดร.ณรงค์ กล่าวด้วยว่า ความจริงแล้วม็อบยางพาราเป็นเพียงม็อบเกษตรกรที่ออกมาเรียกร้องรัฐให้ช่วยเหลือ เป็นเรื่องธรรมชาติที่เกิดขึ้นอยู่หลายครั้ง และแก้ได้ไม่ยาก กลายเป็นว่าการมองปัญหาผิดทำให้กลายเป็นเรื่องใหญ่

“ลูกมีหลายคน ไปให้แต่ลูกคนเดียว นี่ฤดูกาลข้าวยังไม่ออก แต่ประกาศไปแล้วว่าจะให้เงินอีก 2 แสนกว่าล้าน แปลว่าเตรียมเงินไว้ให้ข้าวแล้ว แต่สวนยางที่กำลังมีปัญหาอยู่กลับถูกมองข้าม คนยิ่งแค้น” รองศาสตราจารย์ ดร.ณรงค์ กล่าว

ที่แย่หนัก คือรัฐบาลยังใช้วิธีแก้ปัญหาด้วยการใช้เงินซื้อคน

“บอกตามตรง ม็อบยางพาราเกิดขึ้นและจะรุนแรงขึ้นเพราะรับไม่ได้ที่รัฐบาลไม่ให้ความสนใจ ม็อบยางขอแค่เงินอุดหนุนประมาณ 25,000 ล้านบาท แต่ไม่ได้ กลับมีการอนุมัติตูมไปให้ข้าวอีก 270,000 ล้านบาท แล้วจะให้รู้สึกยังไง คนไทยเหมือนกันหรือเปล่า” แกนนำเกษตรกรผู้ปลูกยางพารา กล่าว

การออกมาชุมนุมเรียกร้องให้รัฐบาลดูแลราคายางพารานั้น ที่จริงเคยเรียกร้องมาหลายครั้งหลายรัฐบาล แต่ก็ไม่เคยเหนื่อยหนักใจเท่าครั้งนี้ ครั้งนี้ถือเป็นการทำม็อบที่เหนื่อยที่สุด เพระกลยุทธ์การเข้ามาแก้ปัญหาของรัฐบาลนั้น เป็นกลยุทธ์ที่ใช้วิธีใช้เงินสร้างความแตกแยก พร้อมกล่าวว่า

“ตอนนี้มีกระแสชัดว่ารัฐบาลส่งนายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ เข้ามาประสานผลประโยชน์รายบุคคลให้แกนนำม็อบบางคน และแกนนำระดับกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เพราะรัฐบาลคิดว่าเอาเงินเข้าซื้อคนไม่กี่คนจะสำเร็จได้ง่าย ดีกว่าต้องมาจ่ายให้คนเป็นหมื่นเป็นแสน”

ดังนั้นสถานการณ์การชุมนุมยางในเวลานี้จึงเกิดภาวะการแตกแยกอย่างที่สุด

“แตกแยกที่สุดแล้ว ไม่เคยเห็นมาก่อน กำนัน ผู้ใหญ่บ้านก็ทะเลาะกับลูกบ้าน แกนนำก็ทะเลาะกันเอง บางคนก็ถูกรัฐบาลเอาตัวเลขหลอกๆให้ดู ก็เห็นด้วย แต่ต่อไปจะรู้ตัวว่าถูกหลอก ก็คงสายไปแล้วที่จะแก้ไข”

แกนนำเกษตรกรผู้ปลูกยางพารา กล่าวต่อว่า รัฐบาลคิดว่าเงินซื้อทุกอย่างได้ แต่ไม่จริง สิ่งที่รัฐบาลจะเห็นต่อจากนี้ไป คือเกษตรกรชาวสวนยางที่เขาเจ็บแค้นมากขึ้นเรื่อยๆ

แถมการที่ตัวแทนรัฐบาลอย่างผู้ว่าฯ นครศรีธรรมราช มีการสั่งให้ใช้ความรุนแรงกับผู้ชุมนุม ทั้งตีหัว ใช้ไฟฟ้าช็อต ถึงแม้จะออกมาบอกว่าไม่ได้ทำ แต่ภาพมันฟ้อง และเกษตรกรที่เขาไม่ได้ถูกซื้อก็มีจำนวนมากที่รู้สึกรับไม่ได้ และจะสู้อย่างที่สุด โดยเฉพาะคนนครฯ และคนใต้ทั้งหมด

“คนใต้เป็นคนจริงจัง ตรงไปตรงมา และไม่ยอมคน อย่านึกว่าจะมาทำอะไรก็ได้ เขาไม่เจ็บเขาจะไม่ทำ ยิ่งมาโกหกเขายิ่งรับไม่ได้ แล้วยางไม่ช่วย ช่วยแต่ข้าว หมายความว่าอย่างไร” แกนนำเกษตรกรผู้ปลูกยางพารา กล่าว

เกษตรกรกลุ่มอื่นจ่อคิวบีบรัฐนาวา “ปู”

อย่างไรก็ดี รองศาสตราจารย์ ดร.ณรงค์ ระบุถึงรัฐบาลยิ่งลักษณ์อีกว่าบริหารงานผิดพลาดเชิงนโยบายที่ส่งเสริมทุนนิยม ซึ่งวิธีการทำประชานิยมจึงออกมาในแบบการลดแลกแจกแถม ผู้นำต้องการคะแนนเสียง แต่ไม่ใช่ประชานิยมจริงที่กำหนดให้ประชาชนเป็นใหญ่ ดังนั้นจึงเน้นการทำประชานิยมแต่กับกลุ่มใหญ่ๆ คือข้าว
แต่ปล่อยกลุ่มเกษตรกรด้านอื่นๆ ทิ้งไป

ตรงนี้จะเป็นปัญหาทางใจที่ทำให้เกษตรกรที่ปลูกพืชอื่นๆ รู้สึกฝังลึกลงไปในใจว่า รัฐบาลไม่ได้จริงใจกับเกษตรกรจริง มีแต่จะอุ้มคนปลูกข้าวที่เป็นฐานเสียง และต้องการคะแนนเสียงเพียงอย่างเดียว

ดังนั้นต่อจากนี้ไป จะไม่ใช่แค่ม็อบยางพาราที่จะชุมนุมเรียกร้องกดดันรัฐบาลเท่านั้น

ทั้งนี้ม็อบเกษตรกรต่างๆ จะเริ่มเข้าคิวรอออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ

เริ่มตั้งแต่ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ของกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของจังหวัดเพชรบูรณ์ น่าน นครสวรรค์ สระแก้วที่ผลผลิตออกในช่วงนี้ และเป็นกลุ่มแรกที่ประกาศตัวว่าจะเข้าร่วมปิดถนนในวันที่ 3 ก.ย.นี้ร่วมกับม็อบยางพารา

เหตุเนื่องจากการชุมนุมเรียกร้องให้รัฐบาลพยุงราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เนื่องจากราคาตกต่ำ เกษตรกรถูกพ่อค้าคนกลางบีบราคารับซื้อเหลือเพียงกิโลกรัมละ 5.60 บาท ซึ่งผู้ชุมนุมได้มีการเจรจากับกรมการค้าภายในในช่วงที่ผ่านมาโดยมีการรับปากจะนำเรื่องเข้าสู่การประชุม ครม.ในวันที่ 27 ส.ค.ที่ผ่านมา แต่กลับไม่มีการนำเรื่องนี้เข้าหารือแต่อย่างใด ทำให้กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์รู้สึกไม่พอใจ และจะออกมาร่วมกับกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกยางในวันที่ 3 ก.ย.นี้แน่นอน

สำหรับอ้อยนั้น เป็นพืชอีกตัวหนึ่งที่ได้รับการจับตามอง นายชัยวัฒน์ คำแก่นพูน ประธานชมรมผู้ปลูกอ้อยภาคอีสาน เปิดเผยว่า ตอนนี้จะยังไม่มีการเคลื่อนไหวเพื่อกดดันรัฐบาล เพราะขณะนี้ยังไม่ถึงเวลาที่อ้อยจะออกสู่ท้องตลาด จึงยังไม่มีการคำนวณราคา ซึ่งปกติการคำนวณราคาอ้อยจะอยู่ในช่วงปลายเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน ซึ่งจะต้องดูราคาตลาดโลกประกอบ และมองแล้วมีแนวโน้มสูงที่ราคาตลาดโลกจะตกต่ำ ก็จะมีโอกาสออกมาชุมนุมเพื่อขอให้รัฐบาลช่วยเหลือด้านเงินกู้ได้โดยเฉพาะในภาคอีสาน

“สำหรับภาคเหนือ สินค้าเกษตรที่ต้องจับตาอย่างใกล้ชิดคือ หอมแดง และหอมใหญ่ มักจะมีปัญหาในช่วงเดือนธันวาคม, มกราคม, กุมภาพันธ์” นายประยงค์ ดอกลำไย ที่ปรึกษาสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ กล่าว

นอกจากนี้ม็อบใหญ่อีกม็อบหนึ่งที่มีการเคลื่อนไหวแน่คือ “ปาล์ม”

“ปี 2550-2551 รัฐบาลไปเชื่อเสี่ยที่เขาทำธุรกิจมากเกินไป ว่าต้องให้ปลูกปาล์ม ปลูกปาล์มเข้าไป ต่อไปน้ำมันจะแพง ปรากฏว่าพอคนปลูกยางเยอะ ลืมไปว่าผลิตผลจะออกมาพร้อมกัน ราคาก็ตก ตอนนี้ราคาปาล์มก็น้อยมากกิโลละไม่กี่บาท คนที่ได้ประโยชน์คือโรงงาน คนขายยา คนขายปุ๋ย พวกนี้รวย แต่เกษตรกรจนหมด” รองศาสตราจารย์ ณรงค์ กล่าว

โดยระบุว่าราคาน้ำมันปาล์มแค่ขวดละ 30 กว่าบาท ขณะที่สินค้าครัวเรือนอย่างน้ำมันมะพร้าวมีราคาสูงถึงขวดละ 300 กว่าบาท ราคาที่แตกต่างกันอย่างมากนี้ ทำให้เกษตรกรผู้ปลูกปาล์มรู้สึกเปรียบเทียบ และรู้สึกว่าราคาที่ได้รับนั้นเป็นราคาที่รัฐบาลไม่ดูแล

ปูเค็มชี้ “ทุบหัว-ช็อตไฟ” เติมเพลิงแค้นมวลชน

ด้าน ร้อยเอกทรงกลด ชื่นชูผล อดีตนายทหารบกที่เคลื่อนไหวทางการเมืองต่อต้านระบอบทักษิณ กล่าวว่า เชื่อว่าเหตุการณ์ม็อบสวนยางโดยเฉพาะกลุ่มผู้ชุมนุมทางภาคใต้จะนำไปสู่ความรุนแรงทางการเมืองอย่างแน่นอน เพราะรัฐบาลใช้วิธีการซื้อตัวคนระดับกำนัน ผู้ใหญ่บ้านจริง และจะทำให้คนที่เหลือรู้สึกโกรธแค้นรัฐบาลมากขึ้นไปอีก

“สิ่งที่จะเกิดขึ้น จะคล้ายกับปี 2553 ที่คนเสื้อแดงเริ่มจากการปิดถนนทั่วประเทศ พอเกิดการปิดถนนทั่วประเทศก็จะมีการตรึงกำลังตำรวจไปในที่ต่างๆ แต่มันจะไม่เหมือนเดิมอยู่อย่างหนึ่ง คือแทนที่ประชาชนจะปะทะตำรวจโดยตรง อาจจะไม่ แต่ประชาชนจะปะทะกับคนที่สั่งการใช้ความรุนแรง และผมเชื่อแน่ว่าผู้ว่าฯ นครฯ จะเป็นคนแรกที่โดนปะทะ เพราะไปใช้ความรุนแรงกับประชาชนก่อน”

กลยุทธ์การใช้เงินซื้อทุกอย่างอาจจะได้ผลในระยะสั้น แต่รัฐบาลต้องขบคิดว่าการกระทำเช่นนั้นจะเกิดผลตามมาที่เป็นเรื่องใหญ่

“คุณสั่งการอะไรลงไป อย่าลืมว่าในพื้นที่ตำรวจกับประชาชนเขาเป็นลูกเป็นหลาน เป็นพ่อแม่พี่น้อง พอสั่งการอะไรแรงๆ ลงไป ตำรวจก็แอบโทร.ไปบอกญาติ ตรงนี้มีแผนอะไรชาวบ้านเขาก็รู้ทันหมด เขาก็จะโกรธคนสั่งการ และจะมีการจัดการแน่ ไม่ปล่อยไว้”

สถานการณ์นี้ไม่ใช่เรื่องเล็ก และม็อบชาวสวนยางจะพัฒนาไปรวมกับม็อบการเมืองที่กรุงเทพมหานครแน่นอน

“อวยชัย” เชื่อม็อบรวมกลุ่ม-เสริมพลังต้านทักษิณ

ขณะเดียวกันยังมีความเห็นนักวิชาการซึ่งเคยเป็นอดีตแกนนำม็อบเกษตรกรที่เชี่ยวชาญและเข้าใจปัญหาเป็นอย่างดี อย่าง ดร.อวยชัย วะทา ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายบริการวิชาการและประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม กล่าวว่า ความจริงม็อบพืชผลเกษตรนั้นเป็นม็อบที่เกิดขึ้นมาตลอด เป็นเรื่องธรรมดา แต่ตอนนี้เกิดความแตกแยก แบ่งขั้วแบ่งขั้น จนไม่สามารถประนีประนอมกันได้แล้ว ซึ่งไม่ต่างจากเหตุการณ์การต่อสู้ระหว่าง 2 พรรคการเมืองใหญ่ในสภาฯ เวลานี้

“ในสภาฯ ฝ่ายรัฐบาลมีคนชี้นิ้วสั่งมาว่าจะต้องเอาให้ได้ ดังนั้น ส.ส.ไม่ได้มีอิสระทางความคิดอะไรเลย จำเป็นต้องทำตามคำสั่ง เมื่อเป็นอย่างนี้ฝ่ายค้านที่เสียงน้อยกว่ายังไงก็ต้านไม่ได้ สุดท้ายก็ต้องออกไปสู่นอกสภาฯ เพราะบรรยากาศประชาธิปไตยไม่เกิดขึ้นจริง”

ในถนนเดินต่อไม่ได้ มีแต่ต้องสู้นอกถนน

“เหมือนที่คุณอลงกรณ์ พลบุตร บอก ประชาธิปัตย์ต้องปรับตัว สู้ในสภาไม่ได้ ยิ่งสู้ยิ่งเสียมวลชน”

การพิจารณาวาระ 3 พ.ร.บ.นิรโทษกรรม และการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเดตไลน์ฟางเส้นสุดท้าย

ต่อจากนั้นการสู้นอกถนนจะเต็มรูปแบบ และจะมีกลุ่มเกษตรกรที่ได้รับความเดือดร้อนที่รู้สึกว่าถูกปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียมกับเกษตรกรผู้ปลูกข้าวทยอยออกมาสู้กับอำนาจรัฐที่มองประโยชน์ของคนเป็นกลุ่มเฉพาะแต่ไม่ดูแลทุกข์สุขประชาชนอย่างทั่วถึง

“ผมมองไม่ออกว่าจะจบตรงไหนนะ แต่ที่แน่ๆ มันแตกแยกมากเกินไปเกินกว่าจะปรองดองได้แล้ว มีแต่ต้องชนกัน หลีกเลี่ยงความรุนแรงไม่ได้หรอก”

เกษตรกรเขาก็รู้สึกว่าทำไมรัฐบาลช่วยแต่ “ข้าว” พืชผลเกษตรอื่นๆ ไม่ได้รับการเหลียวแลเลยหรือ ดังนั้นเชื่อว่าการปะทะจะเกิดขึ้นแน่นอน

อย่าลืมว่าม็อบในกรุงของคนเมืองก็กำลังเป็นปัญหาปะทุขึ้นเรื่อยๆ

โดยเฉพาะปัญหาค่าครองชีพ ที่ 1 กันยายนนี้ มีทั้งการขึ้นค่าไฟ ขึ้นค่าทางด่วน และราคาก๊าซ LPG ซึ่งทั้งหมดเป็นเรื่องที่ไปเพิ่มการบีบคั้นต่อการดำรงชีพของชนชั้นกลางและระดับล่างที่โซซัดโซเซจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำอยู่แล้วให้แย่ไปอีก

และอาจแย่จนทนไม่ไหว เข้ามาร่วมกับกลุ่มม็อบต่อต้านรัฐบาลมากขึ้นเรื่อยๆ และหยุดยั้งไม่อยู่

ปะทะแน่ เพราะรัฐบาลเองก็ไม่ได้มีทางออกให้คนกลุ่มไหนที่ดีเลย

อย่างไรก็ดี การปลุกมวลชนภาคอีสานเพื่อช่วยหนุนรัฐบาลในเวลานี้ของฝ่าย พ.ต.ท.ทักษิณนั้น ดร.อวยชัยยืนยันว่าไม่มี และเชื่อแน่ว่า พ.ต.ท.ทักษิณไม่กล้าที่จะนำมวลชนคนเสื้อแดงมาใช้มากนัก

“คุณทักษิณเองก็คงมองออกว่าสถานการณ์มันจะรุนแรงแน่ การเอามวลชนมาใช้ในเวลานี้อาจจะไม่เป็นผลดีกับตัว พ.ต.ท.ทักษิณ เพราะหากควบคุมได้ก็ดีไป แต่หากควบคุมไม่ได้ มีคนตายแม้แต่ 1 คน รัฐบาลของน้องสาวจะมีปัญหาทันที”

นี่คือสิ่งที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ยังไม่เลือกไพ่ใบนี้มาใช้

ส่วนที่ว่าทหารจะอยู่ฝ่ายไหนเมื่อเกิดการปะทะ หลายฝ่ายมองว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบกก็ยังจะเป็นผู้ที่ออกเกียร์ว่าง แต่ใช่ว่าทหารกลุ่มอื่นจะยอม

“ทหารตอนนี้เงียบ แต่อย่าลืมว่ามันก็มักจะมีคลื่นใต้น้ำ” ผู้กองปูเค็มพูดทิ้งท้ายไว้

ดังนั้นสภาวะทางการเมืองที่เกิดขึ้นในขณะนี้หากรัฐบาลยิ่งลักษณ์ยังจัดการปัญหาโดยคิดว่าตัวเองเป็นศูนย์กลาง และใช้วิธีการแก้ปัญหาด้วยการใช้เงินซื้อได้ทุกอย่าง ย่อมส่งผลให้รัฐบาลยิ่งลักษณ์มีโอกาสเป็นรัฐบาลยิ่งเละ! และนำไปสู่การใช้กำลังรุนแรงในการจัดการปัญหาจนเกิดความแตกหักในที่สุด

กำลังโหลดความคิดเห็น