xs
xsm
sm
md
lg

สื่อนอกชี้เมกะโปรเจ็กต์รัฐบาลปู ลืมเลือนอนาคตชาติ-ประชาชน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เอเจนซีส์– “บลูมเบิร์ก”ชำแหละนโยบายรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตรที่เน้นแจกเงินชาวชนบท แลกเปลี่ยนกับคะแนนเสียงทางการเมือง รวมถึงโครงการเมกะโปรเจ็กต์ต่างๆมีแต่สร้างความร่ำรวยให้กับกลุ่มทุนที่มีสายสัมพันธ์ทางการเมือง แต่บั่นทอนความสามารถในการแข่งขันและความมั่งคั่งของไทยในระยะยาว พร้อมเตือนสติรัฐบาล “ปู” สำเหนียกความสำคัญในการลงทุนด้านการศึกษาเพื่ออนาคตที่ยั่งยืนของประเทศชาติและประชาชน

บทวิเคราะห์ของบลูมเบิร์กระบุว่าการค้นหาบทเรียนจากทศวรรษแห่งความเสียหายทางเศรษฐกิจที่เคยพุ่งเป้าไปที่ญี่ปุ่น อเมริกา ยุโรป บัดนี้เริ่มเปลี่ยนเป้าหมายมาที่ไทย ซึ่งอาจเป็นเรื่องห่างไกลจากจินตนาการอยู่สักหน่อยเมื่อพิจารณาว่า อัตราเติบโตของไทยขณะนี้สูงถึง 5.3 เปอร์เซ็นต์ และมีเสถียรภาพทางการเมืองในระดับที่น่าประหลาดใจ

นับจากขึ้นบริหารประเทศมาได้ 2 ปี น.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร สามารถกำราบแนวโน้มสงครามกลางเมืองที่นำไปสู่การตกจากอำนาจของพ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ผู้เป็นพี่ชาย เมื่อปี 2006

แต่หากพิจารณานโยบายเศรษฐกิจของยิ่งลักษณ์อย่างลึกซึ้ง จะเห็นได้ว่านโยบายรับจำนำข้าว โครงการรถคันแรก และเมกะโปรเจ็กต์มากมาย รังแต่สร้างความร่ำรวยให้แก่กลุ่มที่มีสายสัมพันธ์ทางการเมืองมากกว่าประชาชน

บลูมเบิร์กระบุว่าโครงการประชานิยมทั้งหมดนี้ยังต้องแลกมาด้วยความสามารถในการแข่งขัน และความมั่งคั่งของประเทศในระยะยาว ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว ไทยควรลงทุนเพื่ออนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการศึกษา หากต้องการทำลาย "กับดักรายได้ปานกลาง"

การกลับลำของยิ่งลักษณ์เกี่ยวกับโครงการรับจำนำข้าวถือเป็นหนึ่งในกรณีตัวอย่าง ก่อนหน้านี้นายกฯหญิงผู้นี้มีแผนจำกัดแนวทางปฏิบัติที่เป็นอันตรายต่อสถานะทางการคลังของประเทศ และบิดเบือนตลาดสินค้าโภคภัณฑ์

ทว่า แม้มูดี้ส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส สถาบันจัดอันดับชื่อก้องโลก เตือนว่า มาตรการอุดหนุนอาจสร้างความเสียหายให้แก่อันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทย ซึ่งยิ่งลักษณ์เองต้องยอมพ่ายแพ้ต่อกระแสความไม่พอใจของเกษตรกร และกลับไปรับจำนำข้าวที่ราคาตันละ 15,000 บาทตามเดิม รวมถึงปลดบุญทรง เตริยาภิรมณ์ จากตำแหน่งรัฐมนตรีพาณิชย์ สังเวยการขาดทุนจากโครงการรับจำนำข้าว

แม้โครงการรับจำนำข้าวไม่ได้ถึงขั้นทำให้ประเทศไทยล้มละลาย เนื่องจากเศรษฐกิจมูลค่า 10 ล้านล้านบาทโดยประมาณสามารถรองรับการขาดทุนจากการรับจำนำข้าว 136,400 ล้านบาทเมื่อปีที่แล้วได้ กระนั้น นโยบายสำคัญอันดับต้นๆ ของยิ่งลักษณ์มีแนวโน้มสร้างปัญหาในลักษณะคล้ายกับในยุคทักษิณ

สำนักข่าวบลูมเบิร์กระบุว่า นโยบาย “ทักษิโนมิกส์” ไม่มีอะไรมากกว่าไปว่า “การแจกเงิน”เพื่อแลกคะแนนเสียงจากชาวบ้านในชนบท ขณะที่เมื่อเดือนมกราคม ยิ่งลักษณ์เปิดแผนยกระดับมาตรฐานการครองชีพของประชาชน โดยเสนอทุ่มงบ 2 ล้านล้านบาทให้แก่โครงการขนส่ง พลังงาน และโทรคมนาคม รัฐบาลชุดนี้ยังกำลังผลักดันโครงการท่าเรือและเขตอุตสาหกรรมในพม่ามูลค่า 2.6 ล้านล้านบาท

สัปดาห์ที่แล้วระหว่างอยู่ในตุรกี นายกฯของไทย เรียกร้องการก่อสร้างโครงการก่อสร้างทางรถไฟ “เส้นทางสายไหมใหม่” เชื่อมโยงยุโรปกับเอเชีย

อย่างไรก็ดี ประเด็นที่รัฐบาลหลงลืมขณะตั้งหน้าตั้งตาส่งเสริมการเติบโตคือ การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านสังคม เนื่องจากการลงทุนในด้านการศึกษาและปรับปรุงคุณภาพแรงงาน และเพิ่มผลผลิตแท้จริงแล้วมีความสำคัญมากกว่าในการทำให้ไทยสามารถรักษามาตรฐานภายในภูมิภาคที่มีพลวัตสูงที่สุดของโลกอย่างเอเชียไว้ได้

ไทยไม่ได้ล้าหลังในระดับอุดมศึกษาเท่านั้น แต่ยังรวมถึงระดับปฐมศึกษาและมัธยมศึกษาด้วย เช่นเดียวกับอีกหลายประเทศ การศึกษาของไทยเน้นการท่องจำมากกว่าการส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ ความคิดอย่างมีวิจารณญาณ และทักษะภาษาอังกฤษ

ปีเตอร์ วอร์ นักเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลียในแคนเบอร์รา ชี้ว่า มีสัญญาณน้อยมากที่บ่งชี้ว่า รัฐบาลชุดปัจจุบันของไทยตระหนักว่า ลงทุนอย่างไม่เหมาะสมในด้านทรัพยากรมนุษย์ อีกทั้งยังไม่สำเหนียกถึงความจำเป็นในการปฏิรูประบบการศึกษา

วอร์ทำการศึกษาผลกระทบแง่ลบจากการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยอย่างครอบคลุม เนื่องจากไทยนั้นมีความสำคัญในแง่ที่เป็นต้นแบบภายในภูมิภาค เริ่มจากพม่าที่เพิ่งหลุดพ้นจากการถูกโดดเดี่ยวและพยายามสร้างเศรษฐกิจที่แข็งแรง และกำลังมองหาเงินสนับสนุนและแนวทางจากไทย

ปัจจุบัน อัตราเติบโตของไทยสูงกว่าญี่ปุ่น อเมริกา และยุโรป สำหรับปิติ ดิษยทัต นักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารแห่งประเทศไทย ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ต่อหัวที่เคลื่อนไหวอยู่แถวๆ 15-20% ของอเมริกามานานกว่า 10 ปี บอกเล่าเรื่องนี้ได้เป็นอย่างดี ทว่า ในทางกลับกัน นี่เป็นช่วงเวลาอันตรายสำหรับไทยในการรักษาจีดีพีต่อหัวที่ราว 155,000 บาทต่อปีในขณะที่เศรษฐกิจโลกชืดชาลง การเติบโตของจีนชะลอตัว ส่วนทางอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ รวมถึงเวียดนาม กำลังแย่งงานที่เคยเป็นของไทยไป

การสร้างแรงงานที่มีทักษะในการประกอบการต้องการการลงทุนก้อนใหญ่และเจตนารมณ์ทางการเมืองซึ่งไทยขาดแคลนทั้งสองอย่าง การทุจริตและปัญหาอีกมากมายขัดขวางมาตรการจูงใจ ถนน สะพาน โครงการเครือข่ายไฟฟ้าขนาดใหญ่กำลังเปิดโอกาสกว้างขวางให้นักการเมืองไทยและนักธุรกิจกอบโกยผลประโยชน์ใส่ตัว

วอร์ทิ้งท้ายว่า การลงทุนด้านการศึกษา อาจมีการ “ติดสินบน” กันน้อยกว่าโครงการโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพ และว่า นโยบายแจกจ่ายเงินให้ชาวชนบทชองทักษิณไม่ได้ช่วยเสริมสร้างสถาบันรัฐ สร้างระบบกฎหมายที่น่าเชื่อถือ หรือลงทุนในทุนมนุษย์แต่อย่างใด
กำลังโหลดความคิดเห็น