เอเอฟพี/รอยเตอร์ - ไอเอ็มเอฟระบุในวันจันทร์ (29 เม.ย.) ว่า กำลังเฝ้าติดตาม “ด้วยความระมัดระวังเป็นอย่างยิ่ง” เกี่ยวกับการเคลื่อนย้ายของเงินทุนจำนวนมหาศาลเข้ามาในเอเชีย พร้อมกับเรียกร้องให้พวกผู้วางนโยบายในภูมิภาคแถบนี้ ต้องคอยป้องกันตัวพร้อมต่อสู้กับความเสี่ยงที่เศรษฐกิจจะร้อนแรงเกินไป ขณะเดียวกัน องค์การโลกบาลทางการเงินแห่งนี้กระตุ้นเอเชียปรับปรุงสถาบันของภาครัฐ พร้อมเปิดเสรีตลาดแรงงานและตลาดผลิตภัณฑ์ เพื่อหลีกเลี่ยง “กับดักรายได้ปานกลาง” และไต่เต้าขึ้นเป็นประเทศเศรษฐกิจขั้นสูง โดยที่เตือนไทยว่ามีความเสี่ยงการเติบโตชะลอตัวจากโครงสร้างพื้นฐานด้อยมาตรฐาน
อนูป ซิงห์ ผู้อำนวยการฝ่ายเอเชียและแปซิฟิก ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) แถลงเตือนในวันจันทร์ที่สิงคโปร์ว่า เงินทุนที่กำลังไหลบ่าเคลื่อนย้ายเข้ามา ซึ่งทำให้ราคาหุ้นและอสังหาริมทรัพย์ในเอเชียพุ่งโด่งลิบลิ่วอยู่ในเวลานี้ กำลังอยู่ในระดับใกล้เคียงหรือกระทั่งสูงกว่าแนวโน้มที่เคยเกิดขึ้นในอดีต ในแทบจะทุกประเทศเอเชียทีเดียว รวมทั้งบรรดาชาติในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย
“เรากำลังมองเห็นว่า แรงกดดันทางการเงินกำลังเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งคุณอาจจะเรียกมันว่าเป็นความไม่สมดุล หรือเป็นความเสี่ยงของความไม่สมดุลก็ได้” ซิงห์บอก
“และเนื่องจากสภาพการณ์เช่นนี้อาจจะเลวร้ายลงได้อย่างรวดเร็วมาก แน่นอนทีเดียวว่า (เรา) กำลังเฝ้าติดตามด้วยความระมัดระวังเป็นอย่างยิ่ง ด้วยเหตุนี้ ความท้าทายซึ่งบรรดาผู้วางนโยบายกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ก็คือ ทำอย่างไรจึงจะสามารถป้องกันไม่ให้เกิดการสั่งสมเพิ่มพูนของความไม่สมดุลต่างๆ ในระดับชาติ ในขณะที่ยังคงดำเนินการสนับสนุนอันเหมาะสมเพื่อให้เกิดการเติบโตขยายตัวต่อไป”
ซิงห์พูดเรื่องนี้ในระหว่างงานแถลงข่าวเปิดตัว รายงานแนวโน้มเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (Regional Economic Outlook for Asia and the Pacific) ฉบับล่าสุด โดยที่ไอเอ็มเอฟยังคงคาดการณ์ว่า ภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกจะสามารถทำอัตราเติบโตได้ในระดับ 5.7% ในปีนี้
เขาย้ำว่า ประเด็นพื้นฐานที่ไอเอ็มเอฟต้องการเน้นในเวลานี้ก็คือ เอเชียโดยทั่วไป รวมทั้งในหมู่สมาชิกสมาคมอาเซียน กำลังมีความน่าวิตกเพิ่มมากขึ้น เกี่ยวกับเสถียรภาพในระดับชาติ และดังนั้นบรรดาผู้วางนโยบายทางการเงินทั้งหลายจึงจำเป็นต้องเตรียมตัวให้พรักพร้อม ต้องมองเห็นความเสี่ยงที่เศรษฐกิจทำท่าจะร้อนแรงเกินไปกันตั้งแต่เนิ่นๆ และมองเห็นได้อย่างเด็ดขาดชัดเจน
ไอเอ็มเอฟมิได้ระบุว่าประเทศใดที่กำลังเสี่ยงจะเกิดภาวะเศรษฐกิจร้อนแรงเกินไป แต่สิ่งที่ปรากฏในปัจจุบันก็คือ ตลาดหุ้นในอินโดนีเซีย, ฟิลิปปินส์, และไทย กำลังพุ่งขึ้นแรงมากในช่วงหลังๆ นี้ ส่วนราคาอสังหาริมทรัพย์ในฮ่องกงและสิงคโปร์ก็ร้อนฉ่าเหลือเกิน จนรัฐบาลในประเทศและดินแดนเหล่านี้ต้องออกมาตรการเพื่อทำให้เย็นตัวลง
ในรายงานฉบับล่าสุดนี้ ไอเอ็มเอฟบอกว่า เงินทุนที่เคลื่อนย้ายเข้าสู่เอเชียในเวลานี้โดยทั่วไปแล้ว “ยังไม่ได้อยู่ในระดับที่ล้นเกิน” ทว่าสามารถที่จะขึ้นไปถึงระดับซึ่งยากแก่การบริหารจัดการได้
ไอเอ็มเอฟระบุว่า รัฐบาลต่าง ๆ ในภูมิภาคแถบนี้กำลังต้อง “ลงมือปฏิบัติการเพื่อสร้างความสมดุลอย่างละเอียดอ่อนยิ่ง” โดยที่ทั้งต้องสนับสนุนให้เศรษฐกิจเติบโตต่อไป แต่ในเวลาเดียวกันก็ต้องบริหารจัดการอย่างเหมาะสมกับเงินทุนเคลื่อนย้ายก้อนมหึมาที่ไหลเข้ามา
รายงานของไอเอ็มเอฟเสนอแนะว่า ประเทศในเอเชียควรหาทางใช้เงินทุนไปทำการลงทุนในเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน, การศึกษา, และสาธารณสุข เพื่อสนับสนุนให้เศรษฐกิจเจริญเติบโตในลักษณะที่ประชาชนมีส่วนได้รับประโยชน์เพิ่มมากขึ้นและมีความยั่งยืนยิ่งขึ้น นอกจากนั้นไอเอ็มเอฟยังเร่งเร้าให้รัฐบาลต่างๆ ในภูมิภาคแถบนี้ขยายแห่งรายได้ภายในประเทศอีกด้วย
IMFชี้โครงสร้างพื้นฐานไทยด้อย กระตุ้นเอเชียปรับปรุงสถาบันรัฐ
ในรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก ฉบับล่าสุดนี้ ไอเอ็มเอฟเตือนว่า พวกประเทศตลาดเกิดใหม่ในเอเชียมีความเสี่ยงที่จะตกลงไปใน “กับดักรายได้ปานกลาง” (middle-income trap) ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่เศรษฐกิจมีความเสี่ยงหยุดชะงักอยู่ที่ระดับปานกลาง โดยไม่สามารถไต่เต้าขึ้นเป็นประเทศเศรษฐกิจขั้นสูง
“ประเทศที่มีรายได้ปานกลางในเอเชียนั้น มีแนวโน้มเผชิญความเสี่ยงจากอัตราเติบโตชะลอตัวอย่างเรื้อรัง น้อยกว่าพวกประเทศที่มีรายได้ปานกลางในภูมิภาคอื่นๆ อย่างไรก็ตาม พวกสถาบันของรัฐบาล ในประเทศเหล่านี้ในเอเชีย นับว่ามีประสิทธิภาพอ่อนด้อยกว่าโดยเปรียบเทียบ”
ไอเอ็มเอฟแจกแจงว่า อินเดีย ฟิลิปปินส์ จีน และอินโดนีเซีย จำเป็นต้องปรับปรุงพวกสถาบันเศรษฐกิจ ขณะที่อินเดีย ฟิลิปปินส์ และไทยมีแนวโน้มเผชิญความเสี่ยงการเติบโตชะลอตัวอันเป็นผลจากโครงสร้างพื้นฐานด้อยกว่ามาตรฐาน
รายงานอธิบายว่า ความเข้มแข็งของสถาบันจะสะท้อนให้เห็นจากเสถียรภาพทางการเมืองและความสามารถของระบบราชการในระดับสูง ขณะที่มีความขัดแย้งและปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นอยู่ในระดับต่ำ พร้อมระบุว่า มาเลเซียและจีนได้คะแนนสูงสุดในการจัดอันดับประเภทนี้ ส่วนอินเดียและฟิลิปปินส์รั้งท้าย
ไอเอ็มเอฟระบุในรายงานฉบับนี้ว่า พวกประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียจำนวนมาก ยังคงมีช่องทางผ่อนคลายกฎระเบียบที่เข้มงวดในตลาดผลิตภัณฑ์ หรืออาจรวมถึงตลาดแรงงาน
ขณะเดียวกัน รายงานของไอเอ็มเอฟระบุว่า แนวทางด้านสถิติบ่งชี้แนวโน้มอัตราเติบโตชะลอตัวในจีนและอินเดีย ตัวอย่างเช่น แนวโน้มการเติบโตของจีนพุ่งถึงระดับสูงสุดที่ราว 11% ในปี 2006-07 ขณะที่แนวโน้มการเติบโตของอินเดียปัจจุบันอยู่ที่ราว 6-7% เทียบกับ 8% ในช่วงก่อนเกิดวิกฤตภาคการเงินทั่วโลก
ในทางกลับกัน รายงานชี้ว่า แนวโน้มการเติบโตของสมาชิกส่วนใหญ่ของสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ยังคงมีเสถียรภาพ หรืออาจเพิ่มขึ้น ยกเว้นเวียดนาม