xs
xsm
sm
md
lg

‘สีจิ้นผิง’กับ‘ปูติน’นอนเตียงเดียวกันแต่ฝันไปคนละอย่าง (ตอนแรก)

เผยแพร่:   โดย: เอ็ม เค ภัทรกุมาร

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Xi, Putin share bed, with their own dreams
By M K Bhadrakumar
12/04/2013

ประธานาธิบดีสี จิ้น ผิง ของจีน เดินทางไปเยือนรัสเซียเมื่อเร็วๆ นี้ ในช่วงเวลาที่ความเป็นหุ้นส่วนของสองประเทศกำลังทวีความสำคัญเพิ่มมากขึ้น จากการที่สหรัฐฯประกาศนโยบาย “ปรับสมดุลใหม่” เพื่อหันมาเน้นหนักอยู่ที่เอเชียยิ่งขึ้น มอสโกกับปักกิ่งนั้นมีผลประโยชน์ร่วมกันตลอดจนความคาดหวังเกี่ยวกับอนาคตซึ่งไปในทิศทางเดียวกันอย่างมากมายทีเดียว โดยมีไฮไลต์ในทางเศรษฐกิจอยู่ที่ข้อตกลงซื้อขายก๊าซหลายฉบับที่ยังคงรอการลงนามปิดท้าย อย่างไรก็ตาม ขณะที่ความฝันของหมีขาวและของมังกรดูเหมือนจะคล้ายคลึงกันอยู่ไม่ใช่น้อย ทว่าก็ไม่สามารถกล่าวได้ว่าพวกเขามีความฝันอย่างเดียวกัน

*ข้อเขียนชิ้นนี้แบ่งเป็น 2 ตอน นี่คือตอนแรก *

ในภาษาจีนมีคำพังเพยอยู่บทหนึ่งกล่าวว่า “นอนอยู่เตียงเดียวกันแต่ฝันกันคนละอย่าง” ซึ่งหมายความว่า แม้กระทั่งในหมู่หุ้นส่วนผู้ใกล้ชิดที่สุดก็ยังไม่ได้มีอะไรที่เหมือนกันเลยในความคิดของพวกเขา ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับรัสเซียในปัจจุบัน ก็ดูจะสอดคล้องกับเนื้อหาสาระของคำพังเพยบทนี้ทีเดียว

แต่กระนั้น ตอนที่ สี จิ้นผิง ผู้นำคนใหม่ของจีน เดินทางไปเยือนกรุงมอสโกเมื่อตอนปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ปรากฏว่ายังคงสามารถดึงดูดความสนใจของฝ่ายต่างๆ ได้อย่างมากมาย สาเหตุที่เป็นเช่นนี้น่าจะมีอยู่หลากหลายประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การไปเยือนรัสเซียของเขาเที่ยวนี้ คือการออกเยือนต่างแดนเที่ยวแรกของ สี นับตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีแดนมังกรอย่างเป็นทางการ ด้วยเหตุนี้ความสนอกสนใจอย่างใหญ่หลวงเช่นนี้ จึงเป็นการทุ่มเทให้แก่ก้าวแรกๆ ในความเคลื่อนไหวของเขา ด้วยความประสงค์ที่จะทำความรู้จักและทำความเข้าใจเขาให้มากขึ้นจนกระทั่งสามารถสรุปได้ว่าเขามีความชมชอบและความโน้มเอียงทางการเมืองไปในด้านไหน

นอกจากนั้น การเยือนรัสเซียของ สี ยังเกิดขึ้นในท่ามกลางภูมิหลังของการที่สหรัฐฯเร่งดำเนินนโยบาย “ปรับเปลี่ยนสมดุลใหม่” (rebalancing) เพื่อหันมาโฟกัสสนอกสนใจเอเชียเป็นหลัก ในเวลาเดียวกัน การเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์กับเพื่อนบ้านยักษ์ใหญ่ทางตอนเหนืออย่างรัสเซีย ยิ่งทวีเพิ่มความสำคัญในระดับสูงสำหรับจีน เมื่อในปัจจุบันสายสัมพันธ์ที่แดนมังกรมีอยู่กับญี่ปุ่นกำลังอยู่ในอาการตึงเครียด สืบเนื่องจากการพิพาทช่วงชิงกรรมสิทธิ์เหนือหมู่เกาะในเขตทะเลจีนตะวันออก

รัสเซียกับจีนนั้นได้เริ่มต้นร่วมมือประสานงานกันแล้วในประเด็นต่างๆ อันเกี่ยวข้องกับโครงการระบบอาวุธป้องกันขีปนาวุธของสหรัฐฯ และเหนือสิ่งอื่นใดเลย ทั้งสองประเทศมีความสนใจร่วมกันในเรื่องการทำงานของระบบระหว่างประเทศในปัจจุบัน อย่างไรก็ดี การเดินทางไปมอสโกของ สี ในเที่ยวนี้ ยังมีเรื่องในระดับทวิภาคีอย่างเข้มข้นอีกด้วย จีนนั้นสังเกตเห็นแล้วถึงความกังวลภายในจิตใจของรัสเซียในเรื่องเกี่ยวกับการก้าวผงาดขึ้นมาอย่างยิ่งใหญ่เป็นปรากฏการณ์ของจีน และปักกิ่งก็มีความเชี่ยวชาญทันเกมเพียงพอที่จะอัดฉีดความโปร่งใสตลอดจนความไว้เนื้อเชื่อใจเข้าไปในความเป็นหุ้นส่วนระหว่างสองประเทศนี้

ประเด็นที่ควรต้องตั้งข้อสังเกตเอาไว้ก็คือ เมื่อพูดกันโดยเปรียบเทียบแล้ว ความเป็นหุ้นส่วนระหว่างรัสเซียกับจีน ต้องถือว่าเป็นความสัมพันธ์ที่ยังมีอายุค่อนข้างน้อย ถึงแม้สายสัมพันธ์ของสองประเทศนี้มีความเก่าแก่ยาวนาน และยังคงมีสิ่งตกค้างทางประวัติศาสตร์อันใหญ่โตมหึมา ซึ่งแต่ละฝ่ายก็ไม่อาจที่จะลืมเลือนไปได้อย่างง่ายดาย

สัญญาณประการแรกๆ ที่ส่อแสดงให้เห็นว่าประเทศทั้งสองกำลังพิจารณาใคร่คราญที่จะเคลื่อนเข้ามาอยู่ในเตียงนอนเดียวกัน ดูเหมือนจะสามารถสาวย้อนกลับไปได้จนถึงปี 2001 ระหว่างการเยือนกรุงปักกิ่งของประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของฝ่ายหมีขาว โดยที่เขากับ เจียง เจ๋อหมิน ประธานาธิบดีของแดนมังกรในตอนนั้นได้ร่วมลงนามกันในสัญญาฉบับประวัติศาสตร์ นั่นคือ สนธิสัญญาความเป็นเพื่อนบ้านที่ดีและความร่วมมือฉันมิตรระหว่างสาธารณรัฐประชาชนจีนกับสหพันธรัฐรัสเซีย (Treaty of Good-Neighborliness and Friendly Cooperation Between the People's Republic of China and the Russian Federation)

ด้วยการตกลงเซ็นสัญญาฉบับนี้ รัฐบุรุษทั้งสองก็ได้ปิดฉากความสัมพันธ์ระหว่างกันในอดีตที่ผ่านมาซึ่งเต็มไปด้วยความยุ่งยากซับซ้อน ถ้าหากมองจากสายตาของฝ่ายจีนแล้ว เพียงเมื่อสักประมาณ 2 ศตวรรษที่ผ่านมา รัสเซียในเวลานั้นคือมหาอำนาจจักรวรรดินิยมซึ่งมีสัญชาตญาณแห่งความเป็นนักล่าที่คอยแต่จะเขมือบกลืนกินดินแดนผืนกว้างใหญ่ของแดนมังกรไปเรื่อยๆ แต่แล้วเมื่อเวลาล่วงมาถึงช่วงกลางๆ ของศตวรรษที่แล้ว แดนหมีขาวก็กลับกลายมาเป็นทั้งกุนซือใหญ่, ผู้นำทาง, และผู้พิทักษ์ และในขณะที่ครึ่งหลังของศตวรรษที่แล้วค่อยๆ ผันผ่านไป ทั้งสองประเทศก็แทบจะกลายเป็นพันธมิตรกัน

ครั้นแล้วโชคชะตาก็พลิกผันอย่างฉับพลัน รัสเซียกับจีนกลับกลายเป็นคู่ปรปักษ์กัน และก่อนที่ใครๆ จะทันสังเกตเห็น ความสัมพันธ์ระหว่างทั้งคู่ยิ่งเลวร้ายลงจนกลายเป็นศัตรูคู่อาฆาตกันไปเสียแล้ว กล่าวได้ว่าเมล็ดพันธุ์แห่งความสัมพันธ์เชิงยุทธศาสตร์อย่างแท้จริงระหว่างประเทศทั้งสองเพิ่งได้รับการหว่านโปรยให้งอกขึ้นมาเมื่อเร็วๆ นี้เอง ในระหว่างที่ หู จิ่นเทา ประธานาธิบดีของจีนในตอนนั้น เดินทางไปเยือนกรุงมอสโกในปี 2003 การเดินทางเยี่ยมเยียนครั้งนั้นถือเป็นหลักหมายแสดงถึงการก้าวไปข้างหน้าก้าวใหญ่ในสายสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียกับจีนทีเดียว

ด้วยเหตุนี้เอง ความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างสองประเทศนี้จึงถือได้ว่ามีความยาวนานค่อนข้างน้อยเมื่อถูกบันทึกเอาไว้ในจดหมายเหตุแห่งประวัติศาสตร์ทางการทูตของโลก และการที่ในทุกวันนี้ทั้งสองฝ่ายต่างกล่าวยืนยันว่า ความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ของพวกเขามีความพัฒนาก้าวหน้าไป “อย่างต่อเนื่อง” นั้น ก็จำเป็นที่จะต้องเข้าใจเอาไว้ด้วยว่า กรอบระยะเวลาอันแท้จริงของความเป็นหุ้นส่วนดังกล่าวนี้ แท้จริงแล้วครอบคลุมช่วงเวลาเพียงแค่ทศวรรษเดียวเท่านั้น

ขณะเดียวกัน ยังคงมีประเด็นปัญหาทางการเมืองอันละเอียดอ่อนอยู่หลายๆ ประเด็นที่รอคอยให้เข้าไปคลี่คลาย เป็นต้นว่า ในเวลาที่จีนพยายามขยายอิทธิพลของตนในเอเชียกลาง มันก็อาจจะไปกระทบกระเทือนความรู้สึกอ่อนไหวของฝ่ายรัสเซีย เช่นเดียวกับที่ปักกิ่งย่อมจับตามองอย่างใกล้ชิดเป็นพิเศษทีเดียว ต่อการที่รัสเซียดำเนินการขับเคลื่อนทางยุทธศาสตร์โดยมุ่งหน้าไปทางเวียดนาม

**หมีขาวหวังพึ่งการเติบโตของจีนมาช่วยให้เศรษฐกิจรัสเซียวิ่งฉิว**

เมื่อพิจารณาจากสภาวะของระบบการเมืองในประเทศทั้งสองแล้ว รัสเซียกับจีนดูจะมีความจำเป็นที่จะต้องจัดให้ผู้นำในระดับสูงสุดได้แลกเปลี่ยนทัศนะกันอย่างตรงไปตรงมาและฉันมิตรกันเป็นระยะๆ ตามช่วงเวลาที่กำหนด ทั้งนี้ต้องยอมรับว่าความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศในช่วงหลังๆ นี้กำลังอยู่ในลักษณะของ “ที่ราบสูง” นั่นคือหลังจากยกระดับดีขึ้นมาอยู่ระยะหนึ่ง จากนั้นก็กลับกลายเป็นความราบเรียบที่ไม่มีอะไรน่าตื่นใจ ดังที่พวกนักวิจารณ์ตามสื่อมวลชนของฝ่ายจีนตั้งข้อสังเกตว่า ฝ่ายรัสเซียดูมีท่าทีเฉยเมยไม่สนใจในเรื่องการปรับปรุงยกระดับสายสัมพันธ์เสียแล้ว

รัสเซียนั้นยังคงแสดงท่าทีวางตัวเป็นกลางในกรณีที่จีนทะเลาะเบาะแว้งกับญี่ปุ่นเวลานี้ พวกชนชั้นนำทางด้านนโยบายการต่างประเทศในมอสโก ยังคงจับจ้องสายตาของพวกเขาตรึงแน่นอยู่ที่สายสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียกับยุโรปและสหรัฐอเมริกา อย่างที่ ฟิโอดอร์ ลุคยานอฟ (Fyodor Lukyanov) ผู้เชี่ยวชาญคนสำคัญของมอสโกกล่าวเอาไว้ว่า “สำหรับรัสเซียแล้ว เป็นเรื่องสำคัญมากๆ ที่จะต้องหาวิธีการเพื่อการสร้างความสมดุล จีนนั้นมีสำคัญมากก็จริง ทว่าจีนก็ไม่ใช่เป็นหุ้นส่วนเพียงรายเดียว (ของรัสเซีย) เท่านั้น”

แน่นอนทีเดียวว่า วังเครมลินจะต้องหาทางอาศัย “ไชน่า คอนเนคชั่น” (China connection) ของตน มาเป็นหมากต่อรองในเวลาทำการเจรจากับฝ่ายตะวันตก เพื่อให้ฝ่ายหลังโอนอ่อนผ่อนตามผลประโยชน์ของฝ่ายรัสเซีย และให้ความร่วมมือเพื่อให้แดนหมีขาวสามารถทำตามความมุ่งมาดปรารถนาของตนในการสร้างระบบเศรษฐกิจแบบเน้นหนักนวัตกรรมขึ้นมา

มันเป็นการเริงระบำทางการทูตที่แสนจะละเอียดอ่อนจริงๆ เนื่องจากพร้อมๆ กันนั้น เศรษฐกิจรัสเซียยังจำเป็นที่จะต้องต่อท่อเข้าไปอยู่ในความเจริญเติบโตของจีนให้ได้อีกด้วย ในเมื่อแดนมังกรกำลังก้าวผงาดขึ้นในฐานะมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ ระหว่างการเจรจาหารือกันในกรุงมอสโกคราวนี้ ปูตินบอกกับสีว่า เขาต้องการให้รัสเซียสามารถพึ่งพาอาศัยการขยายตัวทางเศรษฐกิจของแดนมังกร มาทำให้เศรษฐกิจของแดนหมีขาวเองแล่นฉิว โดยสิ่งที่จะกระทำได้ในอนาคตเพื่อมุ่งไปสู่ทิศทางดังกล่าวนี้ ก็คือการที่รัสเซียจัดส่งน้ำมัน, ก๊าซธรรมชาติ, และถ่านหิน ไปให้จีนเพิ่มขึ้นอย่างมากมายมโหฬาร

รัฐวิสาหกิจรอสเนฟต์ (Rosneft) ของรัสเซีย วางแผนการจะส่งน้ำมันให้จีนเพิ่มขึ้นเป็น 3 เท่าตัวของระดับปัจจุบันซึ่งอยู่ที่ 300,000 บาร์เรลต่อวัน หากทำได้เช่นนั้นจริงๆ ก็จะทำให้แดนหมีขาวเป็นซัปพลายเออร์ส่งน้ำมันในปริมาณใกล้เคียงกับที่ซาอุดีอาระเบียส่งให้แดนมังกรอยู่ในเวลานี้

ข้อตกลงมูลค่า 3 ล้านล้านดอลลาร์ในเรื่องการส่งก๊าซธรรมชาติของรัสเซียไปยังตลาดจีน ซึ่งเนิ่นช้ากันมานานแล้ว ก็กำลังทำท่าใกล้จะบรรลุข้อสรุปกันได้เช่นเดียวกัน ถ้าหากสามารถตกลงกันได้อย่างชนิดผ่านฉลุยภายในสิ้นปีนี้ตามที่มีสัญญาณบ่งชี้ให้เห็นอยู่ในปัจจุบันแล้ว เริ่มต้นตั้งแต่ปี 2018 เป็นต้นไป รัฐวิสาหกิจกาซปรอม (Gazprom) ของรัสเซียก็จะจัดส่งก๊าซให้จีนเป็นจำนวน 38,000 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปีตลอดระยะเวลา 30 ปีข้างหน้า โดยที่มีออปชั่นว่าอาจจะขยายการส่งมอบเป็น 60,000 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปีทีเดียว

แต่การที่ข้อตกลงอันสลับซับซ้อนยิ่งนี้ ทำท่าว่าจะสามารถคลี่คลายบรรลุข้อสรุปได้เสียที ภายหลังการเจรจาต่อรองอันยืดเยื้อกินเวลายาวนานกว่า 5 ปีแล้ว ก็เป็นเครื่องสะท้อนให้เห็นได้เป็นอย่างดี ถึงท่าทีแบบไร้อารมณ์ความรู้สึกและมุ่งคำนึงแต่ผลทางธุรกิจลูกเดียวของฝ่ายหมีขาว

เอ็ม เค ภัทรกุมาร รับราชการเป็นนักการทูตอยู่ในกระทรวงการต่างประเทศอินเดียมาเป็นเวลากว่า 29 ปี โดยได้รับแต่งตั้งให้ไปรับตำแหน่งประจำอยู่ในประเทศต่างๆ หลายประเทศ เป็นต้นว่า เอกอัครราชทูตอินเดียประจำอุซเบกิสถาน (ปี 1995-1998) และเอกอัครราชทูตอินเดียประจำตุรกี (1998-2001)

(อ่านต่อตอน 2 ซึ่งเป็นตอนจบ)
กำลังโหลดความคิดเห็น