xs
xsm
sm
md
lg

‘สีจิ้นผิง’เยือน‘มอสโก’อาจเร่งข้อตกลงก๊าซรัสเซีย-จีน

เผยแพร่:   โดย: เซียร์กี บลากอฟ

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Xi may hold key to Moscow gas goals
By Sergie Blagov
12/03/2013

การที่ทั้งสองฝ่ายยังตกลงกันไม่ได้เสียทีในเรื่องราคา คืออุปสรรคซึ่งขวางกั้นแผนการทั้งหลายแหล่ของรัสเซียที่ต้องการเพิ่มขยายปริมาณการขนส่งก๊าซและน้ำมันไปขายให้แก่จีน ขณะที่การเดินทางไปเยือนกรุงมอสโกของผู้นำจีน สี จิ้นผิง ในช่วงปลายเดือนมีนาคมนี้ อาจจะนำเอาแรงโมเมนตัมใหม่ๆ บางอย่างเข้าสู่การเจรจาต่อรองกัน ทว่าจากการที่โครงการวางสายท่อส่งก๊าซและน้ำมันต่างๆ ได้ถูกเลื่อนถูกชะลอกันไปหลายปีเต็มทีแล้ว ทั้งสองฝ่ายจึงคงไม่ได้ตั้งความคาดหวังอะไรมากมายนัก

รองนายกรัฐมนตรี อาร์คาดืย์ ดวอร์โควิช (Arkady Dvorkovich) ของรัสเซีย เดินทางไปยังจีนเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เพื่อเข้าร่วมการประชุมครั้งแรกของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยความร่วมมือทางด้านพลังงานรัสเซีย-จีน (Russia-China Intergovernmental Commission on Energy Cooperation) คณะกรรมการชุดนี้เพิ่งจัดตั้งขึ้นในเดือนเดือนธันวาคม 2012 เพื่อแทนที่กลไกเดิมที่เรียกว่า การสนทนาด้านพลังงานรัสเซีย-จีน (Russia-China energy dialogue)

ดวอร์โควิช ได้พบปะหารือกับรองนายกรัฐมนตรี หวัง ฉีซาน (Wang Qishan) ของจีน โดยที่มีการเจรจากันเรื่องสายสัมพันธ์ต่างๆ ในภาคน้ำมัน, ก๊าซ, ไฟฟ้า, และพลังงานนิวเคลียร์ ดวอร์โควิชยังกล่าวย้ำว่า พวกเจ้าหน้าที่รับผิดชอบต่างๆ ของฝ่ายรัสเซียกำลังตระเตรียมการสำหรับต้อนรับการเดินทางเยือนมอสโกของ สี จิ้นผิง ผู้นำคนใหม่ของจีน ซึ่งวางกำหนดเวลาไว้ในช่วงปลายเดือนมีนาคมนี้
ภายหลังการหารือกับเจ้าหน้าที่ต่างๆ ของจีนแล้ว ดวอร์โควิชแถลงว่า รอสเนฟต์ (Rosneft) รัฐวิสาหกิจน้ำมันยักษ์ใหญ่ของรัสเซีย มีจุดมุ่งหมายที่จะเพิ่มการลำเลียงขนส่งน้ำมันดิบไปขายให้จีน ทั้งนี้ อีกอร์ เซชิน (Igor Sechin) ประธานกรรมการบริหารของรอสเนฟต์ ได้ไปเยือนจีนก่อนแล้วในช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ และบรรลุ “ข้อตกลงเชิงยุทธศาสตร์ในหลายๆ เรื่อง” แต่ก็ดังที่ ดวอร์โควิช ตั้งข้อสังเกตเอาไว้ว่า เป็นที่คาดหมายกันว่าตัวสัญญาจริงๆ นั้นยังจะต้องใช้เวลาอีกหลายๆ เดือนจากนี้ไป

รัสเซียได้เริ่มลำเลียงขนส่งน้ำมันดิบไปให้แก่จีนโดยผ่านท่อส่งน้ำมันสายไซบีเรียตะวันออก-มหาสมุทรแปซิฟิก (East Siberia-Pacific Ocean (ESPO) pipeline) เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2011 โดยตามข้อตกลงที่ทำกันไว้ในปี 2009 รอสเนฟต์ และ ตรานสเนฟต์ (Transneft) ให้สัญญาที่จะส่งน้ำมันดิบปีละ 15 ล้านตันไปให้จีนเป็นเวลา 20 ปี เพื่อแลกเปลี่ยนกับการที่จีนปล่อยเงินกู้ให้เป็นจำนวนรวมทั้งสิ้น 25,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ระหว่างการเยือนปักกิ่งตอนสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ของเขาคราวนี้ ดวอร์โควิช ยังระบุด้วยว่า “ข้อตกลงพื้นฐานต่างๆ” เกี่ยวกับการลำเลียงขนส่งก๊าซของรัสเซียไปให้แก่จีน น่าจะออกมาได้ภายในสิ้นเดือนมีนาคมนี้ แล้วจากนั้นคงจะต้องใช้เวลาอีก “หลายๆ เดือน” เพื่อตกลงกันเกี่ยวกับเงื่อนไขต่างๆ ของสัญญาฉบับจริง

เท่าที่ผ่านมา แผนการทั้งหลายของ กาซปรอม (Gazprom) รัฐวิสาหกิจยักษ์ใหญ่ด้านก๊าซธรรมชาติของรัสเซีย ที่จะก่อสร้างท่อส่งก๊าซหลายๆ สายไปยังประเทศจีน ล้วนแต่ประสบภาวะชะงักงันมาหลายปีแล้ว ในขณะที่ทั้งสองฝ่ายยังคงเจรจาต่อรองกันไม่ลงตัวในเรื่องเกี่ยวกับราคาก๊าซ ครั้งแรกสุดเลยที่มอสโกให้คำมั่นที่จะส่งออกก๊าซรัสเซียไปขายให้จีนก็คือในปี 2006 โดยที่จะส่งผ่านท่อส่งสายอัลไต (Altai pipeline) ความยาว 6,700 กิโลเมตร ทั้งนี้ในเดือนมีนาคม 2006 กาซปรอม กับ บริษัทน้ำมันปิโตรเลียมแห่งชาติของจีน (Chinese National Petroleum Company หรือ CNPC) ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจของฝ่ายแดนมังกร ได้ลงนามกันในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการส่งก๊าซธรรมชาติของรัสเซียไปให้จีนตั้งแต่ปี 2011

กาซปรอมวางแผนการส่งก๊าซ 30,000 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปีไปให้จีนโดยฝ่ายท่อส่งสายตะวันตก และอีก 38,000 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปีไปทางสายตะวันออก ตอนแรกๆ กาซปรอมเสนอที่จะส่งก๊าซขายให้จีนในระดับราคาเดียวกับราคาทางยุโรป ทว่า CNPC ยืนยันว่าควรได้ราคาที่ต่ำกว่านั้น และการไม่สามารถตกลงกันได้ในเรื่องนี้นี่เองได้ส่งผลให้มีการมีเลื่อนแผนการออกไปเรื่อยๆ

ในเดือนตุลาคม 2009 กาซปรอม กับ CNPC เซ็นข้อตกลงแม่บทว่าด้วยการส่งก๊าซฉบับหนึ่ง ซึ่งมีการระบุถึงการก่อสร้างสายท่อส่งก๊าซด้วย รัฐวิสาหกิจยักษ์ใหญ่ด้านพลังงานของทั้ง 2 ประเทศเห็นพ้องกันในหลักการว่า ก๊าซที่รัสเซียจะส่งมาขายให้จีนควรกำหนดราคาอยู่เท่าใดนั้น จะให้เชื่อมโยงอิงอยู่กับ “ตะกร้าราคาน้ำมันชนิดต่างๆ ของเอเชีย”

ถึงเดือนเมษายน 2011 ดมิตริ เมดเวเดฟ (Dmitry Medvedev) ซึ่งเวลานั้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของรัสเซีย ได้กล่าวแสดงความหวังว่ามอสโกกับปักกิ่งจะสามารถตกลงกันได้ในเร็ววันเกี่ยวกับราคาก๊าซรัสเซียที่จะจัดส่งให้จีน แต่แล้วทั้งสองฝ่ายก็ยังคงตกลงกันไม่ได้ อย่างไรก็ดี เมื่อถึงเดือนตุลาคม 2011 วลาดิมีร์ ปูติน (Vladimir Putin) ที่ขณะนั้นนั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีแดนหมีขาว แถลงว่าการเจรจาหารือระดับทวิภาคีเกี่ยวกับเงื่อนไขต่างๆ ของก๊าซรัสเซียที่จะจัดส่งไปให้จีนนั้น “กำลังใกล้ที่จะเสร็จสิ้นสมบูรณ์แล้ว” ทั้งนี้ พวกเจ้าหน้าที่ฝ่ายรัสเซียได้เคยแสดงความหวังเอาไว้ก่อนหน้านี้ว่า ข้อตกลงสุดท้ายว่าด้วยราคาก๊าซจะสามารถบรรลุได้ในเดือนมิถุนายน 2009 และการส่งก๊าซจะเริ่มต้นได้ในปี 2014-2015 ซึ่งความเป็นจริงที่ปรากฏออกมาก็มิได้เป็นไปดังที่พวกเขาวาดหวัง

ภายหลังจากดวอร์โควิชเดินทางเยือนจีนเที่ยวล่าสุดแล้ว รอสซีอิสคายา กาเซตา (Rossiiskaya Gazeta) หนังสือพิมพ์รายวันของทางการรัสเซียยังคงเสนอรายงานข่าวในลักษณะโต้แย้งว่า แท้ที่จริงแล้ว รัฐบาลจีนได้แสดงความสนใจที่จะนำเข้าก๊าซจากรัสเซียในรูปของก๊าซธรรมชาติเหลว (liquefied natural gas หรือ LNG) รวมทั้งการนำเข้าผ่านทางโครงการตะวันออกไกล (Far Eastern project) และโครงการยามัล (Yamal project) หนังสือพิมพ์ฉบับนี้ชี้ด้วยว่า หากเป็นช่องทางนี้แล้ว พวกซัปพลายเออร์ของรัสเซียก็สามารถเสนอราคาขายก๊าซซึ่งแข่งขันกับคนอื่นๆ ได้

ในสภาพที่อุปสงค์ความต้องการก๊าซของทั้งภายในรัสเซียเองและของยุโรปกำลังลดต่ำลง กาซปรอมจึงเหลือเพียงพวกโครงการในส่วนสายตะวันออกเท่านั้นที่มีศักยภาพจะนำมาเป็นแรงขับดันสร้างความเจริญเติบโตให้แก่ตนเองได้ สำนักข่าวฟินัม (Finam news agency) เสนอความคิดเห็นเอาไว้เช่นนี้ พร้อมกับวิจารณ์ต่อไปว่า แต่สัญญาที่กาซปรอมวางแผนทำกับ CNPC เพื่อส่งก๊าซไปทางสายตะวันออกในปริมาณ 38,000 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปีนี้ คาดหมายกันว่ากว่าจะทำเสร็จสิ้นสมบูรณ์ได้ก็คงถึงช่วงสิ้นปี 2013 นี้แล้ว และการส่งก๊าซจริงๆ กว่าจะเริ่มขึ้นได้ต้องถึงปี 2017 นั่นแหละ (สำนักข่าวฟินัม, 28 กุมภาพันธ์)

อย่างไรก็ตาม ในขณะที่จีนกับรัสเซียยังคงต้องใช้ความพยายามอย่างหนักหน่วงเพื่อทำความตกลงเกี่ยวกับราคาพลังงานกันให้ได้อยู่นี้ ทั้งสองประเทศกลับมีความคาดหวังร่วมกันว่าจะสามารถเพิ่มพูนการค้าระหว่างแดนมังกรกับแดนหมีขาวได้อย่างน่าประทับใจ พวกผู้เชี่ยวชาญของจีนประมาณการว่า การค้าทวิภาคีของประเทศทั้งสองสามารถทะลุเลยหลัก 100,000 ล้านดอลลาร์ได้ในปี 2013 นี้ โดยที่ตามตัวเลขสถิติของจีนนั้น ในปี 2012 ที่ผ่านมา การค้าระหว่างจีนกับรัสเซียขึ้นไปถึงระดับ 88,100 ล้านดอลลาร์แล้ว ตัวเลขนี้ถือว่าพุ่งพรวดลิบลิ่วทีเดียว เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2009 ซึ่งเป็นช่วงที่ลงไปสู่จุดต่ำสุดที่ระดับ 38,800 ล้านดอลลาร์ สืบเนื่องจากวิกฤตภาคการเงินของโลก

ในเดือนมิถุนายน 2011 เมดเวเดฟประกาศให้คำมั่นว่าจะเพิ่มการค้าระดับทวิภาคีนี้ให้ขึ้นสู่หลัก 100,000 ล้านดอลลาร์ต่อปีภายในปี 2015 และขึ้นไปเป็น 200,000 ล้านดอลลาร์ต่อปีภายในปี 2020

ยิ่งกว่านั้น สายสัมพันธ์ทางด้านการลงทุนระหว่างรัสเซียกับจีนก็มีความคืบหน้าไปเร็วมาก ในปี 2012 ความร่วมมือทางด้านการลงทุนระหว่างรัสเซียกับจีนอยู่ในปริมาณเท่ากับ 4,100 ล้านดอลลาร์ หรือเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 118% ทั้งนี้ตามตัวเลขสถิติของฝ่ายจีน

ในปี 2012 รัสเซียยังเพิ่มการส่งออกกระแสไฟฟ้าไปยังจีนอีกด้วย โดยส่งให้ในปริมาณ 2,630 ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมง (kWh) กระนั้นก็ตาม พวกเจ้าหน้าที่จีนได้ร้องเรียนครั้งแล้วครั้งเล่าว่า ซัปพลายเออร์ชาวรัสเซียยืนกรานเรียกร้องราคาค่ากระแสไฟฟ้าที่สูงเกินสมควรอยู่เสมอ

แผนการต่างๆ ที่รัสเซียจัดทำเอาไว้ในช่วงปีหลังๆ นี้เพื่อเพิ่มพูนขยายการค้าทวิภาคีกับจีนนั้น ต่างมีการจัดลำดับความสำคัญเอาไว้ให้แก่เรื่องการขนส่งพลังงานไปยังแดนมังกร ดังนั้น ความพยายามที่จะเพิ่มปริมาณการค้าทวิภาคีให้ดำเนินต่อเนื่องไปอีก จึงอาจจะประสบอุปสรรคขัดขวางที่สำคัญ จากการที่ประเทศทั้งสองไม่สามารถเห็นพ้องต้องกันได้เกี่ยวกับราคาก๊าซธรรมชาติ

การเดินทางไปเยือนรัสเซียอย่างเป็นรัฐพิธีของ สี จิ้นผิง ผู้นำจีนคนใหม่ซึ่งกำหนดเอาไว้ในช่วงปลายเดือนมีนาคมนี้ อาจจะนำเอาแรงโมเมนตัมใหม่ๆ บางอย่างเข้าสู่การเจรจาต่อรองกัน ทว่าจากการที่โครงการวางสายท่อส่งก๊าซและน้ำมันต่างๆ ได้ถูกเลื่อนถูกชะลอกันไปหลายปีเต็มที ตลอดจนข้อตกลงด้านพลังงานทั้งหลายก็ทำกันไม่แล้วเสร็จ เหล่านี้น่าจะทำให้ทั้งสองฝ่ายไม่ตั้งความคาดหวังอะไรมากมายนัก

ก่อนที่จะมาทำงานเป็นนักวิจัยและนักหนังสือพิมพ์อิสระโดยใช้มอสโกเป็นฐานดังในปัจจุบันนั้น ดร.เซียร์กี บลากอฟ เคยเป็นผู้สื่อข่าวประจำสำนักข่าวแห่งหนึ่ง และได้ทำหน้าที่รายงานข่าวจากกรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม รวมแล้วเป็นเวลาเกือบ 7 ปี ในหลายๆ ช่วงระหว่างปี 1983 ถึง 1997
(ข้อเขียนชิ้นนี้เผยแพร่ครั้งแรกใน The Jamestown Foundation)
กำลังโหลดความคิดเห็น