xs
xsm
sm
md
lg

IMF ปรับลดแนวโน้มเติบโต ศก.โลก ชี้เหตุ US ตัดงบ-วิกฤตยูโรโซนเรื้อรัง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เอเจนซีส์ - ไอเอ็มเอฟลดตัวเลขคาดการณ์เศรษฐกิจโลกทั้งปีนี้และปีหน้า สืบเนื่องจากการลดการใช้จ่ายก้อนใหญ่ของอเมริกา และวิกฤตยูโรโซนที่ยังคงเรื้อรัง ขณะที่เอเชียนั้นมีทั้งข่าวดีและข่าวร้าย กล่าวคือขาใหญ่อย่างจีนมีแนวโน้มเติบโตชะลอตัว ตรงข้ามกับเศรษฐกิจญี่ปุ่นและอินเดียที่เริ่มฟื้นตัวชัดเจนขึ้น ส่วนเอเชียอาคเนย์ขยายตัวลดลงจากปีที่แล้วเล็กน้อย

วันอังคาร (16) กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ได้เผยแพร่รายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลก (World Economic Outlook) ฉบับล่าสุด ซึ่งประเมินว่าเศรษฐกิจโลกในปีนี้จะขยายตัว 3.3% จากที่คาดการณ์ไว้ 3.5% เมื่อเดือนมกราคม และเทียบกับอัตราเติบโต 3.2% ในปีที่ผ่านมา โดยปัจจัยที่ทำให้ไอเอ็มเอฟลดตัวเลขคาดการณ์ลงคือ การขยายตัวต่ำกว่าคาดในสหรัฐฯ และภาวะซบเซาเรื้อรังในยูโรโซน

แม้มีสัญญาณแง่บวกบางอย่าง ทว่า โอลิวิเยร์ บลองชาร์ด หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของไอเอ็มเอฟเตือนว่า ความเสี่ยงระยะสั้นยังคงมีอยู่ โดยเฉพาะในยูโรโซน ที่เพิ่งมีการอัดฉีดไซปรัส และเศรษฐกิจที่อ่อนแอของอิตาลีอาจทรุดลงรอบใหม่

รายงานของไอเอ็มเอฟระบุว่า แนวโน้มเศรษฐกิจโลกมีการปรับตัวอีกครั้ง แต่เส้นทางการฟื้นตัวยังเต็มไปด้วยอุปสรรค ในระยะกลาง ปัจจัยเสี่ยงสำคัญเกี่ยวข้องกับความล้าในการปรับตัว การปรับโครงสร้างสถาบันที่ยังไม่เพียงพอ และภาวะตกต่ำยาวนานในยูโรโซน ตลอดจนยอดขาดดุลการคลังและหนี้สูงในสหรัฐฯ และญี่ปุ่น

สำหรับปีหน้า ไอเอ็มเอฟคงตัวเลขคาดการณ์เศรษฐกิจโลกที่ 4% ภายใต้สมมติฐานว่า ผู้วางนโยบายสามารถป้องกันไม่ให้เศรษฐกิจตกต่ำลง และปฏิบัติภารกิจได้ตามเป้าหมาย

โดยรวมแล้ว แนวโน้มในปีนี้ดีกว่าเมื่อปีที่แล้วที่ภัยคุกคามระยะสั้นสำคัญที่สุดได้รับการแก้ไข นั่นคือแนวโน้มยูโรโซนแตก และการหดตัวรุนแรงในอเมริกาจากปัญหาการตัดงบประมาณครั้งใหญ่และการขึ้นภาษี

กระนั้น เศรษฐกิจแดนอินทรีในปีนี้ถูกคาดหมายว่า จะขยายตัวเพียง 1.9% อันเป็นผลจาการลดงบประมาณรายจ่ายสูงเกินคาดของรัฐบาล ส่วนยูโรโซนมีแนวโน้มหดตัว 0.3% โดยภัยคุกคามเฉพาะหน้าคือความไม่แน่นอนในไซปรัส และการเมืองในอิตาลี ตลอดจนความอ่อนแอของพวกรัฐสมาชิกรอบนอก

ตรงข้ามกับญี่ปุ่นที่ได้รับการปรับเพิ่มตัวเลขเศรษฐกิจจาก 1.2% เป็น 1.6% หลังจากธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) ประกาศแผนกระตุ้นครั้งใหญ่เพื่อพลิกฟื้นเศรษฐกิจ อันจะทำให้ราคาผู้บริโภคขยับขึ้น 0.1% ในปีนี้ และ 3% ในปีหน้า จาก 0.0% ในปี 2012

อย่างไรก็ดี ไอเอ็มเอฟเตือนว่ามาตรการดังกล่าวจะทำให้ภาระหนี้สาธารณะแดนปลาดิบที่สูงลิบอยู่แล้วยิ่งหนักหนาขึ้น และเป็นประเด็นที่น่าเป็นห่วง เว้นแต่โตเกียวมีแผนลดหนี้ รวมทั้งควรมีการกำหนดเป้าหมายการเติบโตที่เข้มแข็ง และการปฏิรูปการคลังเพื่อให้มั่นใจในการฟื้นตัวอย่างยั่งยืน

ต่อข้อถามเกี่ยวกับการอ่อนยวบของเงินเยน บลองชาร์ดมองว่า นโยบายการเงินของญี่ปุ่นมีความเหมาะสม พร้อมยืนยันว่า ไม่พบการเบี่ยงเบนรุนแรงของสกุลเงินหลักๆ รวมทั้งระบุว่า “สงครามค่าเงิน” เป็นการกล่าวเกินจริง

ไอเอ็มเอฟระบุว่าอนุภูมิภาค ซับ-ซาฮารา ในแอฟริกา ยังคงได้แรงหนุนจากความต้องการบริโภคภายในประเทศ และเศรษฐกิจมีแนวโน้มดีขึ้นหากการเติบโตในยูโรโซน อเมริกา และประเทศพัฒนาแล้วกระเตื้องขึ้น

ทว่า ตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือยังเผชิญปัญหาจากการปฏิรูปการเมือง อัตราเงินเฟ้อ และแรงกดดันในตลาดเงิน

สำหรับเอเชียนั้น รายงานคาดว่าจะขยายตัวราว 5.75% ในปีนี้ ส่วนหนึ่งได้แรงส่งจากการฟื้นตัวของดีมานด์นอกภูมิภาค การบริโภคที่แข็งแกร่ง และการลงทุนภายใน กระนั้น ยังควรระมัดระวังความเสี่ยงจากทั้งภายในและภายนอก

“หากเศรษฐกิจโลกชะลอตัวรุนแรง ดีมานด์ภายนอกที่ตกต่ำจะฉุดรั้งเศรษฐกิจของประเทศส่วนใหญ่ในเอเชีย”

รายงานยังระบุความเสี่ยงจากความไร้สมดุลด้านการเงินและราคาสินทรัพย์ขาขึ้น รวมทั้งเตือนแนวโน้มการหยุดชะงักทางการค้าจากข้อพิพาทด้านดินแดน ซึ่งเป็นการพาดพิงโดยตรงถึงการงัดข้อระหว่างจีนกับญี่ปุ่น และกับบางประเทศในเอเชียอาคเนย์ในขณะนี้

สำหรับจีน ประเทศเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดของเอเชีย ไอเอ็มเอฟปรับลดอัตราเติบโตในปีนี้ลงอยู่ที่ 8% จาก 8.2% ที่คาดไว้ในเดือนมกราคม โดยไม่ได้ให้เหตุผลใดๆ เพียงแต่ระบุว่า จะมีการฟื้นตัวเล็กน้อยจากอัตราเติบโต 7.8% ในปีที่ผ่านมา จากดีมานด์ภายในที่แข็งแกร่งทั้งด้านการบริโภคและการลงทุน เช่นเดียวกับดีมานด์ภายนอกที่เริ่มฟื้นตัว

ทั้งนี้ เมื่อวันจันทร์ ปักกิ่งเพิ่งเปิดเผยว่า อัตราเติบโตในไตรมาสแรกปีนี้อยู่ที่ 7.7% ซึ่งนอกจากลดลงอย่างน่าประหลาดใจแล้วยังต่ำกว่าความคาดหมาย กระตุ้นความกังวลว่า การฟื้นตัวเมื่อเร็วๆ นี้กำลังจะอ่อนแรงลง

ไอเอ็มเอฟยังลดแนวโน้มการเติบโตของจีนในปีหน้าจาก 8.5% เหลือ 8.2%

สำหรับอินเดีย ประเทศเศรษฐกิจอันดับ 3 ของเอเชียถูกคาดหมายว่า เศรษฐกิจจะรุดหน้าจาก 4% ในปีที่ผ่านมา เป็น 5.75% และ 6.2% ในปีนี้และปีหน้าตามลำดับ อันเป็นผลจากดีมานด์ภายนอกที่แข็งแกร่งและมาตรการส่งเสริมการเติบโตของรัฐบาล

ส่วน 5 ประเทศใหญ่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ไทย เวียดนาม และมาเลเซียนั้น ถูกคาดหมายว่าจะมีการเติบโต 5.9% ในปีนี้ หรือลดลงเล็กน้อยจาก 6.1% ในปี 2012
กำลังโหลดความคิดเห็น