xs
xsm
sm
md
lg

นโยบายแบงก์ชาติญี่ปุ่นยุคใหม่กร้าวได้ใจ อัดฉีดเต็มที่-2ปีดันเงินเฟ้อขึ้น2%

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศญี่ปุ่น (บีโอเจ)
เอเจนซีส์ - ทีมบริหารชุดใหม่ของธนาคารกลางญี่ปุ่น ช็อกตลาดด้วยการยกเครื่องเปลี่ยนแปลงนโยบายการเงินครั้งใหญ่ โดยเดินหน้ามาตรการผ่อนคลายทางการเงินเชิงรุก ซึ่งมีเป้าหมายในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจและยุติภาวะเงินฝืดที่เรื้อรังมา 2 ทศวรรษ

ภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินเป็นเวลา 2 วันที่เสร็จสิ้นในวันพฤหัสบดี (4) ธนาคารแห่งประเทศญี่ปุ่น (บีโอเจ) แถลงว่า จะเริ่มใช้โปรแกรมการซื้อสินทรัพย์เชิงรุก พร้อมให้คำมั่นในการบรรลุเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อ 2% ภายใน 2 ปี เพื่อยุติปัญหาราคาผู้บริโภคตกต่ำมาราธอน

แผนการรับซื้อของบีโอเจคราวนี้ขยายครอบคลุมไปถึงพวกสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงมากขึ้นกว่าเดิม เช่น กองทุนรวมประเภท ETF (exchange-traded funds) และกองทุนทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (real-estate investment trusts) นอกจากนี้ แบงก์ชาติแดนปลาดิบยังจะเข้าซื้อพันธบัตรระยะยาวของรัฐบาลในระดับเดือนละกว่า 7 ล้านล้านเยน (75,000 ล้านดอลลาร์) ภายใต้เป้าหมายในการดึงอัตราดอกเบี้ยระยะยาวให้ลดลง เพื่อส่งเสริมการกู้ยืมในหมู่บริษัทและในบรรดาผู้บริโภค

บีโอเจแจงว่า จุดประสงค์ของการดำเนินมาตรการผ่อนคลายทางการเงินเหล่านี้ ก็เพราะต้องการที่จะเพิ่มพูน “ฐานการเงิน” ซึ่งก็คือปริมาณเงินที่หมุนเวียนในตลาดโดยรวมถึงเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ที่อยู่ในทุนสำรองของแบงก์ชาติ โดยจะให้เพิ่มขึ้นไปอีกราว 60,000-70,000 ล้านล้านเยน (645,000-755,000 ล้านดอลลาร์) ต่อปี เพื่อกระตุ้นอัตราเงินเฟ้อ ทั้งนี้วางเป้าไว้ว่าจะไปถึงระดับ 270 ล้านล้านเยนภายในสิ้นปี 2014

ฮารูนิโกะ คุโรดะ ที่เข้ารับตำแหน่งผู้ว่าการบีโอเจเมื่อปลายเดือนที่แล้ว ย้ำมาตลอดว่าต้องดำเนินมาตรการอันเข้มข้นเพื่อแก้ไขภาวะเงินฝืดที่เกาะกินเศรษฐกิจญี่ปุ่นมาถึง 2 ทศวรรษ ซึ่งถือว่า “ผิดปกติ” สำหรับประเทศพัฒนาแล้ว

ระหว่างการแถลงข่าวในวันพฤหัสบดี ภายหลังเข้าร่วมการประชุมนโยบายการเงินครั้งแรกในฐานะที่เป็นผู้ว่าการธนาคารกลางของเขา คุโรดะย้ำว่า บีโอเจยังพร้อมจะดำเนินการผ่อนคลายทางการเงินทั้งทางปริมาณและทางคุณภาพต่อไปอีก

ขณะที่ สึโยชิ ยูเอโนะ นักเศรษฐศาสตร์ของสถาบันวิจัยเอ็นแอลไอ เรียกความเคลื่อนไหวของบีโอเจครั้งนี้ว่าเป็น “การเปลี่ยนแปลงระบอบครั้งใหญ่ในด้านนโยบายการเงิน”

การเปลี่ยนแปลงระบอบดังกล่าวมีนายกรัฐมนตรีชินโสะ อาเบะ เป็นผู้บุกเบิก

ผู้นำอนุรักษนิยมผู้นี้ชนะการเลือกตั้งในเดือนธันวาคมที่ผ่านมาจากการให้คำมั่นกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ และยุติภาวะเงินฝืดที่บ่อนทำลายการใช้จ่ายของผู้บริโภคและการลงทุนของภาคธุรกิจ

อาเบะเลือกคุโรดะ ซึ่งเวลานั้นเป็นประธานธนาคารพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) เข้ากุมบังเหียนบีโอเจ โดยก่อนหน้านั้น คุโรดะได้เคยวิจารณ์ทีมบริหารบีโอเจชุดก่อนอย่างเปิดเผยว่า ขี้ขลาดเกินไปกระทั่งไม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้

บรรยากาศเช่นนี้ ทำให้เกิดความคาดหวังตั้งแต่ก่อนหน้านี้หลายสัปดาห์ ว่าการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินครั้งแรกภายใต้การกุมบังเหียนของคุโรดะ จะมีมาตรการต่างๆ ออกมาอย่างน่าตื่นใจ ถึงแม้พวกนักวิเคราะห์เตือนว่า บีโอเจโฉมใหม่อาจกำลังก่อให้เกิดความหวังสูงเกินจริง และมาตรการที่ออกมาอาจทำให้ตลาดผิดหวัง

ทว่า โยชิฮิโกะ ชิมามิเนะ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของสถาบันได-อิชิ ไลฟ์ มองว่า นโยบายล่าสุดของบีโอเจยังไปไกลกว่าที่ตลาดคาดไว้เสียอีก และคุโรดะแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า บีโอเจวันนี้แตกต่างจากในอดีต

นอกจากนั้น เป็นที่น่าสังเกตว่า บอร์ดบีโอเจลงมติรับนโยบายใหม่เป็นเอกฉันท์ บ่งชี้การเริ่มต้นอย่างสวยงามของคุโรดะในการเปลี่ยนแปลงสู่มาตรการผ่อนคลายทางการเงินเชิงรุกมากขึ้น

แต่ขณะเดียวกัน ผู้สังเกตการณ์บางคนแสดงความกังวลว่า กลยุทธ์ใหม่นี้จะทำให้หนี้สาธารณะของญี่ปุ่นที่สูงที่สุดในบรรดาประเทศอุตสาหกรรม ยิ่งเพิ่มพูนขึ้นอีก

สำหรับปฏิกิริยาของตลาดการเงินนั้น ปรากฏว่าคำแถลงเกี่ยวกับมาตรการของบีโอเจคราวนี้ ได้ส่งผลให้เงินเยนอ่อนตัวลง โดยเมื่อเทียบกับดอลลาร์แล้ว เงินเยนอยู่ที่ 95.22 เยนต่อดอลลาร์ และเทียบกับยูโร ก็อยู่ที่ 122.18 เยน ส่งผลดีต่อผู้ส่งออกญี่ปุ่น

ส่วนทางด้านตลาดหุ้น การอ่อนตัวของเงินเยนได้ส่งผลให้ดัชนีนิกเกอิปิดวันพฤหัสบดีเพิ่มขึ้น 2.20% ถึงแม้อัตราแลกเปลี่ยนที่อ่อนลงอาจเรียกเสียงวิจารณ์จากต่างชาติว่า โตเกียวเจตนาให้เป็นเช่นนั้นเพื่อช่วยเหลือผู้ส่งออกก็ตาม
กำลังโหลดความคิดเห็น