xs
xsm
sm
md
lg

‘สีจิ้นผิง’กับ‘ปูติน’นอนเตียงเดียวกันแต่ฝันไปคนละอย่าง (ตอนจบ)

เผยแพร่:   โดย: เอ็ม เค ภัทรกุมาร

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Xi, Putin share bed, with their own dreams
By M K Bhadrakumar
12/04/2013

ประธานาธิบดีสี จิ้น ผิง ของจีน เดินทางไปเยือนรัสเซียเมื่อเร็วๆ นี้ ในช่วงเวลาที่ความเป็นหุ้นส่วนของสองประเทศกำลังทวีความสำคัญเพิ่มมากขึ้น จากการที่สหรัฐฯประกาศนโยบาย “ปรับสมดุลใหม่” เพื่อหันมาเน้นหนักอยู่ที่เอเชียยิ่งขึ้น มอสโกกับปักกิ่งนั้นมีผลประโยชน์ร่วมกันตลอดจนความคาดหวังเกี่ยวกับอนาคตซึ่งไปในทิศทางเดียวกันอย่างมากมายทีเดียว โดยมีไฮไลต์ในทางเศรษฐกิจอยู่ที่ข้อตกลงซื้อขายก๊าซหลายฉบับที่ยังคงรอการลงนามปิดท้าย อย่างไรก็ตาม ขณะที่ความฝันของหมีขาวและของมังกรดูเหมือนจะคล้ายคลึงกันอยู่ไม่ใช่น้อย ทว่าก็ไม่สามารถกล่าวได้ว่าพวกเขามีความฝันอย่างเดียวกัน

*ข้อเขียนนี้แบ่งเป็น 2 ตอน นี่คือตอนที่ 2 ซึ่งเป็นตอนจบ*

(ต่อจากตอนแรก)

รัสเซียนั้นมีท่าทียืนกรานเรื่อยมาว่าต้องการขายก๊าซให้จีนในระดับราคาเดียวกับที่กำลังได้จากพวกลูกค้าชาวยุโรป นั่นคือ ราวๆ 400 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อ 1,000 ลูกบาศก์เมตร ขณะที่ฝ่ายจีนก็ยืนยันว่าจะจ่ายให้เพียง 250 ดอลลาร์ต่อ 1,000 ลูกบาศก์เมตร แต่ปัญหาอุปสรรคใหญ่ที่เป็นตัวขวางกั้นการทำความตกลงเรื่องก๊าซระหว่างแดนหมีขาวกับแดนมังกร ไม่ได้มีเฉพาะแต่เรื่องราคาเท่านั้น ปัญหาอุปสรรคใหญ่ประการที่สองก็คือ รัสเซียกำลังเสนอจะลำเลียงก๊าซให้จีนจากบรรดาแหล่งก๊าซของตนที่อยู่ในบริเวณไซบีเรียตะวันออก (East Siberia) โดยผ่านสายท่อส่งก๊าซที่มีชื่อเรียกขานกันว่า สาย อัลไต (Altai) ทว่าจีนปรารถนาที่จะให้ลำเลียงมาทางสายตะวันออก ซึ่งระยะทางสั้นกว่ากันมาก อันหมายถึงว่าน่าจะลดต้นทุนการขนส่งลงไปได้อีก

มาถึงตอนนี้รัสเซียยอมรับข้อเสนอของฝ่ายจีนในเรื่องการจัดส่งก๊าซให้โดยผ่านสายตะวันออก ซึ่งต้องถือว่าเป็นการตัดสินใจที่คำนึงถึงผลในทางปฏิบัติ เนื่องจากความหวังของรัสเซียนั้นอยู่ที่การก้าวขึ้นมาเป็นซัปพลายเออร์ก๊าซที่สามารถเลือกส่งให้ลูกค้าทางยุโรปหรือลูกค้าทางเอเชียได้ตามแต่จะได้เงื่อนไขที่งามที่สุด ในอีกด้านหนึ่ง การใช้เส้นทางสายตะวันออกย่อมหมายความว่า ต้นทุนของก๊าซจะลดต่ำลงไปมาก และทำให้อยู่ในระดับใกล้เคียงขึ้นอีกเยอะกับราคาซึ่งฝ่ายจีนเสนอที่ 250 ดอลลาร์ต่อ 1,000 ลูกบาศก์เมตร

ขณะนี้มีสัญญาณบ่งชี้หลายๆ ประการว่า เพื่อที่จะลดช่วงห่างทางด้านราคาซึ่งยังเหลืออยู่ประมาณสัก 50 ดอลลาร์ต่อ 1,000 ลูกบาศก์เมตร ฝ่ายจีนอาจจะยินดีชำระเงินก้อนโตประมาณ 25,000 – 30,000 ล้านดอลลาร์ให้แก่บริษัทกาซปรอมของรัสเซียไปก่อนเลย แล้วค่อยมาหักบัญชีกันจากราคาก๊าซส่งออกของรัสเซียในเวลาต่อไป

กาซปรอมนั้นมีความจำเป็นอยู่แล้วที่จะต้องกู้เงินอย่างน้อยที่สุด 25,000 ล้านดอลลาร์จากพวกสถาบันการเงิน เพื่อนำมาเป็นเงินทุนใช้จ่ายของโครงการซึ่งในที่สุดจะมีการลำเลียงก๊าซส่งไปยังประเทศจีน ถ้าหากกาซปรอมตัดสินใจกู้ยืมจากตลาดเงิน รัฐวิสาหกิจแดนหมีขาวแห่งนี้ก็จะต้องจ่ายดอกเบี้ยด้วย ในขณะที่ถ้าจีนตัดสินใจให้เงินกู้เป็นค่าก๊าซล่วงหน้าดังกล่าวแบบไม่คิดดอกเบี้ยแล้ว เงินกู้จากแดนมังกรก็จะสามารถอุดช่วงห่างทางด้านราคาที่ยังมีอยู่ได้สำเร็จ ทั้งนี้ ข้อตกลงมูลค่ามหาศาลฉบับนี้ ถ้าหากสามารถเดินหน้าไปจนถึงเส้นชัยแล้ว ก็จะมีความสำคัญอยู่ในฐานะเป็นตัวเปลี่ยนเกม ในความเป็นหุ้นส่วนระหว่างรัสเซียกับจีนทีเดียว

ในเวลาเดียวกัน พวกสื่อภาครัฐของจีนยังรายงานว่า ระหว่างการเยือนของ สี รัสเซียกับจีนได้ลงนามในข้อตกลงซื้อขายอาวุธรวม 2 ฉบับคิดเป็นมูลค่าเกินกว่า 3,000 ล้านดอลลาร์ โดยที่จีนจะซื้อเครื่องบินขับไล่แบบ ซู-35 (Su-35) ของรัสเซียเป็นจำนวน 24 ลำ และเรือดำน้ำชั้น “ลาดา” (Lada) 4 ลำ เรือดำน้ำ 4 ลำนี้ทั้งสองประเทศจะร่วมกันออกแบบและร่วมกันต่อ โดยจะต่อในแต่ละประเทศๆ ละ 2 ลำ ข้อตกลงนี้มีความสำคัญในแง่ที่ว่า รัสเซียสามารถกลับมาขายอาวุธยุทโธปกรณ์ให้แก่จีนได้อีกคำรบหนึ่ง หลังจากเหินห่างมายาวนานถึง 10 ปี (ข่าวเรื่องรัสเซียตกลงขายเครื่องบินขับไล่และเรือดำน้ำให้จีนนี้ ยังค่อนข้างสับสน โดยนอกจากสื่อจีนรายงานข่าวแล้ว สื่อในรัสเซียเกือบทั้งหมดกลับเงียบกริบ และเพียงสำนักเดียวที่กล่าวถึงเรื่องนี้ ก็กลับเป็นการปฏิเสธว่ายังไม่ได้มีการลงนามสัญญาขายอาวุธใดๆ ทั้งสิ้น โปรดดูเรื่อง "แปลกแต่จริง.. สื่อรัสเซียสวนสื่อจีน 'ไม่มีการเซ็นซื้อขาย Su-35, เรือดำน้ำ'”, manager online, 26 มีนาคม 2013 หรือ http://www.manager.co.th/Around/ViewNews.aspx?NewsID=9560000036915 -ผู้แปล)

แน่นอนทีเดียวว่า รัสเซียกำลังมองหาหนทางเพิ่มพูนการส่งออกอาวุธยุทโธปกรณ์ไปยังจีน ซึ่งมีงบประมาณทางทหารก้อนมหึมา ขณะที่ในเวลาเดียวกันนั้น แดนหมีขาวก็มีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะรักษาอินเดียและเวียดนาม (ซี่งต่างก็มีความสัมพันธ์อันย่ำแย่กับประเทศจีน) ให้ยังคงเป็นลูกค้าอันมีค่าของตนต่อไป มันจึงเป็นเสมือนการเดินไต่ไปบนเส้นลวดที่ต้องใช้ความระมัดระวังเป็นอย่างยิ่ง ทว่าก็น่าจะคุ้มค่า เพราะการส่งออกอาวุธยุทโธปกรณ์นั้นเป็นธุรกิจที่ทำกำไรได้อย่างงดงามมาก

เรื่องที่ต้องถือว่ามีความสำคัญมากเช่นเดียวกัน ได้แก่การที่ สี กลายเป็นประมุขแห่งรัฐของต่างชาติรายแรกที่มีโอกาสได้เข้าไปเยือนกระทรวงกลาโหมรัสเซีย ตลอดจนศูนย์บัญชาการกองทัพรัสเซีย รวมทั้งกองกำลังขีปนาวุธทางยุทธศาสตร์ และกองทหารหน่วยรบพิเศษ อีกด้วย เป็นเรื่องที่น่าสนใจมากทีเดียว ที่การไปเยือนครั้งนี้จัดขึ้นมาตามคำแนะนำของปูติน โดยที่ทางฝ่ายจีนนั้น พล.อ.ฉาง ว่านฉวน รัฐมนตรีกลาโหม คือสมาชิกผู้หนึ่งที่อยู่ในคณะผู้ติดตามของ สีในคราวนี้

**ไม่ได้จับมือกันตั้งกลุ่ม-สหภาพ-พันธมิตร**

ในแถลงการณ์ร่วมที่ออกมาภายหลังสิ้นสุดการเยือนรัสเซียของ สี ครั้งนี้ เป็นที่ชัดเจนว่าได้มีการบรรจุถ้อยคำที่ไม่เคยใช้กันมาก่อน โดยเมื่อนำไปเปรียบเทียบกับคำประกาศภายหลังการหารือระดับสูงรัสเซีย-จีนครั้งที่ผ่านๆ มา ปรากฏว่าแถลงการณ์ร่วมคราวนี้ระบุว่า “ทั้งสองฝ่ายต่างจะถือว่า การพัฒนาความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์อันรอบด้าน ด้วยการร่วมมือกันกับทางอีกฝ่ายหนึ่งนั้น คือสิ่งที่มีลำดับความสำคัญสูงในทิศทางทางด้านนโยบายการต่างประเทศของตน” และจะ “หนุนหลังกันและกันอย่างเด็ดเดี่ยวในเรื่องผลประโยชน์แกนกลาง เพื่อพิทักษ์ปกป้องอธิปไตย, บูรณภาพแห่งดินแดน, และความมั่นคงของพวกเขา”

การมีจุดยืนร่วมกันในเรื่องนี้ สำหรับปักกิ่งแล้วย่อมเป็นสิ่งที่มีค่ายิ่งใหญ่มาก ในจังหวะเวลาที่จีนกำลังวิตกกังวลเรื่องความมั่นคงอย่างลึกซึ้ง ทั้งในเรื่องภัยคุกคามอันสืบเนื่องจากเกาหลีเหนือ, และกรณีพิพาทแย่งชิงกรรมสิทธิ์เหนือดินแดนกับญี่ปุ่นและเวียดนาม ซึ่งกำลังก่อให้เกิดความตึงเครียดขึ้นมาเรื่อยๆ โดยที่จีนเองยังมีความต้องการอย่างเหลือเกิน ให้รัสเซียช่วยเหลือในการถ่วงดุลนโยบาย “ปักหมุดที่เอเชีย” (pivot to Asia) ของสหรัฐฯ

การจับมือเป็นหุ้นส่วนอย่างแข็งแกร่งกับรัสเซีย จะทำให้จีนสามารถใช้ความยืดหยุ่นเพิ่มมากขึ้นในการรับมือกับความท้าทายทางการทูตต่างๆ หลายหลาก แต่กระนั้นการที่ สี ประกาศใช้ความพยายามเพื่อดึงดูดเกี้ยวพา ปูติน นั้น ไม่ได้หมายความว่าปักกิ่งจะดูหมิ่นดูแคลนและทอดทิ้งวอชิงตันแต่อยางใด

เห็นได้อย่างชัดเจนว่า ความเป็นหุ้นส่วนระหว่างจีนกับรัสเซีย มีลักษณะเป็นการร่วมมือประสานงานกันในทางยุทธวิธีเสียมากกว่า โดยที่แต่ละฝ่ายต่างมีวัตถุประสงค์ให้การกระชับความเป็นหุ้นส่วนนี้ เป็นการเพิ่มศักยภาพของตนเอง เพื่อที่จะได้ไปทำการเจรจาต่อรองกับสหรัฐฯด้วยจุดยืนที่เข้มแข็งขึ้นกว่าเดิม พูดไปแล้วก็เหมือนกับขัดแย้งกันเอง แต่ข้อเท็จจริงก็มีอยู่ว่า มันขึ้นอยู่กับสหรัฐฯอย่างสิ้นเชิง มันขึ้นอยู่กับการดำเนินนโยบายแบบชวนทะเลาะต่อยตีของสหรัฐฯนั่นเอง ที่ขับดันให้มหาอำนาจทั้งสองรายนี้เข้ามาร่วมมือสวมกอดกันอย่างกระชับแน่นมากขึ้น หรือกระทั่งอาจจะจับมือเป็นพันธมิตรกัน –ถึงแม้เรื่องหลังนี้ดูแล้วยังไม่น่าที่จะเกิดขึ้นมาได้ก็ตามที

เกี่ยวกับความหมายความสำคัญของการไปเยือนกรุงมอสโกในคราวนี้ของสี สำนักข่าวซินหวาของทางการจีน ได้ออกบทความซึ่งสรุปเรื่องนี้เอาไว้ได้อย่างดีเยี่ยม โดยซินหวาเขียนเอาไว้ดังนี้:

“ความสัมพันธ์ของพวกเขา (ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับรัสเซีย) ไม่ได้อยู่ในสภาพที่เป็นการจับกลุ่ม (bloc), การจับมือเป็นสหภาพ (union) หรือเป็นพันธมิตร (alliance) แต่อย่างใด โดยที่ทั้งปักกิ่งและมอสโกต่างก็มุ่งมั่นที่จะดำเนินโยบายการต่างประเทศที่เป็นอิสระและรอบด้าน การร่วมมือประสานงานกันของพวกเขาในประเด็นปัญหาร้อนๆ ทั้งในระดับภูมิภาคและในระดับระหว่างประเทศ มีจุดมุ่งหมายอยู่ที่ให้เป็นการสร้างระเบียบโลกที่มีความยุติธรรมมากขึ้นและสมเหตุสมผลยิ่งขึ้น หาใช่เป็นการพุ่งเป้าหมายเพื่อเล่นงานฝ่ายที่สามใดๆ ไม่

“ในโลกที่มีขั้วอำนาจอยู่หลายๆ ขั้ว จีนแสดงออกซึ่งไมตรีจิตมิตรภาพอันซื่อสัตย์น่าชื่นชมกับรัสเซีย และขณะเดียวกันจีนก็ยังต้องการที่จะเป็นหุ้นส่วนในทางร่วมมือประสานงานกันกับมหาอำนาจรายใหญ่รายอื่นๆ อีก เป็นต้นว่า สหรัฐฯ และยุโรป ปักกิ่งไม่เคยเลยที่จะเสาะแสวงหาทางบ่มเพาะความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์กับมอสโก ถ้าหากมันเป็นสิ่งที่ต้องแลกเปลี่ยนกับการสูญเสียสายสัมพันธ์ที่มีอยู่กับประเทศอื่นๆ ไป ทว่าจีนก็จะไม่ยอมอดกลั้นอดทนเลยถ้าหากผลประโยชน์แกนกลางของตนถูกล่วงละเมิด และนั่นก็เป็นท่าทีของมอสโกเช่นเดียวกัน”

โดยข้อเท็จจริงแล้ว การมีปฏิสัมพันธ์อย่างเป็นทางการกับผู้นำชาวต่างประเทศครั้งแรกสุดของ สี หลังจากที่เขารับตำแหน่งประธานาธิบดี ย่อมได้แก่การที่เขาพบปะกับรัฐมนตรีคลัง แจ๊ก ลูว์ ของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นการพบกันในกรุงปักกิ่ง ในช่วงเวลาไล่เลี่ยจวนเจียนกับที่ สี จะออกเดินทางไปยังกรุงมอสโกอยู่แล้ว ไม่เพียงเท่านี้ยังมีข้อน่าสังเกตด้วยว่า หลังจากที่ พล.อ. ฉาง รัฐมนตรีกลาโหมของจีนเดินทางกลับถึงปักกิ่งภายหลังไปเยือนมอสโกไม่นานนัก เขาก็ได้รับโทรศัพท์ติดต่อจาก ชัค เฮเกล รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ เพื่อแสดงความยินดีที่ พล.อ.ฉาง ได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีกลาโหม และเพื่อปรึกษาหารือกัน “เกี่ยวกับความสำคัญของอาณาบริเวณต่างๆ ตามที่ทั้งสองฝ่ายได้มีการเน้นหนักสนทนากันมาอย่างยาวนาน, รวมทั้งเรื่องอาณาบริเวณของการร่วมมือประสานงานกันในทางปฏิบัติ, ตลอดจนมาตรการในการลดทอนความเสี่ยง” ทั้งนี้ตามคำแถลงของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ โดยที่เพนตากอนยังระบุด้วยว่า “ทั้งสองฝ่ายยังได้หารือกันในเรื่องสถานการณ์ของเกาหลีเหนือ ซึ่งเป็นเรื่องที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างสูง”

จากนั้นในวันที่ 13 เมษายน ก็ถึงคิวของรัฐมนตรีต่างประเทศ จอห์น เคร์รี ของสหรัฐฯบ้าง ที่เดินทางไปยังปักกิ่ง แล้วก็จะเป็น พล.อ.มาร์ติน เดมป์ซีย์ ประธานคณะเสนาธิการทหารผสมของสหรัฐฯ ซึ่งมีกำหนดเดินทางไปจีนในตอนปลายเดือนนี้

ถ้าหากจะทำให้คำพังเพยโบราณของจีนบทที่ยกมากล่าวไว้ข้างต้น มีความสอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบันให้มากยิ่งขึ้นแล้ว เราก็คงต้องปรับแก้กันเล็กๆ น้อยๆ โดยต้องพูดใหม่ว่า ความฝันของรัสเซียและความฝันของจีนดูเหมือนจะมีส่วนคล้ายคลึงกันอยู่ ทว่ามันไม่ได้มีอะไรใกล้เคียงจนสามารถพูดได้เลยว่า หุ้นส่วนทั้งสองรายนี้มีความฝันอย่างเดียวกัน

เอ็ม เค ภัทรกุมาร รับราชการเป็นนักการทูตอยู่ในกระทรวงการต่างประเทศอินเดียมาเป็นเวลากว่า 29 ปี โดยได้รับแต่งตั้งให้ไปรับตำแหน่งประจำอยู่ในประเทศต่างๆ หลายประเทศ เป็นต้นว่า เอกอัครราชทูตอินเดียประจำอุซเบกิสถาน (ปี 1995-1998) และเอกอัครราชทูตอินเดียประจำตุรกี (1998-2001)
‘สีจิ้นผิง’กับ‘ปูติน’นอนเตียงเดียวกันแต่ฝันไปคนละอย่าง (ตอนแรก)
ประธานาธิบดีสี จิ้น ผิง ของจีน เดินทางไปเยือนรัสเซียเมื่อเร็วๆ นี้ ในช่วงเวลาที่ความเป็นหุ้นส่วนของสองประเทศกำลังทวีความสำคัญเพิ่มมากขึ้น จากการที่สหรัฐฯประกาศนโยบาย “ปรับสมดุลใหม่” เพื่อหันมาเน้นหนักอยู่ที่เอเชียยิ่งขึ้น มอสโกกับปักกิ่งนั้นมีผลประโยชน์ร่วมกันตลอดจนความคาดหวังเกี่ยวกับอนาคตซึ่งไปในทิศทางเดียวกันอย่างมากมายทีเดียว โดยมีไฮไลต์ในทางเศรษฐกิจอยู่ที่ข้อตกลงซื้อขายก๊าซหลายฉบับที่ยังคงรอการลงนามปิดท้าย อย่างไรก็ตาม ขณะที่ความฝันของหมีขาวและของมังกรดูเหมือนจะคล้ายคลึงกันอยู่ไม่ใช่น้อย ทว่าก็ไม่สามารถกล่าวได้ว่าพวกเขามีความฝันอย่างเดียวกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น