เอเจนซีส์ - ยอดส่งออกและนำเข้าแดนมังกรเดือนที่ผ่านมาลดลงเกินคาด ส่งสัญญาณว่าอุปสงค์ทั่วโลกรวมถึงความต้องการจากในประเทศกำลังฉุดรั้งเศรษฐกิจของจีนที่มีขนาดใหญ่อันดับ 2 ของโลกให้ชะลอตัวรุนแรงขึ้น และถือเป็นการวัดใจว่า ผู้นำชุดใหม่ของจีนแห่งปักกิ่งภายใต้การนำของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง จะยอมอดทนกับภาวะตกต่ำที่อาจทำให้เศรษฐกิจจีนปีนี้โตต่ำกว่าเป้าได้นานเพียงใด
กรมศุลกากรกลางของจีนแถลงเมื่อวันพุธ (10) โดยยอมรับว่า ยอดจัดส่งสินค้าไปต่างประเทศประจำเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาปรับตัวลดลง 3.1% จากช่วงเดียวกันปีก่อน เทียบกับตัวเลขประมาณการเฉลี่ยที่ 3.7 เปอร์เซ็นต์จากการสำรวจความคิดเห็นนักเศรษฐศาสตร์ 39 คนโดยสำนักข่าวบลูมเบิร์ก ขณะที่ยอดนำเข้าลดลง 0.7 เปอร์เซ็นต์หลังจากขยับลงไปแล้ว 0.3 เปอร์เซ็นต์ ในเดือนพฤษภาคม
รายงานฉบับนี้มีขึ้นหลังจากยอดส่งออกเดือนพฤษภาคมดิ่งลงภายหลังมีการกวาดล้าง “อินวอยซ์ปลอม” ที่ตกแต่งตัวเลขไตรมาสแรกของปีนี้ให้สูงเกินจริง
ขณะเดียวกัน การขยายตัวของทางการค้าที่ต่ำกว่าเป้าหมาย 8 เปอร์เซ็นต์ที่รัฐบาลตั้งไว้สำหรับปีนี้ รวมทั้งภาวะเงินสดตึงตัวที่ดันต้นทุนกู้ยืมระหว่างธนาคารของจีนพุ่งขึ้นทำสถิติสูงสุดในเดือนที่ผ่านมาถือเป็นบททดสอบว่าประธานาธิบดีสี จิ้นผิง และนายกรัฐมนตรีหลี่ เค่อเฉียง จะอดทนกับการชะลอตัว ที่อาจดึงอัตราเติบโตทางเศรษฐกิจลดลงต่ำกว่าเป้าหมายประจำปีของรัฐบาลได้นานเพียงใด
จื้อ เกา นักเศรษฐศาสตร์ของเอเวอร์ไบรต์ ซีเคียวริตีส์ ที่ประจำอยู่ในกรุงปักกิ่ง และเคยทำงานกับธนาคารโลกมาก่อน ชี้ว่า เรื่องราวการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนไม่ใช่การฟื้นตัวในระดับปานกลางอีกต่อไป แต่เกี่ยวกับว่ารัฐบาลจะคิดอ่านประการใด เพราะหากไม่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลปักกิ่ง การเติบโตของจีนก็ดูจะยังคงชะลอตัวต่อไป ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจโลกโดยรวมด้วย
ภาวะเงินสดในตลาดเงินตึงตัวมีแนวโน้มฉุดการเติบโตของสินเชื่อในปีนี้ลง 750,000 ล้านหยวน (ราว 122,000 ล้านดอลลาร์) หรือเท่ากับขนาดเศรษฐกิจของเวียดนามทั้งประเทศ ทั้งนี้ เป็นข้อมูลจากผลสำรวจความคิดเห็นนักวิเคราะห์ของบลูมเบิร์ก
ขณะเดียวกัน ไชน่า หรงชิ่ง อินดัสตรีส์ กรุ๊ป โฮลดิงส์ ซึ่งเป็นบริษัทรับต่อเรือเอกชนรายใหญ่ที่สุดของจีน เปิดเผยเมื่อต้นเดือนว่า ได้ขอการสนับสนุนทางการเงินจากรัฐบาลเพื่อรับมือปัญหายอดสั่งซื้อตกต่ำ โดยก่อนหน้านั้นสองวัน คนงานสัญญาจ้างที่ไม่ได้ทำงานได้รวมตัวปิดทางเข้าออกของโรงงานหลักของบริษัท ในมณฑลเจียงซู
สมาคมอุตสาหกรรมต่อเรือแห่งชาติของจีนซึ่งเป็นหนึ่งในภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด จากภาวะการชะลอตัวทางเศรษฐกิจครั้งนี้ เผยว่า บันทึกคำสั่งซื้อของบริษัทต่อเรือในจีนลดลงถึง 23 เปอร์เซ็นต์ ณ สิ้นเดือนพฤษภาคมเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีที่แล้ว และ 1 ใน 3 ของบริษัทต่อเรือในจีนกำลังเสี่ยงต้องปิดกิจการหากไม่ได้คำสั่งซื้อเป็นเวลานาน
ทั้งนี้ วันอังคารที่ผ่านมา (9) กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ได้ปรับลดการคาดการณ์อัตราเติบโตของเศรษฐกิจโลกประจำปีนี้อยู่ที่ 3.1 เปอร์เซ็นต์จากที่คาดไว้ 3.3 เปอร์เซ็นต์ในเดือนเมษายน ซึ่งถือเป็นการปรับลดครั้งที่ 5 ติดต่อกันแล้ว อันจะทำให้อัตราเติบโตของปีนี้ไม่เปลี่ยนแปลงจากปีที่แล้ว
ในส่วนของจีนนั้น ไอเอ็มเอฟคาดว่า เศรษฐกิจแดนมังกรในไตรมาสที่ 2 มีแนวโน้มจะขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง โดยผลสำรวจของบลูมเบิร์กระบุตัวเลขไว้ที่ 7.5 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งลดลงจาก 7.7 เปอร์เซ็นต์ในช่วงไตรมาสแรก และ 7.9 เปอร์เซ็นต์ในไตรมาสสุดท้ายของปี 2012
ด้านธนาคารกลางจีนมีกำหนดจะเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับสินเชื่อและปริมาณเงินในระบบในสัปดาห์หน้า นอกจากนี้ในวันที่ 15 ที่จะถึง สำนักงานสถิติจีนยังมีกำหนดรายงานข้อมูลการผลิตภาคอุตสาหกรรม และยอดค้าปลีกประจำเดือนมิถุนายน ตลอดจนถึงการลงทุนในสินทรัพย์ถาวรในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ ซึ่งบรรดานักลงทุนต่างคาดหวังจะได้รับทราบตัวเลขที่ส่งสัญญาณในเชิงบวก
อนึ่ง เมื่อวันอังคาร สำนักงานสถิติแห่งชาติจีนเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคของจีนเพิ่มขึ้น 2.7 เปอร์เซ็นต์ในเดือนที่ผ่านมา เทียบกับตัวเลขคาดการณ์เฉลี่ยจากการสำรวจของบลูมเบิร์กประจำเดือนมิถุนายนที่อยู่ที่ 2.5 เปอร์เซ็นต์ และ 2.1 เปอร์เซ็นต์ในเดือนพฤษภาคม