xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ศิษย์ธรรมกายใช้วิชามาร โกงหมื่นล้านสหกรณ์คลองจั่น อ้าง “หญิงหน่อย” คุ้มกะลาหัว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายศุภชัย ศรีศุภอักษร ประธานกรรมการสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น
ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-ไม่น่าเชื่อก็ต้องเชื่อว่าประธานกรรมการสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นและพวก จะสามารถทำธุรกรรมอำพรางยักยอกเอาเงินสหกรณ์ไปกว่า 1.2 หมื่นล้านบาท โดยไม่มีการดำเนินการใดๆ ในช่วงระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา ทั้งที่กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ได้ตรวจพบความผิดปกติของงบการเงินของสหกรณ์แห่งนี้ และแจ้งให้กรมส่งเสริมสหกรณ์ หน่วยงานที่กำกับดูแลได้รับรู้ถึงปัญหาที่เกิดขึ้นโดยตลอด

นายศุภชัย ศรีศุภอักษร ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานกรรมการสหกรณ์มายาวนาน ที่ตกเป็นจำเลยในคดีนี้ เป็นใครมาจากไหน ใช่เป็นเพราะที่ผ่านมา มีการแอบอ้างบารมี “คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์” หรือ “คุณหญิงหน่อย” คุ้มหัว และด้วยฐานะที่เป็นศิษย์เอก “ธรรมกาย” จนไม่มีใครหรือหน่วยงานไหนกล้าเข้ายุ่งเกี่ยว ใช่หรือไม่ ? จึงสามารถโกงมาราธอนได้นานขนาดนี้

นี่ถ้าหากว่าไม่เกิดการร้องเรียนของบรรดาสมาชิกสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น ที่หอบเอกสารถึง 2 ลัง ร้องต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เมื่อปลายเดือนพ.ค. 56 เพื่อให้ดีเอสไอเข้าไปตรวจสอบความผิดปกติที่เกิดขึ้นกระทั่งลุกลามบานปลายจนสมาชิกไม่สามารถเบิกถอนเงินได้ คงไม่มีใครลงมือจัดการเรื่องนี้ และคงไม่มีการพบการฉ้อโกงมโหฬาร จนนำไปสู่การบุกค้นหาหลักฐานที่ห้องทำงานของนายศุภชัย จนกระทั่งสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ได้สั่งอายัดทรัพย์สินของนายศุภชัย และพวก เมื่อวันที่ 10 ก.ค. 2556 ที่ผ่านมา

หลายคนคงสงสัยถึงที่มาที่ไปของสหกรณ์ฯ ซึ่งอู้ฟู่ที่สุดแห่งนี้ว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร แล้วทำไมถึงได้เกิดเรื่องราวใหญ่โตจน ปปง. ต้องเข้าอายัดทรัพย์ประธานกรรมการ ขอเกริ่นนำให้รู้จักกันสักนิดว่า สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น ก่อตั้งในชุมชนการเคหะคลองจั่น ซึ่งเป็นชุมชนที่การเคหะแห่งชาติสร้างขึ้นมา โดยผู้อยู่อาศัยส่วนใหญ่เป็นผู้มีรายได้ระดับปานกลางถึงระดับล่าง และด้วยความที่เป็นชุมชนที่มีปัญหาทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมมาก การเคหะฯ จึงร่วมกับชุมนุมสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนแห่งประเทศไทย จัดอบรมความรู้เกี่ยวกับสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาในชุมชนอย่างยั่งยืน และผู้นำ 3 คนที่เข้าร่วมอบรมดังกล่าว คือ นายวิวัฒน์ พัฒนศักดิ์สุธี นายมณฑล กันล้อม และนายศุภชัย ศรีศุภอักษร ได้เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงร่วมกันจัดตั้งสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นขึ้นมา โดยเริ่มต้นจากกลุ่มคนเพียง 22 คน ทุนแรกเริ่มเพียง 1,260 บาท

กระทั่งถึงปี 2556 สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น ได้ฉลองครบรอบ 30 ปี โดยมีผลการดำเนินงาน ณ เดือน มิ.ย. 2556 คือ มีสมาชิกสามัญ 54,063 คน, สมาชิกสมทบ 2,358 คน, สินทรัพย์ 22,662,462,994 บาท , เงินรับฝาก 14,484,318,879 บาท, เงินให้กู้ยืม 15,078,742,908 บาท ทุนเรือนหุ้น 4,745,983,690 บาท โดยข้อมูลทางการเงินประจำปี 2555 ระบุว่า สหกรณ์ฯ มีรายได้ 2,011 ล้านบาท รายจ่าย 1,576 ล้านบาท กำไรสุทธิ 436 ล้านบาท โดยสหกรณ์ยูเนียนเครดิตคลองจั่น มีสมาชิกและสินสินทรัพย์อันดับหนึ่งของสหกรณ์เครดิตยูเนียนทั้งหมดประมาณ 1,300 แห่ง

เรื่องราวของสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น ซึ่งเป็นที่พึ่งของสมาชิกผู้ที่ต้องการได้รับผลตอบแทนจากการนำเงินมาลงทุนในอัตราดอกเบี้ยสูง ประมาณร้อยละ 10 ต่อปี และเป็นที่พึ่งของผู้ที่ต้องการกู้เพื่อ “ชีวิตที่ดีๆ ใครก็มีได้” เกิดจากความวุ่นวายสาวใส้กันเองของคณะผู้ก่อตั้งสหกรณ์ คือ นายศุภชัย และนายมณฑล จนทำให้สมาชิกสหกรณ์และผู้คนในสังคมได้เห็นขยะทีซุกอยู่ใต้พรม และได้เห็นการฉ้อโกงสหกรณ์ครั้งประวัติศาสตร์ก็ว่าได้

จุดชนวนระเบิดของงานนี้ ตามรูปการณ์อาจเป็นเพราะว่านายศุภชัย ซึ่งมีบทบาทสูงในสหกรณ์ฯ สร้างภาพเป็นนักบุญใจดี และเป็นผู้ที่ได้ชื่อว่าใกล้ชิดคุณหญิงสุดารัตน์ เนื่องจากคลองจั่น เป็นฐานเสียงสนับสนุนคุณหญิงมานมนานนั้น หลงใหลในอำนาจที่ตนเองมีอยู่ จึงดำเนินการเข้าข่ายยักย้ายถ่ายเททรัพย์สินของสหกรณ์ฯ ในช่วงที่ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการ ระหว่างปี 2551 - 2554 ซึ่งความผิดปกตินี้อาจถูกซุกซ่อนอยู่ต่อไปหากนายศุภชัย ไม่ถูกนายมณฑล เข้ามาชิงเก้าอี้นั่งตำแหน่งประธานกรรมการดำเนินงานแทนในปี 2555 - 2556

หลังจากคณะกรรมการชุดนายมณฑล ครบ 1 ปี มีการประชุมแถลงผลดำเนินงานประจำปี 2555 พร้อมกับเลือกประธานและคณะกรรมการที่หมดวาระ เมื่อเดือนมี.ค. 2556 ก็เกิดเหตุป่วนการประชุมจนไม่สามารถเลือกคณะกรรมการและประธานใหม่ได้ และความขัดแย้งได้ยืดเยื้อ จนส่งผลกระทบต่อการเบิกถอนเงินของสมาชิกตามมา ในขณะเดียวกัน ช่วงต้นเดือนเม.ย. 2556 นายมณฑล ก็ได้ปฏิบัติการเปิดโปงนายศุภชัย โดยอาศัยหลักฐานการตรวจสอบบัญชีของกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ที่รายงานพบความผิดปกติของงบการเงินของสหกรณ์ฯ ในช่วงที่นายศุภชัย ดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการฯ

โดยเมื่อวันที่ 2 เม.ย.56 นายมณฑล ได้ส่งหนังสือเวียนถึงสมาชิกสหกรณ์ เรื่องแจ้งผลการกำกับดูแลการปฏิบัติของสหกรณ์ ลงวันที่ 7 ก.พ. 2556 ความว่า จากผลการตรวจบัญชีของสหกรณ์เครดิตยูเนียนคลองจั่น พบการปล่อยสินเชื่อที่ผิดระเบียบและมีข้อน่าสงสัย 2 ประเด็นหลัก ประเด็นแรกคือ การปล่อยกู้จำนวน 27 ราย เป็นยอดหนี้ประมาณ 1.2 หมื่นล้านบาท โดยลูกหนี้ทุกรายไม่มีการถือหุ้นตามข้อบังคับของสหกรณ์ บางรายหลักทรัพย์ค้ำประกันไม่ครอบคลุมกับมูลหนี้ บางรายเป็นการค้ำประกันเงินกู้ด้วยบุคคล บางรายไม่มีหลักประกันหนี้ ลูกหนี้ชำระหนี้ไม่เป็นไปตามกำหนดที่ระบุไว้ในสัญญากู้ และประเด็นที่สอง คือ นายศุภชัย เป็นลูกหนี้เงินยืมทดรอง ประมาณ 3,298 ล้านบาท โดยไม่มีกำหนดระยะเวลาชำระคืน ซึ่งในเวลาต่อมานายมณฑล ได้เข้ายื่นฟ้องอาญาและแพ่งต่อนายศุภชัย ข้อหายักยอกทรัพย์ด้วย

อ้างอิงข้อมูลจาก “สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า” ซึ่งได้ตรวจสอบรายชื่อลูกหนี้ทั้ง 27 ราย และเงินกู้ของลูกหนี้แต่ละราย รวมทั้งตรวจสอบสถานที่ตั้ง สถานะทางธุรกิจ งบการเงิน จากยอดรวมการปล่อยสินเชื่อให้กับสมาชิกสามัญและสมาชิกสมทบของสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น ที่แสดงในรายงานประจำปี 2555 อยู่ที่ 15,073 ล้านบาท ขณะที่มียอดเงินให้กู้แก่สมาชิกสมทบอยู่ที่ 11,846 ล้านบาท คิดเป็นประมาณร้อยละ 80 ของลูกหนี้ที่เป็นสมาชิกสหกรณ์ทั้งหมด โดยมีข้อสังเกตต่อลูกหนี้ 27 ราย ดังนี้

1. มีลูกหนี้เงินกู้สมทบจำนวน 10 ราย จากทั้งหมด 27 ราย เป็นบริษัทที่มีนายศุภชัย ศรีศุภอักษร และนายปรีชา ศรีศุภอักษร เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ โดย 10 บริษัทนี้ ได้กู้เงินจากสหกรณ์ฯ ไปเป็นจำนวน 5,274 ล้านบาท สัญญาเกือบทั้งหมดเป็นการลงนามกู้เองและเซ็นอนุมัติเองโดยนายศุภชัย

2. ลูกหนี้ทั้ง 27 รายนั้น ส่วนใหญ่เป็นบริษัทที่ไม่ได้ดำเนินกิจการจริง แต่ยังส่งงบดุลให้กรมสรรพากร มีบางบริษัทที่ดำเนินกิจการอยู่ และมี 3 บริษัทที่ปิดกิจการไปแล้ว 3. งบดุลส่วนหนี้สิน ลูกหนี้สมาชิกสมทบส่วนใหญ่มีตัวเลขที่ต่ำกว่ายอดกู้ยืมจากสหกรณ์ฯ มีเพียงสองบริษัทที่มีส่วนหนี้สินครอบคลุมยอดหนี้เงินกู้จากสหกรณ์ และ 4. ที่ตั้งกิจการ หลายบริษัทตั้งอยู่ที่เดียวกัน บางบริษัทเป็นห้องเช่าเล็กๆ เบอร์โทรศัพท์เดียวกัน

นายวิจักร อากัปกิริยา อธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ยืนยันถึงการตรวจพบความผิดปกติในงบการเงินของสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น มาประมาณ 5 ปีแล้ว พร้อมกับแจ้งเตือนไปยังกรมส่งเสริมสหกรณ์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นทุกปี แต่ไม่มีมาตรการใดๆ ออกมาจากทั้งสองหน่วยงาน

เมื่อเกิดเรื่องปั่นป่วน อื้อฉาว นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร อดีตรมช.กระทรวงเกษตรฯ ในฐานะประธานคณะกรรมการพัฒนาการสหกรณ์แห่งชาติ (คพช.) ได้มีมติแต่งตั้งกรรมการเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น โดยมีนายโอภาส กลั่นบุศย์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เป็นประธาน โดยให้เข้าไปแก้ไขปัญหา 2 เรื่องคือ ความเดือดร้อนของสมาชิกสหกรณ์ที่ไม่สามารถเบิกถอนเงินได้ และการปล่อยกู้ให้สมาชิกสมทบจำนวน 27 ราย

แต่คณะกรรมการชุดดังกล่าวข้างต้น กลับโยกโย้ไม่มีความคืบหน้าในการดำเนินการใดๆ เหมือนดังเช่นตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมาที่กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ตรวจพบความผิดปกติ ไม่ว่านายยุทธพงศ์ จะเร่งรัดหรือทวงถามตามงานเพื่อกดดันให้กรมส่งเสริมสหกรณ์ ในฐานะที่เป็นนายทะเบียนสหกรณ์ตามกฎหมาย เข้าไปจัดการอย่างรวดเร็วเพื่อเยียวยาความเสียหายและบรรเทาความเดือดร้อนแก่สมาชิกสหกรณ์ฯ

“การประชุมของคพช.ครั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายที่ขัดแย้งกันไม่ได้มาร่วมประชุม โดยให้เหตุผลว่ากลัวในเรื่องของความไม่ปลอดภัย เพราะในสหกรณ์เครดิตยูเนียนคลองจั่น มีมาเฟียอยู่เยอะ แต่เรื่องนี้ถือเป็นคดีอาญา และมีการส่งเรื่องฟ้องร้องไปยังตำตรวจที่ดูแลในเรื่องเศรษฐกิจ เพราะถือเป็นความเสียหายที่กระทบกับประชาชนจำนวนมาก” นายยุทธพงศ์ กล่าวในวันประชุม คพช. เมื่อวันที่ 7 พ.ค. 2556 เพื่อหาทางออกในปัญหาของสหกรณ์ฯ ซึ่งสะท้อนถึงความดำมืดในสหกรณ์ฯ เพราะมีขาใหญ่คุ้มครองชัดเจน

ยังมีเรื่องที่น่าเหลือเชื่ออย่างยิ่งก็คือ ขณะที่มีการเปิดโปงความไม่ชอบมาพากลโดยมีหลักฐานแสดงให้เห็นถึงพฤติกรรมการยักยอกทรัพย์อย่างจะจะจากกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ และรมช.กระทรวงเกษตรฯ มีการตั้งคณะกรรมการเข้ามาตรวจสอบความผิดปกติที่เกิดขึ้น แต่นายศุภชัย กลับได้การเลือกให้เข้ามาดำรงตำแหน่งประธานกรรมการดำเนินการ ในคณะกรรมการดำเนินการ ชุดที่ 29/2556 และกรมส่งเสริมสหกรณ์ ก็ให้การรับรองผลการเลือกตั้งอย่างสุดแสนอเนจอนาถกับการทำงานของกรมนี้

เมื่อนายยุทธพงศ์ หลุดจากตำแหน่งรมช.กระทรวงเกษตรฯ เผือกร้อนจึงถูกโยนไปให้นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เข้ามาจัดการเรื่องนี้แทน และอาจเป็นเพราะต้องแสดงฝีมือให้เป็นที่ประจักษ์ว่า สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น ที่ขึ้นชื่อว่ามีมาเฟียอยู่เยอะ และมีการแอบอ้างบารมีของคุณหญิงสุดารัตน์ คุ้มครอง จะต้องถูกล้างบางกันเสียที ดีเอสไอและปปง.จึงถือหมายศาลเข้าลุยตรวจค้นไม่ไว้หน้า

ในวันบุกค้น นายกิติก้อง คณาจันทร์ ผอ.ศูนย์ปราบปรามคดีฟอกเงินและยาเสพติด ดีเอสไอ ระบุว่า จากการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่า นายศุภชัยกับพวกรวม 6 คน ซึ่งอยู่ในระดับกรรมการและพนักงานมีพฤติกรรมยักยอกเงินโดยนำไปลงทุนในธุรกิจส่วนตัวที่ไม่ก่อให้เกิดกำไรมาตั้งแต่ปี 2550 เข้าข่ายการกระทำความผิดฐานยักยอกตามกฎหมายอาญา โดยนายศุภชัย จะเบิกเงินออกจากบัญชีสหกรณ์ครั้งละ 100-1,000 ล้านบาท ซึ่งกระทำเช่นนี้นับ 100 ครั้ง รวมมูลค่าความเสียหายกว่า 12,000 ล้านบาท โดยปปง.มีมติอายัดไปช่วงต้นเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา ทั้งนี้ ยังอยู่ระหว่างการขยายผลยึดทรัพย์เพิ่มเติม

ทางดีเอสไอ จะแจ้งข้อกล่าวหานายศุภชัยกับพวกรวม 6 คน ในฐานยักยอกตามกฎหมายอาญาอันเป็นปกติธุระ และเรียกผู้เสียหายที่ร้องมาทางดีเอสไอ 100 กว่ารายเข้าสอบปากคำต่อไป ซึ่งเมื่อทางดีเอสไอได้รับคดีดังกล่าวเป็นคดีพิเศษแล้ว หากพบว่ามีผู้ใดช่วยเหลือยักย้าย ถ่ายโอนทรัพย์สิน ก็จะเข้าข่ายผู้ร่วมกระทำความผิดฐานฟอกเงิน รวมถึงหากผู้ใดข่มขู่พยานจะถูกดำเนินคดีจนถึงที่สุดเพราะพยานอยู่ในความคุ้มครองของดีเอสไอแล้ว

ส่วนทางปปง.ได้ยึดและอายัดทรัพย์สินของนายศุภชัย กับพวก จำนวน 336 รายการไว้ชั่วคราว ตาม ม. 48 แห่ง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 เพื่อดำเนินการตรวจสอบทรัพย์สินดังกล่าว ประกอบด้วย ที่ดินในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี ปทุมธานี พิจิตร อุทัยธานี นครสวรรค์ พระนครศรีอยุธยา ฉะเชิงเทรา ชลบุรี นครราชสีมา เชียงราย และกรุงเทพมหานคร รวมจำนวน 319 แปลง เนื้อที่กว่า 6,000 ไร่ มูลค่ากว่า 2,000 ล้านบาท รถยนต์ จำนวน 8 คัน มูลค่าประมาณ 4 ล้านบาท และเงินฝากในบัญชีธนาคาร จำนวน 9 บัญชี ประมาณ 1 ล้านบาท

ขณะที่นายศุภชัย ยังยืนกระต่ายขาเดียวว่า ตนเองถูกกลั่นแกล้งและยืนยันความบริสุทธิ์ ดำเนินการทุกอย่างถูกต้อง ตรวจสอบได้ และจะไม่หนีไปไหน พร้อมกับยืนยันว่า สหกรณ์ฯ มีเงินสดเพียงพอให้สมาชิกเบิกถอน และจะเข้าให้ปากคำกับปปง. ในวันที่ 16 ก.ค. 2556 แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงวันกำหนดนัด นายศุภชัย ได้ขอเลื่อนนัดออกไป ขณะที่สมาชิกบางส่วนยังคลางแคลงใจในพฤติกรรมของนายศุภชัย เพียงแต่ไม่กล้าซักถามเพราะอาจเจอปัญหาเหมือนสมาชิกบางคนที่ไปยื่นฟ้องสหกรณ์ฯ แล้วถูกล็อกบัญชีเงินฝากเบิกถอนไม่ได้

สำหรับกรณีที่มีการตั้งข้อสังเกตโยงใยไปถึงคุณหญิงสุดารัตน์ หรือไม่ อย่างใดนั้น ผู้ที่ใกล้ชิดคุณหญิงสุดารัตน์ ให้ข้อมูลต่อสื่อโดยยอมรับว่าคุณหญิงสุดารัตน์ รู้จักกับนายศุภชัยจริง เพราะคลองจั่นถือเป็นฐานเสียงเลือกตั้งครั้งแรกเมื่อปี 2535 แต่กรณีที่เกิดขึ้นกับสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น ไม่ควรเอาคุณหญิงมาโยงด้วย เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องของนายศุภชัยเองทั้งสิ้น

ต้องติดตามกันต่อไปว่า ดีเอสไอและปปง. จะสามารถทลายแหล่งมาเฟียที่ทำตัวเป็นเหลือบสูบเงินสมาชิกสกรณ์แห่งนี้ได้อย่างสมศักดิ์ศรีหรือไม่ เพราะผลงานชิ้นนี้จะปกป้องการพังทลายของสมาชิกและสหกรณ์ต่างๆ ที่นำเงินมาฝากที่สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นแห่งนี้ เช่น สหกรณ์จุฬาฯ สหกรณ์ตำรวจ อีกทั้งยังเป็นการปรามการใช้อำนาจหน้าที่หาประโยชน์เข้าพกเข้าห่อของผู้บริหารสหกรณ์ที่ยังสามารถลอยหน้าลอยตาอยู่ในสังคมโดยไม่มีใครเอาผิดได้


ขณะเจ้าหน้าที่ดีเอสไอเข้าตรวจหาหลักฐานการทุจริตที่สหกรณ์
หนึ่งในบ้านที่ดีเอสไอระบุว่านายศุภชัยยักยอกเงินไปซื้อไว้และถูก ป.ป.ง.อายัดทรัพย์
กำลังโหลดความคิดเห็น