xs
xsm
sm
md
lg

นักบุญบาปหนา! ศิษย์ธรรมกายโดนครหา “ฉ้อโกงหมื่นล้าน!!!”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สืบเนื่องจากกรณีความไม่ชอบมาพากลในการบริหารงานของสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นที่สร้างความเสียหายไปกว่า12,000 ล้านบาท! กระทบถึงสหกรณ์น้อยใหญ่ทั่งประเทศ จนกลายเป็นกรณีเสียหายทางด้านการเงินครั้งมโหฬารครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ที่กระจายความเดือดร้อนไปทั่วทุกหย่อมย่านของความเสียหาย
สมาชิกกว่าห้าหมื่นคน สหกรณ์ทั่วประเทศที่ฝากเงินรวมกว่า 5,000 ล้านบาท

เหตุใดจึงเกิดกรณีร้ายแรงแบบนี้ได้ ล่าสุด ศุภชัย ศรีศุภอักษร ประธานกรรมการพร้อมพรรคพวกถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟองเงิน(ปปง.) ร่วมกับกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ เข้าทำการยึดทรัพย์ มหากาพย์การโกงครั้งนี้ได้ฝากบทเรียนใดไว้กับระบบสหกรณ์ระดับประเทศบ้าง?

มหากาพย์มหาโกงหมื่นล้าน

สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น ก่อตั้งขึ้นในวันที่ 4 ธันวาคม 2526 โดย 3 ผู้นำคือวิวัฒน์ พัฒนศักดิ์สุธี(เสียชีวิตไปแล้ว) มณฑล กันล้อม และศุภชัย ศรีศุภอักษร โดยมีแนวคิดในการแก้ไขปัญหาชุมชนอย่างยั่งยืน มีการรับสมัครสมาชิกในฐานะที่ทุกคนเป็นเจ้าขององค์กร มีการปล่อยเงินกู้ รับเงินฝาก มีบริการธุรกรรมทางการเงินคล้ายธนาคาร
แรกเริ่มนั้นสหกรณ์แห่งนี้ยังเป็นเพียงสหกรณ์ระดับชุมชน แต่ได้มีการเติบโตขึ้นมาจนกลายเป็นสหกรณ์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศ มีสมาชิกทั้งสิ้น 52,683 คน และเงินหมุนเวียนหลักหมื่นล้านบาท

ปมปัญหาแรกต้องสงสัยจากการออกมาแฉของมณฑล กันล้อม ซึ่งพบว่า มีการปล่อยสินเชื่อผิดระเบียบในวงเงิน 3,298.34 ล้านบาท โดยชื่อผู้กู้คือตัวศุภชัยเอง!!

เหตุการณ์ยิ่งทวีรุนแรงขึ้น เมื่อสมาชิกสหกรณ์หลายคนไม่สามารถเบิกถอนเงินของตัวเองออกมาได้ และมหากาพย์การโกงครั้งนี้ก็ถูกสืบสาวอย่างต่อเนื่อง จากเอกสารที่สำนักไทยออนไลน์พับลิก้า ตีแผ่ออกมาพบว่า มีการให้สินเชื่อไม่ชอบมาพากลกับลูกหนี้ 27 ราย เป็นเงินกว่า 12,000 ล้านบาท!!

ในรายละเอียดพบว่า ยอดวันที่ 31 ธันวาคม 2555 จำนวน 27 ราย เป็นยอดหนี้ประมาณ 12,000 ล้านบาท โดยลูกหนี้ทุกรายไม่มีการถือหุ้นตามข้อบังคับของสหกรณ์ บางรายยังมีหลักทรัพย์ค้ำประกันที่ไม่ครอบคลุมกับมูลหนี้ บางรายเป็นการค้ำประกันเงินกู้ด้วยบุคคล และมี 2 รายที่ไม่มีหลักประกันหนี้ รวมทั้งยังมีการชำระหนี้ไม่เป็นไปตามกำหนดอีกด้วย

จากการเปิดโปงของสำนักข่าวดังกล่าวยังพบข้อมูลว่า บริษัทหลายแห่งมีสถานที่ตั้งที่เป็นตึกเปล่า บางแห่งเป็นนิติบุคคลที่ไม่มีตัวตน หลายแห่งยังมีชื่อของศุภชัยนั่งเป็นประธานเสียเอง

ทั้งนี้ ผู้ที่ฝากเงิน ซื้อหุ้นของสหกรณ์ก็ยังเป็นบุคคลที่น่าเชื่อถือ ด้วยดอกเบี้ยที่สูงกว่าธนาคารในอัตราฝากพิเศษสูงถึงร้อยละ 3-4 ต่อปี และเงินปันผลหากซื้อหุ้นสหกรณ์ก็สูงถึงร้อยละ 10 ต่อปี ทำให้มีหลายคนเห็นโอกาสในการลงทุน ข้าราชการเกษียณอายุแล้วหลายคนนำเงินเก็บทั้งหมดมาฝากซื้อหุ้นที่นี่ หวังเงินปันผลรายปีดูแลเป็นรายได้จุนเจือดูแลชีวิต

อย่างไรก็ตาม ความเสียหายยังคงกินวงกว้างไปอีก จากที่รายได้การฝากเงินกับสหกรณ์แห่งนี้ถือว่า มีผลตอบแทนที่ดีมาก ทำให้มีสหกรณ์ทั่วประเทศถึง 12 แห่ง ตัวอย่างเช่น สหกรณ์ออมทรัพย์ครูทรัพย์ครูปทุมธานี สหกรณ์ออมทรัพย์ครูทรัพย์ครูยโสธร สหกรณ์ออมทรัพย์ครูขอนแก่น สหกรณ์ออมทรัพย์ครูสงขลา รวมไปถึงสหกรณ์ออมทรัพย์ตำรวจแห่งชาติ สหกรณ์ออมทรัพย์สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน โดยมีสหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมียอดรวมกันไปต่ำกว่า 5000 ล้านบาท!!

นอกจากนี้ยังมีสหกรณ์อีกหลายอย่างของมหาวิทยาลัยชื่อดังต่างๆ เช่น สหกรณ์ออมทรัพย์โรงพยาบาลราชวิถี สหกรณ์ออมทรัพย์สาธารณสุขอุทัยธานี สหกรณ์ออมทรัพย์สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (สปก.) ชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์ตำรวจแห่งชาติ สหกรณ์ออมทรัพย์สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ที่รับว่าฝากเงินไว้ที่นี่ แต่ไม่ขอระบุยอดเงิน

พูดให้ชัดคือ ความเสียหายทางด้านการเงินครั้งนี้ดูจะกระจายไปทั่วทุกหย่อมย่าน ทั้งยังรุนแรงอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนอีกด้วย คำถามสำคัญคือเหตุใดองค์กรที่รับผิดชอบจึงไม่สามารถตรวจพบความไม่ชอบมาพากลตลอด 8 ปีที่ผ่านมาได้

มือถือสากปากถือศีล

สิ่งหนึ่งที่ทำให้ศุภชัยสามารถกลับมาเป็นประธานได้อีกครั้งคือภาพลักษณ์ที่ดูดีราวกับนักบุญผู้เคร่งศีลธรรมที่หลายคนอาจจะจินตนาการไม่ออกว่า คนแบบนี้จะโกงใครได้ นอกจากนี้เขายังมีวาทศิลป์สามารถโน้มน้าวใจคนได้อย่างชาญฉลาดอีกด้วย

จากหนังสือประวัติของเขาที่ตีพิมพ์ในช่วงที่เขาได้รับรางวัลนักสหกรณ์ดีเด่นประจำปี 2550 มีการเล่าถึงประวัติของเขาว่า มีพื้นเพเป็นคนราชบุรีที่เข้ามาทำงานและเรียนต่อกรุงเทพฯ ตั้งแต่อายุ 18 ว่าง่ายๆคือมีพื้นฐานในการเป็นคนสู้ชีวิตคนหนึ่ง

กระทั่งต่อมาเริ่มมีบทบาทในด้านของการเป็นนักพัฒนาที่ชุมชนครองจั่นในฐานะเลขาธิการชุมชน และก้าวขึ้นมาเป็นผู้ก่อตั้งสหกรณ์ในอายุเพียงแค่ 26 ปีเท่านั้น

ทั้งนี้ ปากคำจากแหล่งข่าวที่เชื่อถือได้ บอกว่า แรกเริ่มนั้นศุภชัยมีพื้นฐานที่เป็นคนดีมากคนหนึ่ง เป็นคนทำงานเก่ง คิดใหญ่ ทำใหญ่ การที่สหกรณ์พัฒนาได้ถึงตรงนี้ ส่วนหนึ่งมาจากความสามารถของคนๆนี้ โดยผู้ก่อตั้งอีก 2 คนคือวิวัฒน์ พัฒนศักดิ์สุธี และ มณฑล กันล้อมมีบทบาททางด้านกฎหมาย การบัญชีตามลำดับ ทว่าเวลาที่ผ่านไปก็เปลี่ยนแปลงหลายสิ่งหลายอย่าง

“แรกๆ เขาเป็นคนดีมากเลยนะ มีความสามารถ มีคนคิดใหญ่ทำใหญ่ ทำให้สหกรณ์พัฒนาในเชิงธุรกิจ แต่มันก็เหมือนจะจุดเปลี่ยนบางอย่างซึ่งพูดยากว่าเป็นจุดไหน แต่ส่วนหนึ่งที่สำคัญน่าจะมาจากการที่เขาเป็นศิษย์ลำดับต้นของวัดธรรมกาย”

แหล่งข่าวได้เผยว่า ศุภชัยผู้ศรัทธาชั้นนำของวัดธรรมกาย ที่บางคนบอกว่า เป็นศิษย์อันดับ 1 เลยก็ว่าได้ ทั้งนี้การบริจาคเงินที่มากขึ้น ก็จะมาพร้อมกับการโปรโมตที่ทางวัดมีให้แก่ศุภชัยมากขึ้น

“เรามองศุภชัยเป็นคนที่ยึดติดในชื่อเสียงเกียรติยศ วัดธรรมกายยิ่งบริจาคก็ยิ่งจะได้ชื่อเสียงมาก จากปากคำล่าสุดของเขาบอกว่า มีเงินของสหกรณ์อยู่ธรรมกายในหลักร้อยล้าน แต่เราเชื่อว่า น่าจะมากกว่านั้น น่าจะหลักพันล้านได้”

นอกจากนี้ เขายังมีการถือหุ้นใหญ่ในสหกรณ์ยูเนี่ยนมงคลเศรษฐีซึ่งเป็นบริษัทที่ให้บริการสินเชื่อเพื่อการทำบุญให้แก่วัดธรรมกาย นอกจากบริษัทดังกล่าวยังถือหุ้นใหญ่ในบริษัท มงคลเศรษฐีเอสเตท จำกัด ที่เป็น 1 ใน 27 ลูกหนี้สมทบที่ก่อหนี้ให้ถึงหลักหมื่นล้าน

ศุภชัยยังชอบทำบุญบริจาคเงินหลายล้านบาทให้กับโรงเรียนตามต่างจังหวัดโดยมีข้อแม้ว่า ต้องปูพรมแดงเพื่อต้อนรับตนเอง นอกจากนี้ ยังเป็นเขาผู้อยู่เบื้องหลังคนสำคัญของอีเวนต์0ดังของวัดธรรมกายอย่าง “ธุดงค์ธรรมชัยฯ” หรือธุดงค์กลางกรุงอีกด้วย

โดยเกียรติประวัติด้านการบุญของเขาทำให้เขาได้รับรางวัลพุทธคุณูปการ ประเภทกาญจนเกียรติคุณซึ่งเป็นรางวัลระดับทองจากคณะกรรมาธิการการศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม สภาผู้แทนราษฎร เป็นรองเพียงระดับเพชรซึ่งเป็นระดับสูงสุดเท่านั้น

ข้อเขียนของเขาในหนังสือพิมพ์เกลียวเชือก หนังสือพิมพ์ที่ลงข่าวในแวดวงสหกรณ์ก็มักจะสอดแทรกไว้ด้วยธรรมะมากมาย รวมไปถึงการพูดของเขาด้วย แม้หลายครั้งจะไม่ได้ให้คำตอบต่อประเด็นที่สมาชิกค้างคาใจก็ตาม จนถึงการประชุมวิสามัญเพื่อเลือกตั้งหาประธานสหกรณ์ครั้งล่าสุด แม้ว่าเขาจะต้องคดีฟ้องร้องกว่าหมื่นล้าน เขาก็ยังคงได้รับเลือกให้เป็นประธานสหกรณ์ต่อ ทำให้เห็นได้ว่า ยังคงมีคนศรัทธาในตัวเขาอยู่

จนถึงตอนนี้สหกรณ์ก็ยังคงดำเนินการอยู่ แม้จะไม่สามารถเบิกเงินออกได้ก็ตาม และยังคงมีสมาชิกบางส่วนที่เชื่อมั่นว่า สหกรณ์ก็ยังคงประคับประคองตัวของมันเองต่อไปได้ และนำเงินมาฝากเพื่อให้ยังมีสิทธิ์ในเงินหุ้นปันผลอยู่

สหกรณ์ในอุดมคติ

จากปัญหาที่เกิดขึ้นกับสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนซึ่งถือเป็นสหกรณ์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ หากมองถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น สิ่งหนึ่งที่น่ากลัวคือ จะเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นกับสหกรณ์อื่นมั้ย? วิทยากร เชียงกูล คณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต อธิบายถึงหลักการของสหกรณ์ว่า คือการที่ชุมชนร่วมเป็นเจ้าของ โดยกิจการทั้งหมดจะมุ่งเน้นที่การบริการชุมชน หากเทียบกับธนาคารที่มุ่งทำกำไรให้ผู้ถือหุ้น สหกรณ์จะมุ่งแบ่งปันสิ่งที่เหลือได้ให้แก่ชุมชนที่เป็นสมาชิกซึ่งเปรียบเสมือนเจ้าของร่วมกัน

“ตัวหลักการหรือระบบของสหกรณ์มันดีนะ มันตอบโจทย์การรวมตัวของชุมชน ในต่างประเทศก็มีสหกรณ์หลายแห่งที่เติบโตได้มากกว่าในประเทศเรา มีการวางระบบที่ดีทั้งยังมีกำไรที่สูงให้กับสมาชิก เพียงแต่ระบบมันก็เรียกร้องความเป็นมืออาชีพในการบริหารและการเป็นสมาชิกอีกด้วย”

ทั้งนี้ การเป็นสมาชิกสหกรณ์นั้น เขาเผยว่า ต้องมีส่วนในการร่วมตรวจสอบการทำงานภายในสหกรณ์เอง เหตุเพราะสมาชิกนั้นถือเป็นเจ้าของสหกรณ์ด้วย จึงมีสิทธิ์ในการเข้าถึงข้อมูลต่างๆทั้งหมด แต่สหาชิกสหกรณ์โดยทั่วไปในสังคมไทยนั้นมักจะฝากเงินไว้เพื่อหวังดอกผลกำไรที่สูงกว่าธนาคารเท่านั้น

“จริงๆ ระบบสหกรณ์ต่างประเทศเขาก็ยืดหยุ่นกว่าในประเทศเรานะ แต่ประเทศเขามีความเป็นมืออาชีพมากกว่าทั้งในการบริหาร และในส่วนของสมาชิก ซึ่งตรงนี้มันก็เป็นปัญหาที่ว่าในประเทศไทยอาจมีระบบการตรวจสอบที่ไม่ทั่วถึง อย่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ก็อาจจะไม่มีความสามารถเพียงพอในด้านการตรวจทางด้านการเงินก็ได้”

ประเด็นหนึ่งที่ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงคือความผิดของผู้ตรวจสอบจากฝ่ายรัฐบาลอย่าง กรมส่งเสริมสหกรณ์ที่อยู่ภายใต้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์นั้น วิทยากรเผยว่า จุดเริ่มต้นของสหกรณ์นั้นเดิมทีมาจากการรวมตัวของกลุ่มชุมชนเกษตรกรเล็กๆ เพื่อสร้างความแข็งแรงทางด้านเศรษฐกิจให้แก่ชุมชน

“สหกรณ์ที่ยังมีขนาดเล็ก และมักจะเป็นการรวมตัวของเกษตรกรจึงอยู่ภายใต้การดูแลของกระทรวงเกษตรซึ่งทำงานกับเกษตรกรได้ง่ายกว่า ทว่าปัจจุบันนี้สหกรณ์ในระดับองค์กรต่างๆ มันขยายตัวมากขึ้น มันใหญ่ถึงขนาดมีเงินหมุนเวียนกว่า 100 ล้าน”

ในการแก้ไข้เชิงระบบเพื่อไม่ให้เกิดกรณีแบบนี้ขึ้นอีก เขาจึงมองว่า การดูแลตรวจสอบสหกรณ์ในยุคปัจจุบันควรมีการเปลี่ยนแปลง โดยให้องค์กรที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านการเงินโดยเฉพาะในการตรวจสอบ

“ถึงตอนนี้ผมก็ได้ข่าวว่า สหกรณ์บางแห่งก็มีการโกงกันนะ เพราะระบบการตรวจสอบมันทำได้ไม่ทั่วถึง ผมมองว่า ควรให้องค์กรอย่างแบงก์ชาติมารับผิดชอบในการตรวจสอบองค์กรในระดับสหกรณ์ด้วย”

…..

มหากาพย์การโกงครั้งนี้จะจบลงอย่างไร? บั้นปลายของระบบที่ยังมีช่องโหว่จะได้รับการแก้ไขหรือไม่? กับประเทศไทยที่ระบบการตรวจสอบและความรับผิดชอบฐานะสมาชิกยังคงเต็มไปด้วยความไม่รู้ ระบบสหกรณ์จะเป็นระบบที่โปร่งใสและปลอดภัยได้หรือไม่?

ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ LIVE






กำลังโหลดความคิดเห็น