(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)
Veneer of democracy in Cambodia
By Sebastian Strangio
15/07/2013
สม รังสี ผู้นำฝ่ายค้านของกัมพูชา กำลังจะเดินทางกลับบ้านเกิดในอีกไม่กี่วันข้างหน้า และตรงดิ่งเข้าร่วมการรณรงค์หาเสียงสำหรับการเลือกตั้งระดับชาติที่จะจัดขึ้นในสิ้นเดือนนี้ ภายหลังที่เขาใช้เวลาเกือบ 4 ปีลี้ภัยอยู่ในต่างประเทศอย่างชนิดที่ไม่ค่อยมีความสำคัญอะไรต่อการเมืองแดนเขมร การกลับมาของเขาได้รับการหนุนหลังจากแรงกดดันบีบคั้นของรัฐสภาสหรัฐฯ ซึ่งต้องการให้การออกเสียงลงคะแนนในกัมพูชาคราวนี้ “มีความน่าเชื่อถือและมีการแข่งขันกัน” ทั้งนี้แน่นอนทีเดียวว่าการปรากฏตัวของ สม รังสี คือการเพิ่มหน้าฉากอันมีสีสันแก่การเลือกตั้งครั้งนี้ให้ดูน่าเชื่อถือมากขึ้น ทว่าถึงอย่างไรนายกรัฐมนตรี ฮุนเซน ก็ไม่มีความตั้งใจที่จะสูญเสียอำนาจที่เขายึดกุมแน่นอยู่ในกำมือ
*ข้อเขียนชิ้นนี้แบ่งเป็น 2 ตอน นี่คือตอนที่ 2 ซึ่งเป็นตอนจบ*
(ต่อจากตอนแรก)
**เปลี่ยนหรือไม่เปลี่ยน?**
เนื่องจากขาดไร้ทรัพยากรทางการเงินอย่างชนิดที่พรรคประชาชนกัมพูชามีอยู่อย่างอุ่นหนาฝาคั่ง พรรคกู้ชาติกัมพูชาจึงพยายามสร้างการรณรงค์หาเสียงของตนโดยอาศัยมนตราแบบ บารัค โอบามา นั่นคือการเน้นย้ำว่า ผู้ออกเสียงจะต้องตัดสินใจว่า ต้องการที่จะ “เปลี่ยนแปลงหรือไม่เปลี่ยนแปลง?” ปรากฏว่ายุทธศาสตร์เช่นนี้สามารถเรียกระดมความกระตือรือร้นได้มากทีเดียวจากพวกผู้สนับสนุนวัยหนุ่มสาวในการชุมนุมครั้งต่างๆ ของพรรค นอกจากนั้น พรรคฝ่ายค้านพรรคนี้ยังวาดหวังด้วยว่าจะสามารถเรียกคะแนนเสียงเป็นกอบเป็นกำจากความไม่พอใจที่ยังคงคุกรุ่นอยู่ของประชาชนจำนวนมาก สืบเนื่องจากการเที่ยวแย่งยึดที่ดินราษฎรของพวกนายทุนซึ่งได้รับการหนุนหลังจากภาครัฐ ทั้งนี้ตามการประเมินของสำนักหนึ่งระบุว่าเรื่องการแย่งยึดที่ดินนี้ส่งผลกระทบกระเทือนประชาชนกัมพูชาจำนวนราว 300,000 คนทั่วประเทศนับตั้งแต่ปี 2003 เป็นต้นมาทีเดียว อีกทั้งยังคงบานปลายรุนแรงขึ้นอีกมากนับแต่การเลือกตั้งระดับชาติครั้งที่แล้วเมื่อปี 2008
อันที่จริงแล้วมีสัญญาณหลายประการเหมือนกันที่ส่อแสดงว่า พรรคประชาชนกัมพูชากำลังรู้สึกวิตกกังวลเพิ่มมากขึ้นว่าตนเองยึดกุมอำนาจได้อย่างมั่นคงแน่นหนาเพียงพอแล้วหรือ ถึงแม้ได้รับชัยชนะอย่างงดงามมากในการเลือกตั้งระดับตำบลในเดือนมิถุนายน 2012 แต่พรรคก็ประสบความเพลี่ยงพล้ำอย่างไม่คาดหมายในบางจุดในเขตพื้นที่ชนบทซึ่งถือเป็นฐานเสียงสำคัญของพรรค เพื่อปลอบโยนบรรเทาความไม่พอใจในเรื่องการแย่งยึดที่ดิน ฮุนเซนได้ว่าจ้าง “อาสาสมัคร” นักศึกษามาจัดตั้งกันเป็นกลุ่มเป็นคณะ แล้วส่งกระจายกันเดินทางไปทั่วประเทศเพื่อมอบหนังสือโฉนดที่ดินแบบใหม่ให้แก่พวกชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ ในช่วงครึ่งแรกของปี 2013 นี้ ฮุนเซนยังเดินทางไปเป็นประธานในพิธีถวายเจดีย์ทางศาสนาพุทธรวม 22 แห่ง โดยที่หลายแห่งทีเดียวตั้งอยู่ในเขตตำบลสำคัญซึ่งผู้มีสิทธิออกเสียงไม่ได้เป็นฐานเสียงของพรรคใดพรรคหนึ่งอย่างชัดเจน
ระหว่างการออกไปกล่าวปราศรัยต่อชาวนาหลายต่อหลายครั้ง ฮุนเซนพูดเตือนอย่างตรงไปตรงมาว่า ผลประโยชน์ต่างๆ ที่ชาวนาได้รับในระหว่างการปกครองของพรรคประชาชนกัมพูชา โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกโครงการทางด้านโครงสร้างพื้นฐานทั้งหลาย รวมทั้งการเป็นผู้อุปถัมภ์พระพุทธศาสนา จะต้องถึงจุดจบอย่างแน่นอนถ้าหากเขาพ่ายแพ้สูญเสียอำนาจ “ถ้าหากประชาชนไม่ออกเสียงเลือก (พรรคประชาชนกัมพูชา) แล้ว เราก็จะรู้สึกท้อแท้ผิดหวัง และก็จะหยุดการให้ความช่วยเหลือ” เขากล่าวเช่นนี้ในพิธีเปิดถนนระดับชาติสายหนึ่งในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา “โครงการทั้งหมดจะถูกยกเลิกไปหมดเลย … แม้กระทั่งโครงการอย่างการสูบน้ำเข้าสู่ผืนนาที่แห้งแล้ง” ในเดือนถัดมาเขาถึงกับเตือนว่า จะเกิด “สงครามภายในประเทศ” ถ้าหากฝ่ายค้านขึ้นครองอำนาจ
เมื่อพิจารณาจากบริบทของการเลือกตั้งคราวนี้ซึ่งฝ่ายค้านของกัมพูชาจะต้องต่อสู้กับพรรครัฐบาลที่ยังเข้มแข็งและไม่มีทีท่าจะอ่อนล้าลงอย่างง่ายๆ แล้ว การเดินทางกลับสู่กัมพูชาของ สม รังสี อาจจะเป็นการสร้างโอกาสให้แก่ฝ่ายค้าน และก็อาจจะกลายเป็นการตกลงสู่หลุมพรางของฮุนเซนได้เช่นกัน ทั้งนี้ผู้สังเกตการณ์บางคนคิดว่า การปรากฏตัวเข้าร่วมการรณรงค์หาเสียงอย่างแข็งขันของ สม รังสี จะเพิ่มพลังให้พรรคกู้ชาติกัมพูชา จนกระทั่งสามารถเพิ่มที่นั่งในสมัชชาแห่งชาติจากจำนวนที่มีอยู่ 29 ที่นั่งในปัจจุบัน “มันจะกลายเป็นแรงดันให้พรรคนี้สามารถพุ่งขึ้นไปครั้งใหญ่ทีเดียว” เลา มอง ฮาย (Lao Mong Hay) นักวิเคราะห์การเมืองอิสระให้ความเห็น “พรรคนี้กำลังก่อให้เกิดสิ่งที่อาจจะเรียกว่าเป็นขบวนการของมวลชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงในตลอดทั่วทั้งประเทศทีเดียว และกำลังมีแรงเหวี่ยงโมเมนตัมที่จะพุ่งตัวขึ้นไปแล้วทั้งๆ ที่ยังขาดไร้ผู้นำตัวจริงของพรรคด้วยซ้ำ”
แต่การกลับบ้านของ สม รังสี ก็สร้างประโยชน์ให้แก่จอมเจ้าเล่ห์อย่างฮุนเซน ผู้ซึ่งมีสายตาคิดวางเกมแบบระยะยาวเสมอมา การเลือกตั้งนั้นย่อมเป็นเสมือนแม่เหล็กที่ดึงดูดความสนใจของนานาชาติอยู่แล้ว และด้วยแสงสปอตไลต์เจิดจ้าส่องสว่างให้เห็นการดำเนินการทางการเมืองบางอย่างบางประการเพื่อให้ สม รังสี สามารถเดินทางกลับประเทศได้อย่างปลอดภัยเช่นนี้ ก็ยิ่งเพิ่มโอกาสที่จะปรากฏเป็นข่าวโด่งดังเกรียวกราว ทว่าความสนอกสนใจเช่นนี้จะยืนยาวต่อเนื่องไปได้อีกนานเท่าใดภายหลังการเลือกตั้งผ่านพ้นไปแล้ว?
เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2006 หนึ่งปีหลังจาก สม รังสี ต้องหลบลี้หนีหายออกไปจากกัมพูชาด้วยข้อหาหมิ่นประมาทเช่นเดียวกัน โดยที่ผู้ฟ้องร้องคราวนั้นนอกจากฮุนเซนแล้ว ยังมีสมเด็จนโรดมรณฤทธิ์ ซึ่งเวลานั้นเป็นพันธมิตรร่วมรัฐบาลผสมกับฮุนเซนด้วย เขาก็ได้รับพระราชทานอภัยโทษ และกลับคืนสู่บ้านเกิดท่ามกลางเสียงยกย่องสรรเสริญว่า เป็นสัญญาณแสดงให้เห็นถึง “บทใหม่ในประวัติศาสตร์ของกัมพูชา” แต่แล้วอีกเพียงไม่กี่ปีต่อมา หลังจากพรรคประชาชนกัมพูชามีความมั่นคงจนได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งอย่างถล่มทลายเมื่อปี 2008 แล้ว รัฐบาลก็จัดแจงขันน็อตกุมอำนาจให้แน่นหนาขึ้นอีกด้วยการลากตัวพวกนักหนังสือพิมพ์และบุคคลสำคัญของฝ่ายค้านขึ้นฟ้องร้องต่อศาล และหลังจากการท้าทายด้วยการถอนหลักปักเขตแดนในเดือนตุลาคม 2009 กระทั่ง สม รังสี ก็ถูกบังคับให้ต้องกลับเข้าสู่ชีวิตผู้ลี้ภัยในต่างแดนอีกรอบหนึ่ง
พวกผู้สังเกตการณ์ที่มองโลกในแง่ดีทั้งหลาย ยังคงมีความคาดหวังว่าครั้งนี้สิ่งต่างๆ จะแตกต่างไปจากเดิม “แรงกดดันบีบคั้นกำลังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ” เลา มอง ฮาย บอก “ดูเหมือนว่าอเมริกากำลังเอาจริงเอาจังแล้ว”
ทว่าประวัติศาสตร์กลับบ่งชี้ไปในอีกทางหนึ่ง ในขณะที่ ฮุนเซน รวมศูนย์อำนาจควบคุมประเทศตลอดช่วงเวลา 20 ปีที่ผ่านมา เขาได้ใช้มาตรการ “พระราชทานอภัยโทษ” มาครั้งแล้วครั้งเล่า เพื่อเป็นเครื่องมือในการปรับเปลี่ยน “สถานะเดิม” (status quo) กันใหม่ ทั้งนี้ด้วยการใช้มาตรการนี้เอง ย่อมให้ผลในทางลดแรงกดดันบีบคั้นจากต่างประเทศ ขณะเดียวกันก็สามารถที่จะรีดเร้นเรียกร้องการอ่อนข้อประนีประนอมทางการเมืองจากพวกปรปักษ์ของเขา เมื่อปี 2006 สม รังสี เสนอที่จะกล่าวขอโทษ ฮุนเซน กับ สมเด็จนโรดมรณฤทธิ์ อย่างเปิดเผยต่อสาธารณชน เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนกับการที่ตัวเขาจะได้รับพระราชทานอภัยโทษ สำหรับข้อเสนอแลกเปลี่ยนในคราวนี้ก็คือความชอบธรรม กล่าวคือการปรากฏตัวของ สม รังสี ย่อมช่วยเพิ่มพูนความน่าเชื่อถือให้แก่การเลือกตั้งคราวนี้ซึ่งยังคงมีข้อบกพร่องไม่ถูกต้องอันฉกาจฉกรรจ์อยู่มากมาย
ตัว สม รังสี เองก็กล่าวเตือนว่า “เพียงแต่ข้อเท็จจริงที่ว่าตัวผมได้เดินทางกลับบ้าน ยังไม่ได้ทำให้เกิดการเลือกตั้งอย่างอิสระเสรีและยุติธรรมขึ้นมาในกัมพูชาหรอก” แต่ ฮุนเซน ย่อมทราบดีว่า คำถามสำคัญที่สุดสำหรับพวกรัฐบาลต่างประเทศนั้น ไม่ใช่อยู่ที่ว่าการเลือกตั้งจะ “ยุติธรรม” อย่างสมบูรณ์เต็มที่หรือไม่ (อันที่จริงการเลือกตั้งในกัมพูชาตั้งแต่ปี 1993 เป็นต้นว่า ก็ไม่มีคราวไหนเลยที่เรียกได้ว่ามีความยุติธรรมอย่างเต็มที่) หากแต่อยู่ที่ว่าการออกเสียงลงคะแนนจะมีความยุติธรรมพอที่จะยอมรับกันได้หรือไม่ต่างหาก
อู วิรัค (Ou Virak) ประธานศูนย์สิทธิมนุษยชนของชาวกัมพูชา (Cambodian Centre of Human Rights) ที่เป็นองค์กรนอกภาครัฐบาล (เอ็นจีโอ) ในแดนเขมร ได้กล่าวไว้ตั้งแต่ก่อนที่ สม รังสี จะได้รับพระราชทานอภัยโทษคราวล่าสุดนี้ด้วยซ้ำว่า เมื่อพิจารณาจากการปฏิบัติในอดีตที่ผ่านๆ มาของพวกรัฐบาลต่างประเทศ ซึ่งได้เรียนรู้มานานแล้วถึงวิธีที่จะอยู่กับฮุนเซน รัฐบาลต่างประเทศเหล่านี้จะยอมรับว่ามี “ความไม่ปกติต่างๆ” ในการลงคะแนนเลือกตั้ง ทว่าลงท้ายแล้วก็จะยอมรับผลการเลือกตั้งอยู่นั่นเอง “ในความเห็นของผมแล้ว พวกประเทศผู้บริจาค (ประเทศผู้ให้ความช่วยเหลือกัมพูชา) ... จะมองเห็นความอยุติธรรม จะออกมาร้องโวยวายเรื่องเหล่านี้ แต่จะไม่มีวันยืนหยัดเดินหน้าชนหรอก” เขากล่าว
ในเวลา 20 ปี ฮุนเซนได้ลดความคาดหวังของรัฐบาลต่างประเทศเกี่ยวกับประชาธิปไตยในกัมพูชา จนเวลานี้ลงมาเหลือในระดับที่ว่าเพียงแค่มีการปรากฏตัวของผู้นำฝ่ายค้านบนแผ่นดินกัมพูชาเท่านั้น ก็เป็นอันเพียงพอแล้วที่จะถือว่าการเลือกตั้งของประเทศนี้อยู่ในร่องในรอย แม้กระทั่งรัฐมนตรีต่างประเทศฮอร์ นัมฮอง ก็ยังออกมากล่าวอวดอ้างแล้วว่า การปรากฏตัวของ สม รังสี ในตัวมันเองย่อมเป็นหลักประกันว่าการเลือกตั้งคราวนี้เป็นไปอย่าง “เสรีและยุติธรรม”
การที่มีหรือไม่มี สม รังสี ยังไม่ใช่ภัยคุกคามอะไรหนักหนา แต่อันตรายอันแท้จริงในระยะยาวสำหรับพรรคประชาชนกัมพูชากลับอยู่ที่ว่า พรรคจะสามารถประคับประคองโมเมนตัมทางการเมืองซึ่งเกิดขึ้นจากการโฆษณาชวนเชื่อของตนเองไปได้ยาวนานแค่ไหน ด้วยฤทธิ์เดชของการโฆษณาชวนเชื่อดังกล่าวนี้ ฮุนเซนกำลังถูกสร้างภาพในลักษณะเป็นซูเปอร์แมนมากขึ้นทุกทีๆ โดยที่เป็นทั้งอัจฉริยะทางการทหาร, นักวางแผนทางการเมืองผู้เหนือชั้น, และเป็นบุรุษผู้มากด้วยความดีงามเหลือล้นจนกระทั่งสามารถเจือจานแบ่งปันให้แก่ประชาชน
มันเป็นมายาภาพซึ่งจักสามารถรักษาเอาไว้ได้อย่างแท้จริงก็ด้วยชัยชนะในการเลือกตั้งซึ่งทิ้งห่างคู่แข่งขันอย่างมากมายยิ่งขึ้นเรื่อยๆ แต่ถ้าหาก สม รังสี และพรรคซึ่งกลับมีชีวิตชีวาขึ้นมาอีกครั้งของเขา เกิดสามารถช่วงชิงเสียงบางส่วนจากคลังคะแนนโหวตในเขตชนบทของพรรคประชาชนกัมพูชาแล้ว ก็มีความเป็นไปได้ที่รัศมีเรืองรองแห่งความไร้แพ้พ่ายที่ ฮุนเซน สู้อุตส่าห์ใช้ความพยายามบ่มเพาะให้เปล่งออกมารอบๆ ตัวเขา ก็อาจจะเริ่มต้นจางคลายอ่อนแสงลงอย่างช้าๆ ถ้าหากเป็นเช่นนี้แล้ว การเดิมพันเดินทางกลับบ้านของ สม รังสี ก็จะต้องถือว่าคุ้มค่า
เซบาสเตียน สตรังจิโอ เป็นนักหนังสือพิมพ์ซึ่งพำนักอยู่ในพนมเปญ โดยทำหน้าที่รายงานข่าวเกี่ยวกับภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ปัจจุบันเขากำลังเขียนหนังสือเล่มหนึ่งซึ่งจะพูดถึงกัมพูชายุคใหม่ ทั้งนี้สามารถติดต่อเขาได้ทางอีเมลที่ sebastian.strangio@gmail.com