.
พนมเปญ 29 ก.ค.2556 (รอยเตอร์) - นายกรัฐมนตีที่อยู่ในตำแหน่งยาวนานที่สุดของกัมพูชา เผชิญกับความถดถอยทางการเมืองครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 2 ทศวรรษวันจันทร์นี้ เมื่อฝ่ายค้านของประเทศปฏิเสธผลการเลือกตั้งที่ด่างพร้อยด้วยความไม่ปกติต่างๆ แม้ว่าพรรคของรัฐบาลจะสูญเสียที่นั่งไปอย่างมากก็ตาม นายสม รังสี ผู้นำฝ่ายค้านซึ่งลิงโลดกับที่นั่งในรัฐสภาที่เพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว ได้เรียกร้องให้มีการสอบสวนสิ่งที่เรียกว่า เป็นการประพฤติมิชอบในขบวนการเลือกตั้งวันอาทิตย์ที่ผ่านมา
รัฐบาลได้ประกาศในตอนค่ำวันอาทิตย์ว่า พรรคประชาชนกัมพูชา (Cambodian People's Party) ของฮุนเซนเป็นฝ่ายชนะได้ 68 จากทั้งหมด 123 ที่นั่งในรัฐสภา ขณะที่ฝ่ายค้านได้ 55 ที่นั่ง ซึ่งหมายความว่า ฝ่ายรัฐบาลสูญเสียไปถึง 22 ที่นั่ง นับเป็นการเลือกตั้งครั้งเลวร้ายที่สุดของฮุนเซน ซึ่งปัจจุบันอายุ 60 ปี ตั้งแต่ประเทศที่ถูกทำลายจากสงครามแห่งนี้กลับสู่ระบอบประชาธิปไตยอีกครั้งในปี 2541 แม้ว่า CPP จะยังคงมีเสียงข้างมาก และขยายเวลาการอยู่ในอำนาจของฮุนเซนที่ครองเก้าอี้มา 28 ปีออกไปได้อีก
ปัญหาเกี่ยวกับผลการเลือกตั้งที่ลากยาว และฮุนเซน ที่อ่อนแรงลง อาจจะทำให้เกิดความไม่แน่นอนทางด้านนโยบายขึ้นในประเทศเล็กๆ แต่เติบโตอย่างรวดเร็วในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่สามารถดึงดูดความสนใจจากนักลงทุน และสร้างสายสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจอย่างเข้มแข็งกับจีนและเวียดนาม
แต่โอกาสที่ฝ่ายค้านจะทำให้เกิดเปลี่ยนแปลงผลการเลือกนั้นนับว่าริบหรี่มาก เนื่องจากพรรครัฐบาลกุมศาลเอาไว้ในมือ และประเทศผู้บริจาครายใหญ่ เช่น สหรัฐฯ ก็อาจไม่ยอมปฏิเสธผลการเลือกตั้ง จนกว่าจะสามารถแสดงหลักฐานเกี่ยวกับการทุจริตฉ้อโกงได้
พรรคกู้ชาติกัมพูชา (Cambodia National Rescue Party) ซึ่งการกลับจากลี้ภัยในต่างแดนของนายสม รังสี ได้ช่วยหนุนเนื่องในการรณรงค์หาเสียง กล่าวว่า พรรคต้องการให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการสอบสวนโดยมีผู้แทนจากพรรคการเมืองต่างๆ ตัวแทนองค์การสหประชาชาติ คณะกรรมการการเลือกตั้งแห่งชาติ และผู้แทนจากองค์กรพัฒนาภาคเอกชน
“มีคนอยู่ 1.2 ถึง 1.3 ล้าน ที่ไม่มีชื่ออยู่ในบัญชี และไม่สามารถหย่อนบัตรลงคะแนนได้ พวกเขาได้ลบสิทธิในการโหวตของพวกเรา แล้วจะให้เรายอมรับการเลือกตั้งได้อย่างไร” นายรังสี ซึ่งเป็นอดีตรัฐมนตรีคลัง กล่าวระหว่างการแถลงข่าว
“นอกจากนั้นก็ยังมีบัญชีผี คือ มีเพียงชื่ออยู่ในบัญชี”
พรรคฝ่ายค้านได้ถือโอกาสแทรกเข้าไปในความวิตกกังวลของชาวกัมพูชาเกี่ยวกับความไม่เท่าเทียม และการคอร์รัปชันที่ฝังแน่น ซึ่งฝ่ายตรงกันข้ามกล่าวว่า นโยบายของฮุนเซนทำให้สิ่งนี้แพร่ลาม
ฮุนเซน ที่ยังไม่ได้แสดงวาจาใดๆ ต่อสาธารณชนเกี่ยวกับผลการเลือกตั้ง อาจจะต้องปรับเปลี่ยนนโยบายบางอย่างต่อหน้าพรรคฝ่ายค้านที่ได้รับเสียงสนับสนุนจากประชาชนมากขึ้น และอาจจะต้องเอาใจใส่ต่อเสียงประชามติให้มากยิ่งขึ้น การสูญเสียเสียงข้างมาก 2 ใน 3 ในรัฐสภาหมายความว่า CPP จะต้องพึ่งการสนับสนุนจากพรรคฝ่ายค้านในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
แต่ด้วยเสียงส่วนใหญ่ และเครือข่ายอิทธิพลทางการเมืองที่ฝังตัวอยู่ใน CPP ที่เขาเองสร้างขึ้นภายในพรรค ทำให้ฮุนเซน ยังสามารถควบคุมกระบวนการกำหนดนโยบายต่างๆ ได้
“มันเป็นเรื่องที่ไม่เคยมีมาก่อน และอย่างไม่คาดคิด นับแต่บัดนี้เป็นต้นไปผมเองไม่คิดว่า ระบอบนี้จะมีเสถียรภาพอีกต่อไป” กูเลีย ซิโน นักวิเคราะห์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของกลุ่มคอนโทรล ริสค์ (Control Risks) ในสิงคโปร์กล่าว
.
2
.
ผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่โกรธแค้น
พรรครัฐบาลครอง 90 ที่นั่งในรัฐสภาที่กำลังจะหมดวาระลง พรรคอื่นๆ ที่รวมตัวกันจัดตั้งขึ้นเป็น CNRP มี 29 ที่นั่ง พรรคเล็กพรรคน้อยอื่นๆ อีก 4 ที่นั่งที่เหลือ บัดนี้คณะกรรมการการเลือกตั้งของกัมพูชาจะต้องประกาศออกมาว่า แต่ละพรรคจะได้เก้าอี้จำนวนเท่าไร แต่จะยังไม่มีการประกาศผลการเลือกตั้งทั้งหมดจนกว่าจะวันที่ 15 ส.ค.เป็นอย่างเร็ว
กลุ่มเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนได้วิจารณ์ว่า ระบบเลือกตั้งโอนเอียงเข้าข้างฝ่ายรัฐบาลอย่างมาก สหภาพยุโรปได้ตัดสินใจไม่ส่งผู้สังเกตการณ์เลือกตั้งครั้งนี้ หลังจากกัมพูชาไม่ยอมปรับปรุงแก้ไขตามที่อียูเสนอไปก่อนหน้านี้
กลุ่มเพื่อความโปร่งใสระหว่างประเทศ (Transparency International) ที่เข้าไปช่วยสังเกตการณ์ ได้ชี้ให้เห็นความไม่ชอบมาพากลหลายอย่าง และระบุในคำแถลงฉบับหนึ่งว่า กลุ่ม “มีความห่วงใยเกี่ยวกับการสูญเสียสิทธิของพลเมืองจำนวนหนึ่งกับจำนวนผู้มีสิทธิที่น่าสงสัยอีกจำนวนหนึ่ง”
แต่การหย่อนบัตรลงคะแนนเมื่อวันอาทิตย์ก็ถือว่า มีความสงบโดยทั่วไป เช่นเดียวกันกับการณรงค์หาเสียง
พรรค CPPP ที่ได้รับการหนุนหลังจากสื่อในประเทศ และแหล่งข้อมูลที่เหนือกว่ามีความมั่นใจในชัยชนะ นักวิเคราะห์ได้คาดการณ์ล่างหน้าว่า CPP จะมีเสียงข้างมากลดลง หลังการรวมตัวของพรรคฝ่ายค้านหลัก 2 พรรค เช่นเดียวกับการเดินทางกลับประเทศของนายรังสี แต่การได้เสียงเพิ่มมากขึ้นอย่างมากมายของฝ่ายค้านนับเป็นเซอร์ไพรส์
การส่งออกสินค้าเสื้อผ้าสำเร็จรูป บวกกับการไหลเข้าของเงินลงทุนกับความช่วยเหลือจากจีน ได้เป็นเชื้อเพลิงขับดันให้เศรษฐกิจขยายตัวอย่างรวดเร็ว แต่สิ่งนี้ก็เกิดขึ้นควบคู่ไปกับความตึงเครียดทางสังคมที่เพิ่มสูงขึ้น
.
3
4
ชาวกัมพูชาได้จัดการเดินขบวนประท้วงถี่ขึ้นเกี่ยวกับสภาพเสื่อมในโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้ากับเครื่องนุ่งห่มเพื่อส่งออก กับปัญหาสิทธิในที่ดินทำกินในประเทศที่มีประชากร 14 ล้าน และ 1 ใน 3 ดำรงชีวิตอยู่ด้วยรายได้ที่ไม่ถึง 65 เซ็นต์ต่อวัน
ประชากรในเขตเมืองเพิ่มจำนวนขึ้นรวดเร็วในช่วงไม่กี่ปีมานี้ ทำให้คนรุ่นใหม่ที่มีสิทธิเลือกตั้งมีจำนวนมากขึ้น คนกลุ่มนี้เข้าถึงแหล่งข้อมูลข่าวสารที่กว้างขวางขึ้นในโลกออนไลน์ และมีแนวโน้มให้การสนับสนุนฝ่ายค้าน
“ในกัมพูชาประชาธิปไตยเข้มแข็งขึ้นมากกว่าที่ภายนอกคาดคิด” ดักลาส เคลย์ตัน หัวหน้าฝ่ายบริการบริษัทเงินทุนเลพเพิร์ด แคปปิตอล ในกรุงพนมเปญกล่าว
“เป็นไปได้ทีเดียวว่ารัฐบาลจะต้องใช้วิธีปรึกษาหารือ และเอาใจใส่ต่องประชามติของสาธารณชนให้มากยิ่งขึ้น”
องค์การสหประชาชาติ ได้จัดการเลือกตั้งขึ้นในปี 2536 ที่ทำให้กัมพูชาพ้นจากความยากลำบากเข้าสู่ประชาธิปไตย หลังจากความยุ่งเหยิงที่กินเวลาหลายทศวรรษ รวมทั้งภายใต้การปกครองของรัฐบาลฆ่าล้างเผ่าพันธุ์คอมมิวนิสต์เขมรแดง ระหว่างปี 1975-1979
ฮุนเซน ซึ่งเป็นอดีตผู้บัญชาการทหารระดับล่างของเขมรแดงที่ตีจาก แพ้การเลือกตั้งและปฏิเสธที่จะยอมรับผล จากนั้นได้ทำการเจรจาเพื่อเข้ารับตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีร่วม ก่อนจะยึดอำนาจในปี 1997.
.
แสบเข้าไปถึงทรวง AFP/Reuters
5
6
7
8