xs
xsm
sm
md
lg

กลุ่มโรจนะจับมือไอทีดี ตั้งนิคมอุตฯ “ทวาย” ตั้งเป้ารองรับการลงทุนในอาเซียนโต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สวนอุตสาหกรรมโรจนะ ร่วมกับ อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ ทำสัญญาร่วมทุนก่อตั้งบริษัทพัฒนานิคมอุตสาหกรรมทวาย ครอบคลุมพื้นที่ 127,000 ไร่ ตั้งเป้ารองรับการลงทุนในอาเซียนที่กำลังขยายตัว

นายจิระพงษ์ วินิชบุตร กรรมการผู้จัดการ บริษัท สวนอุตสาหกรรมโรจนะ เปิดเผยว่า บริษัทเล็งเห็นถึงโอกาสการลงทุนในภูมิภาคอาเซียนที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงได้ตกลงทำสัญญาร่วมทุนกับบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือไอทีดี ในการก่อตั้งบริษัทเพื่อดำเนินการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมทวาย ประเทศพม่า ครอบคลุมพื้นที่ 127,000 ไร่ โดยจะมีการทยอยพัฒนาเป็นขั้นตอนในแต่ละเฟส ซึ่งมีกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย ประกอบด้วย อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ เครื่องนุ่งห่มและสิ่งทอ อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า ยางพารา เฟอร์นิเจอร์ทั้งจากไม้ และยางพารา พลาสติกและวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้างเครื่องหนัง และอาหารทะเล

“การเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ทำให้ภาคธุรกิจอุตสาหกรรมเกิดความคล่องตัวมากขึ้น เราจึงต้องมีการพัฒนาเพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลง และความต้องการของนักลงทุน โดยให้ความสำคัญในการเชื่อมโยงการลงทุนไปสู่ประเทศเพื่อนบ้านที่มีศักยภาพ ซึ่งพม่าถือเป็นประเทศที่กำลังได้รับความสนใจอย่างมากจากนักลงทุน โดยเฉพาะในส่วนของพื้นที่ทวายซึ่งเป็นประตูสำคัญในการเชื่อมต่อระบบลอจิสติกส์ไปยังประเทศแถบตะวันตกได้อย่างรวดเร็ว สำหรับโครงการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมทวาย คาดว่าจะเริ่มดำเนินการ และทำการตลาดได้ภายในสิ้นปี 2556 โดยผู้ซื้อจะสามารถดำเนินการก่อสร้างได้ประมาณต้นปี 2557”

นายอู เย เมียน ประธานคณะกรรมการดำเนินงานโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย กล่าวว่า แผนดังกล่าวซึ่งมีระยะเวลาในการดำเนินงานคราวละ 5 ปี จะตั้งอยู่บนพื้นที่ประมาณ 113,438 ไร่ และว่า ธุรกิจที่ดำเนินงานในเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย จะต้องไม่สร้างมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมและไม่ส่งผลกระทบต่อสังคม โดยเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย ถือเป็นโครงการแรกของประเทศที่เน้นในเรื่องนี้

ทั้งนี้ โครงการระยะแรกจะเป็นวิสาหกิจขนาดกลางและย่อม (เอสเอ็มอี) เน้นอุตสาหกรรมตัดเย็บเสื้อผ้า เครื่องหนัง อาหาร ยางพารา อุตสาหกรรมที่ใช้ผลิตผลเกษตรเป็นพื้นฐาน และเฟอร์นิเจอร์ มีกำหนดแล้วเสร็จภายใน 5 ปี บนพื้นที่ราว 6.25 พันไร่

โครงการระยะที่ 2 เป็นแผนการ 5 ปีเช่นเดียว บนพื้นที่ 5,000 ไร่ ประกอบด้วย โรงงานเหล็ก ปุ๋ย โรงกลั่นน้ำมัน และโรงงานผลิตรถยนต์ โครงการระยะที่ 3 ใช้เวลา 10 ปี ประกอบด้วยโรงงานผลิตพลาสติก เคมีภัณฑ์ และโรงกลั่นน้ำมันดิบ ขณะที่โครงการระยะที่ 4 และ 5 จะเปิดให้บริษัทการค้าและการตลาดนำเสนอโครงการ

นอกจากนี้ เขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย ยังรวมถึงโครงการโครงสร้างพื้นฐาน อย่างการสร้างท่าเรือน้ำลึก ทางหลวงพม่า-ไทย โรงไฟฟ้า เขื่อน และที่้อยู่อาศัย โครงการดังกล่าวริเริ่มโดยพม่าและไทย ภายหลังได้เชิญญี่ปุ่นเข้าเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น