ที.กรุงไทยอุตสาหกรรม อ่อยผลงานปีนี้อาจพลาด รอประเมินผลอีกครั้งช่วงไตรมาส 3 เหตุผลกระทบรถยนต์คันแรกลูกค้าเมินรับรถ กระทบผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ เร่งพัฒนาคุณภาพการผลิตหวังต้นทุนลด ดันกำไรเพิ่ม เผยทบทวนการเติบโตปีนี้ใหม่อาจโตไม่ถึง 10%
นายจุมพล เตชะไกรศรี ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ที.กรุงไทยอุตสาหกรรม จำกัด (มหาชน) หรือ TKT ผู้ผลิตชิ้นส่วนพลาสติกของรถยนต์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า เปิดเผยว่า ผลงานไตรมาส 2 ที่กำลังจะประกาศออกมาว่าจะต่ำกว่าไตรมาสแรก และอาจต่ำกว่าไตรมาส 2 ปี 55 หลังจากภาพรวมทั่วไปไม่ดีนัก
“แนวโน้มเริ่มไม่ค่อยดีส่อมาให้เมื่อกลางเดือนที่แล้วครับ เพราะออเดอร์หยุดชะงัก หลังจากก่อนหน้าที่มีมาต่อเนื่อง และไตรมาส 2 ก็เป็นช่วงของการดร็อปของธุรกิจนี้ด้วย แต่เมื่อรวมกับผลงานไตรมาสแรกถือว่าครึ่งแรกปีนี้ยังดีอยู่ครับ แต่ครึ่งปีหลังเป็นสิ่งที่เราต้องพิจารณาอันอีกครั้ง”
ทั้งนี้ เป็นผลจากการจองรถยนต์คันแรกของลูกค้าที่เข้าจองกับผู้ผลิตรถยนต์ เพื่อให้ทันกับมาตรการภาษีรถยนต์คันแรกที่จะหมดลงก่อนสิ้นปี 55 ซึ่งระยะนั้นทำให้มียอดจองซื้อรถยนต์หลั่งไหลเข้าสู่ผู้ผลิต อันส่งผลให้ออเดอร์สินค้าชิ้นส่วนยานยนต์ก็เริ่มไหลเข้าสู่ผู้ประกอบการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ถ้วนหน้า
อย่างไรก็ดี หลังจากเงื่อนไขที่หลากหลาย และเศรษฐกิจแย่ลง ค่าครองชีพที่สูงขึ้น ประกอบกับภาษีที่รัฐบาลยกเว้นให้นั้น เมื่อหักลบกลบกับค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่ต้องจ่ายจิปาถะให้แก่ภาครัฐภายหลังจากที่รับรถมาแล้ว ไม่ได้แตกต่างกับการซื้อรถตามปกติ แสดงให้เห็นถึงการไม่ได้เอื้อหนุนให้ประหยัดอย่างที่ประเมินไว้แต่แรก ล้วนเป็นผลให้ยอดรับจองของรถยนต์คันแรกต่ำลงกว่าเป้าหมาย และเมื่อผู้ผลิตจะส่งมอบพบว่าลูกค้าไม่มารับรถ ได้เริ่มส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์แล้ว หลังพบว่า ยอดจองรถที่ผู้จองยกเลิก หรือไม่มารับรถตามสัญญา และสุดท้ายก็ฉีกสัญญาไป ทำให้เกิดตัวเลขเป้าหมายยอดขายที่ประเมินไว้พลาดไปจากเดิม โดยจากเดิม TKT ประเมินการเติบโตของยอดขายปีนี้ไว้จากปีก่อนมากกว่า 10% แต่เมื่อเกิดผลจากการชะลอรับรถ หรือการรับรถคันแรกผิดเป้าไปจากตัวเลขที่มี ทำให้เป็นเรื่องที่ต้องคิดทบทวน
“แต่ขณะนี้เราก็ยังคงเป้าตัวเลขเดิมอยู่นะครับ ยังไม่ทำอะไร ต้องคอยดูก่อนว่าไตรมาส 3 จะเป็นอย่างไร ซึ่งเราขอดูไปถึงเดือนสิงหาคมว่าจะเอายังไงต่อครับ มันมีหลายปัจจัยที่อาจต้องทำให้เราประเมินยาก และก็ยังนิ่งๆ ดูเหตุการณ์ก่อน แต่ในความโชคร้ายเราก็ยังมีเรื่องดีตรงที่ธุรกิจฉีดขึ้นรูปพลาสติกของเรายังไปได้ดี และเชื่อว่าปีนี้จะเป็นตัวที่จะมาพยุงรายได้ และกำไรไม่ให้เราตกไปมากกว่าที่ควรจะเป็นครับ”
อย่างไรก็ดี ปีนี้ แม้ในสายธุรกิจชิ้นส่วนยานยนต์จะได้รับผลกระทบ แต่ในด้านของการผลิตขึ้นรูปพลาสติกที่ถือว่ายังคงไปได้ด้วยดี และจะเป็นแหล่งที่สร้าง และช่วยพยุงรายได้จากธุรกิจนี้ช่วย กอปรกับสินค้าชนิดนี้มีมาร์จิ้นสูง และฐานรายได้เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เพราะแม้ยอดรับรถยนต์คันแรกของผู้ผลิตหลายแห่งจะไม่เป็นไปตามที่ได้รับใบจอง เพราะเงินที่จะใช้ซื้อรถในปี 56 ผู้บริโภคกลับไปเทเงินจองซื้อในรอบปี 54-55 เพื่อรับสิทธิยกเว้นภาษี แต่เชื่อว่าออเดอร์ชิ้นส่วนยานยนต์จะกลับมาปกติในปี 57
“อย่างน้อยที่สุดฐานการผลิตรถยนต์ก็ยังอยู่ที่ไทย และหลายผู้ประกอบการรถยนต์ที่หันมาปักฐานการผลิตในไทย เมื่อทุกอย่างสู่ปกติ ออเดอร์ก็จะกลับมา ผมเชื่อว่าปีหน้าก็น่าจะเข้าที่แล้วคับ แต่ปีนี้เราต้องผ่านไปให้ได้ แต่จะทรง หรือทรุดแค่ไหนก็ต้องมาดูอีกครั้งปลายปี” นายจุมพลกล่าว
โดยปีนี้ภาพรวมของการผลิตรถยนต์ทั้งระบบประมาณ 2.45 ล้านคัน ซึ่งผลที่ออกมาอาจไม่ถึง หรือหากจะถึงก็อาจเลยไปบ้างนิดหน่อยไปที่ 2.55 ล้านคัน ถ้าเรามองแบบเข้าข้างตัวเอง แต่หากจะลดลงก็น่าจะไม่มากนัก ซึ่งนั่นก็หมายถึงว่าเป้าหมายการเติบโตของยอดขายปีนี้อาจไม่โตหรือลดลง แต่จะมากน้อยแค่ไหนเป็นสิ่งที่ต้องประเมินกันอีกครั้ง
นายจุมพล กล่าวต่อว่า แม้ยอดขายในประเทศจะมีแนวโน้มลดลงให้เห็น แต่ดีที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังสดใส และการส่งออกยังไปได้เรื่อยๆ จึงถือว่ายังพอรับได้ และผลงานครึ่งแรกปี 56 โดยรวมดีกว่าครึ่งแรกปี 55 และตัวเลข 5 เดือนแรกสวย ขณะที่พอถึงเดือนมิถุนายนก็เริ่มเห็นแนวโน้มการลดลงของออเดอร์แล้วก็ตาม
จากภาพรวมทั้งหมด TKT จึงเชื่อว่า ภาพรวมของไตรมาส 4 ปีนี้คงจะไม่ใช่ช่วงพีกอย่างที่เห็นสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ทั้งระบบเพราะจะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการทุกราย เนื่องจากดีมานด์ซื้อสินค้าไม่เป็นไปตามประมาณการที่ทำไว้เมื่อปลายปีก่อน ซึ่้งในปี 55 ยอดขายดีขึ้นมากหลังจากปี 53 เกิดวิกฤตน้ำท่วมหนัก และเมื่อเข้าสู่ปกติก่อนสิ้นปี ความต้องการชิ้นส่วนยานยนต์พุ่งสูงขึ้นมาก จึงทำให้ส่งผลดีต่อผู้ประกอบการดันออเดอร์ยาวมาถึงปี 55 ประกอบกับเกิดการกระตุ้นจากรัฐบาลด้วยนโนบายรถคันแรกที่ละเว้นภาษีถึงคันละ 1 แสนบาท ทำให้ผู้ผลิตรถยนต์เร่งผลิตเพื่อสนองความต้องการของลูกค้าที่จองรถเข้ามามากมาย
นายจุมพล กล่าวว่า จากการหันมาผลิตสินค้าที่มีกรอสมาร์จิ้นสูงขึ้น ซึ่งตั้งเป้าช่วงปลายปี 57 จะทำตัวเลขนี้ให้ถึง 17-18% และเชื่อว่ายอดความคึกคักของธุรกิจยานยนต์จะเข้าสู่ปกติแล้ว ขณะเดียวกัน TKT ได้ทำงานที่ถนัดให้แกร่งมากขึ้นพร้อมกับเน้นคุณภาพ เพื่อรักษาต้นทุนไม่พุ่งตามค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น อีกทั้งแผนการจะเข้าไปจำหน่ายสินค้าในอินโดนีเซียด้วยเพราะเรามองว่าประเทศนี้อัตราการเติบโตสูง และน่าสนใจมาก ถือเป็นตลาดที่ใหญ่มาก
สำหรับค่าแรงที่เพิ่มขึ้นกระทบบ้างประมาณ 3% ซึ่งส่งผลต่อกำไรสุทธิของบริษัทต่ำลง อย่างไรก็ตาม เพราะปีนี้บริษัทได้ปรับเพิ่มค่าแรงพนักงานขึ้นทั้งหมดแล้ว ดังนั้น บริษัทต้องบริหารต้นทุนให้ต่ำ และเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้มีคุณภาพตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ จะเป็นการเซฟต้นทุนได้มาก