ฉะเชิงเทรา - โรงงานผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ เดินตามรอยค่ายรถยนต์ยักษ์ใหญ่ชื่อดัง ผุดป่าเชิงนิเวศในรั้วโรงงาน เตรียมขยายพื้นที่ปลูกสู่โรงงานแห่งใหม่ที่เพิ่งขยายฐานการผลิต เพื่อส่งเสริมสิ่งแวดล้อมที่ดี เพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กลับคืนมามากขึ้น
วันนี้ (16 ก.ค.) ที่ บริษัท วาย เอส ภัณฑ์ จำกัด ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ประเภทท่อไอเสีย และส่วนประกอบตัวถังรถยนต์ รวมถึงแม่พิมพ์ในการผลิต ในเครือของบริษัท ซังโกะ ประเทศญี่ปุ่น เลขที่ 90/3 หมู่ 9 ต.บางวัว อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา ภายในนิคมอุตสาหกรรมเวลโกรว์ ซอย 10 คณะผู้บริหารซึ่งนำโดย นายมิทสึยะ อุเอะโอกะ ประธานบริษัท วาย เอส ภัณฑ์ จำกัด นำพนักงานกว่า 100 คน ร่วมกันปลูกป่าเชิงนิเวศด้านหน้าโรงงาน บนเนื้อที่ประมาณ 1 ไร่เศษ
ทั้งนี้ เพื่อเป็นแปลงปลูกป่าเชิงนิเวศในรั้วโรงงานแบบเริ่มต้น ก่อนที่จะมีการลงพื้นที่ปลูกป่าในลักษณะเดียวกันนี้ภายในโรงงานแห่งใหม่ที่เพิ่งก่อสร้างแล้วเสร็จ บนเนื้อที่ประมาณ 200 ไร่ ในอ.บ้านโพธิ์ ซึ่งอยู่ถัดไปจากโรงงานผลิตรถยนต์ขนาดใหญ่ชื่อดังแห่งหนึ่ง (โตโยต้า) ประมาณ 1 กิโลเมตร ถนนฉะเชิงเทรา-บางปะกง โดยมี ศ.ดร.อาคิระ มิยาวากิ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษานานาชาตินิเวศวิทยา ประเทศญี่ปุ่น ผู้มีชื่อเสียงทางด้านสาขาสิ่งแวดล้อม มาเป็นผู้คัดสรรพันธุ์ไม้ประจำถิ่นที่เหมาะสมลงแปลงปลูก พร้อมให้แนวคิดในการปลูกป่าอย่างยั่งยืนแก่พนักงาน และผู้ร่วมโครงการ
ขณะที่ นายมิทสึยะ อุเอะโอกะ กล่าวถึงโครงการนี้ว่า อยากให้พนักงานของบริษัทที่มีกว่า 2,000 คน พร้อมครอบครัว ตลอดจนชุมชนรอบข้างหันมาสร้างป่าด้วยกัน ด้วยการปลูกต้นไม้เพิ่มอีก 25,000 ต้น ในวันที่ 31 สิงหาคมนี้ บริเวณริมรั้วด้านหน้าโรงงานสาขาที่บ้านโพธิ์ หลังจากบริษัท ซังโกะ ซึ่งเป็นบริษัทแม่ ได้ดำเนินกิจการมานานกว่า 85 ปี ด้วยการทำผลิตภัณฑ์ที่อาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทางบริษัทจึงได้มีนโยบายที่จะช่วยส่งเสริมสิ่งแวดล้อมที่ดี เพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กลับคืนมามากขึ้น
“ในอนาคตหากมีโอกาสได้พบปะกับผู้บริหาร และผู้ประกอบการ รวมถึงนักลงทุนชาวญี่ปุ่นรายอื่น ก็จะชักชวนให้พวกเขาเข้ามาเยี่ยมชมผืนป่าเชิงนิเวศในโรงงานแห่งนี้ และจะชวนให้ช่วยกันทำโครงการปลูกป่าเชิงนิเวศในโรงงานเช่นเดียวกันด้วย”
ขณะที่ ศ.ดร.อาคิระ กล่าวถึงการปลูกป่าเชิงนิเวศในโรงงานว่า ปัจจุบัน มนุษย์ลืมไปว่าดำรงชีวิตต้องอยู่คู่กับธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมที่ดี มองแต่ก่อสร้างอาคารบ้านเรือน และโรงงานอุตสาหกรรมมากมาย การปลูกป่าเชิงนิเวศจึงเป็นโครงการที่จะดึงนำเอาสิ่งแวดล้อมแบบธรรมชาติ ให้กลับมาอยู่เคียงคู่กับมนุษย์ได้อีกช่องทางหนึ่ง เกิดพื้นที่สีเขียวเพิ่มมากขึ้น ช่วยดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ในแหล่งอุตสาหกรรม และการปลูกต้นไม้ก็ไม่ใช่แต่ลงมือปลูกแต่เพียงอย่างเดียว แต่ต้องคำนึงถึงความยั่งยืนด้วย