xs
xsm
sm
md
lg

ดีเอสไอลุยสอบพิรุธ อบจ.ลำปางแจก “มะเยาหิน” 5 แสนต้น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

(แฟ้มภาพ) การแจกต้นกล้า มะเยาหิน ของ อบจ.ลำปาง เมื่อ 8 ส.ค.54 ที่ผ่านมา
ลำปาง - ดีเอสไอลงพื้นที่สอบโครงการ “อปท.ลำปาง รวมใจภักดิ์ รักษ์พื้นที่สีเขียว” หลังชาวบ้านร้องเจอพิรุธทำโครงการสวยหรูแจก “มะเยาหิน” 5 แสนต้น วันนี้ตอบไม่ได้ใครปลูกบ้าง แถมบางพื้นที่รับไปหมื่นต้น โตแค่ 3 ที่เหลือตายเกลี้ยง

วันนี้ (16 ก.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานจาก จ.ลำปางว่า พ.ต.ท.สนธยา รัตนธารส ผู้อำนวยการส่วนคดีอาญาพิเศษ 2 หัวหน้าคณะทำงานสอบสวนคดีพิเศษ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ลงพื้นที่สอบสวนผู้เกี่ยวข้องกับโครงการ “อปท.ลำปาง รวมใจภักดิ์ รักษ์พื้นที่สีเขียว” หลังดีเอสไอรับเรื่องเป็นคดีพิเศษ แต่ไม่อนุญาตให้ผู้สื่อข่าวติดตามทำข่าวหรือบันทึกภาพ

ทั้งนี้ โครงการ อปท.ลำปาง รวมใจภักดิ์ รักษ์พื้นที่สีเขียว เป็นขององค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เมื่อปี 2554 สมัยนางสุนี สมมี เป็นนายก อบจ. ได้ส่งเสริมให้เกษตรกร และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทั้ง 103 แห่ง สหกรณ์การเกษตรหลายแห่ง ปลูก “ต้นมะเยาหิน” เป็นพืชพลังงานทดแทน โดยส่งมอบต้นกล้าพันธุ์แก่ อปท. และประชาชนที่เข้าร่วมโครงการเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2554

ซึ่งนางสุนีระบุถึงที่มาของโครงการว่า เนื่องด้วยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 7 รอบ 84 พรรษา กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นได้แจ้งขอความร่วมมือ อปท.พิจารณาเข้าร่วมโครงการท้องถิ่นไทย รวมใจภักดิ์ รักษ์พื้นที่สีเขียว เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แก้ปัญหาภาวะโลกร้อน และสร้างเมืองน่าอยู่ สวยงาม อบจ.ลำปางจึงได้จัดทำโครงการ “อปท.ลำปาง รวมใจภักดิ์ รักษ์พื้นที่สีเขียว” โดยส่งเสริมการปลูกพืชพลังงานทดแทนต้นมะเยาหิน

นางสุนียังระบุอีกว่า อบจ.ได้ส่งเสริมการปลูกต้นมะเยาหินมาก่อนแล้วประมาณ 1 ปี จากการวิจัยพบว่าสามารถนำมาสกัดเป็นไบโอดีเซล โดยนำเสนอและสาธิตวิธีการสกัดน้ำมันในงานเกษตร-อุตสาหกรรมแฟร์ของจังหวัดเมื่อปีที่ผ่านมา ซึ่งกระบวนการดังกล่าวไม่ต้องใช้น้ำ ดังนั้นจะไม่เกิดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม หรือน้ำเสีย นอกเหนือจากการเพิ่มพื้นที่ป่า ลดภาวะโลกร้อน เพิ่มพื้นที่สีเขียวแล้ว สามารถนำมาสกัดเป็นน้ำมันไบโอดีเซล คาดว่าอีกประมาณ 2 ปี อบจ.จะสร้างโรงงานสกัดไบโอดีเซลหลังจากผลผลิตเริ่มออก โดยจะรับซื้อจากประชาชน อย่างน้อยจะนำมาใช้ภายในหน่วยงานก่อนเพื่อเป็นตัวอย่าง

เรื่องนี้นายอุทาร ชวเมธี รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง ในขณะนั้นให้การสนับสนุนเพราะเป็นโครงการที่ดีและยังไม่มีใครทำ โดยจะติดตามและประเมินผลตลอดเวลาเพื่อให้โครงการนี้ประสบผลสำเร็จ เพราะหวังว่าอนาคตจะมีพืชพลังงานทดแทนที่ดีกว่าต้นปาล์มหรือยูคาลิปตัส เพราะพืชสองประเภทนี้ปลูกแล้วทำลายดิน แต่ต้นมะเยาหินปลูกร่วมกับพืชอื่นได้ เช่น ต.บ้านเสด็จ อาจปลูกสับปะรดแซมกับต้นมะเยาหิน ซึ่งเป็นไม้ยืนต้นมีอายุยาวนานถึง 70 ปี แต่เริ่มเก็บผลผลิตหรือเมล็ดได้ตั้งแต่ 2-3 ปีขึ้นไป

แต่ปรากฏว่าเมื่อปลายปี 2555 นายสมยงค์ หมูแก้วเครือ ประธานสภาประชาชนอำเภอแม่เมาะ จ.ลำปาง ได้ร้องไปยังหลายหน่วยงาน รวมถึงดีเอสไอ ให้ตรวจสอบการจัดซื้อต้นมะเยาหิน 500,000 ต้น วงเงิน 25 ล้านบาท โดยระบุว่าโครงการมีความผิดปกติตั้งแต่การจัดซื้อจัดจ้าง คือการให้ผู้ที่เข้าร่วมประมูลนำต้นกล้ามะเยาหิน 50% คือ 250,000 ต้นมาให้คณะกรรมการตรวจสอบ ซึ่งขั้นตอนนี้หากไม่ใช่บริษัทใหญ่คงไม่มีใครสามารถนำต้นกล้ามาให้คณะกรรมการตรวจได้

ส่วนบริษัทที่ได้รับการประมูลยังพบว่าไม่ได้มีธุรกิจหรือเกี่ยวข้องกับการเกษตร เมื่อตรวจสอบผู้บริหารของบริษัทพบว่ามีความสนิทสนมกับผู้บริหารระดับสูงของ อบจ. ส่วนการส่งมอบต้นกล้าอย่างเป็นทางการที่ อบจ.บางส่วนแล้ว จากนั้นก็พบว่าผู้ที่จะรับต้นมะเยาหินไปปลูกต้องไปรับในโกดังของผู้บริหาร อบจ. โดยมีการเพาะต้นกล้าเองทั้งที่ผู้รับเหมาจะต้องนำต้นกล้ามาส่งให้ อบจ.

และสุดท้ายหลังจากโครงการดำเนินมาร่วม 2 ปีกลับไม่สามารถระบุได้ว่าต้นมะเยาหิน 500,000 ต้นได้ปลูกที่ไหนบ้าง และได้ผลสัมฤทธิ์หรือไม่อย่างไร

ขณะที่ผู้สื่อข่าวลงตรวจสอบในพื้นที่ซึ่งมีชื่อเป็นผู้รับต้นมะเยาหินไปปลูก อาทิ ต.บ้านร้อง ได้รับต้นมะเยาหินไปกว่าหมื่นต้น ปรากฏว่าเหลือไม่ถึง 10 ต้น ที่เหลือตายหมด

สภาพต้นมะเยาหิน ที่เกษตรกรบางพื้นที่ได้รับแจกจาก อบจ.ลำปาง กว่า 1 หมื่นต้น ขณะนี้เหลือเพียง 3 ต้น ที่เหลือตายเกลี้ยงแล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น