xs
xsm
sm
md
lg

ค่าเงินบาทแข็ง-อุตฯรถโตดันนำเข้าเครื่องจักรพุ่ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ข่าวในประเทศ - อุตสาหกรรมยานยนต์เติบโต ผู้ผลิตชิ้นส่วนเอสเอ็มอีจากญี่ปุ่นแห่เข้ามาลงทุนในไทย ประกอบกับค่าเงินบาทแข็ง เป็นโอกาสให้ผู้ประกอบการเปลี่ยนและเพิ่มเครื่องจักรใหม่ ส่งผลการนำเข้าในปีนี้พุ่งต่อเนื่อง คาดมูลค่าทะลุ 1.6 แสนล้านบาท เตือนต้องเร่งแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงาน ปรับตัวรับกระแส Green Technology

นายชัยณรงค์ ลิมป์กิตติสิน กรรมการผู้จัดการ บริษัท รี้ด เทรดเด็กซ์ จำกัด ในฐานะผู้บริหารการจัดงาน “แมนูเฟกเจอริ่ง เอ็กซ์โป 2013” เปิดเผยว่า ยอดการส่งออกและขายรถยนต์ในประเทศ มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ ต่างต้องเร่งกำลังการผลิตให้ได้สินค้าที่มีคุณภาพ และปริมาณมากขึ้นในช่วงเวลาที่จำกัด ทำให้ผู้ประกอบการต้องมีการลงทุนเพิ่ม และนำเข้าเครื่องจักรมาใช้ในการผลิต รวมถึงมาแทนเครื่องจักรที่ถูกน้ำท่วมเมื่อปลายปี 2554 ส่งผลให้ตัวเลขการนำเข้าเครื่องจักร (Machinery/Mold & Die) ในปี 2555 เทียบกับปีก่อนหน้าสูงขึ้นกว่า 60%

“คาดว่าปี 2556 นี้การนำเข้าเครื่องจักรจะเพิ่มสูงเป็นไม่ต่ำกว่า 1.6 แสนล้านบาท จากปีที่ผ่านมาประมาณ 1.4 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นผลมาจากการขยายตัวต่อเนื่องของอุตสาหกรรมยานยนต์ และการเข้ามาลงทุนของกลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ขนาดกลางและเล็ก หรือเอสเอ็มอีของญี่ปุ่น ที่ตามบริษัทรถหรือกลุ่มชิ้นส่วนรายใหญ่เข้ามาลงทุนในไทย ประกอบกับเงินบาทแข็งค่าส่งผลต้นทุนในการลงทุนเครื่องจักรนำเข้าจากต่างประเทศต่ำลง ทำให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนในไทยใช้จังหวะนี้ ในการเปลี่ยนเครื่องจักรใหม่ หรือเพิ่มเครื่องจักร รองรับการเพิ่มประสิทธิภาพและขยายกำลังการผลิต”

จากการเข้าร่วมประชุมที่เวียดนาม ทราบว่าประเทศไทยยังคงได้รับความสนใจจากบริษัทรถ และผู้ผลิตชิ้นส่วนญี่ปุ่น เห็นได้จากการที่ล่าสุดมาสด้าและมิตซูบิชิได้ตัดสินใจลงเพิ่มในไทย โดยเฉพาะมาสด้าที่เป็นการตั้งโรงงานผลิตเกียร์เทคโนโลยีใหม่ ซึ่งเดิมจะผลิตเฉพาะในญี่ปุ่นเท่านั้น นั่นแสดงให้เห็นไทยยังเป็นศูนย์กลางของการผลิตอุตสาหกรรมยานยนต์ แม้ปัจจุบันอินโดนีเซียจะเป็นอีกประเทศที่ได้รับความสนใจจากบริษัท แต่การลงทุนจะมุ่งตอบสนองตลาดภายในประเทศ ขณะที่จะเป็นการลงทุนผลิตส่งออกทั่วโลก ซึ่งเป้าหมายแตกต่างกันในการลงทุนของบริษัทรถ เหตุนี้แนวโน้มการขยายตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์ในไทยจึงยังคงมีอย่างต่อเนื่อง

นายชัยณรงค์ เปิดเผยว่า การเปิดกว้างทางการค้าและการแข่งขัน ทำให้ผู้ประกอบการต้องเร่งปรับปรุงประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สามารถอยู่รอดและเป็นฐานการผลิตยานยนต์ของอาเซียนและของโลก ที่สำคัญเพื่อให้เป็นไปตามทิศทางของอุตสาหกรรมยานยนต์ในอนาคต รวมถึงวิสัยทัศน์และเป้าหมายตามแผนแม่บทอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยฉบับใหม่ ซึ่งเน้น Green Technology ในอุตสาหกรรมยานยนต์ ภายในงานแมนูเฟกเจอริ่ง เอ็กซ์โป 2013 ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 20-21 มิถุนายนนี้ ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา จึงร่วมกับสถาบันยานยนต์จัดสัมมนา Automotive Summit 2013 เพื่อเผยแพร่ความรู้ด้านอุตสาหกรรมยานยต์ และแนวโน้มการพัฒนาเทคโนโลยียานยนต์ จากผู้บริหารชั้นนำในวงการอุตสาหกรรมยานยนต์ทั้งไทยและต่างประเทศ รวมถึงผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมจากหลายหน่วยงาน

นางจุรีรัตน์ สุวรรณวิทยา รองผู้อำนวยการสถาบันยานยนต์ เปิดเผยว่า ในปีนี้จะเป็นอีกปีที่อุตสาหกรรมยานยนต์ไทย ยังทำสถิติยอดการผลิตสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ด้วยจำนวน 2.5-2.6 แสนคัน และเพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการผลิตรถยนต์ 3 ล้านใน ภายในอีก 5 ปีข้างหน้า ประกอบกับหลายๆ ประเทศในอาเซียน ต่างพยายามที่จะยกระดับการผลิตให้เป็นศูนย์กลางการผลิตของโลก ซึ่งไทยปัจจุบันเป็นอยู่แล้ว แต่ได้มองยาวไปอีก 10 ปีข้างหน้า ที่จะยกระดับเป็นผู้ผลิตอุตสาหกรรมยานยนต์รายใหญ่ของโลก หรือ Super Hub ด้วยเป้าหมายการผลิต 5 ล้านคันต่อปี

ดังนั้นไทยจึงเตรียมความพร้อมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องบุคลากรที่จะเป็นปัญหาสำคัญ เพราะการขยายตัวและเปิดประชาคมอาเซียน หรือเออีซี (AEC) คาดอุตสาหกรรมยานยนต์จะขาดแคลนแรงงานกึ่งฝีมือประมาณ 3 แสนคน ไทยจึงจำเป็นต้องเตรียมตัวผลิตบุคลากรให้พร้อมรองรับ รวมถึงการเตรียมรับทิศทางอุตสาหกรรมยานยนต์ ที่รถยนต์พลังงานทางเลือกและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมจะมีบทบาทมากขึ้น หรือ Green Technology ทำให้ผู้ประกอบการจำเป็นต้องปรับตัว 3 ประเด็นหลัก ทั้งเรื่องเทคโนโลยียานยนต์ ระบบชิ้นส่วนยานยนต์ และกระบวนการผลิต

กำลังโหลดความคิดเห็น