.
ASTVผู้จัดการออนไลน์ - การเลือกตั้งกัมพูชาที่มีขึ้นทุกๆ 5 ปีเริ่มขึ้นแล้วในเช้าวันอาทิตย์ 28 ก.ค.นี้ และครั้งนี้เป็นครั้งที่ 5 มีชาวเขมรผู้มีสิทธิไปลงทะเบียนเพื่อใช้สิทธิเลือกตั้งเกือบ 9.7 ล้านคน เพื่อเลือกผู้แทนราษฎร 123 คน จากพรรคการเมืองหลายพรรค ในขณะที่นายกรัฐมนตรีวัย 60 ปี ฮุนเซน ประกาศจะอยู่ในอำนาจต่อไปอีกอย่างน้อย 2 สมัย จนกระทั่งอายุ 74 หลังจากอยู่ติดเก้าอี้ติดต่อกันมานาน 4 สมัยในยุคใหม่
คู่แข่งสำคัญที่สุดของพรรคประชาชนกัมพูชา (Cambodian People's Party) ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลมีเพียงพรรคเดียวคือ พรรคกู้ชาติกัมพูชา (Cambodia's National Rescue Party) ฝ่ายค้านใหญ่ที่สุดที่เกิดจากการรวมตัวระหว่างพรรคสมรังสี (Sam Rainsy Party) กับพรรคสิทธิมนุษยชนแห่งกัมพูชา (Human Rights Party) ของนายแกม สุคา (Kem Sokha) เมื่อก่อน
การกลับคืนประเทศของนายสม รังสี ในวันที่ 19 ก.ค.ที่ผ่านมา หลังจากได้รับอภัยโทษ มีชาวเขมรไปรอรับที่สนามบินราว 100,000 คน ซึ่งมากมายกว่าที่คาดเอาไว้กว่าเท่าตัว ขบวนแห่ผู้นำฝ่ายค้านเข้าเมืองใช้เวลาถึง 5 ชั่วโมง และถึงแม้ว่าสื่อโทรทัศน์ของรัฐบาล จะเสนอข่าวนี้เพียงน้อยนิด แต่ภาพ และข่าวก็แพร่กระจายไปทั่วซึ่งทำให้การเลือกตั้งมีชีวิตชีวาขึ้น
ระยะที่ผ่านมา ไม่ว่าหัวหน้าพรรค CNRP จะไปปราศรัยหาเสียงที่แห่งใด ก็จะมีผู้ไปฟัง และแสดงการสนับสนุนอย่างเนืองแน่นเสมอๆ
แต่ถึงกระนั้น นักสังเกตการณ์ก็ยังเชื่อกันว่า CPP จะมีชัยได้เสียงข้างมากอีกครั้งหนึ่ง ฮุนเซน เคยให้สัมภาษณ์อย่างถ่อมตนว่า ถึงอย่างไรพรรครัฐบาลก็จะมี ส.ส.ในรัฐสภาไม่น้อยกว่า 50 คน จาก 90 ที่นั่งในปัจจุบัน ซึ่งแท้จริงแล้วเป็นสิ่งที่จะไม่เกิดขึ้น
พรรคประชาชนกัมพูชา ก็คือ พรรคประชาชนปฏิวัติกัมพูชา (Cambodian People's Revolutionary Party) พรรคแนวลัทธิมาร์ก-เลนินที่ฟื้นฟูขึ้นมาใหม่ หลังจากเวียดนามส่งทหารนับแสนคนเข้าโค่นล้มรัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์กัมพูชา (Communist Party of Cambodia) ของกลุ่มเขมรแดงโปลโป้ท-เอียงสารี-เคียวสมพร
กลุ่มฮุนเซน-เจียซิม-เฮงสัมริน จึงเป็น “นักเลือกตั้ง” ที่มีความช่ำชองหาตัวจับได้ยาก และ CCP ก็ยึดกุมกลไกรัฐในทุกระดับ หลังจากฝังรกรากมานาน 34 ปี และในนั้นเป็นเวลา 28 ปี ที่ฮุนเซนเป็นนายกรัฐมนตรีติดต่อกันมาโดยไม่ขาดช่วง
“การซื้อเสียงล่วงหน้า” ด้วยนโยบายประชานิยม และมีกลไกรัฐเอื้ออำนวยนั้นเป็นวิถีปฏิบัติปกติ ไม่ได้ผิดกฎข้อใดในสายตาประชาคมระหว่างประเทศ ซึ่งการเลือกตั้งครั้งนี้มีบุคคลภายนอกจากองค์การ หน่วยงานต่างๆ ทั่วโลกนับหมื่นคนได้ลงทะเบียนเพื่อเข้าสังเกตการณ์
สม รังสี ซึ่งเป็นอดีตรัฐมนตรีคลัง ในรัฐบาลที่องค์การสหประชาชาติจัดตั้งขึ้นมาบริหารกัมพูชาชั่วคราวเมื่อกว่า 20 ปีก่อน เคยประกอบอาชีพเป็นนายธนาคาร สำเร็จการศึกษาจากฝรั่งเศส และยังเป็นพลเมืองฝรั่งเศส
เขาเดินทางออกนอกประเทศตั้งแต่ปี พ.ศ.2552 ก่อนที่ศาลกัมพูชาภายใต้การควบคุมของฮุนเซนจะพิพากษาตัดสินให้มีความผิดทางอาญา หลังจากเขานำราษฎรกลุ่มหนึ่งในไปถอนหลักปักปันเขตแดนที่ชายแดนกับเวียดนามด้าน จ.สวายเรียง (Svay Rieng) โดยระบุว่า รัฐบาลยินยอมให้ฝ่ายเวียดนามฮุบเอาดินแดนที่เป็นไร่นาของราษฎรไป
นายรังสี ถูกตัดสินจำคุกเป็นเวลา 15 ปี ในความผิด 2 กระทง ซึ่งรวมทั้งการใช้แผนที่ทำขึ้นเองประกอบการกล่าวหาฝ่ายรัฐบาล โดยศาลตีความว่า แผนที่ฉบับดังกล่าวนั้นเป็น “เอกสารปลอม”
ทุกฝ่ายทราบดีว่า เรื่องนี้เป็นการกลั่นแกล้งทางการเมือง เพราะศาลเป็นเครื่องมือที่ใช้ได้ผลเสมอมาสำหรับฮุนเซน ในการปิดปากฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง
ผลได้ปรากฏในภายหลังว่า การรณรงค์ของนายรังสี กับพรรคการเมืองของเขาทำให้เกิดการตื่นตัวครั้งใหญ่ในเรื่องดินแดน ฝ่ายรัฐบาลกับทางการเวียดนามได้ยินยอมถอนหลักหมายปักปันเขตแดนที่เป็นปัญหาทางด้านนั้นออกไปจากจุดเดิม และการปักปันเขตแดนระหว่าง 2 ประเทศทางด้านนั้นก็ยังคงดำเนินต่อไป
การให้อภัยโทษแก่ผู้นำฝ่ายค้านในวันที่ 12 ก.ค. เป็นเรื่องที่คาดล่วงหน้ามานาน เนื่องจากกรณีนี้ได้ทำให้ฮุนเซน ตกอยู่ภายใต้การกดดันของประชาคมระหว่างประเทศอย่างหนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งสหรัฐฯ ที่มีสมาชิกสภาคองเกรสจำนวนหนึ่งออกเคลื่อนไหวกดดันให้ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ตัดความช่วยเหลือที่ให้แก่กัมพูชาในด้านต่างๆ เป็นมูลค่าปีละหลายร้อยล้านดอลลาร์
สำคัญพอๆ กันก็คือ เศรษฐกิจที่ยังอ่อนด้อย ทำให้กัมพูชาต้องพึ่งพาเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลประเทศต่างๆ และองค์การระหว่างประเทศหลายสิบแห่ง ปีละประมาณ 3,000 ล้านดอลลาร์ ทุกฝ่ายล้วนแสดงท่าทีให้เห็นว่า ความช่วยเหลือจะถูกตัด หรือถูกลดระดับลงหากการเลือกตั้งครั้งนี้ไม่เป็นประชาธิปไตย และไม่บริสุทธิ์ยุติธรรม
.
.
นอกจากพรรครัฐบาลจะกุมหัวคะแนนไว้ในมือแล้ว การเลือกตั้งยังมี่ขึ้นท่ามกลางการกล่าวหาของพรรค CNRP ที่ระบุว่า ได้ตรวจพบรายชื่อผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งที่ซ้ำกันเป็นจำนวนนับแสน
คณะกรรมการเพื่อการเลือกตั้งที่เสรี และยุติธรรมในกัมพูชา (Committee for Free and Fair Elections in Cambodia) ซึ่งเป็นองค์กรพัฒนาของภาคเอกชนที่เฝ้าจับตาการเลือกตั้งในประเทศนี้มาหลายสมัยกล่าวหาว่า ยังมีชาวเขมรอีก 1.25 ล้านคน ที่มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง แต่ไม่มีชื่อในบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งครั้งนี้
ขณะเดียวกัน องค์การฮิวแมนไรต์วอตช์ (Human Rights Watch) ที่มีสำนักงานใหญ่อยู่ในนครนิวยอร์ก ได้ออกคำแถลงกล่าวเตือนบรรดาทหารใหญ่แห่งกองทัพ และตำรวจที่กลั่นแกล้งขัดขวางพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้ามรัฐบาล และทำตัวเป็นหัวคะแนนให้แก่รัฐบาลเสียเอง
การเลือกตั้งยังมีขึ้นท่ามกลางหลากหลายปัญหาทางเศรษฐกิจ และสังคม ปัญหาใหม่และใหญ่ที่สุดในขณะนี้ก็คือ การบุกยึดเอาที่ดิน และขับไล่ราษฎรออกจากที่ทำกินโดยเจ้าหน้าที่รัฐ เพื่อนำที่ดินล้ำค่าไปให้แก่นักลงทุนในรูปของสัมปทานเป็นเวลาหลายสิบปี เรื่องนี้เกิดขึ้นในหลายจังหวัดทั่วประเทศ กับปัญหาการนัดหยุดงานประท้วงของคนงานอุตสาหกรรมตัดเย็บเสื้อผ้า และผลิตสินค้าสิ่งทอเพื่อส่งออก ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมนำหน้าที่ทำรายได้หลักเข้าประเทศปีละกว่า 3,000 ล้านดอลลาร์
คนงานได้เรียกร้องให้บริษัทนายจ้างปรับปรุงสวัสดิการกับค่าจ้าง การนัดหยุดงาน และการประท้วงมักจะถูกเจ้าหน้าที่รัฐปราบปรามบ่อยครั้ง และผู้นำแรงงานถูกไล่ออก ซึ่งกลายเป็นปัญหาเรื้อรัง
ถึงแม้ว่ารัฐบาลฮุนเซน จะประกาศปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำมาแล้ว 2 ครั้ง ในช่วง 5 ปีมานี้ แต่ก็ทำให้คนงานราว 350,000 คน ในอุตสาหกรรมนี้มีรายได้เพียงเดือนละ 60-80 ดอลลาร์เท่านั้น
สถานการณ์เช่นนี้ได้ทำให้พรรคฝ่ายค้านประกาศจะทำการทบทวน และจัดสรรสิทธิในที่ดินทำกินใหม่ให้ประชาชนทั่วประเทศ ขณะเดียวกัน ก็ชูนโยบายค่าจ้าง 150 ดอลลาร์ต่อเดือน สำหรับคนงานในอุตสาหกรรมทุกแขนงทั่วประเทศเช่นกัน
การเลือกตั้งครั้งนี้ CNRP ยังพุ่งเข้าหากลุ่มผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งเยาว์วัยที่มีจำนวนคิดเป็นประมาณ 60% ของทั้งหมดโดยชูนโยบายการศึกษาใหม่ให้โอกาสด้านนี้แก่คนหนุ่มคนสาวกว้างขวางยิ่งขึ้น รวมทั้งนโยบายการสร้างงานซึ่งได้รับความสนใจไม่น้อยเลยทีเดียว
คูหาเลือกตั้งเปิดระหว่างเวลา 07.00 น.ไปจนถึง 15.00 น. ในขณะที่นักวิเคราะห์กล่าวว่า นโยบายของฝ่ายค้านจะออกมาดีสักเพียงใด สอดคล้องกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ และสังคมปัจจุบันเพียงใดก็ตาม พวกเขาอาจจะทำได้ดีที่สุดก็เพียงแค่มีที่นั่งในรัฐสภาเพิ่มขึ้นจาก 29 คนในปัจจุบัน
สำหรับรัฐบาลฮุนเซน เลวร้ายที่สุดก็คือ การที่อาจจะต้องจัดตั้งรัฐบาลผสมกับฝ่ายค้าน ซึ่งนักวิเคราะห์หลายคนยังเชื่อว่า เรื่องแบบนี้จะไม่เกิดขึ้น.
.
คนโตนักเลือกตั้ง AFP Photo
นายกรัฐมนตรีฮุนเซน กับคุณหญิงภริยา ไปหย่อนบัตรลงคะแนนที่คูหาเลือกตั้งใกล้บ้านพักภายในค่ายทหาร อ.ตาขะเมา ชานกรุงพนมเปญตอนเช้าวันอาทิตย์ 28 ก.ค.นี้ เพื่ออยู่ในตำแหน่งต่อไปเป็นสมัยที่ 5 ในยุคใหม่ หลังจากนั่งเก้าอี้มานาน 27 ปี และประกาศจะครอบครองต่อไปจนกระทั่งอายุ 72 ในสายตาของนักวิเคราะห์ทั่วไปนั้น ไม่ว่าเสียงสนับสนุนของพรรคฝ่ายค้านใหญ่จะดีขึ้นมากมายสักเพียงใด พวกเขาก็อาจจะทำได้ดีที่สุดแค่ได้ที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎรเพิ่มขึ้นเท่านั้น เพราะต้องเจอกับนักเลือกตั้งที่มีประสบการณ์ช่ำชองมากที่สุด พรรคการเมืองที่เป็นอดีตพรรคคอมมิวนิสต์ของเขากุมทุกกลไกอำนาจ ตั้งแต่ส่วนกลางลงไปจนถึงระดับหมู่บ้านมานาน 34 ปี. |