xs
xsm
sm
md
lg

หวั่น‘ผู้นำภาคประชาชน’คนสำคัญของลาวคงถูก‘เก็บ’แล้ว

เผยแพร่:   โดย: วิทยุเอเชียเสรี


(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Fears grow for Lao activist
By Radio Free Asia
11/07/2013

พวกนักการทูตที่ประจำอยู่ในลาวเวลากำลังพูดกันอย่างกระซิบกระซาบในสิ่งซึ่งพวกกลุ่มสิทธิมนุษยชนกำลังระบุออกมาอย่างเปิดเผย นั่นคือ สมบัด สมพอน ผู้นำภาคประชาชนคนสำคัญมากของประเทศนี้ คงจะไม่ได้กลับคืนมาจาก “การถูกบังคับให้สูญหายไป” ที่เชื่อกันว่าเป็นฝีมือของกลุ่มความมั่นคงซึ่งโยงใยกับรัฐบาล ขณะที่งานของสมบัดในด้านการปรับปรุงยกระดับคุณภาพของประชาชนชนบท เป็นสิ่งซึ่งท้าทายทางการเวียงจันทน์อย่างมาก ทว่าความเคลื่อนไหวอย่างกระตือรือร้นของเขาในด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการคัดค้านการสร้างเขื่อนราคาแพง น่าจะก่อให้เกิดความขัดแย้งรุนแรงกว่าด้วยซ้ำ

หลังจากที่เขาสูญหายไปเป็นเวลากว่า 6 เดือนแล้ว นักการทูตต่างชาติบางรายในกรุงเวียงจันทน์กำลังคิดว่า เป็นไปได้ยากยิ่งที่ สมบัด สมพอน (Sombath Somphone) ผู้นำภาคประชาชนชาวลาวซึ่งได้รับความยกย่องนับถือมาก จะยังคงมีชีวิตอยู่

สมบัดกำลังขับรถอยู่ที่บริเวณชานนครเวียงจันทน์ เมืองหลวงของลาวเมื่อคืนวันที่ 15 ธันวาคมปีที่แล้ว ตอนที่เขาถูกตำรวจสั่งให้หยุดรถที่ป้อมตำรวจแห่งหนึ่ง จากนั้นก็ถูกนำตัวไปยังรถยนต์อีกคันหนึ่ง ทั้งนี้ตามภาพวิดีโอที่ได้จากกล้องโทรทัศน์วงจรปิดของตำรวจในวันดังกล่าว นับตั้งแต่นั้นมาก็ไม่มีใครพบเห็นเขาอีกเลย

ภายหลังที่ได้พูดคุยเป็นการส่วนตัวกับพวกเจ้าหน้าที่ทั้งจากฝ่ายรัฐบาลลาว, จากพรรคคอมมิวนิสต์ที่เป็นพรรคปกครองประเทศอยู่ในปัจจุบัน, และจากฝ่ายทหารตลอดจนพวกแหล่งข่าวที่มีเส้นสายดีทั้งหลายในประเทศนี้ นักการทูตชาวต่างชาติหลายต่อหลายคนได้บอกกับวิทยุเอเชียเสรีภาคภาษาลาวว่า มีโอกาสน้อยนิดเหลือเกินที่นักเคลื่อนไหวทำงานด้านพัฒนาชุมชนวัย 60 ปีผู้นี้ จะยังคงมีชีวิตอยู่

พวกเจ้าหน้าที่รับผิดชอบของลาวนั้น แทบไม่เคยแถลงแสดงความคืบหน้าอะไรเลยในการสืบสวนสอบสวนของพวกเขาเกี่ยวกับการหายไปของ สมบัด ขณะที่นักการทูตชาวต่างชาติผู้หนึ่งกล่าวโดยขอให้สงวนนามว่า ผู้คนจำนวนมากในประชาคมนักการทูตต่างประเทศในลาวต่างคิดกันว่า ผู้นำภาคประชาชนของลาวผู้นี้คงจะสิ้นชีวิตไปแล้ว

นักการทูตผู้นี้ก็มีความเห็นว่า สมบัดคงจะถูกสังหารโดยกลุ่มที่โยงใยกับรัฐบาล โดยเขาเล่าว่ามี “แหล่งข่าวระดับสูง” รายหนึ่งบอกกับเขาอย่างตรงไปตรงมาว่า สมบัด “ถูกเก็บ” และ “ถูกฝัง” ไว้ในสถานที่ไม่เปิดเผย

**ทางการลาวไม่ไว้ใจ**

นักการทูตอีกผู้หนึ่งอ้างคำพูดของสมาชิกที่มิได้มีการระบุชื่อผู้หนึ่งในคณะกรรมการกลางของพรรคคอมมิวนิสต์ลาว กล่าวว่าคณะผู้นำของพรรคไม่ได้มีความไว้วางใจในตัว สมบัด ซึ่งกำลังทำโครงการต่างๆ หลายเรื่อง เป็นต้นว่า การยกระดับการฝึกอบรมเยาวชน, การปรับปรุงยกระดับเรื่องสิทธิต่างๆ ของประชาชนชาวชนบทผู้ยากจน, ตลอดจนการพิทักษ์ปกป้องสิ่งแวดล้อม

ความพยายามของเขาที่จะปลูกฝังเมล็ดพันธุ์แห่ง “เสรีภาพ” เข้าไปในความคิดจิตใจของเยาวชนชาวลาวนั้น ถูกมองว่าเป็นการท้าทายอย่างชัดเจนต่อความเป็นผู้นำของพรรคคอมมิวนิสต์ ซึ่งเข้าปกครองลาวแบบเผด็จอำนาจมาตั้งแต่ปี 1975 นักการทูตผู้นี้กล่าวต่อ โดยขอให้สงวนนามเช่นเดียวกัน

เขาบอกด้วยว่า พวกผู้มีอำนาจของลาวยังมีความกังวลใจเกี่ยวกับบทบาทของ สมบัด ในการจัดการประชุมที่เรียกขานกันว่า เวทีเอเชียยุโรปของภาคประชาชน (Asia Europe People's Forum) ซึ่งมีขึ้นก่อนหน้าการประชุมเอเชีย-ยุโรป (ASEM) ระดับสุดยอดในกรุงเวียงจันทน์เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2012 โดยที่ในเวทีอาเซมภาคประชาชน มีการพูดคุยในประเด็น “อ่อนไหว” จำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็น ปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่น, สิทธิในที่ดิน, และภัยคุกคามต่อสิ่งแวดล้อม

สิ่งที่พวกผู้มีอำนาจของลาวรู้สึกวิตกเป็นพิเศษ ก็คือการที่ สมบัด ถูกระบุถูกกล่าวหาว่าได้เขียนจดหมายถึง อองซานซูจี ผู้นำฝ่ายค้านของพม่า เชื้อเชิญให้เธอเดินทางมาเข้าร่วมเวทีประชุมคราวนี้ด้วย นักการทูตชาวต่างชาติผู้นี้เผย ถึงแม้ในที่สุดแล้ว อองซานซูจี ก็ไม่ได้เข้าร่วมเวทีอาเซมภาคประชาชนนี้แต่อย่างใด

นักการทูตคนที่สองนี้เล่าต่ออีกว่า ความระแวงสงสัยของพรรคคอมมิวนิสต์ในตัว สมบัด ยิ่งโหมแรงขึ้นอีกจากการที่เขามีการติดต่อพัวพันอย่างใกล้ชิดกับพวกกลุ่มนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทั้งที่เป็นกลุ่มคนไทยและกลุ่มระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นพวกที่ต่อต้านคัดค้านการสร้างเขื่อนต่างๆ ในแม่น้ำโขง อีกทั้งเป็นผู้จัดการชุมนุมต่อต้านโครงการเขื่อนไซยะบุรี ในระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซมที่เวียงจันทน์

ตัวนักการทูตผู้นี้เข้าใจว่า ยุทธศาสตร์ของรัฐบาลลาวในปัจจุบันคือ “การเตะถ่วง” คดีของ สมบัด ออกไปเรื่อยๆ ด้วยความหวังว่าประเด็นนี้จะค่อยๆ จางหายไปกับกาลเวลา เฉกเช่นเดียวกับกรณีการบังคับจับกุม, การคุมขัง, และการบังคับให้หายสูญไป หลายๆ กรณีที่ได้เกิดขึ้นในประเทศนี้

**ประชาคมนานาชาติแสดงความวิตก**

ทั้งสหประชาชาติ, สหรัฐอเมริกา, และสภายุโรป ต่างได้ออกมาแถลงแสดงความวิตกห่วงใยเกี่ยวกับการที่ สมบัด หายสูญไป ขณะที่พวกกลุ่มสิทธิมนุษยชนทั้งหลายก็หวาดหวั่นว่า เขาอาจจะถูกลักพาตัวไปโดยกลุ่มความมั่นคงซึ่งโยงใยเกี่ยวข้องกับรัฐบาล

องค์การนิรโทษกรรมสากล (Amnesty International) ซึ่งตั้งฐานอยู่ในกรุงลอนดอน และองค์การ ฮิวแมน ไรต์ วอตช์ (Human Rights Watch) ซึ่งตั้งฐานอยู่ในสหรัฐฯ ต่างแถลงว่า สมบัดเป็นเหยื่อของ “การถูกบังคับให้สูญหายไป” (enforced disappearance) ซึ่งตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศให้คำนิยามเอาไว้ว่า คือ การจับกุมหรือการคุมขังบุคคลโดยพวกเจ้าหน้าที่รัฐหรือโดยตัวแทนของพวกเจ้าหน้าที่รัฐ จากนั้นก็ติดตามมาด้วยการปฏิเสธไม่ยอมแจ้งให้ทราบว่าบุคคลผู้นั้นได้ถูกริบเสรีภาพ หรือไม่ยอมเปิดเผยให้ทราบเกี่ยวกับชะตากรรมของบุคคลผู้นั้น หรือเปิดเผยให้ทราบเกี่ยวกับสถานที่อยู่ของบุคคลผู้นั้น

“พิจารณาจากหลักฐานที่ปรากฏ ข้อสรุปที่มีความเป็นไปได้มากที่สุดก็คือ สมบัด สมพอน ได้ตกเป็นเหยื่อของการถูกบังคับให้สูญหายไป โดยที่ผู้รับผิดชอบกระทำการเช่นนี้ก็คือพวกเจ้าหน้าที่ลาว” รูเพิร์ต แอบบอตต์ (Rupert Abbott) กล่าวเช่นนี้เมื่อไม่นานมานี้ เขาเป็นนักวิจัยซึ่งทำงานครอบคลุมกัมพูชา, ลาว, และกัมพูชา ขององค์การนิรโทษกรรมสากล “ข้อเท็จจริงที่ว่า สมบัด ถูกนำตัวไปจากป้อมตำรวจในบริเวณย่านใจกลางของนครหลวงของลาว โดยตำรวจที่ตรงนั้นไม่ได้ทำอะไรเพื่อขัดขวางเลย เป็นสิ่งที่ชวนให้เกิดความกังวลเป็นอย่างยิ่ง” เขากล่าวต่อ

ทางด้าน ฮิวแมน ไรต์ วอตช์ แถลงว่า พวกเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบของลาว “บกพร่องล้มเหลวที่มิได้ทำการสืบสวนสอบสวนอย่างจริงจัง หรือให้คำอธิบายอย่างน่าเชื่อถือต่อกรณีการถูกบังคับให้สูญหายไป” ของ สมบัด พร้อมกับตั้งข้อสังเกตว่า ไม่มีสิ่งบ่งบอกใดๆ เลยว่าพวกเจ้าหน้าที่รับผิดชอบของลาวได้มีการปฏิบัติการในทางสืบสวนขยายผลใดๆ จากภาพวิดีโอซึ่งได้มาจากระบบรักษาความปลอดภัยของตำรวจ

“หลังจากเวลาผ่านไปถึง 6 เดือนแล้ว การที่รัฐบาลลาวยังคงบกพร่องล้มเหลวไม่สามารถอธิบายเรื่องการลักพาตัวนักเคลื่อนไหวทางสังคมคนสำคัญในบริเวณจุดตรวจของตำรวจ หรือแสดงความรับผิดชอบชี้แจงให้ทราบว่าเขาอยู่ที่ไหน ยิ่งก่อให้เกิดความวิตกห่วงใยอย่างเลวร้ายที่สุดเกี่ยวกับความปลอดภัยของเขา” แบรด แอดัมส์ (Brad Adams) ผู้อำนวยการฝ่ายเอเชียของ ฮิวแมน ไรต์ วอตช์ ระบุ

สมบัด เคยเป็นผู้อำนวยการของศูนย์ฝึกอบรมเพื่อการพัฒนาแบบมีส่วนร่วม (Participatory Development Training Centre ใช้อักษรย่อว่า PADETC) ซึ่งเป็นองค์กรนอกภาครัฐบาล (nongovernmental organization หรือ NGO) ที่เขาก่อตั้งขึ้นในปี 1996 เพื่อส่งเสริมเรื่องการศึกษา, การฝึกอบรม, และการพัฒนาแบบยั่งยืน เขาได้รับรางวัลรามอน แมกไซไซ ในสาขาผู้นำชุมชน เมื่อปี 2005 จากผลงานของเขาในแวดวงการศึกษาและการพัฒนาทั่วทั้งเอเชีย

วิทยุเอเชียเสรีภาคภาษาลาว (Radio Free Asia's Lao Service) เป็นผู้รายงานข่าวนี้ เวียงไซ หลวงโคต (Viengsay Luangkhot) เป็นผู้แปลเป็นภาษาอังกฤษ และ ปรเมศวรัน ปอนนูดูไร (Parameswaran Ponnudurai) เป็นผู้เขียนรายงานข่าวนี้เป็นภาษาอังกฤษ

วิทยุเอเชียเสรี (Radio Free Asia ใช้อักษรย่อว่า RFA) ก่อตั้งขึ้นโดยรัฐบัญญัติของรัฐสภาสหรัฐฯ และได้รับการสนับสนุนส่วนหนึ่งจากเงินให้เปล่าของรัฐบาลสหรัฐฯ ปัจจุบัน RFA เป็นผู้ดำเนินการสถานีวิทยุและบริการข่าวสารทางอินเทอร์เน็ต
กำลังโหลดความคิดเห็น