"ยิ่งลักษณ์" ถกทวิภาคี นายกฯ บังกลาเทศ เสียใจเหตุตึกถล่ม ขอบคุณช่วยดูปัญหาการลงทุนแก่นักธุรกิจ ถก ปธ.สมัชชาใหญ่ยูเอ็น ชูบทบาทไทยวิสัยทัศน์น้่ำสู้ความยากจน ก่อนร่วมเลี้ยงอาหารค่ำนายกฯ วานูอาตู ลงนามข้อตกลงทางวิชาการ
วันนี้ (20 พ.ค.) ที่ จ.เชียงใหม่ ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมระดับผู้นำด้านน้ำแห่งภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (Asia-Pacific Water Summit) ครั้งที่ 2 น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี การหารือกับนางชีค ฮาสินา นายกรัฐมนตรีบังกลาเทศ ถือเป็นการหารือเพื่อติดตามความคืบหน้าประเด็นต่าง ๆ ที่ได้หารือกันระหว่างการเยือนบังกลาเทศอย่างเป็นทางการของนายกรัฐมนตรีเมื่อเดือนธันวาคม 2555 ผ่านมา โดยนายกรัฐมนตรีขอบคุณนายกรัฐมนตรีบังกลาเทศที่เข้าร่วมการประชุมระดับผู้นำด้านน้ำฯ และได้ร่วมแสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์ตึกถล่มในบังกลาเทศ ซึ่งมีผู้เสียชีวิตกว่า 1,000 คน ในการนี้ รัฐบาลไทยอาจแสดงอัธยาศัยไมตรีด้วยการมอบความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่รัฐบาลบังกลาเทศ โดยประสงค์ที่จะส่งทีมแพทย์และผู้เชี่ยวชาญไปให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์ดังกล่าวด้วย
ในส่วนของด้านการส่งเสริมการค้าการลงทุน ก็เป็นที่น่ายินดีอย่างยิ่ง ที่กระทรวงพาณิชย์ทั้งสองฝ่ายได้จัดการประชุมคณะกรรมการร่วมด้านการค้าไทย – บังกลาเทศ ครั้งที่ 3 (Joint Trade Committee: JTC) ระหว่างวันที่ 14-15 พฤษภาคม 2556 ซึ่งผลการหารือเป็นไปอย่างสร้างสรรค์ รวมถึงการลงนามต่ออายุบันทึกความเข้าใจเรื่องรัฐบาลไทยตกลงที่จะขายข้าวให้รัฐบาลบังกลาเทศ ปีละไม่เกิน 1 ล้านตัน ออกไปอีก 3 ปี จนถึงปี 2559 เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมาอีกด้วย นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังได้ขอบคุณรัฐบาลบังกลาเทศที่ช่วยดูแลปัญหาด้านการลงทุนให้แก่ บริษัทของไทยด้วยดีเสมอมา และทางการไทยแสดงความพร้อมที่จะส่งเสริมให้ภาคเอกชนไทยเข้าไปค้าขายและลงทุนในบังกลาเทศในสาขาที่นักธุรกิจไทยมีศักยภาพเพิ่มขึ้น เช่น การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร การผลิตสินค้าอุปโภค บริโภค และการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม เป็นต้น
ต่อมา น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้ร่วมหารือทวิภาคีกับนายวุ๊ค เยเรมิค (Vuk Jeremic) ประธานสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ สมัยที่ 67 โดยนายกรัฐมนตรีได้กล่าวถึงบทบาทของไทยในฐานะสมาชิกสหประชาชาติที่ต้องมีความรับผิดชอบ โดยเฉพาะในกรอบการพัฒนาที่ยั่งยืนและวาระการพัฒนาภายหลังปี ค.ศ.2015 (Post 2015 Agenda) ซึ่งไทยได้เน้นย้ำถึงนโยบายและวิสัยทัศน์ของเกี่ยวกับการจัดการบริหารน้ำ ซึ่งร่วมแบ่งปันประสบการณ์ของไทยจากเหตุการณ์มหาอุทกภัยในปี 2554 ในการประชุมสุดยอดผู้นำด้านน้ำฯ ในครั้งนี้ด้วย ตลอดจนการเชื่อมโยงเรื่องความมั่นคงทางน้ำกับความมั่นคงทางอาหารและสุขอนามัยของประชากรโลก ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องบูรณาการร่วมกัน อีกทั้งยังกระทบต่อประเด็นอื่นๆ ทั้งการต่อสู้กับความยากจนและการลดความเหลื่อมล้ำของรายได้อีกด้วย
จากนั้น เมื่อเวลา 18.15 น. ณ โรงแรมเดอะเชดี นายกรัฐมนตรี เป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารค่ำเพื่อเป็นเกียรติแก่นายโมอาน่า คาร์คาสเซ็ส คาโลสซิล (Moana Carcasses Kalosil) นายกรัฐมนตรีแห่งสาธารณรัฐวานูอาตู ในโอกาสการเดินทางเยือนไทยอย่างเป็นทางการ ภายหลังการเข้าร่วมการประชุมระดับผู้นำด้านน้ำแห่งภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ครั้งที่ 2 ในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้เป็นสักขีพยานการลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือทางวิชาการไทยและวานูอาตู (Memorandum of Understanding on Technical Cooperation and Development) ด้วย เพื่อเป็นกลไกสำคัญในการแลกเปลี่ยนประสบการณ์การพัฒนาในสาขาที่ไทยมีศักยภาพตามความต้องการของวานูอาตู 5 สาขา ได้แก่ ด้านการศึกษา การเกษตร สาธารณสุข การพัฒนาแบบยั่งยืน และการส่งเสริมการค้าและการลงทุน รวมทั้งการท่องเที่ยว ซึ่งอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวคิดเป็นร้อยละ 40 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติของวานูอาตู
ไทยสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับวานูอาตูเมื่อวันที่ 21 กันยายน 2525 ปัจจุบัน มีคนไทยอาศัยอยู่ในวานูอาตู 17 คน ประกอบธุรกิจร้านอาหารไทยและนวดแผนไทย วานูอาตูถือเป็นประเทศ ในภูมิภาคแปซิฟิกใต้ที่มีความสำคัญอันดับต้นของไทย เนื่องจากเป็นแหล่งวัตถุดิบที่สำคัญของอุตสาหกรรมประมงไทย โดยในปี 2555 มูลค่าการค้ารวมระหว่างสองประเทศคิดเป็น 176 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 5.28 พันล้านบาท) โดยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ไทยถือเป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 ของวานูอาตู สินค้าที่ไทยนำเข้า ได้แก่ สัตว์น้ำสด แช่เย็น แช่แข็ง แปรรูปและกึ่งสำเร็จรูป โดยเฉพาะปลาทูน่า ส่วนสินค้าที่ไทยส่งออกไปวานูอาตู ได้แก่ อุปกรณ์และส่วนประกอบของรถยนต์ อาหารกระป๋องและอาหารแปรรูป เสื้อผ้าสำเร็จรูปและผ้าผืน และน้ำตาลทราย