ภาพเกษตรกรยกขบวนมาประท้วงหน้ารัฐสภา ลงทุนเหมารถจากถิ่นฐานบ้านเกิด เพื่อเรียกร้องให้ผู้นำประเทศขึ้นราคา ข้าว-อ้อย-มันสำปะหลัง ฯลฯ ให้รากหญ้าตาดำๆ ได้พอหลงเหลือกำไรเลี้ยงปากท้องกันบ้าง เป็นภาพที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งในสังคมไทย และวิธีแก้ปัญหาแต่ละครั้งก็ดูเหมือนจะยุติลงที่เรื่องเงินกู้และการประกันราคาผลผลิตทางการเกษตร ซึ่งอาจไม่ใช่ทางออกที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง สุดท้ายก็จะวนกลับมาสู่วัฏจักรการรอคอยความช่วยเหลือจากภาครัฐเหมือนเดิม
ผิดกับ “ชุมชนบ้านลาด จังหวัดชัยภูมิ” ที่ชาวบ้านหันมาใช้หลักปรัชญา “ร่วมอยู่ ร่วมเจริญ” รวมตัวและร่วมทุนกันทำไร่อ้อยสมัยใหม่ให้เป็นไปตามมาตรฐานระดับโลก ริเริ่มโครงการนำร่องสร้าง “ชุมชนน้ำตาลเข้มแข็ง” บนพื้นที่กว่า 265 ไร่ กระทั่งตอนนี้ที่ดินของพวกเขากลายเป็นไร่เงินไร่ทอง ผลิตอ้อยล็อตแล้วล็อตเล่าออกมาปลดหนี้ แถมยังได้กำไรเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่าตัว
ใครที่เคยมองว่าอาชีพเกษตรกรต้อยต่ำติดดิน มีแต่หนี้สิน เห็นทีว่าคงต้องลองศึกษาแนวคิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนจาก “เศรษฐีรากหญ้า” อย่างพวกเขาเสียหน่อยแล้ว
ปลดหนี้ได้ ไม่ต้องพึ่งรัฐ
“ก่อนหน้านี้ ปลูกปอปลูกมัน ยังกู้ใครบ่ได้ ต้องลงทุนเองหมด มันบ่เป็นหนี้ แต่ก็บ่พอกิน ต้องขี่จักรยานไปทำอ้อย หลังคาบ้านก็ยังเป็นหลังคาหญ้าเปียกนี่แหละ แต่เดี๋ยวนี้ มีปิกอัพ 2 คัน แล้วก็มีรถสิบล้อ มีรถอีแต๊ก มีบ้านใหม่ ก็ใหญ่อยู่เด๊ะ พาไปเบิ่งก็ได้ ไปอยู่บ่ (ยิ้มกว้าง) ตอนนี้ก็อยู่กับหลาน กับยาย แล้วก็เมีย” พ่อวิชัย ฤๅชา เกษตรกรผู้เข้าร่วมโครงการชุมชนเข้มแข็งแล้วกำไรงอกงาม ปลดหนี้ได้สำเร็จ เล่าให้ฟังผ่านสำเนียงชาวอีสานด้วยสีหน้ายิ้มแย้ม
แต่ก่อนจะสบายอย่างที่บอกเล่าเอาไว้ได้ พ่อวิชัยและชาวบ้านในเขตบ้านลาด ตำบลบ้านแก้ง จังหวัดชัยภูมิ ต้องผ่านความลำบากมาหลายอย่างแล้วเหมือนกัน จากเคยนั่งแบมือรอความหวังจากภาครัฐ รอคอยความหวังให้ช่วยต่อท่อส่งน้ำจากสถานีสูบน้ำไฟฟ้าส่วนกลางที่ทางการสร้างไว้ เพื่อผันน้ำเข้าสู่ไร่นาของชาวบ้านเกือบร้อยหลังคาเรือนซึ่งอยู่ลึกเข้าไปอีกกว่า 2 กม. รอมาตั้งแต่ปี 2546 ซึ่งเป็นปีที่สร้างสถานีสูบใหม่ๆ หวังว่าจะช่วยให้ไร่อ้อยที่พวกเขาปลูกเอาไว้ได้รับน้ำบ้าง เพื่อจะได้มีผลผลิตดีๆ อย่างไร่ใกล้สถานีสูบ แต่แล้วก็กลับต้องอกหัก
“เคยไปขอ ส.ส. ในจังหวัดนี่แหละ รอแล้วรอเล่า เขาก็ไม่มาทำให้ ไอ้เราก็ไม่มีน้ำจะใช้ ก็ไม่รู้จะทำยังไง จะสูบเข้ามารดน้ำก็ตอนอ้อยเรามันใกล้ตายแล้ว เพราะสูบน้ำครั้งหนึ่งมันต้องเสียค่าใช้จ่ายแพงมาก จะสูบบ่อยๆ ก็คงไม่ไหว” พ่อนิคม ฝาดสุนทร หนึ่งในเกษตรกรรุ่นแรกที่เข้าร่วมโครงการบ่นให้ฟัง
เมื่อกลุ่มมิตรผล (บริษัท มิตรผลวิจัยพัฒนาอ้อยและน้ำตาล จำกัด) ลงพื้นที่มาทดลองการจัดการแบบ “มิตรผลโมเดล: Jigsaw ต่อยอดการพัฒนาที่ยั่งยืน” เข้ามาแก้ปัญหาเรื่องระบบชลประทาน-การจัดการน้ำ ความหวังของชาวบ้านจึงทอประกายขึ้นมาอีกครั้ง หลังจากพูดคุยซื้อใจกันอยู่นาน เกษตรกรที่เดือดร้อนทั้งหมด 86 ราย จึงตกลงควักกระเป๋าสตางค์รวมเป็นเงินทั้งหมด 2.4 ล้านบาท สำหรับวางท่อส่งน้ำยาว 1,860 เมตรเข้าสู่ไร่นาของตัวเอง โดยให้ทางมิตรผลออกทุนให้ก่อนแล้วจึงทยอยจ่ายให้แล้วเสร็จภายใน 4 ปี มีการกำหนดตารางการให้น้ำอย่างชัดเจน
ครั้งนี้ อ้อยที่ได้มีคุณภาพเพิ่มขึ้นจริง แต่ผลผลิตยังไม่เพิ่มเท่าที่ควร เพราะแค่แก้ปัญหาเรื่องระบบการจัดการน้ำ ให้น้ำแก่อ้อยอย่างพอเพียงนั้น ถือเป็นการแก้ไขที่ถูกต้องก็จริง แต่ไม่ได้ครอบคลุมปัญหาทั้งหมด เพราะการที่ผลผลิตต่ำกว่ามาตรฐานยังมีผลมาจากหลายปัจจัย แต่ด้วยระยะเวลาอันยาวนาน เมื่อเจ้าของโครงการชักชวนให้เกษตรกรผู้เข้าร่วมทดลองทำตามโมเดลนี้ต่อ ส่วนใหญ่จึงถอดใจ จากแรกเริ่มเข้าร่วมทั้งหมด 86 ราย ก็ลดเหลือเพียง 29 รายที่ยังใจกล้าเดินตามโมเดลมิตรผลต่อไป
อดทนทดลองทำกระทั่งเห็นการเปลี่ยนแปลงจากหน้ามือเป็นหลังมือ ปริมาณอ้อยโดยรวมเพิ่มขึ้น 123% คือจากผลิตได้ 2,115 ตัน เพิ่มเป็น 4,726 ตัน หรือคิดเป็นผลผลิตต่อไร่แล้ว เป็น 17.88 ตัน จากเดิม ได้แค่ 8 ตันต่อไร่เท่านั้น สร้างปรากฏการณ์น่าตื่นเต้นครั้งใหญ่ ทำให้ชาวไร่ในโครงการมีรายได้เพิ่มขึ้นประมาณ 5 ล้านบาท
ความสำเร็จในครั้งนี้ส่งผลให้โมเดลการพัฒนาแบบยั่งยืนของชุมชนบ้านลาดกลายเป็นโมเดลตัวอย่าง และขยายผลให้เพื่อนเกษตรกรที่ถอดใจไปแล้วได้แต่เสียดายที่ไม่เข้าร่วม และตบเท้ากันร่วมโครงการกันอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง พื้นที่ที่เข้าร่วมโครงการจากเดิม 265 ไร่ จึงกลายเป็น 1,082 ไร่แล้วในขณะนี้
ลองถามเกษตรกรหัวก้าวหน้าที่นี่ดูว่า เหตุใดจึงไม่ใช้วิธีก่อม็อบรากหญ้า รวมตัวกันไปประท้วงหน้ารัฐสภาอย่างที่มีให้เห็นออกสื่อบ่อยๆ พ่อนิคมได้แต่ยิ้มตลกๆ แล้วพูดเสียงดังฟังชัดด้วยภาษาถิ่นว่า “บ่ไปดอก เสียเวลาสิไปหวังพึ่งเขา เฮาทำของเฮา พยายามของเฮาเองนี่ล่ะ ได้ผลสุดๆ แล้ว”
ลูกหลานเกษตรกรรับทรัพย์!
ถึงแม้ผลผลิตในไร่อ้อยแห่งนี้สูงแค่ไหน แต่ถ้าไม่มีผู้รับช่วงต่อ สุดท้ายไร่เงินไร่ทองที่เห็นก็อาจกลายเป็นเพียงไร่ร้างอยู่ดี เจ้าของโครงการจึงสนับสนุนให้มีโครงการ “เส้นทางเศรษฐี” ช่วยปลูกฝังให้ลูกหลานชาวไร่ชาวนากลับมาเห็นคุณค่าในแผ่นดินทองของบ้านเกิดตัวเอง กลับมาเป็นชาวไร่อ้อย ช่วยครอบครัวทำงาน แทนที่จะไปเบียดเสียดแข่งขันกันในเมืองหลวงให้คนล้นทะลักมากยิ่งขึ้นไปอีก
วุฒิชัย วรรณวินัย คือลูกเกษตรกรอีกคนหนึ่งที่จากบ้านเกิดเมืองชัยภูมิมาเรียนไกลถึงในเมืองหลวง เป็นนักศึกษาในมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิตอยู่ถึงชั้นปีที่ 3 หลังจากคุณพ่อซึ่งเป็นเกษตรกรตัวอย่างเสียชีวิต จึงตัดสินใจกลับมาช่วยงานที่บ้าน จากที่ทำงานเกี่ยวกับไร่อ้อยไม่เป็นเลย เมื่อเข้าร่วมโครงการก็ได้เรียนรู้ทีละขั้นตอน จึงตระหนักได้ว่าไม่มีอะไรสายเกินไปถ้าจะเริ่มต้น ทั้งยังมองเห็นปัญหาเดิมในสมัยพ่อของเขาเคยทำและเตรียมพร้อมแก้ไข
“ก่อนหน้านี้ เวลาจะจ้างคนงานมาตัดอ้อย เราต้องวางมัดจำกันเป็นปีๆ ไม่อย่างนั้นไม่มีใครมา เสียเงินเป็นแสนๆ แล้วหลายครั้งที่ถูกโกง ถูกเชิดเงิน ก็เลยคิดว่าต่อไปเราน่าจะเน้นใช้เครื่องจักรตัดอ้อยดีกว่าครับ จะได้ตัดปัญหาเรื่องโกงมัดจำที่เคยโดนด้วย”
ทายาทหัวก้าวหน้าที่น่าสนใจอีกคนหนึ่งคือ ดิลก ภิญโญศรี เขาเป็นวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต ป.ตรี สาขาวิศวกรรมโลหะ และวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ ทำงานเป็นโปรแกรมเมอร์ เขียนโปรแกรมในหุ่นยนต์เพื่อแลกกับเงินเดือน 20,000 กว่าบาทอยู่พักใหญ่ๆ ในกรุงเทพฯ เมื่อทราบว่าทางบ้านมีปัญหาเรื่องคนงาน อยากเปลี่ยนเป็นใช้รถตัดอ้อยแทน เขาจึงตัดสินใจทิ้งความวุ่นวายในเมืองหลวงแล้วใช้ความรู้ที่มีกลับมาพัฒนาผืนแผ่นดินเกิดของตัวเองให้งอกเงยยิ่งขึ้น
“ผมเป็นเด็กบ้านนอกไปเรียนในเมือง ตอนแรกก็ไม่มีเป้าหมายในชีวิตหรอกครับ จบออกมาก็เจอฟองสบู่แตก เลยคิดว่าเรียนคอมพิวเตอร์ดีกว่า พอจบออกมา ทำงานอยู่ 3-4 ปี ตอนทำงาน เราทำในระดับสูง ทำให้รู้สึกกดดันมาก ไม่มีความเป็นอิสระเลย ทั้งวันทั้งคืน ฝันเห็นแต่โค้ดโปรแกรม (ยิ้ม) คิดว่าถ้าทำตรงนั้นต่อไป คงไม่โตกว่านี้แล้ว และเป้าหมายในชีวิตเราก็คงไม่อยากทำอย่างนั้นไปตลอด เราอยากเป็นเจ้าของกิจการ
พอดีกับที่ทางบ้านกำลังมีปัญหาเรื่องแรงงาน อยากให้รถตัดอ้อยในการทำแทน ผมเลยตัดสินใจว่าจะกลับมาช่วยพ่อดีกว่า คุณพ่อก็พูดตลอดว่าอยากจะให้กลับมา เราเลยคิดว่าจะมาช้ามาเร็วก็ต้องมาอยู่ดี เลยตัดสินใจลาออกและมาช่วยคุณพ่อ ช่วงที่ทำไร่อยู่ก็ไปเรียนต่อปริญญาโทได้อีกใบ จบสาขาเทคโนโลยีสารสนเทศ ที่ ม.ขอนแก่นแล้วครับ”
แต่น้อยคนนักจะยอมสลัดอีโก้ออกจากตัวได้อย่างดิลก เพราะบัณฑิตส่วนใหญ่ที่เรียนจบด้วยความรู้ระดับสูงมา มักหน้าบางเกินไปที่จะยอมกลับมาเป็นเกษตรกร อาชีพที่ถูกสังคมมองว่าต้อยต่ำ หลังสู้ฟ้าหน้าสู้ดิน ชดใช้หนี้สินไปวันๆ แต่ผู้ชายคนนี้กลับมีมุมมองที่น่าสนใจกว่านั้น ดิลกสามารถมองเห็นโอกาสที่จะผสมผสานความรู้ที่ร่ำเรียนมากับกิจการของครอบครัวได้อย่างสมบูรณ์แบบ อย่างที่เขาอธิบายให้ฟังโดยละเอียดเอาไว้ว่า
“ผมมองว่ามันไม่ใช่เกษตรกรรมอย่างเดียวแล้วครับ แต่เป็นเกษตรอุตสาหกรรมไปแล้ว เราสามารถใช้หลักที่เราเรียนมา มาจัดการงานในไร่ได้ เรื่องการจัดการเวลา การใช้เครื่องไม้เครื่องมือ แล้วพอดีผมก็เคยมีโอกาสไปดูงานที่ออสเตรเลียมาด้วย ตอนไปซื้อรถตัดมือสองจากที่นู่น ไปเห็นเขาทำไร่ เขามี 3-4 พันไร่ แต่เขาใช้คนงานแค่ 5 คน แต่บ้านเรา มีแค่ 20-30 ไร่ ก็ใช้คนงานไร่ละคน ซึ่งถือว่าสิ้นเปลืองมากๆ เลยคิดว่าน่าจะเอามาปรับปรุงกับงานของเราที่นี่ได้บ้าง
วางแผนไว้ว่าจะลองเปลี่ยนเป็นใช้เครื่องจักรมากขึ้น การลงทุนเครื่องจักร ครั้งแรกอาจจะดูเหมือนราคาสูงหน่อย แต่ถ้ามองระยะยาวมันคุ้มกว่านะ เพราะปัญหาการเกษตรทุกวันนี้คือเรื่องแรงงาน แรงงานราคาสูงและหายากด้วย ถึงจะเทียบเรื่องน้ำมันแล้ว เครื่องจักรก็ยังคุ้มกว่าอยู่ดีครับ สมมติว่าผมอยากจะดายหญ้า ผมใช้คูโบต้าเล็กเครื่องเดียว เติมน้ำมันแค่ 700 บาท ผมจะได้งานประมาณ 20 ไร่ แต่จ้างคนงานมาดายหญ้า เสียคนละ 200 บาท จ้างมา 15 คน อย่างมากสุดก็ได้แค่คนละ 2 ไร่ ก็เท่ากับ ผมต้องเสียเงิน 3,000 บาทเพื่อจ้างคนงาน และได้งานทั้งหมด 30 ไร่ เทียบกันแล้ว ยังไงเครื่องจักรก็คุ้มกว่าอยู่ดีครับ”
ส่วนลูกชาวไร่ชาวนารายอื่นๆ ที่ทำงานกันงกๆ อยู่ในเมืองกรุง ทั้งๆ ที่มีผืนนาผืนไร่ของครอบครัวรอวันให้ไปสานต่ออยู่ ลูกเกษตรกรอย่างดิลกก็ไม่ขอแสดงความคิดเห็นใดๆ แค่บอกเล่าจากประสบการณ์เอาไว้ว่า “ผมได้อยู่บ้าน อยู่กับพ่อแม่ แค่นี้ก็มีความสุขมากแล้วครับ ก็ไม่รู้ว่าเราจะดื้อรั้นไปทำไม ก็คงต้องอยู่ที่แต่ละคน ลองดูดีๆ ว่าความสุขจริงๆ ของเราอยู่ตรงไหนกันแน่” ส่วนความสุขของเขาในวันนี้ ก็มีเพียงประโยคบอกเล่าด้านล่างนี้เองเป็นคำตอบ
“คุณพ่อผม คุณพ่อทองเตา ทำอาชีพนี้มาได้ประมาณ 20 กว่าปีแล้วครับ ผมว่าแกเก่งมากนะ จบแค่ ป.4 ตาบอดข้างหนึ่งด้วย แต่ดูแลทุกอย่างเองหมดเลย ตอนแรกทำแค่ 20 ไร่ จนเพิ่มมาเป็น 200 ไร่ ตอนนี้ ผมมาช่วยดูแลเพิ่มก็ทำได้ 1,500 ไร่แล้วครับ” คนพูดยิ้มอย่างภาคภูมิใจ
โมเดล “เศรษฐี”
มีพื้นที่ปลูกเท่าเดิม แต่เพิ่มผลผลิตและกำไรขึ้นหลายเท่าตัวได้อย่างไร? คงเป็นคำถามที่ผู้สนใจอยากรู้ ลองไขรหัสลับดูจึงได้รู้ว่ามีอยู่ 4 ข้อใหญ่ๆ ที่ต้องท่องจำให้ขึ้นใจเหล่านี้เอง 1.คำนึงถึงปัจจัยพื้นฐาน 2.ทำงานแบบองค์รวม 3.ท่วมท้นผลกำไร และ 4.มั่นใจในความยั่งยืน
อภิวัฒน์ บุญทวี ผู้อำนวยการด้านอ้อย โรงงานน้ำตาลมิตรภูเขียว ช่วยไขรหัสเพิ่มขึ้นอีกนิดว่าเบื้องลึกเบื้องหลังทั้งหมดอยู่ที่ “ก่อนหน้านี้ ชาวไร่ที่นี่มีพื้นที่ของตัวเองน้อย ขาดอุปกรณ์เครื่องจักรในการทำไร่ที่ให้ประสิทธิภาพ ส่วนใหญ่จะชอบจ้างรถแทรกเตอร์จากข้างนอกเข้า ซึ่งแต่ละรายก็จ่ายกันไปคนละครั้ง คนละเจ้า แทนที่จะจ้างรถคันเดียวแล้วหารกันใช้ ก็จะประหยัดต้นทุนไปได้มาก แล้วก็ยังมีปัญหาเรื่องการเพาะปลูก ใส่ปุ๋ย แล้วก็การเก็บเกี่ยว ก่อนหน้านี้เขาไม่มีกำหนดเวลาที่แน่นอน เลยเก็บอ้อยกันไม่ทันเวลา ทำให้ผลผลิตต่อปีอยู่ในเกณฑ์ต่ำ พอต่ำ ชาวไร่ก็มีรายได้น้อย เราจึงช่วยเข้ามาวิเคราะห์และแก้ปัญหาให้ตรงจุดครับ”
เริ่มจาก “คำนึงถึงปัจจัยพื้นฐาน” คือต้องพิจารณาว่าการปลูกอ้อยต้องประกอบไปด้วยองค์ประกอบอะไรที่สำคัญบ้าง ดินจะต้องอุดมสมบูรณ์ โดยเน้นการตัดอ้อยสดไม่เผาใบ ไถกลบเศษซากลงดินเพื่อนำมาทำเป็นปุ๋ย และใช้กากหม้อกรองเพื่อปรับปรุงโครงสร้างดิน เรื่องพันธุ์อ้อย ก็ต้องเป็นพันธุ์ที่มีความหวานสูง เช่น พันธุ์ LK 92-11 และขอนแก่น 3 เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับชาวไร่ ที่สำคัญต้องวางแผนงาน จัดการกับอ้อยในเวลาที่เหมาะสม คือต้องปลูกและตัดให้ทันเวลาภายในเดือนกุมภาพันธ์ เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีปริมาณ น้ำหนักและค่าความหวานที่สูง เป็นที่ต้องการของตลาด
ต้องรู้จัก “ทำงานแบบองค์รวม” เน้นการประสานงานกันในหลายองค์กรที่จะช่วยได้ เช่น สำนักงานอ้อยและน้ำตาลทราย ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ ที่จะช่วยพิจารณาอนุมัติสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้แก่ชาวไร่ (จาก 7 เปอร์เซ็นต์เหลือ 2 เปอร์เซ็นต์) ส่วนตัวเกษตรกรเองก็ต้องหมั่นเรียนรู้ แลกเปลี่ยนทัศนคติในการทำไร่อ้อยที่ถูกต้องจากผู้ที่เคยทำประสบความสำเร็จมาก่อน และเพื่อป้องกันไม่ให้ใช้เงินโดยไม่คุ้มค่า ชาวไร่ควรรวมตัวกันเพื่อประมูลงานรับเหมา เช่น รวมตัวกันประมูลงานปลูกอ้อยด้วยเครื่องจักรแทนการจ้างแรงงานเป็นรายคน เท่านี้ก็เข้าคอนเซ็ปต์ “ท่วมท้นผลกำไร” ได้แล้ว
สุดท้าย ไม่ว่าจะทำสิ่งใดก็ควรต้องนึกถึงผลต่อสิ่งแวดล้อมเป็นที่ตั้ง เช่น การไม่เผาไร่ในการเก็บเกี่ยว และใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งชุมชนแห่งนี้ใช้ระบบน้ำหยดมาแก้ปัญหา น้ำจะค่อยๆ หยดลงไปในพื้นที่ไร่นาในอัตราที่พอดี หากรู้จักทำทุกขั้นตอนโดยไม่ทำร้ายธรรมชาติ เราก็สามารถ “มั่นใจในความยั่งยืน” ได้อย่างแน่นอน
---ล้อมกรอบ---
อ้อยถือเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญของประเทศไทย ปัจจุบัน มีพื้นที่ปลูกประมาณ 6.5 ล้านไร่ ซึ่งให้ผลผลิตประมาณ 70 ล้านตันต่อปี สามารถนำไปผลิตน้ำตาลได้ปีละประมาณ 7 ล้านตัน โดย 2 ล้านตัน ใช้สำหรับการบริโภคภายในประเทศ และ 5 ล้านตัน ส่งออกไปขายยังต่างประเทศ
ประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกน้ำตาลอันดับสองของโลกรองจากประเทศบราซิล แต่ยังถือว่าประเทศเรามีผลผลิตด้วยประสิทธิภาพต่ำ และต้นทุนการผลิตค่อนข้างสูง คือมีผลผลิตเฉลี่ยประมาณ 8-10 ตันต่อไร่ ค่าความหวานอยู่ในระดับ 11-12 ซีซีเอส ในขณะที่ผลผลิตเฉลี่ยของกลุ่มผู้ผลิตอันดับต้นของโลก เช่น บราซิล ออสเตรเลีย จีน อินเดียฯ อยู่ที่ 13-15 ตันต่อไร่ และค่าความหวานอยู่ที่ 13-15 ซีซีเอส
ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ LITE