xs
xsm
sm
md
lg

‘สม รังสี’กลับบ้าน: แค่หน้าฉากสร้างสีสันประชาธิปไตยให้‘ฮุนเซน’(ตอนแรก)

เผยแพร่:   โดย: เซบาสเตียน สแตรงจิโอ

สม รังสี
(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Veneer of democracy in Cambodia
By Sebastian Strangio
15/07/2013

สม รังสี ผู้นำฝ่ายค้านของกัมพูชา กำลังจะเดินทางกลับบ้านเกิดในอีกไม่กี่วันข้างหน้า และตรงดิ่งเข้าร่วมการรณรงค์หาเสียงสำหรับการเลือกตั้งระดับชาติที่จะจัดขึ้นในสิ้นเดือนนี้ ภายหลังที่เขาใช้เวลาเกือบ 4 ปีลี้ภัยอยู่ในต่างประเทศอย่างชนิดที่ไม่ค่อยมีความสำคัญอะไรต่อการเมืองแดนเขมร การกลับมาของเขาได้รับการหนุนหลังจากแรงกดดันบีบคั้นของรัฐสภาสหรัฐฯ ซึ่งต้องการให้การออกเสียงลงคะแนนในกัมพูชาคราวนี้ “มีความน่าเชื่อถือและมีการแข่งขันกัน” ทั้งนี้แน่นอนทีเดียวว่าการปรากฏตัวของ สม รังสี คือการเพิ่มหน้าฉากอันมีสีสันแก่การเลือกตั้งครั้งนี้ให้ดูน่าเชื่อถือมากขึ้น ทว่าถึงอย่างไรนายกรัฐมนตรี ฮุนเซน ก็ไม่มีความตั้งใจที่จะสูญเสียอำนาจที่เขายึดกุมแน่นอยู่ในกำมือ

*ข้อเขียนชิ้นนี้แบ่งเป็น 2 ตอน นี่คือตอนแรก *

พนมเปญ – ภายหลังผ่านระยะเวลาร่วมๆ 4 ปีอย่างชนิดที่ไม่ค่อยมีความสำคัญอะไรต่อการเมืองแดนเขมร มาถึงตอนนี้ สม รังสี (Sam Rainsy) ผู้นำฝ่ายค้านของกัมพูชา กำลังจะกลับมายึดครองเวทีศูนย์รวมความสนใจอันโดดเด่นอีกคำรบหนึ่ง เมื่อเขาเดินทางกลับสู่บ้านเกิดในวันศุกร์ (19 ก.ค.) นี้ เพื่อเข้าร่วมการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งระดับชาติซึ่งกำหนดจัดขึ้นในวันที่ 28 กรกฎาคม

ประธานของพรรคกู้ชาติกัมพูชา (Cambodia National Rescue Party ใช้อักษรย่อว่า CNRP) ผู้นี้หลบไปพำนักอาศัยอยู่ในฝรั่งเศส เพื่อหลีกหนีโทษจำคุก 11 ปีสำหรับความผิดฐานหมิ่นประมาทและข้อหาอื่นๆ ซึ่งศาลในกัมพูชาตัดสินลงโทษเขา สืบเนื่องจากเหตุการณ์ท้าทายที่เขาถอนหลักเขตแดนหลายหลักบริเวณพรมแดนติดต่อระหว่างกัมพูชากับเวียดนามออกมาเมื่อปลายปี 2009 เพื่อเป็นการสำทับยืนยันความเห็นของเขาที่ว่าหลักเขตแดนเหล่านี้ปักรุกล้ำเข้ามาในดินแดนของเขมรอย่างโจ่งแจ้ง โทษทัณฑ์เหล่านี้ได้รับพระราชทานอภัยโทษจากสมเด็จพระราชาธิบดีของกัมพูชาแล้วในวันศุกร์ (12 ก.ค.) ดังนั้น เวลานี้นักการเมืองวัย 64 ปีผู้นี้จึงสามารถกลับบ้านได้โดยไม่ต้องกลัวเกรงว่าจะถูกจับกุม และจะพาตนเองตรงดิ่งเข้าสู่การรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งของฝ่ายค้าน เพื่อพยายามหยุดยั้งการครองอำนาจปกครองประเทศมาอย่างต่อเนื่องยาวนานของนายกรัฐมนตรี ฮุนเซน

สำหรับ สม รังสี แล้ว การได้รับพระราชอภัยโทษซึ่งกษัตริย์นโรดมสีหมุนี ทรงลงพระปรมาภิไธยในพระราชกฤษฎีกาตามที่ทูลเกล้าฯถวายขึ้นไปโดย ฮุนเซน คือผลลัพธ์จากการใช้ความพยายามตลอดระยะเวลาเกือบ 4 ปีในการตระเวนล็อบบี้ตามเมืองหลวงต่างๆ ของประเทศตะวันตก ถึงแม้บ่อยครั้งทีเดียวในระหว่างนั้นซึ่งเขาได้พบว่า การต่อสู้ดิ้นรนของเขาเพื่อให้ประเด็นปัญหากัมพูชายังคงได้รับความสนใจและคงอยู่ในระเบียบวาระระหว่างประเทศนั้นไม่ค่อยประสบความสำเร็จเป็นชิ้นเป็นอันอะไรเลย จวบจนกระทั่งการเลือกตั้งในกัมพูชาคราวนี้ขยับใกล้เข้ามานั่นแหละ ความพากเพียรของเขาจึงดูเหมือนเริ่มที่จะผลิดอกออกผล

ในช่วงสองสามเดือนที่ผ่านมา กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯได้ออกมาตำหนิติเตียนกัมพูชา เกี่ยวกับปัญหาต่างๆ อันเห็นกันได้อย่างชัดเจนในกระบวนการจัดการเลือกตั้งของแดนเขมร เป็นต้นว่า การที่ สม รังสี ไม่สามารถที่จะอยู่ในประเทศและเข้าร่วมการหาเสียงเลือกตั้ง ตลอดจนการที่พรรครัฐบาลอาศัยฐานะการครองเสียงข้างมากในสภาล่างซึ่งมีชื่ออย่างเป็นทางการว่า “สมัชชาแห่งชาติ” (National Assembly) ลงมติถอดสมาชิกสภาฝ่ายค้านจำนวน 28 คนให้พ้นสมาชิกภาพเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา นอกจากนั้น กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯยังวิพากษ์วิจารณ์เรื่องที่รัฐบาลฮุนเซนสั่งห้ามการออกอากาศรายการของสถานีวิทยุกระจายเสียงต่างประเทศตลอดระยะเวลา 1 เดือนของช่วงรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง ซึ่งการวิจารณ์เช่นนี้ปรากฏว่าได้รับการสนองตอบอย่างรวดเร็วโดยที่พนมเปญยกเลิกคำสั่งนี้ภายในเวลาไม่กี่วัน (คำสั่งนี้เป็นคนละฉบับกับคำสั่งห้ามการออกอากาศรายการของต่างประเทศซึ่งพูดถึงเรื่องการเลือกตั้งของกัมพูชา ภายในช่วงเวลา 5 วันก่อนวันเลือกตั้ง โดยที่คำสั่งฉบับหลังนี้ยังคงมีผลบังคับใช้)

ไม่เฉพาะกระทรวงการต่างประเทศอเมริกัน ทางรัฐสภาสหรัฐฯก็ได้แสดงท่าทีเพิ่มแรงบีบคั้นกดดันด้วยเช่นเดียวกัน ในญัตติลงวันที่ 7 มิถุนายนที่ยื่นเสนอต่อวุฒิสภาสหรัฐฯ เจ้าของญัตติซึ่งคือวุฒิสมาชิกลินด์ซีย์ เกรแฮม (Lindsey Graham) และ วุฒิสมาชิก มาร์โค รูบิโอ (Marco Rubio) เรียกร้องให้ระงับความช่วยเหลือที่สหรัฐฯให้แก่กัมพูชาเอาไว้ก่อน ถ้าหากการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นครั้งนี้ “ ไม่มีความน่าเชื่อถือและไม่มีการแข่งขันกัน” ญัตติที่มีเนื้อหาทำนองเดียวกันก็ถูกจัดเตรียมเพื่อยื่นเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรของสหรัฐฯด้วย โดยที่ ส.ส.ดานา โรห์ราบาเชอร์ (Dana Rohrabacher) ผู้เป็นพันธมิตรของ สม รังสี มาเป็นเวลายาวนานแล้ว ได้กล่าวประณามฮุนเซนว่า เป็น “มนุษย์ผู้ทุจริตและชั่วร้าย ซึ่งได้เข้ายึดฉวยเอาประเทศนั้นมาไว้ในกำมือของตนอย่างแน่นหนาเป็นระยะเวลาหลายสิบปีแล้ว” นักการเมืองอเมริกันผู้นี้พูดสำทับด้วยว่า “ถึงเวลาที่ฮุนเซนควรจะไปเสียที”

ทว่าเห็นได้อย่างชัดเจนว่า บุรุษเหล็กวัย 61 ปีซึ่งปัจจุบันมีฐานะเป็นนายกรัฐมนตรีผู้ดำรงตำแหน่งมายาวนานที่สุดของเอเชียอยู่แล้วผู้นี้ มีแผนการที่แตกต่างออกไป ฮุนเซนนั้นอยู่ในอำนาจมาตั้งแต่ปี 1985 และพรรคประชาชนกัมพูชา (Cambodian People's Party ใช้อักษรย่อว่า CPP) ของเขา ก็มีความได้เปรียบทุกๆ ด้านสมกับที่ได้เป็นผู้ปกครองแผ่นดินมาหลายสิบปี ไม่ว่าจะเป็น การมีระบบศาลและระบบริหารราชการที่ว่าได้ใช้ฟัง, การได้ปรากฏเป็นข่าวตามสื่อต่างๆ อย่างชนิดแทบจะเป็นการผูกขาด, การได้รับความสนับสนุนจากกองทัพและตำรวจ, และการได้รับการหนุนหลังทางการเงินจากกลุ่มนายทุนทรงอิทธิพลที่เป็นพวกพ้องใกล้ชิดกัน

พรรคประชาชนกัมพูชา ได้ที่นั่งในสมัชชาแห่งชาติจำนวนมากขึ้นทุกๆ ครั้งที่มีการเลือกตั้งระดับชาติ นับตั้งแต่การเลือกตั้งครั้งที่หนุนหลังโดยสหประชาชาติเมื่อปี 1993 เป็นต้นมา โดยที่ในครั้งสุดท้ายคือเมื่อปี 2008 พรรคชนะกวาดมาได้ 90 ที่นั่งจากจำนวนทั้งสิ้น 123 ที่นั่งในสภาล่างซึ่งทรงอำนาจแห่งนี้ นอกจากนั้นพรรคยังสามารถที่จะควบคุมการแต่งตั้งตัวบุคคลเข้าไปในคณะกรรมการการเลือกตั้งแห่งชาติ (National Election Committee ใช้อักษรย่อว่า NEC) ของประเทศอีกด้วย กระทั่งว่าแม้เมื่อปรปักษ์คนสำคัญของเขาเดินทางกลับมา ก็ยังแทบเป็นเรื่องแน่นอนอยู่ดีที่ ฮุนเซน จะชนะกวาดที่นั่งในสภาได้อย่างมากมายตามเคย

แต่ถึงจะเป็นเช่นนั้น พรรคประชาชนกัมพูชาก็ยังคงไม่ประมาททั้งในการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง, การนำแผ่นป้ายหาเสียงสีฟ้าไปติดตามสถานที่โดดเด่นเตะตาสาธารณชนทั้งหลายอย่างชนิดผูกขาดอยู่เจ้าเดียว, และการจัดส่งนักเคลื่อนไหวของพรรคที่ว่าจ้างมาให้ไปตามถนนสายต่างๆ ทั่วเมืองหลวงเพื่อโบกธงและประโคมเสียงดนตรีเทคโนป๊อปเนื้อหาเชียร์รัฐบาลอันคึกคัก เมื่อช่วงต้นเดือนนี้เอง พรรคประชาชนกัมพูชาได้เผยแพร่วิดีโอหาเสียงซึ่งผลิตขึ้นอย่างประณีตมีฝีมือ โดยผู้ที่เป็นตัวแสดงเอกคือ นพ ปันหะริธ (Nop Panharith) ดารานักร้องคาราโอเกะชื่อดัง วิดีโอนี้ผสมผสานโอวาทยกย่องเชิดชูความเป็นผู้นำแบบ “กำปั้นเหล็ก” ของฮุนเซ็น เข้ากับภาพตระการตาของปราสาทนครวัดอันเก่าแก่สูงส่ง ตลอดจนภาพมุมกว้างถ่ายจากเฮลิคอปเตอร์แสดงให้เห็นพวกเยาวชนนักเคลื่อนไหวของพรรคแปรขบวนเป็นหมายเลข 4 (หมายเลขของพรรคประชาชนกัมพูชาในการลงคะแนนเลือกตั้งครั้งนี้) ขนาดใหญ่ บนหลังคาของอาคารธนาคารคานาเดีย (Canadia Bank ) ในกรุงพนมเปญ

ในท่ามกลางลูกเล่นมัลติมีเดียแปลกใหม่ที่ถูกนำมาใช้เป็นครั้งแรกๆ เหล่านี้ พรรคประชาชนกัมพูชายังคงไม่ลืมที่จะแฝงฝังข้อความซึ่งตนเองต้องการสื่อด้วยความชัดเจนและเข้าใจง่าย นั่นก็คือการเน้นย้ำบทบาทของพรรคในการโค่นล้มระบอบปกครองเขมรแดงในปี 1979, การเดินหน้าทำข้อตกลงสันติภาพภายในประเทศ, และการบ่มเพาะสร้างสรรค์ช่วงเวลาแห่งความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอันน่าประทับใจ สำหรับประชาชนชาวกัมพูชาประมาณ 3 ใน 4 ที่ยังคงพำนักอาศัยอยู่ในพื้นที่ชนบทอันยากจน ข้อความเหล่านี้ยังคงเป็นข้อความที่ช่วยตอกย้ำสร้างความมั่นใจ โดยที่มีสิ่งซึ่งช่วยขับเน้นให้หนักแน่นยิ่งขึ้นอีก ซึ่งก็คือความทรงจำเกี่ยวกับความสยดสยองในอดีต รวมทั้งยังทำให้เกิดความหวาดกลัวผุดขึ้นมาในใจว่าประเทศอาจจะถอยหลังถลำลงสู่ความปั่นป่วนวุ่นวายไม่มากก็น้อย ถ้าหากไม่เลือกพรรคประชาชนกัมพูชา

ในการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในกัมพูชาเมื่อช่วงต้นปีนี้ สถาบันอินเตอร์เนชั่นแนล รีพับลิกัน อินสติติว (International Republican Institute) ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากสหรัฐฯพบว่า 79% ของผู้ตอบคำถามคิดว่าประเทศของพวกเขากำลังเดินหน้าไป “ในทิศทางที่ถูกต้อง” แล้ว ขณะที่ 74% ยกย่องชมเชยนโยบายการสร้างถนนสายต่างๆ ของพรรครัฐบาลว่าเป็นผลงานความสำเร็จที่สำคัญ ดังนั้น ถ้าหากเราจะลองแปลงคำกล่าวอันมีชื่อเสียงของ แบร์โทลต์ เบรคต์ (Bertolt Brecht) นักเขียนบทละครลือชื่อชาวเยอรมัน มาพูดแล้ว ก็คงต้องบอกว่า ในสายตาของชาวกัมพูชาจำนวนมากมาย การเมืองโดยองค์รวมยังคงเป็นเรื่องของ “ข้าวเป็นเรื่องอันดับแรก ถัดจากนั้นจึงค่อยเป็นเรื่องประชาธิปไตย”

กระนั้นก็ดี ยังคงสามารถพูดได้ด้วยว่า ภูมิทัศน์ทางการเมืองของกัมพูชากำลังมีการเปลี่ยนแปลง แม้ว่าจะดำเนินไปอย่างช้าๆ ในการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นคราวนี้ ผู้มีสิทธิออกเสียงราว 3.5 ล้านจากจำนวนผู้มีสิทธิทั่วประเทศ 9.5 ล้านคน จะเป็นผู้ที่มีอายุระหว่าง 18 ถึง 30 ปี ทั้งนี้ตามข้อมูลของคณะกรรมการการเลือกตั้งแห่งชาติ โดยที่ในจำนวนนี้ 1.5 ล้านคน หรือประมาณ 15% ของผู้มีสิทธิออกเสียงทั้งหมด จะเป็นผู้ที่ไปใช้สิทธิลงคะแนนเป็นครั้งแรก นี่หมายความว่าประชากรชาวกัมพูชาในปัจจุบันถึงราวๆ ครึ่งหนึ่งทีเดียวไม่ได้มีความทรงจำใดๆ เกี่ยวกับความหฤโหดของพวกเขมรแดง ผู้ซึ่งปกครองประเทศในช่วงระหว่างปี 1975-1979

ด้วยเหตุนี้ พรรคกู้ชาติกัมพูชา ที่เป็นฝ่ายค้าน ซึ่งเพิ่งก่อตั้งขึ้นในปีที่แล้วจากการผนวกรวมกันของพรรคสม รังสี (พรรคที่ก่อตั้งโดย สม รังสี และใช้ชื่อของเขาเองเป็นชื่อพรรค) กับพรรคสิทธิมนุษยชน (Human Rights Party) ซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี 2007 โดย แกม สุขา (Kem Sokha เวลานี้เขามีตำแหน่งเป็นรองประธานของพรรคกู้ชาติกัมพูชา) จึงตั้งความหวังว่าผู้มีสิทธิออกเสียงอายุเยาว์เหล่านี้จะมีความคิดเปิดกว้างมากขึ้น และประทับใจกับการรณรงค์หาเสียงของฝ่ายค้านซึ่งมุ่งเน้นหนักที่การเปิดโปงการทุจริตคอร์รัปชั่นของรัฐบาล และการมุ่งสร้างตำแหน่งงานใหม่ๆ “(คนหนุ่มคนสาว) รู้สึกกันว่า สิ่งที่กำลังถูกท้าทายอยู่ในเวลานี้คืออนาคตของพวกเขาเองจะเป็นอย่างไรต่อไป” ลอง โบตตา (Long Botta) อดีตรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งกำลังลงสมัครในนามของพรรคกู้ชาติกัมพูชาในเขตเลือกตั้งที่จังหวัดพระตะบอง ทางภาคตะวันตกของประเทศ อธิบายแจกแจง “สำหรับพวกเขาส่วนใหญ่แล้ว สิ่งต่างๆ กำลังเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม พวกเขากำลังตกอยู่ในความตื่นเต้นที่พองโตแต่ก็เปราะบางเหมือนฟองสบู่”

เซบาสเตียน สตรังจิโอ เป็นนักหนังสือพิมพ์ซึ่งพำนักอยู่ในพนมเปญ โดยทำหน้าที่รายงานข่าวเกี่ยวกับภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ปัจจุบันเขากำลังเขียนหนังสือเล่มหนึ่งซึ่งจะพูดถึงกัมพูชายุคใหม่ ทั้งนี้สามารถติดต่อเขาได้ทางอีเมลที่ sebastian.strangio@gmail.com

(อ่านต่อตอน2 ซึ่งเป็นตอนจบ)
กำลังโหลดความคิดเห็น