xs
xsm
sm
md
lg

ผู้นำศาสนา นักวิชาการใต้ หนุนแถลงยุติความรุนแรงเดือนรอมฎอน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ดร.พระครูเขมวงศานุการ เจ้าอาวาสวัดนิโธรสังฆาราม / รองเจ้าคณะจังหวัดยะลา
ยะลา - ผู้นำศาสนาในพื้นที่จังหวัดยะลา เห็นด้วยกับการแถลงยุติความรุนแรงในช่วงเดือนรอมฎอน เพื่อสร้างสันติสุขกลับคืนสู่ประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ด้านนักวิชาการชายแดนใต้หนุนยุติความรุนแรงในช่วงเดือนรอมฎอน

หลังจากที่เมื่อวันที่ 12 ก.ค.ที่ผ่านมา ดาโต๊ะเสรี อาห์หมัด ซัมซามิน ฮาซิม อดีตผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองของประเทศมาเลเซีย ในฐานะผู้อำนวยความสะดวกพูดคุยสันติภาพระหว่างไทยกับขบวนการแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปัตตานี หรือบีอาร์เอ็น ได้ออกมาแถลงกรณีข้อตกลงสันติภาพเบื้องต้นในเดือนรอมฎอน ปี 2556 โดยระบุว่า กลุ่มบีอาร์เอ็น รับปากควบคุมดูแลไม่ให้สมาชิกก่อเหตุความรุนแรงทุกรูปแบบในช่วงรอมฎอน คือระหว่างวันที่ 10 กรกฎาคม 2556 ถึงวันที่ 18 สิงหาคม 2556 ตลอดช่วงเดือนรอมฎอน และหลังสิ้นสุดรอมฎอนแล้ว 10 วัน รวม 40 วัน

ขณะที่ท่าทีฝ่ายไทยต่อข้อตกลงลดเหตุรุนแรงช่วงรอมฎอน โดยไทยรับจะรักษาความปลอดภัยประชาชนโดยไม่เลือกปฏิบัติ และลดการปิดล้อมตรวจค้นเชิงรุก อย่างไรก็ตาม การแถลงที่มาเลเซียเป็นการแถลงโดย ดาโต๊ะเสรี อาห์หมัด ซัมซามิน ฮาซิม ฝ่ายเดียว ไม่มีตัวแทนบีอาร์เอ็น และไม่มีตัวแทนคณะพูดคุยฝ่ายไทยเข้าร่วม

หลังจากมีการแถลงดังกล่าว มีความเคลื่อนไหวมากมายของกลุ่มต่างๆ ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งผู้นำศาสนาในทุกศาสนา นักวิชาการ นิสิตนักศึกษา ผู้นำท้องถิ่น และประชาชนทั่วไป โดยส่วนใหญ่เห็นด้วยกับข้อแถลงดังกล่าว ถึงแม้จะเพียงแค่ระยะเวลา 40 วัน แต่นั่นก็ถือเป็นการส่งสัญญาณที่ดี ซึ่งหมายถึงความสันติสุขในระยาว

ดร.พระครูเขมวงศานุการ เจ้าอาวาสวัดนิโธรสังฆาราม/รองเจ้าคณะจังหวัดยะลา เผยว่า จากการที่กลุ่ม BRN ได้ออกประกาศเมื่อวันที่ 12 ก.ค. จากประเทศมาเลเซียที่ผ่านมานั้นว่าจะยุติความรุนแรงทั้งหมดตลอดช่วงเดือนรอมฎอน ในฐานะที่ตนเองเป็นผู้นำทางศาสนาก็รู้สึกยินดี เพราะศาสนาทุกศาสนามุ่งเน้นที่จะให้ศาสนิกชนประสบแต่ความสุข ความเจริญในชีวิต ในหน้าที่การงาน และมีความปลอดภัย ที่ผ่านมา เกิดเหตุร้ายที่ทำให้ต้องสูญเสียชีวิต และทรัพย์สิน

ฉะนั้น ในช่วงเดือนรอมฎอน ซึ่งเป็นเดือนถือศีลอดของพี่น้องมุสลิม ก็เช่นเดียวกันกับพี่น้องที่นับถือศาสนาพุทธก็จะอยู่จำพรรษาในวันที่ 23 ก.ค.นี้ ในการอยู่จำพรรษาในเดือนกรกฎาคมนี้ เพื่อศึกษาธรรม ปฏิบัติศาสนกิจอย่างเต็มที่ ฉะนั้นที่กลุ่ม BRN ประกาศจะยุติความรุนแรงเท่ากับเป็นการให้ความร่วมมือแก่ทุกศาสนา ประชาชนที่เดินทางไปประกอบศาสนกิจที่มัสยิดก็มีความรู้สึกปลอดภัย พุทธศาสนิกชนจะมาปฏิบัติธรรมที่วัดก็รู้สึกปลอดภัยเช่นเดียวกัน

เพราะฉะนั้น จึงขอให้มีความจริงใจทางสัจจวาจาที่ได้ประกาศไปแล้ว อย่าทำแต่ว่าพูดเพื่อความสบายใจ แต่ไม่ได้รักษาคำพูดตามที่ตกลงกัน ในฐานะที่กลุ่ม BRN ได้ประกาศนั้นแสดงว่า ทางกลุ่ม BRN มีคุณธรรมอยู่ในจิตใจ คนที่มีคุณธรรมอยู่ในจิตใจ และปฏิบัติตามคุณธรรม จริยธรรม ก็เท่ากับว่าเป็นผู้ที่รักความสงบ ผู้ที่รักความสันติ ของเป็นที่พอใจของทุกๆ ศาสนา ที่จะหยุดการเข่นฆ่า เพื่อที่จะยุติความรุนแรง ความสูญเสีย และหวังว่าพี่น้องประชาชนทุกศาสนาต่างพากันชื่นชมยินดีโดยถ้วนหน้ากันทุกคนในการที่จะสร้างสันติสุขร่วมกัน

ส่วนทางด้านดาโต๊ะอาซิส เบ็ญหาวัน ประธานสภาที่ปรึกษาการบริหาร และการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้เผยว่า จากกรณีที่ผู้อำนวยความสะดวกของประเทศมาเลเซีย ดาโต๊ะ เสรี อาห์หมัด ซัมซามิน ฮาซิน ได้ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 12 ก.ค. ที่ผ่านมา ถึงความพร้อมในเรื่องของความร่วมมือระหว่างฝ่ายผู้ที่มีความคิดเห็นต่างกับรัฐบาลไทย ในอันที่จะยุติความรุนแรง หรือลดความรุนแรงลงในช่วงเดือนรอมฎอนตามที่ได้มีข้อตกลงในการประชุมครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 13 มิ.ย.56 ที่ผ่านมา ซึ่งจะได้เห็นภาพอย่างชัดเจนแล้วว่า สิ่งที่เป็นความคืบหน้าของการพูดคุย ความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับผู้ที่มีความคิดเห็นต่างก็ได้เกิดขึ้นแล้ว

และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า เหตุการณ์ช่วงเดือนรอมฎอนถึงแม้ว่าเหตุการณ์จะไม่ยุติลงโดยสิ้นเชิง แต่อย่างน้อยที่สุดเชื่อว่าเหตุการณ์ความรุนแรงต่างๆ ก็คงจะลดลง ส่วนความรุนแรงที่ยังคงมีอยู่บ้างนั้น เกิดจากสาเหตุอะไรนั้น ทางด้านฝ่ายความมั่นคงก็ต้องนำมาวิเคราะห์ว่าเกิดจากสาเหตุใด เนื่องจากฝ่าย BRN เองก็คงคิดว่า ไม่สามารถที่จะสื่อสารกับกลุ่มที่มีอยู่ในพื้นที่ได้ หรืออาจจะมีกระบวนการมือที่สามพยายามเข้ามาแทรกแซงสร้างความวุ่นวายให้เกิดขึ้น ทำให้สิ่งที่เราพูดคุยกันนั้นไม่อาจจะประสบผลสำเร็จได้

แต่อย่างไรก็ตาม ในกรณีของรัฐบาลไทยนั้น ก็ได้พยายามอำนวยความสะดวก พยายามลดเรื่องของการตรวจค้น จับกุมเหมือนที่เคยปฏิบัติกันมาไปมากพอสมควร จะเห็นได้ว่าก่อนการถือศีลอดจนถึงวันนี้ด่านตรวจต่างๆ ก็คลายความเข้มงวดลงบ้าง แต่จะยกเลิกด่านตรวจทุกด่านก็คงเป็นไปไม่ได้ จึงต้องเห็นใจฝ่ายความมั่นคงที่ทำหน้าที่ดูแลเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นจากกลุ่มต่างๆ นั้น ฝ่ายความมั่นคงก็จะต้องดูแลให้ประชาชนได้รับความปลอดภัยอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข สิ่งที่ได้ดำเนินการจากการพูดคุยของรัฐบาลไทย กับผู้ที่มีความคิดต่างจะเห็นถึงความคืบหน้าไปในระดับหนึ่ง ที่สามารถขยายเป็นการพูดคุยในการหาข้อยุติที่จะแสวงหาสันติภาพ และสันติสุขให้เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างยั่งยืนสืบไป

นายอับดุลสุโก ดินอะ ผู้จัดการโครงการพัฒนาเครือข่ายตำบลสุขภาวะ ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวว่า เป็นสิ่งที่ดีขอแสดงความยินดีกับการออกมาแถลงยืนยันการยุติหนุนเสริมการพูดคุยสันติภาพในครั้งนี้ เป็นโอกาสดีที่ทั้ง 2 ฝ่ายจะได้ทดลองว่าเป้าหมายต่อไปที่จะเดินจะเป็นอย่างไร ในเดือนรอมฎอนนั้น เป้าหมายของผู้ถือศีลอด คือ การสร้างความยำเกรงต่อพระเจ้า ผู้ที่ยำเกรงต่อพระเจ้า คือ ผู้ละทิ้งในสิ่งที่ไม่ดี ทำในสิ่งที่ดี แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงกลัวว่า สิ่งที่ได้ประกาศไว้จะไม่เป็นตามนั้น ปัจจัยมาจากคนที่ไม่เห็นด้วยกับทั้ง 2 ฝ่าย ว่าจะทำให้บรรยากาศเหล่านี้สะดุด

เพราะฉะนั้น ทั้งสองฝ่ายควรที่จะอดทน อดกลั้นให้มากที่สุด รวมทั้งประชาชนชาวไทยด้วย เราปฏิเสธไม่ได้เลยว่าคนที่ไม่เห็นด้วยก็ยังมีอยู่บ้าง และการเจรจาที่ทางรัฐบาลไทยได้กระทำอยู่ถือเป็นสิ่งที่ดี แต่ในขณะนี้ กลุ่มก่อความเคลื่อนไหวมีหลายกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นพูโล กลุ่มอื่นๆ ควรดูแนวคิดของบีอาร์เอ็นที่ต้องการสร้างสันติภาพโดยการใช้การเจรจาพูดคุยเพื่อยุติความรุนแรง

ตนเองนั้นคิดว่าในหากทางบีอาร์เอ็นสามารถลดเหตุความรุนแรงในช่วง 40 วันนี้ได้ ก็ถือเป็นการสร้างมวลชนได้มาก และตัวมวลชนเองจะเป็นตัวกดดันกลุ่มอื่นๆ ให้ได้ปฏิบัติตาม แต่เราก็ยังกังวลว่า กลัวจะมีกลุ่มแฝงที่ไม่เกี่ยวกับเหตุการณ์ เช่น ภาคการเมือง ที่ไม่เห็นด้วยกับการเจรจาสันติภาพ ตรงนี้เป็นสิ่งข้อควรระวัง ส่วนข้อเสนอของกลุ่มบีอาร์เอ็น ที่ต้องการให้ถอนทหารนั้น ตนเองมองว่า น่าจะมีการพิจารณาจากภาครัฐ เพราะถ้าไม่มีเหตุความรุนแรงเลย กำลังทหารก็ไม่มีความจำเป็น แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือ พลังจากภาคประชาชนที่จะร่วมกันแสดงให้เห็นถึงพลังของความต้องการด้านสันติภาพ นายอับดุลสุโก ดินอะ กล่าว

อาจารย์ประสิทธิ์ เมฆสุวรรณ ประธานสภาประชาสังคมชายแดนใต้ กล่าวด้วยว่า ผมคิดว่าเป็นนิมิตหมายที่ดี เพราะเป็นข้อตกลงร่วมระหว่างผู้แทนรัฐบาลไทยกับฝ่ายบีอาร์เอ็น โดยมีผู้แทนจากประเทศมาเลเซียเป็นคนแถลงจุดยืนในช่วงเดือนรอมฎอน ทุกคนก็มีความหวังว่าความรุนแรงจะลดลงได้จริง แต่หากถ้ามีเหตุการณ์เกิดขึ้นก็ต้องสอบสวนดูว่ามาจากอะไร และมีการพิสูจน์ข้อเท็จจริง และแถลงต่อสาธารณะ และหาก 40 วันนี้ ไม่มีเหตุการณ์ความรุนแรง ผมคิดว่ามันเป็นรากฐานที่ดีของการพูดคุยครั้งต่อไป ทั้งความไว้วางใจของฝ่ายรัฐ ส่วนบีอาร์เอ็นก็จะมีการยกระดับจากกลุ่มก่อเหตุการณ์ความรุนแรง ก็จะกลายเป็นกลุ่มขบวนการที่มีอุดมการณ์

ส่วนข้อเสนอของบีอาร์เอ็นทั้ง 7 ข้อ ผมในฐานะประชาชนที่อยู่ในพื้นที่มองว่า รับได้ทั้ง 7 ข้อ แต่ต้องมีคำสั่งจากสำนักนายกรัฐมนตรี ที่มีการลงนามโดยนายกรัฐมนตรีก็สามารถออกมาเป็นแนวปฏิบัติระหว่างที่มีการพูดคุยเจรจาอยู่ในขณะนี้ เพราะถ้าทำจะเป็นการแสดงความจริงใจในการลดเงื่อนไข เช่นเดียวกับบีอาร์เอ็น ที่ลดความรุนแรง ก็ถือเป็นการแสดงความจริงจัง และจริงใจเช่นเดียวกัน

ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ในขณะนี้ สัดส่วนของประชากร 95 เปอร์เซ็นต์นับถือศาสนาอิสลาม ข้อกังวลในวันนี้ของอีก 5 เปอร์เซ็นต์ที่เหลือคือ ผู้ที่นับถือศาสนาอื่นคือ เราถือว่าทุกคนเป็นคนไทย หากจะมีการยอมรับข้อเสนอทั้ง 7 ข้อของบีอาร์เอ็นที่จะสามารถทำให้บ้านเมืองสงบสุข ผมคิดว่าพี่น้องในทุกศาสนิกของพื้นที่นี้ก็มีความต้องการแบบเดียวกันคือ “สันติภาพ”

ทางด้าน ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ กล่าวทิ้งท้ายในกรณีนี้ว่า มันเป็นความริเริ่มสันติภาพของเดือนรอมฎอน เป็นพัฒนาการอีก 1 ก้าวของการพูดคุยสันติภาพที่จะเป็นการตกลง และทำความเข้าใจร่วมกัน เป็นสิ่งใหม่ของประวัติศาสตร์ที่จะสามารถเกิดขึ้นได้จริงๆ เป็นการปูพื้นฐานของการพูดคุยสันติภาพตั้งแต่นี้เป็นต้นไป มันแสดงออกถึงความจริงใจของทั้ง 2 ฝ่าย

ผู้สื่อข่าวถามต่อไปว่า ในฐานะที่เป็นหนึ่งของผู้ร่วมเจรจาพูดคุยเพื่อสันติภาพนั้น การพูดคุยครั้งต่อไปมีแนวโน้มในการพูดคุยเรื่องอะไร ผศ.ดร.ศรีสมภพ กล่าวต่อว่า คงไม่พ้นเรื่องของข้อเสนอ 5 ข้อของบีอาร์เอ็น และเพิ่มเติมเรื่อง 7 ข้อของเดือนรอมฎอน ส่วนทางฝ่ายของรัฐบาลคงเป็นข้อเสนอของการพยายามที่จะทำให้ลดความรุนแรงในระยะยาวต่อไป ที่สำคัญคือข้อเสนอในข้อโครงสร้างของบีอาร์เอ็น ที่จะต้องลงลึกในรายละเอียดต่อไป

นับจากนี้ไปจนถึงวันที่ 18 สิงหาคม 2556 เราไม่อาจทราบได้ว่าจะมีเหตุการณ์ความรุนแรงเกิดขึ้นหรือไม่ แต่การออกมาแถลงของดาโต๊ะเสรี อาห์หมัด ซัมซามิน ฮาซิม อดีตผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองของประเทศมาเลเซีย ในฐานะผู้อำนวยความสะดวกพูดคุยสันติภาพระหว่างไทยกับขบวนการแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปัตตานี หรือบีอาร์เอ็น ได้ออกมาแถลงกรณีข้อตกลงสันติภาพเบื้องต้นในเดือนรอมฎอนนั้น ถือเป็นสิ่งที่ดีเหมือนทางออกของปลายอุโมงค์ที่เราเริ่มจะมองเห็น ปัญหาความไม่สงบกว่า 10 ปีที่เกิดขึ้น หากจะคลี่คลายได้ไม่ว่าจะมาจากการเจรจาพูดคุย หรือมาจากการยอมรับข้อเสนอของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เชื่อว่า ณ วันนี้ พี่น้องทุกคนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ก็ยินดีที่จะขานรับเพื่อก้าวสู่สันติสุขอย่างยั่งยืนเสียที
ดาโต๊ะอาซิส เบ็ญหาวัน ประธานสภาที่ปรึกษาการบริหาร และการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้
 
 

อับดุลสุโก ดินอะ ผู้จัดการโครงการพัฒนาเครือข่ายตำบลสุขภาวะ ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
อ.ประสิทธิ์ เมฆสุวรรณ ประธานสภาประชาสังคมชายแดนใต้
ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้
กำลังโหลดความคิดเห็น