xs
xsm
sm
md
lg

หน้าที่ของทหาร กับ รอมฎอน ?!!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เริ่มแล้วสู่ช่วงเดือนถือศีลอด หรือเดือนรอมฎอน ของพี่น้องมุสลิมทั่วโลก โดยเฉพาะพี่น้องชาวไทยมุสลิมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ถึงแม้จะมีเหตุความไม่สงบ แต่ชาวไทยมุสลิมก็มีการปฏิบัติศาสนกิจเช่นเดียวกับมุสลิมทั่วโลก โดยการถือศีลอด และปฏิบัติศาสนกิจ และยิ่งเป็นที่จับตาของคนทั่วประเทศ เมื่อเดือนรอมฎอนเป็นตัวชี้วัดในข้อเสนอของรัฐบาลไทยกับกลุ่มบีอาร์เอ็น แต่สุดท้ายวันที่ 2 ของเดือนรอมฎอน ก็เกิดเหตุระเบิดขึ้นที่ อ.รามัน จ.ยะลา ส่งผลให้เจ้าหน้าที่ทหารได้รับบาดเจ็บ ก่อนวันเริ่มถือศีลอด 1 วัน ทีมข่าว “ASTVผู้จัดการภาคใต้” ได้มีโอกาส สัมภาษณ์ พ.อ.ปราโมท พรหมอินทร์ โฆษก กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ในประเด็นการปฏิบัติหน้าที่ของทหาร ในช่วงเดือนรอมฎอน
พ.อ.ปราโมท พรหมอินทร์ โฆษก กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า
 
พ.อ.ปราโมท พรหมอินทร์ โฆษก กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า กล่าวว่า การที่กลุ่มบีอาร์เอ็น เรียกร้องให้ถอนกำลังทหารออก โดยให้ถอนทหารทัพ 1, 2, 3 กลับ มีการถอนทหารในพื้นที่ออกจากหมู่บ้านให้ไปอยู่กรมกอง แล้วก็อีกหลายๆ ข้อในข้อเสนอดังกล่าว ในเรื่องของความจำเป็นในการใช้กำลังหาร คือ มันต้องดูที่ต้นเหตุก่อน มันต้องดูต้นเหตุก่อนว่าทำไมต้องส่งกำลังทหารลงพื้นที่ คือ กองทัพ และกองทหาร เรามีหน้าที่ต้องดูแลความมั่นคง พื้นที่ไหนมีปัญหาเรื่องความมั่นคงก็คงหนีไม้พ้นในภาระ และหน้าที่ของเรา

ซึ่งพื้นที่ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ตั้งแต่ ปี 2547 พอเริ่มมีการปล้นปืน เราก็ต้องพยายามส่งกำลังเข้ามาเพื่อดูแลพื้นที่ ดูแลความปลอดภัยให้ชาวบ้าน 9 ปีเศษที่ผ่านมา เหตุการณ์ก็เริ่มดีขึ้นแล้ว แต่ว่าก็ยังไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ทั้งหมด เนื่องจากกลุ่มผู้ก่อเหตุก็ยังทำการกันอยู่ เพราะฉะนั้น ในการถอนกำลังทหารออกมันคงไม่สามารถดำเนินการได้ ตราบใดที่กลุ่มผู้ก่อเหตุเขายังไม่ยอมยุติการใช้ความรุนแรง ตราบใดที่พี่น้องประชาชนยังไม่มีความปลอดภัย ในเรื่องของการถอนกำลังทหาร หรือกำลังตำรวจออกจากหมู่บ้านก็เช่นเดียวกัน เราก็จะพยายามส่งเจ้าหน้าที่ลงไปยังหมู่บ้านเป้าหมาย หมู่บ้านที่ยังคงมีความเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ก่อเหตุอยู่ ตอนนี้เราเข้าไปใน 136 หมู่บ้าน เหตุผลที่จะทำให้หมู่บ้านมีความปลอดภัย ก่อนที่จะให้หน่วยงานต่างๆ พวกกระทรวง ทบวง กรม ต่างๆ เขาทำแผนงานโครงการลงไปสู่พื้นที่

ซึ่งวันนี้จากการที่เราได้มีการบูรณาการกับหน่วยงานต่างๆ ในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง แล้วก็ได้มีการติดตั้งศูนย์ปฏิบัติการอำเภอ ในฐานะเป็นเจ้าภาพหลัก ในการแก้ปัญหา ในระดับพื้นที่แล้วเราก็ส่งเจ้าหน้าที่ลงไปในหมู่บ้านเป้าหมาย ต้องการแค่คนในพื้นที่มีความปลอดภัย ตอนนี้มีการตอบรับจากประชาชนเยอะ ผมไม่ทราบว่ามันส่งผลกระทบต่อกลุ่มก่อเหตุ เขาก็อาศัยแฝงตัวอยู่ในหมู่บ้านด้วย อันนี้เป็นเรื่องปกติ

 “ส่วนมาตรการรอมฎอนในส่วนของพื้นที่ก็คือ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า เราให้ความสำคัญกันมาโดยตลอด เพราะถือว่ารอมฎอนถือเป็นเดือนอันประเสริฐ เดือนที่ทุกคนต้องทำความดี เดือนที่ทุกคนต้องละเว้นความชั่ว ซึ่งในปีนี้มาตรการที่ทาง ผบช. ได้มีการกำชับเน้นย้ำลงมาก็ ในส่วนของท่านแม่ทัพ เราก็ได้มีการออกมาตรการเพื่อรับห้วงเดือนรอมฎอน แบ่งออกเป็น 3 ห้วง ในห้วงแรกคือ ห้วงก่อนเดือนรอมฎอน มุ่งเน้นในเรื่องของการสร้างความเข้าใจกับพี่น้องประชาชนแล้วในส่วนเดียวกันกับพี่น้องประชาชน เขาก็มีการเคลื่อนไหวในเรื่องของการไม่ใช้ความรุนแรงในห้วงรอมฎอน”

นอกจากนั้น ในเรื่องของการให้บริการทางการแพทย์ เพื่อตรวจสุขภาพให้แก่ผู้สูงอายุเพื่อเตรียมความพร้อมทางด้านร่างกายในการเข้าสู่รอมฎอน ก็มีศูนย์แพทย์ทางบก จชต. แล้วก็มีชุดแพทย์ที่อยู่ประจำหน่วยเฉพาะกิจ เขาก็เข้าไปในพื้นที่ไปตรวจสุขภาพให้แก่พี่น้องประชาชน โดยเฉพาะคนเฒ่าคนแก่ บริการให้ฟรีทั้งหมด เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมด้านร่างกาย

นอกจากนี้ เรื่องของการวางมาตรการในการอำนวยความสะดวก แยกเป็น 2 ส่วน ส่วนที่ 1.คือ การอำนวยความสะดวกในการเดินทาง เราได้มีการปรับจุดตรวจทางยุทธวิธี ซึ่งเป็นจุดตรวจที่เราตั้งขึ้นมาตามสถานการณ์ ปกติจะไม่มีเจ้าหน้าที่ประจำอยู่ จุดตรวจตรงนี้คือเราเปิดทั้งหมดเลย ให้อำนวยความสะดวกสำหรับประชาชนที่สัญจรไปมา ในการเดินทางเพื่อไปประกอบศาสนกิจ ในส่วนของด่านตรวจถาวร มีอยู่ทั้งหมด 23 ด่าน ก็ยังคงดำเนินการเหมือนเดิม เพราะว่าเราจำเป็นจะต้องมีการตรวจตามทางเข้า-ออก ไม่อย่างนั้นอาจมีการทำผิดกฎหมาย หรือมีการสร้างสถานการณ์ได้

เพราะฉะนั้น ตรงนี้ในส่วนของด่านตรวจถาวร สิ่งที่เราดำเนินการก็คือ มีมาตรการ ดำเนินการเหมือนเดิม แต่พร้อมที่จะอำนวยความสะดวกให้แก่พี่น้องประชาชนด้วย ถ้าพี่น้องประชาชนเดินทางในช่วงที่ใกล้จะออกบวชของแต่ละวัน เช่น หลังจาก 5 โมงเย็นไปแล้ว แต่ละด่านก็จะมีของออกบวชเล็กๆ น้อยๆ เช่น พวกอินทผลัม น้ำดื่ม ให้เขาสามารถแก้ปัญหาได้ คือ มาตรการที่เราจะให้การสนับสนุน แล้วก็อำนวยความสะดวก

 
นอกจากนี้ อีกประการหนึ่งในการอำนวยความสะดวกก็คือ คนที่หลบหนีออกจากบ้าน ผู้ที่มีความผิดที่เขาหลบหนีออกไป เช่นมีหมายจับ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน หมายจับตามประมวลกฎหมายคดีความอาญา ทั้ง 2 อย่างนี้ เราก็พร้อมที่จะอำนวยความสะดวกให้เขาได้มีโอกาสกลับมาร่วมรอมฎอนกับครอบครัวด้วย แต่ต้องมีเงื่อนไข คนที่มีหมายจับ 2,000 กว่าคน หมาย พ.ร.ก. 942 คน หมาย ป.วิอาญา 1,407 คน ก็รวม 2,000 กว่าคน ได้มีการจัดทำรายชื่อแยกเป็นทุกๆ จังหวัดให้ ฉก.จังหวัด เขาดำเนินการอยู่ เรื่องพวกนี้ก็มีการรายงานตัวแล้ว 318 คน จนถึงขณะนี้

ส่วนที่เหลือเราก็พยายามระดมให้เขาเข้ามาในช่วงรอมฎอน ทางเจ้าหน้าที่ก็จะพร้อมที่จะอำนวยความสะดวก เช่น คนที่มีหมาย พ.ร.ก.ในการออกหมายขึ้นอยู่กับกำลัง 3 ฝ่ายในการขอต่อศาล ดังนั้น ในทางกฎหมายก็ทำเหมือนกัน กำลัง 3 ฝ่าย มีนายอำเภอ มีผู้กำกับ มีผู้พัน เขาก็จะเสนอชื่อต่อศาล เพื่อขอกฎหมาย พ.ร.ก. ถ้าเขามารายงานตัว กรณีของคนที่มีหมาย ป.วิอาญา อันนี้เราไม่สามารถตรวจได้ มันต้องเข้าสู่กระบวนการตามกฎหมาย เราก็จะอำนวยความสะดวก เช่น ในเรื่องของการให้การประกันตัว ซึ่งตอนนี้ทุกหน่วยงานเข้ามาร่วม สำหรับวงเงินประกันตัวในชั้นพนักงานสอบสวนเหลือแค่ 20,000 บาท แค่นั้นเอง บางคนในชั้นศาลไม่คิดเงินประกันด้วยซ้ำ

ตอนนี้เราก็รณรงค์ให้คนที่เขามีหมายเหล่านี้ได้มีโอกาสกลับมาบ้านมาเจอลูกเมีย มาร่วมในกิจกรรมอันสำคัญทางศาสนา แต่ว่าต้องมารายงานตัวก่อน ที่ผ่านมา สน.เองเราก็มีการประชาสัมพันธ์ไปยังผู้นำศาสนาในพื้นที่ เพื่อที่จะดึงคนเหล่านี้กลับมา ในส่วนที่สำคัญที่สุดที่เป็นหน้าที่ของเราโดยตรง ในมาตรการการักษาความปลอดภัย ถึงแม้ว่าจะมีข้อเรียกร้องบางเรื่องจาก กลุ่มที่มีความเห็นต่าง ในเรื่องของการงดการปฏิบัติการทางทหาร การงดการตรวจต่างๆ เราไม่สามารถทำได้ เพราะว่าการปฏิบัติการทั้งหมด เราต้องอยู่ภายใต้หลักกฎหมาย เพราะฉะนั้นในเรื่องของการติดตามจับกุมผู้ที่กระทำความผิด คนที่ก่อเหตุร้ายในห้วงระยะเวลา เราก็ต้องดำเนินการ มันจะงดไม่ได้ เพราะว่าจะเข้าข่ายละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ เพราะฉะนั้นในมาตรการทางกฎหมายยังคงมีเหมือนเดิม

ในส่วนที่ 2 ก็คือ การปิดล้อมตรวจค้น ถ้าเป้าหมายไม่ชัดเราก็จะละเว้นการปฏิบัติ จะไม่ไปปิดล้อม จะพยายามลดระดับการปิดล้อมตรวจค้นลง ยกเว้นมีเป้าหมายที่ชัดเจน หรือว่ามีการกระทำการซึ่งๆ หน้า มีการหลบหนีเข้าไปในหมู่บ้าน ตรงนี้ก็ถือว่าปฏิบัติตามปกติ เพราะหลักกฎหมายถือว่าเป็นสิ่งที่สำคัญ เราไม่สารถละเว้นได้ สิ่งที่สำคัญที่สุด นโยบายที่ ผบ.ตร.ท่านย้ำลงมาก็คือในเรื่องของการเพิ่มมาตรการในการดูแลความปลอดภัยในทุกพื้นที่ ให้มีความเข้มงวดมากขึ้น โดยเรามีการเพ่งเล็งที่เป้าหมายอ่อนแอ เป้าหมายเชิงสัญลักษณ์ โดยเฉพาะในเขตพื้นที่เมือง ที่เราเรียกมันว่า ภารกิจชั้นลับให้มากขึ้นกว่าเดิม เพื่อให้พี่น้องประชาชนมีความเชื่อมั่นในการประกอบศาสนกิจอย่างเต็มที่แล้วมีความสุข ไม่ต้องมีความกังวล เราได้แต่หวังว่าเหตุการณ์ในช่วงรอมฎอนปีนี้ เราคาดหวังว่าเหตุการณ์ควรจะลดลง

ทั้งนี้ ก็คือเป็นไปตามความต้องการของพี่น้องประชาชน คนที่ใช้ความรุนแรงตลอด 9 ปีที่ผ่านมา ไม่ใช่เจ้าหน้าที่ เป็นกลุ่มผู้ก่อเหตุที่ใช้ความรุนแรง เราดูจากคนที่เสียชีวิต บาดเจ็บ 10,000 กว่าคน ก็เกิดจากกลุ่มผู้ก่อเหตุ แต่ในส่วนที่ส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ก็เพื่อต้องการแค่มาดูแลความปลอดภัยให้แก่พี่น้อง ดูแลความปลอดภัยให้แก่พื้นที่ ตรงนี้ สังคมไม่ควรไขว้เขวนะ อย่างกรณีป้ายผ้าเมื่อเช้า (9 ก.ค.) จับใจความได้ว่า 1.ขับไล่ทหารออก 2.รัฐใช้ความรุนแรง 3.รัฐกลับกลอกหลอกลวง 4.รัฐไม่น่าเชื่อถือ เพราะฉะนั้ นถ้าเราดูจากการเขียนเจตนาในป้ายผ้า จะวิเคราะห์ได้ว่า จริงๆ แล้วกลุ่มขบวนการเขายอมรับ เขาแสดงตัวมากขึ้นในเรื่องของการก่อเหตุในพื้นที่ เขาก็เผลอยอมรับในช่วงแรกว่า เขาจะลดระดับความรุนแรงอย่างไร แต่ตอนนี้คือไม่สามารถที่จะสั่งได้ ก็เลยคิดกลับไปอีกด้านหนึ่งว่า จริงๆ แล้ว เขาไม่เคยใช้ความรุนแรงแต่เป็นเรื่องของเจ้าหน้าที่

อันนี้ก็คือการกลับกลอกที่เขาทำตลอดอยู่แล้ว การสร้างสถานการณ์พื้นที่ก็เหมือนกัน ก็พยายามทำเลียนแบบ เช่น แต่งกายเลียนแบบ แต่งเป็นทหารบ้าง ทหารพรานบ้าง แล้วก็ไปก่อเหตุ แล้วก็ปล่อยข่าวเลยว่าเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่ สิ่งที่เขาทำบางครั้งทำไห้สังคมสับสนเหมือนกันจึงอยากจะให้ทางสื่อช่วยกันชี้แจงไปยังพี่น้องประชาชนว่า จริงๆ แล้วทุกคนมาทำงาน ด้วยหน้าที่ด้วยอุดมการณ์ของเรา ไม่มีใครอยากอยู่นานๆ ผมก็อยากกลับบ้าน ใครๆ ก็อยากกลับบ้าน อยากจะให้ทุกอย่างยุติ แนวคิดในการถอนกำลัง คือ ถ้าเหตุการณ์มันสงบเราก็พร้อมที่จะส่งมอบพื้นที่ให้ทางฝ่ายปกครองในพื้นที่มาดูแลพื้นที่ต่อ

สำหรับมาตรการรองรับหากเกิดเหตุรุนแรงในช่วงเดือนรอมฎอน โฆษก กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า บอกว่า ได้มีการเตรียมแผนรองรับไว้แล้ว รวมถึงมุมมองในการนำเสนอข่าวของสื่อกับเหตุการณ์รุนแรง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ติดตามได้ในตอนต่อไป 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง โฆษก กอ.รมน.ภ.4 ส่วนหน้า สะท้อนสื่อ “ข่าวร้ายลงดี ข่าวดีเสียตังค์”
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น