เลขาฯ สมช.แจง กมธ.ทหาร ฝ่ายมั่นคงยึดมาตรการเดิม คงความเข้มงวดดูแลช่วงถือศีลอด รับป่วนอาจมีอยู่ เผย 1-2 วัน ชงหนังสือผ่านมาเลย์ถึงบีอาร์เอ็นให้แจงเหตุบึ้ม เชื่อกลุ่มต้าน รบ.เคลื่อนไหวเพิ่มจนเปิดประชุมสภาฯ ชี้ พ.ร.บ.ล้างผิดส่อทำเดือด แต่ รบ.แจงคงไร้ปัญหา รอง ผบ.ศรภ.เผยบีอาร์เอ็นแตกคอกันเอง แกนนำคุมไม่อยู่ รอมฎอนป่วนลดยาก
วันนี้ (11 ก.ค.) ที่รัฐสภา ในการประชุมคณะกรรมาธิการ(กมธ.)ทหาร สภาผู้แทนราษฎร ที่มีพล.อ.สมชาย วิษณุวงศ์ ส.ส.กาญจนบุรี พรรคเพื่อไทย(พท.) ประธานกมธ.ในฐานะประธานการประชุม เพื่อพิจารณาศึกษาความคืบหน้ากรณีเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ(สมช.)กับตัวแทนขบวนการบีอาร์เอ็นร่วมกันพูดคุยสันติภาพเพื่อแก้ไขปัญหาคงามไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเชิญหน่วยงานด้านความมั่นคงเข้าชี้แจง
โดยพล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสมช. ชี้แจงความคืบหน้าในการลดเหตุรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ หลังการพูดคุยกับขบวนการบีอาร์เอ็นรอบล่าสุดเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน ที่ผ่านมา ว่า บรรยากาศเป็นไปด้วยดี และเห็นร่วมกันที่จะลดความรุนแรงร่วมกันในทุกรูปแบบให้ห้องรอมฎอน แม้จะมีข้อเรียกร้องออกมาล่าสุดอย่างสุดโต่งจำนวน 7 ข้อ ก็ต้องดูกันไปในระยะยาวต่อไป ซึ่งเป็นยุทธวิธีของเขาที่ต้องเรียกร้องแบบสุดโต่ง แต่เราก็เปิดใจรับฟังเข้าไว้ หลักของคณะพุดคุยเรายึดหลักมหาสมุทร พร้อมให้น้ำจากแม่น้ำทุกสายและทะเล ไหลลงมหาสมุทร พร้อมรับฟังทุกสิ่งทุกอย่าง ส่วนการปฏิบัติต่อมาก็ที่จะรองรับต่อการพูดคุย ต้องมีมาตรการควบคู่กันไป ทั้งการรักษาความปลอดภัยทั้งชีวิต ทรัพย์สิน ตลอดจนการพัฒนาการศึกษา วัฒธรรม ซึ่งการลดเหตุช่วงรอมฎอน ทั้งฝ่ายความมั่นคง ศอ.บต. ภาควิชากทาร ภาคประชาชนในพื้นที่ ก็น้อมรับหลักการของท่านจุฬาราชมนตรีที่ประกาศในห้วงรอมฎอน ซึ่งแนวทางของฝ่ายความมั่นคงก็รับมาปฏิบัติ ทางกองทัพภาคที่ 4 ก็มีแผนสันติสุข เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพสถานการณ์
พล.ท.ภราดร กล่าวอีกว่า มาตรการของเราในเรื่องการปฏิบัติการเชิงรุก เดิมทีฝ่ายเขาบอกจะยุติเหตุความรุนแรงทุกอย่าง แต่คงมีความเป็นไปได้อยาก เพราะเหตุที่เกิดขึ้นประกอบด้วยหลายปัจจัย ตัวขบวนการเขาเองก็ยังมีบางกลุ่มที่เห็นต่างจากเขา ยังมีขบวนการอื่นแล้วก็ยังมีภัยแทรกซ้อนอย่างอื่นอีก จึงไม่มีหลักประกันอะไรที่จะมายุติเหตุรุนแรงที่เกิดขึ้นได้ ขณะเดียวกันฝ่ายเราก็จะมีการลดปฏิบัติการเชิงรุกลง ลดการปิดล้อม ตรวจค้น แต่มาการเชิงรับก็ต้องเพิ่มความเข้มข้นขึ้นคือการรักษาความปลอดภัยสถานที่ราชการ โรงเรียน ดูแลความปลอดภัย ครู พระ นักเรียน และสิ่งที่ต้องคู่ขนานคือเรื่องการข่าว แต่ต้องมีการปรับกำลังให้สอดคล้องกับสภาวะการณ์ในห้วงรอมฎอน มีการลดกำลังทหาร แต่เพิ่มตำรวจ อส .ซึ่งก็อยู่ในเกณฑ์ที่รับได้ เมื่อเราได้ข้อยุติตรงนี้ ก็นำไปเสนอให้ผู้อำนวยความสะดวก ซึ่งก็คือประเทศมาเลเซีย ซึ่งมาเลเซียก็พูดคุยกับเราก็รับได้ และจะเสนอไปยังขบวนการบีอาร์เอ็น และคงมีการแถลงการณ์เร็วๆนี้ ในหลักการเมื่อมีเหตุความรุนแรงเกิดขึ้นก็จะแจ้งไปยังผู้อำนวยความสะดวกและจะแจ้งให้ไทยรับทรายภายใน 48 ชั่วโมง
ด้านพล.ต.ธนเกียรติ ชอบชื่นชม รองผู้บัญชาการศูนย์รักษาความปลอดภัย การพูดคุยกับขบวนการบอาร์เอ็นส่งผลในทางบวกในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทุกฝ่ายขานรับแนวทาง แต่เหตุการณ์กลับยังไม่ลดลง มีการลอบวางระเบิดแบบสังหารหมู่อยู่หลายครั้ง แสดงให้เห็นว่ากลุ่มผู้ก่อเหตุในพื้นที่ยังไม่ให้ความสนใจ หรือเป็นการแก้แค้นให้กับสมาชิกที่ถูกวิสามัญและถูกจับกุม หรือเป็นการหักหลังกันในขบวนการการค้ายาเสพติดหรือการเมืองท้องถื่น และเชื่อว่าเหตุการณ์ความรุนแรงคงจะยังไม่ลดลง และคงเป็นไปได้ยากในห้วงรอมฎอนนี้ เพราะกลุ่มคนรุ่นใหม่ไม่ต้องการการพูดคุยเพื่อสันติภาพ ต้องการแบ่งแยกดินแดน โดยแกนนำที่อยู่ในประเทศมาเลเซียเป็นคนสั่งการ สอดรับกับเหตุที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องทั้งลอบวางระเบิด เผาซีซีทีวี ขึงป้ายผ้ามีข้อความขับไล่ทหาร และโจมตีรัฐไทย เพื่อให้มีการถอนทหาร
"เหตุการณ์ช่วงรอมฎอน ยังคงระดับความรุนแรงเหมือนกับปีที่ผ่านๆมา เนื่องจากมีความเชื่อว่าการก่อเหตุช่วงนี้จะได้บุญมาก ทั้งนี้เลขาธิการโอไอซีแสดงท่าทีสนับสนุนการพูดคุยของไทยเรื่องข้อเสนอหยุดยิงในห้วงรอมฎอน น่าจะส่งผลถึงกระบวนการคิดของกลุ่มบีอาร์เอ็น และอาจเป็นตัวแปรสำคัญกีบการก่อเหตุของกลุ่มผู้ก่อความรุนแรงด้วย แต่อย่างไรก็ตามกระบวนการพูดคุยก็ถือเป็นทางออกหนึ่งในการแก้ปัญหาและมีโอกาสเดินหน้าไปได้ ซึ่งงานข่างกรองมีความสำคัญมากที่จะยับยั้งการก่อเหตุได้ "พล.ต.ธนเกียรติ กล่าว ซึ่งสอดคล้องกับพ.อ.วิชัย ชูเชิด ผู้อำนวยการกองข่าวยุทธศาสตร์ สำนักข่าวกรอง กรมข่าวทหาร ที่เห็นในช่วงรอมฎอนก็คงจะยังลำบากเหมือนเดิม เหตุการณ์ความรุนแรงไม่ลดลง เพราะไม่แน่ว่าขบวนการบีอาร์เอ้นจะมีกลุ่มเดียวหรือไม่ ที่สามรถควบคุมสถานการณ์ได้ เพราะอาจจะมีกลุ่มอื่นด้วย แม้จะมีกลุ่มเดียวก็ยังจมีเซลล์ย่อยๆที่ยังเห็นต่าง จึงมีข้อเสนอแนะให้พิจารณาพุดคุยกับกลุ่มอื่นๆด้วย และผู้อำนวยความสะดวกก็อาจไม่จำกัดแค่ประเทศมาเลเซีย
อย่างไรก็ตามกมธ.ได้ซักถามอย่างกว้างขวางถึงความจริงใจในการเข้ามาเป็นผู้อำนวยความสะดวกของประเทศมาเลเซีย ซึ่งพล.ท ภราดร กล่าวว่า เหตุที่เป็นประเทศมาเลเซียเพราะเป็นประเทศมุสลิมเหมือนกัน มีความเชื่อมโยงปัญหาเหมือนกัน แต่ในอนาคตประเทศอินโดนีเซียก็อาจมีความเป็นไปได้ที่จะเข้ามาช่วยประสานงาน ก็ต้องแสวงหาผู้ที่จะช่วยเหลือเราได้มากที่สุด
นอกจากนี้กมธ.ยังได้ถามว่า มีเหตุผลใดที่เชื่อได้การพุดคุยเป็นวิธีแก้ปัญหาชายแดนภาคใต้ได้ และมีวิธีอื่นอีกหรือไม่ และหากการเจรจาเกิดขึ้นจริง เชื่อว่าการแบ่งแยกดินแดนจะหมดไป ซึ่งพล.ภ.ภราดร กล่าวปิดท้ายว่า เชื่อว่ากระบวนการพุดคุยจะเป็นทางออกในการแก้ปัญหาจังหวัด เชื่อว่าเป็นนโยบายที่ถูกต้องแล้ว ไม่มีประเทศใดในที่จบปัญหาด้วยความรุนแรง แต่ต้องอาศัยระยะเวลา บางประเทศใช้เวลาแค่ 2 ปี หลังการพูดคุย เฉลี่ยก็ 5 ปี กว่าขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมของแต่ละประเทศ และเชื่อว่าในที่สุดแล้วการแบ่งแยกดินแดนจะยุติ แต่กลุ่มที่คิดต่างก็อาจจะยังมีอยู่
ต่อมา พล.ท.ภราดร ให้สัมภาษณ์หลังประชุมเสร็จ โดยกล่าวว่า เหตุการณ์ระเบิดทหารชุดรักษาความปลอดภัยครูสังกัดร้อย ร.15234 ฉก.ยะลา ในพื้นที่อ.รามัน จ.ยะลา เมื่อเช้าวันที่ 11ก.ค.ว่า จากเหตุการณ์ดังกล่าว มาตรการรักษาความปลอดภัยจะยังคงเดิม เพราะการเกิดเหตุไม่ใช่บีอาร์เอ็นอย่างเดียว เพราะยังมีภัยแทรกซ้อนอื่นๆ ได้ ขณะนี้ฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกำลังสืบสวนอยู่ว่ามูลเหตุมาจากฝ่ายไหนอย่างไร ซึ่งเหตุรุนแรงขณะนี้รัฐจะยังไม่ทบทวนยุติการพูดคุยสันติภาพกับกลุ่มบีอาร์เอ็น และมาตรการยุทธศาสตร์หลักการพูดคุยยังคงดำรงอยู่ต่อไป ส่วนในช่วงเดือนรอมฎอนนั้น เหตุยังเชื่อมั่นว่ายังคงมีอยู่ และขอรอดูสถานการณ์อีก 1-2 วัน ก่อนที่จะประสานงานกับมาเลเซีย เพราะฝ่ายไทยยังต้องสอบสวนเหตุที่เกิดขึ้นก่อน
นอกจากนี้ พล.ท.ภราดร ยังกล่าวถึง สถานการณ์ทางการเมืองขณะนี้ว่า สมช.ประเมินสถานการณ์เกาะอย่างต่อเนื่อง และความเห็นต่างในทางการเมืองยังมีความเคลื่อนไหว แต่ยังไม่ยกระดับมากขึ้น แต่ฝ่ายที่เคลื่อนไหวทางการเมืองก็พยายามจะยกระดับขึ้นมา แต่ขณะนี้เชื่อว่าสภาพของปัญหาจะยังยกระดับได้ไม่เพียงพอ แต่คาดว่าจะก่อตัวตั้งแต่ตอนนี้จนถึงช่วงเปิดสภาฯ โดยเรื่อง พ.ร.บ.ปรองดองฯ และนิรโทษกรรม ก็จะเป็นปัจจัยหนึ่งที่จะทำให้ยกระดับเข้มขึ้น แต่ถ้ารัฐบาลเร่งทำความเข้าใจได้ก็ไม่มีปัญหาอะไร