xs
xsm
sm
md
lg

มะกันยังส่งF-16ให้อียิปต์ตามเดิม แม้กองทัพเพิ่งโค่นล้มปธน.เลือกตั้ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เอเจนซีส์ – วอชิงตันยังคงเดินหน้าเตรียมจัดส่งเครื่องบินขับไล่ไฮเทครุ่นเอฟ-16 ให้แก่ไคโรในเดือนหน้าตามแผนเดิมที่วางไว้ แม้กองทัพอียิปต์เพิ่งรุกไล่ปลดประธานาธิบดีผู้ได้รับเลือกตั้งจากประชาชนตามแบบแผนประชาธิปไตยตะวันตก ทางด้านสถานการณ์ในแดนไอยคุปต์นั้น ทั้งฝ่ายสนับสนุนและฝ่ายต่อต้านมอร์ซี นัดชุมนุมใหญ่ในวันศุกร์ (12) ทำให้เกิดความกังวลอย่างกว้างขวางว่า อาจเกิดความรุนแรงขึ้นอีกระลอก
การเดินหน้าจัดส่งเอฟ-16 ให้แก่อียิปต์เป็นจำนวน 4 ลำนี้ สำนักข่าวรอยเตอร์ได้รับการเปิดเผยยืนยันจากพวกเจ้าหน้าที่ด้านกลาโหมของสหรัฐฯเมื่อวันพุธ(10) ในขณะที่วอชิงตันแสดงระมัดระวังตัวมากเกี่ยวกับพัฒนาการทางการเมืองที่เกิดขึ้นในแดนไอยคุปต์ ด้วยการงดแสดงความยินดีกับการที่กองทัพอียิปต์เข้าโค่นล้ม โมฮัมเหม็ด มอร์ซี ประธานาธิบดีคนแรกของประเทศที่ได้รับการเลือกตั้งจากประชาชนแบบประชาธิปไตย แต่ขณะเดียวกัน สหรัฐฯก็ไม่ได้ประณามว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็น “รัฐประหาร” โดยอ้างว่า ต้องใช้เวลาพิจารณาสถานการณ์อย่างถ้วนถี่
ทั้งนี้หากตัดสินว่า กองทัพอียิปต์ก่อการรัฐประหารยึดอำนาจ กฎหมายของสหรัฐฯก็บังคับให้ต้องระงับความช่วยเหลือทางทหารทที่ให้แก่ไคโรซึ่งมีมูลค่าตกปีละกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์ในทันที
พวกเจ้าหน้าที่กลาโหมของสหรัฐฯ เผยว่า เครื่องบินขับไล่เอฟ-16 ที่ผลิตโดยบริษัทล็อกฮีด มาร์ติน และมีกำหนดส่งมอบแก่อียิปต์อีก 4 ลำในเดือนสิงหาคมนี้ เป็นส่วนหนึ่งของความช่วยเหลือทางทหารประจำปีซึ่งวางแผนไว้นานแล้ว
ต่อข้อถามเกี่ยวกับเอฟ-16 นี้ เจย์ คาร์นีย์ โฆษกทำเนียบขาวตอบกว้างๆ ว่า รัฐบาลคิดว่า ไม่ควรเปลี่ยนแปลงโครงการช่วยเหลือดังกล่าว และโยนให้กระทรวงกลาโหมเป็นผู้ตอบคำถามที่เฉพาะเจาะจงแทน
ด้านเพนตากอนออกคำแถลงหลังจากนั้น โดยตอบแบบยึดตามคำแถลงของประธานาธิบดีบารัค โอบามาเมื่อวันที่ 3 ที่ผ่านมา นั่นคือระบุว่า ผู้นำทำเนียบขาวสั่งการให้มีการทบทวนการให้ความช่วยเหลือแก่อียิปต์ แต่เมื่อรอยเตอร์สอบถามว่าโอบามาสั่งให้ชะลอการส่งมอบเอฟ-16เอาไว้ก่อนหรือเปล่า หนึ่งในเจ้าหน้าที่สหรัฐฯเหล่านี้ได้ตอบว่า การส่งมอบยังคงเป็นไปตามกำหนดเดิมที่วางเอาไว้
อียิปต์นั้นเป็นหนึ่งในชาติผู้รับความช่วยเหลือรายใหญ่ที่สุดในโลกของสหรัฐฯ นับแต่ที่ได้ลงนามสนธิสัญญาสันติภาพกับอิสราเอลในปี 1979 และกำลังกลายเป็นชาติอาหรับชาติแรกที่ได้สิทธิซื้อเอฟ-16 โดยเรื่องนี้ถูกตีความกันอย่างกว้างขวางว่า เป็นสัญลักษณ์ความสัมพันธ์อันแนบแน่นทางการเมืองและความมั่นคงระหว่างไคโรกับวอชิงตัน
นอกจากเครื่องบินขับไล่ไฮเทคนี้แล้ว การที่สหรัฐฯตกลงร่วมกับอียิปต์ทำการผลิตรถถังโจมตีแบบ เอ็ม1เอ1 อะบรามส์ ก็นับเป็นส่วนสำคัญอีกส่วนหนึ่งในความช่วยเหลือที่แดนอินทรีมอบให้
เมื่อตอนที่ มอร์ซีซึ่งฐานสนับสนุนสำคัญที่สุดก็คือกลุ่มภราดรภาพมุสลิมที่เป็นขบวนการอิสลามิสต์เก่าแก่ในโลกอาหรับ กำลังจะก้าวขึ้นสู่อำนาจในปีที่แล้วนั้น เขาเคยเตือนว่า อียิปต์อาจทบทวนข้อตกลงสันติภาพกับอิสราเอล หากอเมริกาตัดความช่วยเหลือ เรื่องนี้จึงยิ่งตอกย้ำว่าความช่วยเหลือของอเมริกันนั้นมีความสำคัญต่อสายสัมพันธ์ระหว่างวอชิงตันกับไคโรมากมายขนาดไหน
สำหรับปีงบประมาณปัจจุบัน (ต.ค.2012-ก.ย.2013) อเมริกาให้ความช่วยเหลือทางทหารแก่อียิปต์แล้ว 650 ล้านดอลลาร์ คงเหลืออีก 585 ล้านดอลลาร์
นอกจากเอฟ-16 จำนวน 4 ลำที่จะส่งมอบเดือนสิงหาคมนี้แล้ว อีก 8 ลำมีกำหนดส่งมอบให้ในเดือนธันวาคม ทั้งนี้ สหรัฐฯตกลงขายเครื่องบินขับไล่รุ่นนี้ให้แก่อียิปต์รวมทั้งสิ้น 20 ลำ โดยที่ได้ส่งมอบไปก่อนหน้านี้แล้ว 8 ลำ
มีรายงานระบุว่า นับจากวันที่ 2 กรกฏาคม หรือหนึ่งวันก่อนมอร์ซีถูกยึดอำนาจ ชัค เฮเกล รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ ได้หารือทางโทรศัพท์กับพลเอกอับเดล ฟัตตอห์ อัล-ซิซี ผู้บัญชาการกองทัพและรัฐมนตรีกลาโหมของอียิปต์รวมทั้งสิ้น 8 ครั้ง ครั้งล่าสุดคือในวันอังคารที่ผ่านมา (9)
เพนตากอนให้รายละเอียดน้อยมากเกี่ยวกับการหารือเหล่านี้ กระนั้นมันก็ยังน่าจะบ่งชี้ให้เห็นถึงระดับของการติดต่อใกล้ชิดกันระหว่างบุคคลทั้งสอง
อย่างไรก็ตาม สำหรับในแดนไอยคุปต์โดยรวมแล้ว เวลานี้กระแสต่อต้านอเมริกันยังคงไหลเชี่ยวกรากยิ่งขึ้นด้วยซ้ำ โดยที่ฝ่ายต่อต้านมอร์ซีโจมตีว่า คณะรัฐบาลโอบามาสนับสนุนให้กลุ่มภราดรภาพมุสลิมอยู่ในอำนาจมา 1 ปี ขณะที่ทางฟากผู้จงรักภักดีต่อมอร์ซีเชื่อว่า วอชิงตันอยู่เบื้องหลังการโค่นล้มประธานาธิบดีที่เป็นตัวแทนของพวกเขา แม้วอชิงตันจะพร่ำยืนยันว่า ไม่ได้เข้าข้างกลุ่มใดหรือพรรคการเมืองใดในอียิปต์ก็ตาม
ในส่วนสถานการณ์การเมืองในอียิปต์เวลานี้ ฮาเซม อัล-เบบลาวี ที่ได้รับแต่งตั้งดำรงตำแหน่งรักษาการนายกรัฐมนตรีเมื่อวันอังคาร กล่าวคาดหมายว่า จะสามารถจัดตั้งคณะรัฐมนตรีได้ในสัปดาห์หน้า โดยขณะนี้กำลังสรรหาผู้มีความสามารถและมีความน่าเชื่อถือ โดยไม่คำนึงถึงว่าสังกัดพรรคหรือฝักฝ่ายใด
อย่างไรก็ตาม กลุ่มภราดรภาพมุสลิมได้ออกมาปฏิเสธคำเชิญเข้าร่วมรัฐบาลเฉพาะกาลของเบบลาวีแล้ว พร้อมเรียกร้องให้ผู้สนับสนุนออกมารวมตัวต่อต้าน “การรัฐประหารนองเลือดของกองทัพ” ในวันศุกร์ (12) ซึ่งเป็นวันเดียวกับที่ตะมาร็อด ขบวนการรากหญ้าที่ต่อต้านมอร์ซี มีแผนชุมนุมในไคโรเพื่อเฉลิมฉลองช่วงเริ่มเทศกาลถือศีลอด
การนัดชุมนุมวันเดียวกันทำให้เกิดความกังวลอย่างกว้างขวางว่า อาจเกิดเหตุรุนแรงขึ้นอีกครั้ง หลังจากล่าสุดกลุ่มผู้สนับสนุนอดีตประธานาธิบดีกว่า 50 คนต้องสังเวยชีวิตจากการปะทะหน้ากองบัญชาการกองกำลังรีพับลิกันการ์ด อันเป็นกองพลทหารรักษาเมืองหลวงของอียิปต์ เมื่อช่วงเช้าวันจันทร์ (8) ซึ่งกลุ่มภราดรภาพมุสลิมประณามว่า ทหารสังหารหมู่ประชาชน ขณะที่กองทัพยืนยันว่า กลุ่มอิสลามิสต์ติดอาวุธยั่วยุและโจมตีทหารก่อน
กำลังโหลดความคิดเห็น