รอยเตอร์/เอเจนซีส์/ASTV ผู้จัดการออนไลน์ - กระบวนการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองของอียิปต์หลังการโค่นอำนาจประธานาธิบดีโมฮาเหม็ด มอร์ซี ผู้นำสายอิสลามิสต์ ส่อเค้าไม่ราบรื่น หลังจากความพยายามในการผลักดันให้นายโมฮาเหม็ด เอลบาราเด นักการเมืองหัวเสรีก้าวขึ้นรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของประเทศได้รับการต่อต้านจากกลุ่มอิสลามิสต์ในประเทศ
กระแสข่าวการแต่งตั้งนายเอลบาราเด วัย 71 ปี ซึ่งเป็นอดีตผู้อำนวยการใหญ่สำนักงานพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) ระหว่างปี 1997 ถึง 2009 ให้เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ภายใต้รัฐบาลรักษาการของนายอัดลี มันซูร์ ได้รับการยืนยันจากทั้งบรรดาแหล่งข่าว รวมถึงสื่อในความดูแลของรัฐตั้งแต่เมื่อวันเสาร์ (6) แต่หลังเกิดการต่อต้านจากบรรดากลุ่มเคลื่อนไหวของพวกอิสลามิสต์อย่างกว้างขวาง ทำให้โฆษกทำเนียบประธานาธิบดีในกรุงไคโรต้องออกแถลงแก้ข่าวว่า ยังไม่มีการตัดสินใจเลือกบุคคลใดรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแต่อย่างใด
ความเคลื่อนไหวล่าสุดมีขึ้นหลังจากที่พรรค “นูร์” ซึ่งเป็นกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองของพวกอิสลามิสต์ที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ในอียิปต์รองจากกลุ่มภราดรภาพมุสลิม (Muslim Brotherhood) ออกมาแสดงจุดยืนคัดค้านการแต่งตั้งนายเอลบาราเดเป็นนายกรัฐมนตรี และเป็นการตอกย้ำถึงปัญหาสำคัญที่ทางกองทัพอียิปต์ต้องเผชิญหลังการโค่นอำนาจนายมอร์ซี โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาในการหาฉันทมติทางการเมืองร่วมกันระหว่างกลุ่มนักการเมืองหัวเสรีกับกลุ่มอนุรักษนิยมว่าฝ่ายใดกันแน่ ที่ควรได้ก้าวขึ้นมีอำนาจในการบริหารประเทศหลังการยึดอำนาจ
ขณะเดียวกัน ยังคงเกิดการปะทะทั่วประเทศระหว่างกลุ่มผู้สนับสนุนและกลุ่มผู้ต่อต้านนายโมฮาเหม็ด มอร์ซีจำนวนเรือนหมื่น ส่งผลให้วิกฤตความรุนแรงทางการเมืองรอบใหม่ที่เกิดขึ้นในดินแดนซึ่งได้ชื่อว่ามีประชากรมากที่สุดในโลกอาหรับแห่งนี้ทำให้มีผู้เสียชีวิตไปแล้วไม่ต่ำกว่า 35 ราย และได้รับบาดเจ็บอีกมากกว่า 1,000 คน โดยโฆษกกลุ่มภราดรภาพมุสลิมประกาศจะยกระดับการชุมนุมทั่วประเทศ เพื่อแสดงจุดยืนต่อต้านการโค่นอำนาจมอร์ซี ซึ่งเป็นผู้นำที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน
ด้านสื่อในความควบคุมของรัฐบาลไคโรรายงานว่า สำนักงานอัยการของอียิปต์ประกาศขยายระยะเวลาการควบคุมตัวแกนนำระดับสูง 4 คนของกลุ่มภราดรภาพมุสลิมออกไปอีก 15 วันเพื่อสอบสวนเพิ่มเติม ต่อกรณีที่มีการกล่าวหาว่า แกนนำเหล่านี้ซึ่งรวมถึงนายซาอัด เอล คาตัตนี ผู้นำด้านยุทธศาสตร์ของกลุ่มภราดรภาพมุสลิม มีส่วนปลุกปั่นให้เกิดความรุนแรง
ทั้งนี้ อียิปต์ได้กลายสภาพจากหนึ่งในดินแดนที่มีเสถียรภาพทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจมากที่สุดในโลกอาหรับไปสู่การเป็นดินแดนแห่งความวุ่นวายมานานกว่า 2 ปี นับตั้งแต่การลุกฮือขึ้นของประชาชนในปี 2011 เพื่อโค่นล้มอำนาจของระบอบการปกครองที่ยาวนานกว่า 30 ปีของอดีตประธานาธิบดีฮอสนี มูบารัค
ความวุ่นวายทางการเมืองระลอกล่าสุดในอียิปต์จากการที่กองทัพแดนไอยคุปต์ โค่นอำนาจรัฐบาลของมอร์ซีเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมายังสร้างความกังวลให้กับรัฐบาลสหรัฐฯ ประเทศต่างๆ ในสหภาพยุโรป (อียู) รวมถึงอิสราเอล
เมื่อวันเสาร์ (6) ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ผู้นำสหรัฐฯ ออกโรงแถลงประณามเหตุรุนแรงในอียิปต์และย้ำว่ารัฐบาลอเมริกันจะไม่ขอมีปฏิสัมพันธ์ใดๆ กับพรรคการเมืองหรือกลุ่มเคลื่อนไหวใดในอียิปต์ทั้งสิ้น แต่ยังคงไม่ประณามกองทัพอียิปต์ที่ก่อเหตุยึดอำนาจ
ด้านชัค เฮเกล รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ ตกเป็นข่าวว่าได้หารือทางโทรศัพท์รวม 3 ครั้ง นานกว่า 2 ชั่วโมงในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมากับ พล.อ.อับเดล ฟัตตาห์ อัล ซีซี ผู้นำการยึดอำนาจในอียิปต์ โดยมีการเน้นย้ำถึงความจำเป็นของ “การเปลี่ยนผ่านอย่างสันติ” ไปสู่การปกครองระบอบประชาธิปไตยภายใต้ “รัฐบาลพลเรือน” ที่มาจากการเลือกตั้งโดยเร็ว