xs
xsm
sm
md
lg

Weekend Focus: กองทัพอียิปต์ “รัฐประหาร” โค่นอำนาจ “มอร์ซี” ปิดฉากรัฐบาลอิสลามิสต์หลังครองอำนาจเพียง 1 ปี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อดีตประธานาธิบดี โมฮาเหม็ด มอร์ซี ผู้ถูกกองทัพปฏิวัติยึดอำนาจในคืนวันที่ 3 กรกฎาคมที่ผ่านมา
ASTVผู้จัดการออนไลน์ -แดนไอยคุปต์อียิปต์กลับเข้าสู่ยุคเปลี่ยนแปลงอีกครั้งหนึ่ง เมื่อกองทัพตัดสินใจทำรัฐประหารโค่นล้มอำนาจประธานาธิบดี โมฮาเหม็ด มอร์ซี ผู้นำสายอิสลามิสต์ซึ่งถูกประชาชนนับล้านออกมาเดินขบวนขับไล่ ทั้งที่เป็นผู้นำอียิปต์คนแรกที่มาจากการเลือกตั้งอย่างเสรี และเพิ่งจะบริหารประเทศมาได้เพียง 1 ปีเศษ ชนวนเหตุก็เนื่องมาจากความไม่พอใจที่รัฐบาลให้อำนาจแก่นักการเมืองสายอิสลามเคร่งจารีต จนส่งผลให้เศรษฐกิจของชาติดิ่งเหว

กระแสปฏิวัติประชาธิปไตย “อาหรับสปริง” ซึ่งปะทุขึ้นในตะวันออกกลางตั้งแต่ช่วงปลายปี 2010 ลุกลามจากตูนิเซียเข้ามาสู่แดนไอยคุปต์ นำไปสู่การล่มสลายของระบอบเผด็จการของอดีตประธานาธิบดี ฮอสนี มูบารัค ที่ยืนยงมากว่า 30 ปี ชัยชนะของประชาชนครั้งนั้นนำมาสู่การเลือกตั้งอย่างเสรีครั้งแรกในอียิปต์ โดย โมฮาเหม็ด มอร์ซี ซึ่งเป็นอดีตแกนนำกลุ่มภราดรภาพมุสลิม (Muslim Brotherhood) ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน ปี 2012

อย่างไรก็ดี การบริหารประเทศของ มอร์ซี เริ่มไม่เป็นที่พอใจของฝ่ายเสรีนิยม ซึ่งมองว่า มอร์ซี กำลัง “ทรยศ” ต่อเจตนารมณ์ของการปฏิวัติ โดยให้อำนาจส่วนใหญ่ไปตกอยู่ในมืออิสลามิสต์ ส่งผลให้เศรษฐกิจอียิปต์ตกต่ำอย่างรุนแรง ในขณะที่กลุ่มภราดรภาพมุสลิมและผู้นิยมแนวทางอิสลามิสต์ชี้ว่า มอร์ซี ต้องแบกรับปัญหาที่รัฐบาล มูบารัค ก่อไว้ จึงสมควรได้รับโอกาสบริหารประเทศต่อไปจนครบวาระในปี 2016 และความพยายามปลด มอร์ซี จะถือเป็นการ “รัฐประหาร” ต่อระบอบประชาธิปไตยด้วย

ตั้งแต่เข้ารับตำแหน่ง มอร์ซี ได้เปิดศึกรบรากับทั้งฝ่ายตุลาการ สื่อมวลชน และตำรวจ ขณะที่เศรษฐกิจถดถอย การลงทุนเหือดแห้ง เงินเฟ้อพุ่งทะยาน และอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่เป็นแหล่งรายได้หลักก็พลอยซบเซา
พล.อ.อับเดล ฟัตตะห์ อัล-ซีซี ผู้บัญชาการกองทัพอียิปต์ ซึ่งเป็นผู้นำก่อรัฐประหารโค่นมอร์ซี
กระแสต่อต้านรัฐบาลอียิปต์ปะทุถึงจุดเดือด เมื่อประชาชนหลายล้านคนออกมาชุมนุมขับไล่ มอร์ซี ในวันที่ 30 มิถุนายน ซึ่งเป็นวันครบรอบการดำรงตำแหน่งของของเขา ผู้ประท้วงต่างร้องตะโกน “ประชาชนต้องการขับไล่รัฐบาล” ซึ่งเป็นคำขวัญเดียวกับเมื่อปี 2011 ที่ชาวอียิปต์ลุกฮือปลดจอมเผด็จการ ฮอสนี มูบารัค

แหล่งข่าวในกองทัพชี้ว่า การชุมนุมครั้งนี้เป็น “การประท้วงครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์อียิปต์” และเป็นการประกาศจุดยืนว่าชาวแดนไอยคุปต์หลายล้านคนไม่ต้องการผู้นำสายอิสลามิสต์คนนี้อีกต่อไป

ญิฮาด อัล-ฮัดดาด โฆษกกลุ่มภราดรภาพมุสลิม แถลงว่า “พวกอันธพาล” หลายสิบคนใช้ระเบิดเพลิง, หนังสติ๊ก และก้อนหิน ขว้างปาใส่สำนักงานใหญ่ของภราดรภาพมุสลิมในกรุงไคโร ขณะที่ มอร์ซี ก็เสนอเปิดเวทีเจรจาแห่งชาติเพื่อให้ทุกฝ่ายได้มาร่วมพูดคุยและคลี่คลายสถานการณ์โดยสันติ แต่ความพยายามต่อรองของรัฐบาลดูเหมือนจะไม่เป็นผล เมื่อพันธมิตแนวร่วมกู้ชาติ (National Salvation Front) ซึ่งเป็นกลุ่มฝ่ายค้านหลัก ยังคงเรียกร้องให้พลเมืองออกมาแสดงพลังขัดขืนอย่างสงบตามจตุรัส, ท้องถนน, เมือง และหมู่บ้านทั่วประเทศ จนกว่า มอร์ซี จะยอมลงจากอำนาจ

การประท้วงขับไล่ มอร์ซี เกิดขึ้นทั้งในเมืองอเล็กซานเดรีย, มันซูรา, เมนุฟ, ทันทา, มาฮัลลา, สุเอซ, พอร์ตซาอิด และแม้แต่ซากาซิก ซึ่งเป็นบ้านเกิดของประธานาธิบดีเอง

ฮัมดีน ซาบาฮี อดีตผู้แทนพรรคฝ่ายซ้ายซึ่งได้คะแนนมาเป็นที่ 3 ในศึกเลือกตั้งผู้นำอียิปต์ ออกมาเรียกร้องให้กองทัพเข้าแทรกแซงสถานการณ์ พร้อมทวงคำสัญญาจาก พล.อ. อับเดล ฟัตตะห์ อัล-ซีซี ผู้บัญชาการกองทัพอียิปต์ ที่เคยกล่าวว่าจะยืนหยัดข้างประชาชน

ต่อมาในวันที่ 1 กรกฎาคม กองทัพอียิปต์ได้ประกาศเงื่อนไขให้รัฐบาลทำตามเสียงเรียกร้องของประชาชนภายใน 48 ชั่วโมง มิเช่นนั้นก็จะออกมาตรการ “แทรกแซง” เพื่อคลี่คลายความขัดแย้งเสียเอง ซึ่งทันทีที่ถ้อยแถลงถูกประกาศออกมา ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลที่มาตั้งแคมป์อยู่รอบๆ จัตุรัสตะห์รีร์ ศูนย์กลางการปฏิวัติประชาธิปไตยของอียิปต์ ต่างก็เปล่งเสียงเฮลั่นด้วยความถูกอกถูกใจ

ถึงขั้นนี้แล้ว มอร์ซี ยังคงปฏิเสธเงื่อนไขกองทัพ โดยยืนกรานจะใช้แผนสร้างความปรองดองแห่งชาติ และแก้วิกฤตการเมืองด้วยการเจรจา และเมื่อช่วงเที่ยงคืนวันอังคารที่ 2 กรกฎาคม เขาก็ยืนยันผ่านสื่อโทรทัศน์อีกครั้งว่า จะยืนหยัดปกป้องอำนาจอันชอบธรรมด้วยชีวิต ซึ่งพวกผู้นำฝ่ายต่อต้านหัวเสรีชี้ว่า คำพูดเช่นนี้เท่ากับ มอร์ซี กำลังประกาศ “สงครามกลางเมือง”
ผู้ประท้วงขับไล่ มอร์ซี ต่างแสดงความยินดีปรีดาสุดขีด ทันทีที่ทราบว่ารัฐบาลที่พวกเขาเกลียดชังถูกรัฐประหารแล้ว
เพียง 3 ชั่วโมงให้หลัง กองบัญชาการทหารสูงสุดอียิปต์นำโดย พล.อ.อับเดล ฟัตตะห์ อัล-ซีซี ก็ตอบโต้ด้วยข้อความในเฟซบุ๊กว่า พวกเขายินดีสละชีพเพื่อรักษาจุดยืนของทหารซึ่งก็คือการปกป้องพลเมืองอียิปต์จาก “พวกก่อการร้าย, พวกหัวรุนแรง และพวกโง่เง่า”

เมื่อครบกำหนดเส้นตาย 48 ชั่วโมงในช่วงเย็นวันพุธที่ 3 กรกฎาคม กองทัพอียิปต์ได้ประกาศห้ามประธานาธิบดี มอร์ซี และแกนนำอิสลามิสต์หลายคนเดินทางออกนอกประเทศ พร้อมส่งรถยานเกราะกระจายไปตามจุดต่างๆทั่วเมืองหลวง

กองทัพอียิปต์ได้ออกแถลงการณ์ก่อรัฐประหารโค่นอำนาจ มอร์ซี ในช่วงกลางดึก โดย พล.อ.อับเดล ฟัตตะห์ อัล-ซีซี ผู้บัญชาการกองทัพอียิปต์ ประกาศแต่งตั้งให้ อัดลี มันซูร์ อดีตประธานศาลรัฐธรรมนูญสูงสุด ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีรักษาการ ขณะเดียวกันก็สั่งระงับใช้รัฐธรรมนูญที่ร่างโดยฝ่ายอิสลามิสต์ และเตรียมจัดการเลือกตั้งทั่วไปครั้งใหม่ ซึ่งระหว่างที่กองทัพประกาศนั้น ผู้นำฝ่ายต่างๆได้มาปรากฎตัวเคียงข้างผู้บัญชาการทหารสูงสุดด้วย ไม่ว่าจะเป็น โมฮาเหม็ด เอลบาราเด ผู้นำฝ่ายค้านที่มีแนวทางเสรีนิยมและอดีตผู้อำนวยการทบวงการปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) ซึ่งเคยได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ตลอดจน ชีค อาเหม็ด อัล-ตอเย็บ ผู้นำอิหม่ามแห่งมัสยิดอัล-อัซฮาร์ ซึ่งถือเป็นผู้ทรงอำนาจสูงสุดของชาวมุสลิมนิกายซุนนี การเข้าร่วมของผู้นำเหล่านี้ยิ่งสะท้อนให้เห็นว่า การก่อรัฐประหารได้รับการสนับสนุนจากฝ่ายพลเรือนอย่างกว้างขวาง

มอร์ซี ซึ่งกลายเป็นอดีตผู้นำในชั่วข้ามคืน ถูกควบคุมตัวไปยังกระทรวงกลาโหม ขณะที่แกนนำกลุ่มภราดรภาพมุสลิมราว 300 คนถูกออกหมายจับ

หลังข่าวการรัฐประหารถูกเผยแพร่ ได้เกิดเหตุปะทะระหว่างกองกำลังความมั่นคงอียิปต์กับผู้สนับสนุน มอร์ซี ตามเมืองต่างๆทั่วประเทศ ขณะที่กลุ่มภราดรภาพมุสลิมซึ่งหนุนหลัง มอร์ซี อยู่ประกาศไม่ยอมแพ้ง่ายๆ และจะระดมฝูงชนมาต่อสู้กับการปฏิวัติยึดอำนาจโดยกองทัพต่อไป

สถานการณ์รุนแรงที่เกิดขึ้นทำให้สหรัฐฯ ตัดสินใจสั่งให้บุคลากรทางการทูตที่ไม่มีภารกิจฉุกเฉิน เร่งเดินทางออกจากอียิปต์ทันที เนื่องจากบ่อยครั้งสถานทูตอเมริกันมักจะตกเป็นเหยื่อเมื่อเกิดเหตุรุนแรง

ประธานาธิบดี บารัค โอบามา แห่งสหรัฐฯ เรียกร้องให้อียิปต์กลับคืนสู่ระบอบการปกครองภายใต้รัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งโดยเร็ว ขณะที่ บัน คี มูน เลขาธิการใหญ่องค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ออกคำแถลงผ่านรองโฆษกยูเอ็นว่า ตัวเขาตระหนักดีถึงความขับข้องใจและปัญหาที่ชาวอียิปต์ต้องเผชิญ แต่กรู้สึกกังวลต่อการเข้าแทรกแซงของกองทัพ เช่นเดียวกับ วิลเลียม เฮก รัฐมนตรีต่างประเทศอังกฤษที่ระบุว่า อียิปต์เวลานี้อยู่ในภาวะที่เต็มไปด้วยอันตรายอย่างชัดแจ้ง และยืนยันว่ารัฐบาลเมืองผู้ดีไม่สนับสนุนการเข้าแทรกแซงของกองทัพ เนื่องจากมิใช่ทางแก้ปัญหาตามครรลองประชาธิปไตย

อย่างไรก็ดี กษัตริย์อับดุลเลาะห์แห่งซาอุดีอาระเบียทรงออกมาชื่นชมการยึดอำนาจของกองทัพอียิปต์ โดยทรงชี้ว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้อง และสอดคล้องกับความปรารถนาชาวอียิปต์ส่วนใหญ่ และยังทรงแสดงความยินดีกับประธานศาลรัฐธรรมนูญสูงสุดที่ได้รับหน้าที่ประธานาธิบดีรักษาการด้วย

สถานการณ์ในอียิปต์ขณะนี้ดูเหมือนจะย้อนกลับไปสู่วันที่เผด็จการ ฮอสนี มูบารัค ถูกมวลชนลุกฮือขับไล่เมื่อปี 2011 และยังสะท้อนถึงความเปราะบางของระบอบประชาธิปไตยที่ยังก้าวไม่พ้นวังวนแห่งความขัดแย้งระหว่างคนในชาติ อนาคตการเมืองในอียิปต์จึงเป็นสิ่งที่น่าจับตามอง และเป็นอีกหนึ่งบทเรียนที่สำคัญต่อผู้นำทั้งหลายที่ยังหลงระเริงในอำนาจ และมองข้าม “พลังของประชาชน”
บรรยากาศการเฉลิมฉลองที่จตุรัสตะห์รีร์ ศูนย์กลางการปฏิวัติประชาธิปไตยในอียิปต์ หลังรัฐบาลมอร์ซีถูกโค่น
กำลังโหลดความคิดเห็น