เอเอฟพี/เอเจนซีส์/ASTV ผู้จัดการออนไลน์ - บรรดาชาติตะวันตกต่างเรียกร้องให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในอียิปต์ใช้ความอดทนอดกลั้นในการแก้ปัญหาวิกฤตทางการเมือง พร้อมแสดงความหวังให้ดินแดนไอยคุปต์หวนคืนสู่ความเป็นประชาธิปไตยโดยเร็ว หลังจากที่กองทัพอียิปต์โค่นอำนาจของประธานาธิบดีสายอิสลามิสต์โมฮาเหม็ด มอร์ซีในวันพุธ (3) ขณะที่นายมอร์ซี วัย 61 ปี ซึ่งก้าวขึ้นครองอำนาจเมื่อเดือนมิถุนายนปีที่แล้ว ถูกนำตัวไปควบคุมไว้ ณ ที่ทำการกระทรวงกลาโหม
ประธานาธิบดีบารัค โอบามาแห่งสหรัฐฯ ออกโรงเรียกร้องให้อียิปต์กลับคืนสู่ความเป็นประชาธิปไตย โดยผู้นำสหรัฐฯ ระบุว่าต้องการให้อียิปต์กลับคืนสู่ระบอบการปกครองภายใต้รัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนโดยเร็ว
“เราเชื่อมั่นว่าท้ายที่สุดแล้วอนาคตของอียิปต์จะสามารถตัดสินได้โดยชาวอียิปต์เท่านั้น เรามีความกังวลอย่างใหญ่หลวงต่อการตัดสินใจของกองทัพอียิปต์ในการโค่นอำนาจประธานาธิบดีมอร์ซี และยกเลิกรัฐธรรมนูญของประเทศ” ประธานาธิบดีโอบามาแถลงหลังการหารือฉุกเฉินกับบรรดาผู้ช่วยระดับสูง พร้อมเผยว่าเขาได้สั่งการให้มีการทบทวนเงื่อนไขทางกฏหมายกรณีการให้ความช่วยเหลือของรัฐบาลอเมริกันต่ออียิปต์ ซึ่งรวมถึง เงินช่วยเหลือทางทหารรายปีต่อรัฐบาลไคโรจำนวน 1,300 ล้านดอลลาร์ (ราว 40,400 ล้านบาท) ที่ถูกรื้อฟื้นเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา
ท่าทีล่าสุดของผู้นำสหรัฐฯ มีขึ้นหลังจากเมื่อวันพุธ (3) กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ออกคำสั่งด่วนให้มีการอพยพเจ้าหน้าที่ของสถานทูตอเมริกันประจำกรุงไคโร พร้อมประกาศจับตาสถานการณ์ในอียิปต์อย่างใกล้ชิด
ด้านบัน คี มูน เลขาธิการใหญ่องค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ชาวเกาหลีใต้ ออกคำแถลงผ่านเอดูอาร์โด เดล บวย รองโฆษกยูเอ็น ซึ่งระบุว่าตัวเขาตระหนักดีถึงความขับข้องใจและปัญหาที่ชาวอียิปต์ต้องเผชิญอยู่ในเวลานี้ แต่แสดงความกังวลถึงต่อการเข้าแทรกแซงของกองทัพ
ขณะที่แคเธอรีน แอชตัน ประธานด้านนโยบายต่างประเทศของสหภาพยุโรป (อียู) ออกโรงประณามการโค่นอำนาจรัฐบาลอียิปต์ของกองทัพในครั้งนี้ โดยระบุว่ากองทัพอียิปต์ควรทำทุกวิถีทางเพื่อปกป้องชีวิตของพลเรือนผู้บริสุทธิ์มิให้ตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงใดๆ พร้อมเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนผ่านสู่กระบวนการประชาธิปไตยในอียิปต์โดยเร็ว
“ดิฉันในฐานะตัวแทนของสหภาพยุโรป ขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งทางการเมืองในอียิปต์เร่งคืนกระบวนการประชาธิปไตยแก่ประชาชนโดยเร็ว ซึ่งหมายรวมถึงการจัดการเลือกตั้งประธานาธิบดีและสมาชิกรัฐสภาที่เสรีและเป็นธรรม ตลอดจนให้ความเห็นชอบต่อรัฐธรรมนูญ” ประธานด้านนโยบายต่างประเทศของอียูกล่าว
วิลเลียม เฮก รัฐมนตรีต่างประเทศสหราชอาณาจักร แถลงว่า สถานการณ์ในอียิปต์เวลานี้ตกอยู่ในภาวะที่เต็มไปด้วยอันตรายอย่างชัดแจ้ง และขอให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งครั้งนี้ใช้ความอดทนอดกลั้นและหลีกเลี่ยงการใช้ความรุนแรงพร้อมยืนยันรัฐบาลเมืองผู้ดีไม่สนับสนุนการเข้าแทรกแซงของกองทัพอียิปต์ เนื่องจากมิใช่หนทางแก้ปัญหาตามครรลองของระบอบประชาธิปไตย สอดคล้องกับคำแถลงของรัฐบาลแคนาดาในเวลาไล่เลี่ยกันที่เรียกร้องให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในอียิปต์เร่งฟื้นฟูประชาธิปไตยโดยเร็ว
อย่างไรก็ดี กษัตริย์อับดุลเลาะห์แห่งซาอุดีอาระเบีย ทรงออกโรงชื่นชมการยึดอำนาจของกองทัพอียิปต์ โดยระบุเป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้วและสอดคล้องกับความปรารถนาของประชาชนชาวอียิปต์ส่วนใหญ่ นอกจากนั้นยังทรงแสดงความยินดีกับนายอัดลี มันซูร์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญสูงสุดอียิปต์ ที่เพิ่งถูกตั้งให้รับหน้าที่ประธานาธิบดีรักษาการแทนโมฮาเหม็ด มอร์ซี
การโค่นอำนาจของกองทัพต่อรัฐบาลอิสลามิสต์ของมอร์ซี มีขึ้นเพียงหนึ่งสัปดาห์หลังเกิดเหตุนองเลือดจนมีผู้ถูกสังหารไปเกือบ 50 ราย หลังชาวอียิปต์หลายล้านคนทั่วประเทศออกมารวมตัวตามท้องถนน เพื่อขับไล่มอร์ซีผู้นำที่ถูกมองว่าฉ้อฉลและทรยศต่อความไว้วางใจของประชาชน ที่ครองอำนาจมาได้ 1 ปี
ด้านสมาชิกระดับสูงรายหนึ่งของกลุ่มภราดรภาพมุสลิม (Muslim Brotherhood) องค์กรเคลื่อนไหวของพวกอิสลามิสต์ ที่อยู่เบื้องหลังรัฐบาลมอร์ซี ออกมาเปิดเผยว่า มอร์ซีและบรรดาผู้ช่วยระดับสูงหลายคนต่างถูกกองทัพควบคุมตัวหลังการยึดอำนาจ โดยมอร์ซีถูกนำตัวไปยังกระทรวงกลาโหมและยังไม่ทราบชะตากรรม ขณะที่บรรดาผู้ช่วยของเขามีทั้งที่ถูกกักบริเวณในบ้านพัก และพวกที่ถูกนำไปควบคุมไว้ในสถานที่ที่ไม่เปิดเผยของกองทัพ