บีบีซีนิวส์ – บรรดาผู้นำของโลกแสดงปฏิกิริยาต่อเหตุการณ์อันน่าตื่นเต้นซึ่งเกิดขึ้นในอียิปต์ ภายหลังที่กองทัพดำเนินการโค่นล้ม โมฮัมเหม็ด มอร์ซี ประธานาธิบดีคนแรกที่มาจากการเลือกตั้งอย่างเป็นประชาธิปไตยของแดนไอยคุปต์ หลังจากที่เกิดความไม่สงบต่อต้านรัฐบาลอย่างต่อเนื่องมาหลายวัน
ความเคลื่อนไหวของกองทัพอียิปต์ในการระงับใช้รัฐธรรมนูญคราวนี้ ได้ก่อให้เกิดการตอบโต้ด้วยท่าทีระมัดระวังจากพวกผู้นำในโลกตะวันตก โดยที่หลายๆ คนเรียกร้องให้ใช้ความยับยั้งชั่งใจและให้ดำเนินการเปลี่ยนผ่านอำนาจอย่างสันติ อย่างไรก็ตาม สำหรับบางประเทศในแถบอ่าวเปอร์เซียแล้ว ได้แสดงความยินดีอย่างเปิดเผยต่อการที่มอร์ซีถูกขับไล่ออกไป
ต่อไปนี้คือปฏิกิริยาที่น่าสนใจบางส่วนจากเหล่าผู้นำของโลก
**ประธานาธิบดีสหรัฐฯ บารัค โอบามา**
“เรามีความกังวลอย่างล้ำลึกจากการที่กองทัพอียิปต์ตัดสินใจถอดประธานาธิบดีมอร์ซีออกจากตำแหน่ง และระงับการใช้รัฐธรรมนูญของอียิปต์
ในเวลานี้ ผมเรียกร้องให้ฝ่ายทหารของอียิปต์ดำเนินการอย่างรวดเร็วและอย่างรับผิดชอบ เพื่อการคืนอำนาจความรับผิดชอบเต็มๆ ให้แก่รัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งอย่างเป็นประชาธิปไตยโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้โดยผ่านกระบวนการ ซึ่งทุกๆ ฝ่ายมีส่วนเข้าร่วมและมีความโปร่งใส อีกทั้งหลีกเลี่ยงจากการจับกุมบีบบังคับใดๆ ต่อประธานาธิบดีมอร์ซีและพวกผู้สนับสนุนของเขา
สืบเนื่องจากพัฒนาการต่างๆ ที่เกิดขึ้นในวันนี้ ผมยังได้สั่งการให้กระทรวงทบวงกรมทั้งหลายดำเนินการพิจารณาทบทวนความเกี่ยวข้องต่างๆ ที่ติดตามมาตามนัยของกฎหมายของสหรัฐฯ ในเรื่องความช่วยเหลือของเราที่ให้แก่รัฐบาลอียิปต์
เสียงต่างๆ ของพวกที่ทำการประท้วงอย่างสันติทั้งหลายทั้งปวงจักต้องคอยรับฟัง ทั้งนี้รวมถึงพวกซึ่งต้อนรับพัฒนาการต่างๆ ที่เกิดขึ้นในวันนี้ และพวกซึ่งสนับสนุนประธานาธิบดีมอร์ซี”
**กระทรวงการต่างประเทศรัสเซีย**
“เราเล็งเห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญสำหรับกลุ่มพลังทางการเมืองทุกๆ กลุ่มในอียิปต์จะต้องแสดงความยับยั้งชั่งใจ ... ต้องคำนึงถึงผลประโยชน์แห่งชาติในวงกว้างเมื่อพวกเขาจะกระทำการต่างๆ และต้องพิสูจน์ให้เห็นว่าพวกเขามีความมุ่งมั่นเด็ดเดี่ยวที่จะแก้ไขปัญหาต่างๆ ทั้งทางการเมืองและทางเศรษฐกิจ-สังคมอันเดือดพล่านภายในกรอบแห่งประชาธิปไตย โดยปราศจากการใช้ความรุนแรง และแสดงความรับผิดชอบต่อผลประโยชน์ของกลุ่มสังคม และกลุ่มผู้ศรัทธาทางศาสนาทุกๆ กลุ่ม
**รัฐมนตรีต่างประเทศสหราชอาณาจักร วิลเลียม เฮก**
“สถานการณ์ที่เกิดขึ้นมาเป็นสถานการณ์ที่อันตรายอย่างเห็นได้ชัด และเราเรียกร้องให้ทุกๆ ฝ่ายแสดงออกซึ่งความยับยั้งชั่งใจและหลีกเลี่ยงความรุนแรง
สหราชอาณาจักรไม่ได้สนับสนุนให้ใช้การแทรกแซงของฝ่ายทหารมาเป็นวิถีทางในการแก้ไขคลี่คลายข้อพิพาทต่างๆ ในระบบประชาธิปไตย
ช่องทางโอกาสแห่งอนาคตที่เป็นประชาธิปไตย เป็นสิ่งที่ประชาชนชาวอียิปต์ต่อสู้จนได้มาด้วยความยากลำบากเมื่อสองปีครึ่งที่ผ่านมา แต่เมื่อมองออกไปข้างหน้า เราก็เรียกร้องให้ทุกๆ ฝ่ายแสดงออกให้เห็นถึงความเป็นผู้นำและวิสัยทัศน์ซึ่งจำเป็นสำหรับการฟื้นฟูและการเปลี่ยนผ่านอียิปต์กันใหม่อีกครั้งอย่างเป็นประชาธิปไตย
เป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งยวดที่ทุกๆ ฝ่ายจะต้องตอบสนองต่อความปรารถนาอันแรงกล้าของประชาชนชาวอียิปต์ ที่จะเห็นประเทศชาติของพวกเขาบังเกิดความก้าวหน้าอย่างรวดเร็วยิ่งขึ้นทั้งในทางเศรษฐกิจและในทางการเมือง
ในทัศนะของเราแล้ว เรื่องนี้จะต้องเกี่ยวข้องกับการมีกระบวนการทางการเมือง ซึ่งรวมเอาทุกๆ กลุ่มเข้ามาอย่างเสมอภาคกัน อันจะนำไปสู่การเลือกตั้งที่ยุติธรรมแต่เนิ่นๆ ซึ่งทุกๆ ฝ่ายสามารถที่จะเข้าแข่งขัน และนำไปสู่รัฐบาลที่นำโดยฝ่ายพลเรือน”
**รัฐมนตรีต่างประเทศเยอรมนี กุยโด เวสเตอร์เวลล์**
“นี่คือการถอยหลังกลับครั้งใหญ่สำหรับประชาธิปไตยในอียิปต์ เป็นเรื่องเร่งด่วนที่อียิปต์จะต้องหวนกลับคืนเข้าสู่ระเบียบตามรัฐธรรมนูญโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
มีอันตรายอย่างแท้จริงที่การเปลี่ยนผ่านทางประชาธิปไตยในอียิปต์จะประสบความเสียหายอย่างร้ายแรง”
**เลขาธิการใหญ่องค์การสหประชาชาติ บัน คีมุน**
“ในขณะนี้ที่ความตึงเครียดอย่างสูงลิ่วและความไม่แน่นอนยังคงดำรงอยู่อย่างต่อเนื่องในประเทศนี้ เลขาธิการใหญ่องค์การสหประชาชาติ ขอเน้นย้ำคำอุทธรณ์ของเขาที่ต้องการเห็นความสงบ, การไม่ใช้ความรุนแรง, การสนทนากัน และการยับยั้งชั่งใจ
วิธีการซึ่งนำเอาทุกๆ ฝ่ายเข้ามีส่วนร่วม เป็นหนทางอันจำเป็นยิ่งในการจัดการกับความต้องการและความกังวลห่วงใยของชาวอียิปต์ทั้งหลายทั้งปวง การรักษาไว้ซึ่งสิทธิขั้นพื้นฐานต่างๆ เป็นต้นว่า เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และในการชุมนุม ยังคงเป็นสิ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่งยวด
ในระหว่างการประท้วของพวกเขา ชาวอียิปต์จำนวนมากได้ส่งเสียงแสดงความคับข้องใจอย่างล้ำลึกและได้ส่งเสียงแสดงความวิตกกังวลเกี่ยวกับความถูกต้องชอบธรรม
ในเวลาเดียวกันนั้น การแทรกแซงของฝ่ายทหารในกิจการต่างๆ ของรัฐใดๆ ก็ตามที ย่อมเป็นสิ่งซึ่งน่าห่วงใย ด้วยเหตุฉะนี้ จึงเป็นสิ่งสำคัญยิ่งยวดที่จะต้องเร่งรีบรื้อฟื้นการปกครองของพลเรือนอันสอดคล้องกับหลักการต่างๆ ของประชาธิปไตยขึ้นมา”
**ประธานด้านนโยบายการต่างประเทศของสหภาพยุโรป (อียู) แคเธอรีน แอชตัน **
“ดิฉันขอเรียกร้องให้ทุกๆ ฝ่ายเร่งรีบหวนกลับคืนสู่กระบวนการทางประชาธิปไตย ซึ่งครอบคลุมถึงการจัดการเลือกตั้งประธานาธิบดีและการจัดการเลือกตั้งรัฐสภาอย่างเสรีและอย่างยุติธรรม ตลอดจนการรับรองรัฐธรรมนูญ โดยที่จะต้องกระทำในลักษณะที่รวมเอาทุกๆ ฝ่ายเข้ามาร่วมด้วยอย่างเต็มที่ เพื่อที่จะได้เปิดทางให้ประเทศนี้สามารถรื้อฟื้นและดำเนินการเปลี่ยนผ่านทางประชาธิปไตยของตนให้เสร็จสิ้นสมบูรณ์
ดิฉันหวังว่าคณะผู้บริหารชุดใหม่จะนำเอาทุกๆ ฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ และจะเน้นย้ำถึงความสำคัญของการให้หลักประกันว่าจะมีการเคารพอย่างเต็มที่ต่อสิทธิขั้นพื้นฐานต่างๆ, เสรีภาพต่างๆ และหลักนิติธรรม ตลอดจนต้องสามารถทำให้ผู้มีอำนาจหน้าที่ต้องแสดงความรับผิดชอบในเรื่องเหล่านี้
ดิฉันขอประณามอย่างแรงกล้าต่อการกระทำรุนแรงทั้งหลายทั้งปวง และขอแสดงความเสียใจต่อครอบครัวของผู้ตกเป็นเหยื่อ รวมทั้งขอเรียกร้องให้กองกำลังความมั่นคงใช้ทุกสิ่งทุกอย่างที่อยู่ในอำนาจของพวกเขาในการพิทักษ์ปกป้องชีวิตและความเป็นอยู่ของพลเมืองชาวอียิปต์ ดิฉันเรียกร้องให้ทุกๆ ฝ่ายใช้ความยับยั้งชั่งใจอย่างสูงสุด”
**กษัตริย์ อับดุลเลาะห์ แห่งซาอุดีอาระเบีย**
“ในนามของประชาชนชาวซาอุดีอาระเบีย และในนามของข้าพเจ้าเอง เราขอแสดงความยินดีต่อคณะผู้นำแห่งอียิปต์ของพวกท่าน ในช่วงเวลาอันสำคัญยิ่งยวดแห่งประวัติศาสตร์ของอียิปต์นี้
เราขอวิงวอนพระเจ้าให้ช่วยเหลือพวกท่านในการแบกรับความรับผิดชอบต่างๆ ที่วางอยู่บนบ่าของพวกท่าน เพื่อให้บรรลุความมุ่งมาดปรารถนาต่างๆ ของพี่น้องประชาชนแห่งอียิปต์ของเรา”
**ยาเฮีย มุสซา ส.ส.สังกัดกลุ่มฮามาส, ดินแดนฉนวนกาซา, ปาเลสไตน์**
“ขบวนการ (ฮามาส) ของเราไม่ได้เข้าไปแทรกแซงในกิจการของอียิปต์ และไม่มีความเห็นใดๆ ต่อการที่กองทัพอียิปต์ตัดสินใจที่จะโดดเดี่ยวประธานาธิบดีมอร์ซี”
**รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อับดุลเลาะห์ บิน ไซเอ็ด อัล-นาฮายัน**
“ฯพณฯ อับดุลเลาะห์ บิน ไซเอ็ด อัล-นาฮายัน รัฐมนตรีต่างประเทศแห่งสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) ขอแสดงความเชื่อมั่นอย่างเต็มที่ของเขาต่อประชาชนผู้ยิ่งใหญ่แห่งอียิปต์ ว่าจะสามารถข้ามผ่านช่วงเวลาแห่งความยากลำบากเหล่านี้ที่ประเทศอียิปต์กำลังฝ่าข้ามไป
ชีค อับดุลเลาะห์ กล่าวว่า กองทัพอันยิ่งใหญ่ของอียิปต์สามารถพิสูจน์ให้เห็นอีกครั้งหนึ่งว่า พวกเขาเป็นรั้วป้องกันภัยของอียิปต์ และพวกเขาเป็นผู้พิทักษ์ตลอดจนเป็นโล่อันแข็งแกร่งซึ่งค้ำประกันว่า อียิปต์จะยังคงเป็นรัฐที่มีสถาบันต่างๆ และตัวบทกฎหมายดำรงคงอยู่”
**ประธานาธิบดีซีเรีย บาชาร์ อัล-อัสซาด**
“สิ่งที่กำลังเกิดขึ้ในอียิปต์เวลานี้ คือการล่มสลายของสิ่งที่เรียกขานกันว่า อิสลามในทางการเมือง (political Islam) นี่คือชะตากรรมของใครก็ตามในโลกนี้ซึ่งพยายามที่จะใช้ศาสนาเพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองหรือผลประโยชน์ของฝักฝ่าย”
**รัฐมนตรีต่างประเทศตุรกี อาเหม็ต ดาวูโตกลู**
“เป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้สำหรับการที่รัฐบาลซึ่งขึ้นสู่อำนาจโดยได้รับการเลือกตั้งอย่างเป็นประชาธิปไตย ต้องมาถูกโค่นล้มด้วยวิธีการซึ่งผิดกฎหมาย และกระทั่งยิ่งกว่านั้นด้วยซ้ำไป นั่นคือ โดยการรัฐประหารของฝ่ายทหาร”