xs
xsm
sm
md
lg

ตื่น! “ยูเนสโก”ให้เงินเขมร ซ่อมพระวิหาร2 ล้าน รอถามก่อนประท้วง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้(23 มิ.ย.56) นายพิทยา พุกกะมาน หัวหน้าคณะผู้แทนฝ่ายไทยในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 37 ที่กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชากล่าวยอมรับว่าเพิ่งจะตรวจสอบเอกสารพบว่า นางอิริน่า โบโกว่า ผู้อำนวยการยูเนสโกได้อนุมัติงบประมาณ 72,000 เหรียญสหรัฐฯ หรือกว่า 2,200,000 บาท ให้แก่กัมพูชา เพื่อบูรณะซ่อมแซมตัวปราสาทพระวิหารที่ฝ่ายกัมพูชาอ้างว่าเสียหายจากการสู้รบกับฝ่ายไทย โดยก่อนหน้านี้ผู้อำนวยการยูเนสโกได้เข้าพบ นายฮอร์ นัม ฮง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และได้หารือถึงการซ่อมแซมความเสียหายของปราสาทพระวิหาร
หัวหน้าคณะฝ่ายไทยยังย้ำจุดยืนว่าจะไม่ยอมให้ยูเนสโก หรือฝ่ายกัมพูชาดำเนินการใดๆ กับปราสาทพระวิหาร เพราะอยู่ระหว่างการพิจารณาคดีของศาลโลก ถึงขอบเขตบริเวณโดยรอบตัวปราสาทพระวิหาร พร้อมทั้งเป็นห่วงว่าเงินที่ยูเนสโกสนับสนุนอาจจะกระทบต่ออธิปไตยของไทย
ทั้งนี้ ไทยขอยูเนสโก ชี้แจง อนุมัติเงินซ่อมปราสาทพระวิหาร หัวหน้าคณะฝ่ายไทย การประชุมมรดกโลกที่ประเทศกัมพูชา ทำหนังสือประท้วงต่อยูเนสโก ผู้อำนวยการยูเนสโก อนุมัติงบประมาณ บูรณะซ่อมแซมปราสาทพระวิหาร
รายงานข่าวแจ้งว่า คณะผู้แทนฝ่ายไทยในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกที่กรุงพนมเปญ ของกัมพูชาได้ดำเนินการส่งหนังสือขอคำชี้แจงจากองค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก กรณี มอบเงิน 72,000 เหรียญสหรัฐฯ หรือ ราว 2,200,000 บาทให้กัมพูชา นำไปใช้ซ่อมแซมปราสาทพระวิหาร จากเหตุปะทะกับฝ่ายไทย ซึ่งคณะผู้แทนไทยพิจารณาว่าอาจขัดต่อคำสั่งของศาลโลก อย่างไรก็ดี จะยังไม่ส่งหนังสือถึงกัมพูชา หรือแจ้งต่อศาลโลก จนกว่าจะได้คำชี้แจงจากองค์การยูเนสโกก่อน
ส่วนความคืบหน้าการขึ้นทะเบียนมรดกโลก จนถึงตอนนี้มีสถานที่กว่า 10 แห่งที่ได้รับการขึ้นทะเบียนแล้ว รวมถึงภูเขาไฟฟูจิของญี่ปุ่น ที่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม จากคุณค่าทางจิตใจและศิลปะโดย นายคาวากาสึ เฮย์ตะ คณะผู้แทนญี่ปุ่น กล่าวว่ารอเวลานี้มานาน และรู้สึกยินดีที่ภูเขาไฟฟูจิ จะได้ยกระดับเป็นสถานที่ทรงคุณค่าที่ทั่วโลกรู้จัก เช่นเกียวกับ นางไนรุ ทาคุมัตสึ ผู้สื่อข่าวจากจังหวัดชิซึโอกะ ซึ่งเป็นที่ตั้งของภูเขาไฟฟูจิ ระบุว่าชาวญี่ปุ่นติดตามข่าวนี้อย่างใกล้ชิด เพราะรอให้ภูเขาไฟฟูจิเป็นมรดกโลกมากว่า 20 ปีแล้ว และเชื่อว่าตอนนี้ คงมีการเฉลิมฉลองกันอย่างครึกครื้นอย่างแน่นอน
ส่วนมรดกโลกแห่งใหม่ที่ฝ่ายไทยได้ร่วมสนับสนุนจนขึ้นทะเบียน อาทิ ป้อมปราการฮิลฟอร์ตแห่งราชาสถาน (Hill Forts of Rajasthan) ของอินเดีย, ภูเขาไฟเอ๊ตน่าของอิตาลี และเทือกเขาซินเจียง เทียนซานของจีน
รายงานข่าวแจ้งว่า เมื่อปี 2553 ASTVผู้จัดการ ได้ เปิดแผนพัฒนาพื้นที่ปราสาทพระวิหาร ที่กัมพูชา เสนอ คณะกรรมการมรดกโลกที่ไทยคัดค้าน สมัยที่ นายสุวิทย์ คุณกิตติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ในฐานะผู้แทนประเทศไทยในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลก ได้ไปลงนามร่วมกับ นายซก อาน รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ กัมพูชา และ นายฆวาว ลูอิซ ซิลวา เฟอร์ไรรา (Joao Luiz Silva Ferreira) รัฐมนตรีบราซิล ในฐานะประธานที่ประชุมมรดกโลก เพื่อรับทราบมติจำนวน 5 ข้อ เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2553 โดยรายละเอียดของมติ 5 ข้อ
โดยพบว่า เอกสาร WHC-10/34.COM/7B.Add3 หรืออีกนัยหนึ่ง ก็คือ “แผนบริหารจัดการปราสาทพระวิหารของฝ่ายกัมพูชา” ซึ่งนายสุวิทย์ได้ลงนามรับเอกสาร
เอกสารดังกล่าวเป็นเอกสารที่ประเทศกัมพูชายื่นเสนอต่อศูนย์มรดกโลก แต่ไม่ได้ถูกนำเข้าที่ประชุมในวันที่ 27 กรกฎาคม 2553 ตามที่ระบุไว้ในเอกสารหน้าที่ 1 เนื่องจากมีการประท้วงจากประเทศไทย จนในที่สุดนำมาสู่การลงนามในมติการประนีประนอมฯ ในวันที่ 29 ก.ค.โดยเอกสาร WHC-10/34.COM/7B.Add3 มีเนื้อหาทั้งสิ้น 7 หน้า โดยเป็นรายละเอียดจำนวน 6 หน้า พร้อมกับแผนผัง (Plan) อีก 1 หน้า (ตามภาพ)
ในเอกสารหน้าที่ 3 ได้ระบุชัดว่า ปราสาทพระวิหารที่ยื่นโดยกัมพูชา หรือ Temple of Preah Vihear (Cambodia) ได้ถูกขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกมาตั้งแต่ปี 2551 (ค.ศ.2008) โดยอ้างอิงถึงมติการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกครั้งที่ 31 ที่ไครซ์เชิร์ช ค.ศ.2007, การประชุมครั้งที่ 32 ที่ควิเบก, ค.ศ. 2008 และการประชุม ครั้งที่ 33 ที่เซบียา ค.ศ.2009
ในเอกสารหน้าที่ 3 ยังระบุชัดด้วยว่า ในส่วนของการช่วยเหลือในระดับนานาชาติ (International Assistance) ในปี 2552 (ค.ศ.2009) ได้มีการสนับสนุนเงินจำนวน 30,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อการอนุรักษ์และบริหารปราสาทพระวิหาร นอกจากนี้ ยังมีเงินช่วยเหลือฉุกเฉินจำนวน 50,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อการสร้างตลาดที่ตั้งอยู่ ณ ตีนเขา บริเวณบันไดฝั่งเหนือและฝั่งใต้ที่ขึ้นไปสู่ตัวปราสาทขึ้นมาใหม่ โดยนอกจากเงินจำนวนดังกล่าวแล้วยังมีเงินกองทุนพิเศษเพื่อสนับสนุนจากยูเนสโก (UNESCO Extra-budgetary Funds) อีกด้วย
แม้ในเอกสารจะมีข้อความบางส่วนที่ระบุถึงปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อปราสาทพระวิหารในฐานะมรดกโลก คือ ปัญหาความขัดแย้งด้านเขตแดนในพื้นที่ใกล้เคียงกับปราสาทพระวิหาร, การขาดเอกสารเกี่ยวกับแผนการบริหารพื้นที่ฉบับสมบูรณ์ และข้อสรุปเกี่ยวกับการปักปันเขตแดนตามมติของคณะกรรมการเขตแดนร่วมไทย-พม่า (Joint Boundary Committee; JBC) แต่ข้อความในส่วนอื่นๆ ของเอกสารดังกล่าวก็ระบุชัดว่า ฝ่ายกัมพูชามีการเดินหน้าโครงการต่างๆ เกี่ยวกับการอนุรักษ์และพัฒนาพื้นที่ไปแล้วเป็นจำนวนมาก
โดยตามเอกสารหน้าที่ 4 ข้อ b) ความคืบหน้าของการเตรียมการเกี่ยวกับแผนการบริหาร (Progress made on the preparation of the Management Plan) ยืนยันว่าแผนการบริหารพื้นที่มีจำนวน 115 หน้า รวมทั้งสิ้น 7 บท ส่วน ข้อ c) กิจกรรมที่ดำเนินไปตั้งแต่ปี 2552 (Activities carried out in 2009) ระบุชัดว่า ทางฝั่งกัมพูชาได้ตั้งทีมด้านโบราณคดีและสถาปัตยกรรมตามมติของการปกป้องพระวิหารแห่งชาติ (ANPV) ขึ้นมาสำรวจพื้นที่โดยได้รับการสนับสนุนจากกองทุนมรดกโลก และได้เสนอคำแนะนำต่อ ANPV แตั้งแต่ปี 2552 แล้ว
ขณะที่ในตอนท้ายของข้อ d) ภูมิทัศน์และการขยายพื้นที่กันชน (Landscaping and enlargement of the buffer zone) ก็ระบุว่า ทางกัมพูชา ได้ยืนยันว่า การสร้างตลาดบริเวณทางขึ้นบันไดด้านทิศเหนือ-ใต้ของปราสาทขึ้นมาใหม่ได้ดำเนินการโดยเสร็จสมบูรณ์แล้ว
ในหน้าที่ 5 ข้อ e) แผนการพัฒนาพิพิธภัณฑ์ eco-global (Development of an eco-global Museum) ระบุว่า ทางกัมพูชาได้แสดงความขอบคุณญี่ปุ่นและเงินบริจาคจำนวน 500,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ที่ทางรัฐบาลกัมพูชาได้ให้มาเพื่อการพัฒนาพิพิธภัณฑ์ Eco-Global ที่อยู่ห่างจากปราสาทพระวิหารไปทางทิศใต้ประมาณ 13 กิโลเมตรและอยู่ใกล้กับหมู่บ้านแห่งใหม่
รายงานข่าวแจ้งว่า ช่วงที่เดินทางไปร่วมประชุมคณะกรรมการมรดกโลกครั้งที่ 34 ที่ประเทศบราซิล ช่วงนั้นทำให้นายสุวิทย์ คุณกิตติ ตัวแทนฝ่ายไทยอยู่ที่บราซิลได้เห็นเอกสารฉบับดังกล่าวก็รู้สึกไม่พอใจอย่างมาก และเกิดการโต้เถียงกับทางกัมพูชาอยู่นานจนเกือบจะตัดสินใจด้วยการถอนตัวออกจากภาคีมรดกโลก ทว่า เมื่อโทรศัพท์พูดคุยกับ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ที่อยู่ที่เมืองไทยแล้วกลับถูกนายอภิสิทธิ์ทัดทานเอาไว้ โดยอ้างว่า ไม่อยากใช้ยาแรง จนในที่สุดนำมาสู่การลงนามในมติการประนีประนอมฯ จำนวน 5 ข้อ ดังที่มีการเปิดเผยไปแล้ว
รายงานข่าวแจ้งด้วยว่า สำหรับท่าทีของประเทศไทยในการกำหนดนโยบายต่อกรณีการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก ในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญครั้ง ครั้งที่ 37 ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ โดยเฉพาะกรณีที่วาระเงินช่วยเหลือจากเงินกองทุนมรดกโลก มีการให้การสนับสนุนกัมพูชา เพื่อกิจกรรมใด ๆ ของกัมพูชา ที่เป็นการดำเนินการในพื้นที่ของไทย ไทยจะคัดค้านเพื่อไม่ให้มีกรณีดังกล่าวเกิดขึ้น และขอให้ศูนย์มรดกโลกและ/หรือคณะกรรมการมรดกโลก ตรวจสอบการใช้เงินกองทุนมรดกโลกของกัมพูชาที่ไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์เพื่อการอนุรักษ์ ฟื้นฟู บูรณะแหล่งมรดกโลก เช่น การซ่อมแซมตลาดบริเวณเชิงบันไดนาค หรือปรับปรุงกิจกรรมอื่น ๆ ของกัมพูชา
กำลังโหลดความคิดเห็น