xs
xsm
sm
md
lg

แถลงการณ์ไทย-กัมพูชา 2551 ความจริงครึ่งเดียวของ นพดล ปัทมะ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ถึงวันนี้ ก็คงรู้กันแล้วว่า ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองรับฟ้อง หรือไม่รับฟ้องคดีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ยื่นฟ้องนายนพดล ปัมทะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในสมัยรัฐบาลที่มีนายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรี เป็นจำเลยในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ในกรณีที่นายนพดลไปลงนามในแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา ฉบับลงวันที่ 18 มิถุนายน 2551 สนับสนุนให้ประเทศกัมพูชาขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกโดยไม่ผ่านการพิจารณาของรัฐสภาไทย

ก่อนหน้านี้ ป.ป.ช.เคยส่งเรื่องให้อัยการเป็นผู้ยื่นฟ้องนายนพดล แต่อัยการสูงสุดมีคำสั่งไม่ฟ้อง โดยอ้างว่าการกระทำของนายนพดลไม่เข้าองค์ประกอบความผิดตามกฎหมาย ทาง ป.ป.ช.จึงต้องยื่นฟ้องคดีนี้เอง

บังเอิญเหลือเกินที่วันที่ศาลฎีกานัดฟังคำสั่งว่าจะรับฟ้องหรือไม่ คือวันที่ 26 เมษายนที่ผ่านมา เป็นช่วงที่การแถลงปิดคดีด้วยวาจาต่อศาลโลกในคดีปราสาทพระวิหารเพิ่งผ่านพ้นไปสดๆ ร้อนๆ เพราะข้อพิพาททื่กัมพูชานำไปฟ้องต่อศาลโลกให้ตีความคำพิพากษาของศาลโลก เมื่อปี 2505 โดยกล่าวหาว่าไทยไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษานั้น มีชนวนเหตุมาจากการที่นายนพดลไปลงนามในแถลงการณ์ไทย-กัมพูชาฉบับนี้แหละ ซึ่งนอกจากจะไม่คัดค้านการที่กัมพูชาจะขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารฝ่ายเดียวแล้ว สาระสำคัญในแถลงการณ์ฯ นี้ ยังมีผลในทางปฏิบัติเป็นการยกพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตรของไทย ให้กัมพูชา เป็นผู้บริหารจัดการดินแดนที่เป็นอธิปไตยของประเทศไทย

ก่อนหน้านั้น รัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ได้คัดค้านการขอขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกแต่ฝ่ายเดียว เพราะได้พ่วงเอาพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตรของไทยเข้าไปด้วย โดยนายมนัสพาสน์ ชูโต เอกอัคราชฑูตไทยประจำสหรัฐฯ ไปคัดค้านไว้ในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกที่เมืองไครสต์เชิร์ช ประเทศนิวซีแลนด์ จนกัมพูชาไม่สามารถขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกได้

ความพยายามของกัมพูชาเป็นผลสำเร็จในรัฐบาลพรรคพลังประชาชน ของ นช.ทักษิณ ชินวัตร ที่มีนายสมัครเป็นนายกรัฐมนตรี โดยนายนพดลไปลงนามสมยอมยกพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตรนี้ให้ ทั้งๆ ที่มีเสียงคัดค้านจากหลายฝ่าย รวมทั้งข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นายวีรชัย พลาศรัย อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย ในขณะนั้น มีบันทึกช่วยจำคัดค้านเรื่องนี้ แต่นายนพดลไม่ฟัง ทั้งยังย้ายนายวีระชัยไปเป็นเอกอัครราชทูตประจำกระทรวง

นายนพดลให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับวันที่ 7 พฤษภาคม 2551 หน้า 13 ถึงเหตุผลในการย้ายนายวีรชัยว่า ขณะนี้มีประเด็นเรื่องต่างๆ รวมถึงเขาพระวิหาร จึงปรับคนเพื่อประสิทธิภาพในการประสานงานรัฐมนตรี และจัดคนให้เหมาะสมกับงาน ไม่ได้ย้ายเพราะเหตุผลอื่นๆ นายกฤติ ไกรจิตติ ซึ่งมารับตำหน่งอธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย แทนนายวีรชัย มีความเหมาะสม เพราะเคยเป็นอธิบดีกรมสนธิสัญญามาก่อน จึงมีประสบการณ์และรู้ปัญหาต่างๆ ดี

ผู้สื่อข่าวถามว่า จะไม่ถูกมองว่า เป็นการเปลี่ยนม้ากลางศึกหรือเพราะการเจรจาเรื่องเขาพระวิหารต้องต่อเนื่อง นายนพดลกล่าวว่า ม้าแต่ละตัวในกระทรวงมีประสิทธิภาพทั้งสิ้น ตัวไหนก็วิ่งได้ แต่ต้องการม้าที่วิ่งในลู่ที่ต้องการจะให้วิ่ง

แถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา 2551 ถูกพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยคัดค้าน โดยการชุมนุมประท้วงและเรียกร้องให้นายนพดลลาออก รวมทั้งการยื่นต่อศาลปกครองสูงสุดให้วินิจฉัยว่า แถลงการณ์นี้ ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ เพราะไม่ผ่านรัฐสภาตาม มาตรา 190 และขอให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ระงับแถลงการณ์นี้ ไม่ให้มีผลในทางปฏิบัติไว้ก่อนซึ่งศาลปกครองมีคำสั่งคุ้มครองชั่วงคราวตามคำขอ

ขณะที่สมาชิกวุฒิสภา 77 คน และฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร 151 คน ได้ขอให้ศาลรัฐธรรมนญวินิจฉัยในประเด็นเดียวกัน ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยเสียงข้างมาก 8 ต่อ 1 ในวันที่ 8 กรกฎาคม 2551 ว่า แถลงการณ์นี้เป็นหนังสือสัญญาซึ่งอาจมีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตของประเทศ ทั้งยังมีผลกระทบต่อความมั่นคงทางสังคมของประเทศอย่างกว้างขวางอีกด้วย ซึ่งต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 วรรคสอง

คำวินิจฉัยนี้ทำให้นายนพดลจำต้องลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และถูก ป.ป.ช.ตั้งข้อกล่าวหาว่า เป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ประเทศไทยและคนไทยทุกคน และยื่นฟ้องต่อศาลฎีกาฯในที่สุด

การแถลงด้วยวาจาต่อศาลโลกของทีมกฎหมายไทยที่ นำโดยนายวีรชัย เอกอัคราชทูต ณ กรุงเฮก ม้าที่ไม่ยอมวิ่งในลู่ของนายนพดล เมื่อวันที่ 17 และ 19 เมษายน 2556 นายวีรชัยระบุว่าข้อพิพาทปัจจุบันเกิดจากการเรียกร้องดินแดนใหม่ของกัมพูชา โดยการยื่นขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกฝ่ายเดียว ดังนั้นจึงไม่เกี่ยวกับคดีเดิมที่เกี่ยวกับอธิปไตยเหนือปราสาท ซึ่งไทยก็ได้ทำตามแล้วภายหลังจากการมีคำพิพากษาโดยมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้กำหนดขอบเขตบริเวณใกล้เคียงปราสาท โดยสร้างรั้วและป้าย และเมื่อวันที่ 15 ก.ค.2505 ไทยก็ได้คืนปราสาทให้กัมพูชาพร้อมถอนกำลังทหารออกจากบริเวณนั้น ซึ่งถือว่ากัมพูชาได้ในสิ่งที่ตนขอในคำขอเมื่อปี 2502 กัมพูชาก็แสดงความพึงพอใจโดยหัวหน้าทางการทูตของกัมพูชาต่อหน้าที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติ และประมุขของรัฐกัมพูชาที่เดินทางไปทำพิธีครอบครองปราสาทอย่างเป็นทางการ

ในขณะที่คำแถลงของนายร็อดแมน บันดี ทนายความกัมพูชา มีตอนหนึ่งที่ระบุว่า แถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชาที่นายนพดลไปลงนามนั้น ไม่ได้มีการแนบแผนที่อื่นใดเข้ามาประกอบแผนที่ของกัมพูชา ทำให้เกิดความเข้าใจได้ว่า รัฐบาลไทยขณะนั้นยอมรับว่า กัมพูชามีอธิปไตยเหนือาณาบริเวณนั้น ไม่ใช่มีอธิปไตยเหนือตัวปราสาทพระวิหารเท่านั้น

หลังการแถลงด้วยวาจาเสร็จสิ้นลง ม้าที่ไม่ยอมวิ่งในลู่ของนายนพดลกลายเป็นฮีโร่ นายนพดลต้องกลืนน้ำลายตัวเองด้วยการปฏิเสธว่า ที่ย้ายนายวีรชัยในตอนนั้นไม่ใช่เพราะนายวีรชัยคัดค้านแถลงการณ์ แต่เป็นการย้ายตามนโยบายหมุนเวียนข้าราชการไปปฏิบัติงานในตำแหน่งต่างๆทุก 5 ปี

แต่เรื่องที่นายนพดลเดือดเนื้อร้อนใจมาก คือ คำแถลงส่วนหนึ่งของฝ่ายไทยที่ว่า ข้อพิพาทเรื่องดินแดนเกิดขึ้นหลังจากกัมพูชาขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารฝ่ายเดียว ทำให้นายนพดลต้องแก้ตัวเป็นพัลวันผ่านสื่อและเฟซบุ๊กว่า แถลงการณ์ร่วมที่เขาไปลงนามช่วยป้องกันไม่ให้กัมพูชาได้พื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตรไปขึ้นทะเบียนมรดกโลก ไม่ใช่ยอมให้กัมพูชาได้พื้นที่ไป หากกัมพูชาได้พื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตรไปขึ้นทะเบียนตาม แถลงการณ์ร่วมฯ จริง จะต้องให้ศาลโลกตีความเพื่อให้ได้พื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตรไปทำไม

ข้อเท็จจริงที่ถูกนายนพดลบิดเบือนก็คือ ที่กัมพูชาไม่ได้พื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตรไปนั้น ไม่ใช่เพราะว่าในแถลงการณ์ร่วมฯ ไม่ได้ยกพื้นที่นี้ให้กัมพูชา แต่เป็นเพราะพันธมิตรฯ คัดค้านแถลงการณ์ฯ ศาลรัฐธรรมนูญชี้ว่า แถลงการณ์ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ศาลปกครองมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ระงับการนำแถลงการณ์ฯ ไปใช้ สิ่งเหล่านี้ต่างหากที่ทำให้กัมพูชาไม่ได้พื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตร ที่นายนพดลยกให้แล้ว ทำให้ฮุนเซนโกรธ และใช้ความรุนแรง ยิงอาวุธสงครามถล่มหมู่บ้านไทยตามชายแดน เมื่อช่วงต้นปี 2554 เพื่อหาเรื่องนำคดีขึ้นสู่ศาลโลกอีกครั้งต่างหาก

นายนพดลยังอ้างด้วยว่า ทีมทนายความของไทยเห็นว่าแถลงการณ์ ไทย-กัมพูชาเป็นประโยชน์ในการสู้คดี

ข้อเท็จจริงก็คือไม่มีตอนไหนเลยที่นายวีรชัยและทีมทนายความจะเอ่ยถึงเรื่องนี้ เมื่อนายวีรชัยกลับมาถึงประเทศไทย แม้สื่อมวลชนจะซักถามในเรื่องนี้ นายวีรชัยก็ไม่ตอบตรงๆ ชัดๆ ว่า แถลงการณ์ฯ มีประโยชน์ต่อการสู้คดี

ประเด็นหลักที่นายนพดลยกขึ้นมาแก้ตัวว่าไม่ได้ยกพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตรให้กัมพูชานำไปขึ้นทะเบียนมรดกโลก ก็คือ แถลงการณ์ฯ ร่วม ข้อ 1 ที่สนับสนุนการขึ้นทะเบียนเฉพาะตัวปราสาทและพื้นที่รอบๆ หรือบริเวณ N1 ในแผนที่แนบท้าย ไม่ได้รวมถึงพื้นที่รอบ ปราสาทด้านทิศเหนือและทิศตะวันตก หรือ N3 ในแผนที่แนบท้าย

พื้นที่ N3 นี่แหละคือ พื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตรซึ่งเป็นพื้นที่ของไทยที่กัมพูชาอยากจะได้ไปครอบครอง

นายนพดลไม่ยอมเอ่ยถึงแถลงการณ์ข้ออื่นๆ ซึ่งมีอยู่ด้วยกันทั้งหมด 6 ข้อ โดยเฉพาะแถลงการณ์ข้อ 4 ที่ระบุว่า ในระหว่างที่รอผลการปรชุมของคณะกรรมการร่วมเจบีซี ในเรื่องการปักปันเขตแดนพื้นที่ N3 หรือพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตร ให้มีการจัดเตรียมแผนการจัดการพื้นที่ดังกล่าวโดยวิธีประสานงานระหว่างรัฐบาลกัมพูชากับรัฐบาลไทย

ในขณะที่มติคณะกรรมการมรดกโลกที่เมืองควิเบก ประเทศแคนาดา เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2551 ที่เห็นชอบการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกได้กำหนดเงื่อนไขที่กัมพูชาต้องปฏิบัติคือ การจัดทำแผนอนุรักษ์พื้นที่โดยรอบคือพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตรนี้ โดยกัมพูชาและไทย รวมทั้งชาติอื่นๆ อีก 7 ชาติ และนำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลกในปี 2553

นัยของแถลงการณ์ฯ ข้อที่ 4 และเงื่อนไขของคณะกรรมการมรดกโลกดังกล่าวคือการยอมให้กัมพูชาเข้ามาบริหารจัดการพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตรของไทยโดยไม่ต้องสนใจผลการเจรจาการปักปันเขตแดนของเจบีซี เป็นการยกพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตรให้กัมพูชาไปบริหารจัดการโดยไทยเป็นผู้ช่วยเท่านั้น

คำฟ้องของ ป.ป.ช.จึงสรุปว่า

“คำแถลงการณ์นี้มีผลทำให้ราชอาณาจักรไทยต้องสละสิทธิ์ในข้อสงวนที่ประเทศไทยจะต้องเอาประสาทพระวิหารกลับคืนมาในอนาคตกรณีศาลโลกได้พิพากษาเมื่อ 15 มิถุนายน 2505 เป็นการยอมรับอธิปไตยของกัมพูชาเหนือซากของปราสาทพระวิหาร ทั้งยังเป็นการแสดงเจตนายืนยันชัดแจ้งถึงการยอมรับในแผนที่กำหนดแนวเขตที่จัดทำโดยกัมพูชาแต่ฝ่ายเดียว แถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชาจึงมีลักษณะเป็นหนังสือสัญญาที่มีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตประเทศไทย ประเด็นการกระทำของนายนพดลจึงขัดต่อมาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญ...”


กำลังโหลดความคิดเห็น